November 14, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 810

Total-Corbion อนาคตของพลาสติก 

February 20, 2018 7742

ประมาณ 70 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการใช้พลาสติกของมนุษย์ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พลาสติกเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คนในแทบทุกด้านของชีวิต

ขณะเดียวกันความกังวลใจเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้พลาสติกโดยเฉพาะการย่อยสลาย และสารพิษที่สามารถตกค้างก็เป็นปัญหาที่ทั่วโลกยังต้องให้ความสำคัญ 

ไบโอพลาสติก หรือพลาสติกชีวภาพ เป็นหนึ่งในทางออกที่อุตสาหกรรมพลาสติกมองว่าจะสามารถมาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ในประเทศไทยแม้จะมีอุตสาหกรรมเกี่ยวกับพลาสติกมายาวนานพอสมควรโดยเป็นผลผลิตต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แต่เมื่อโลกกำลังหมุนไปหาพลาสติกชีวภาพ วัตถุดิบที่ประเทศไทยมีคือพืชพันธุ์ต่างๆ ก็ยังสามารถมารองรับอุตสาหกรรมที่กำลังจะเติบโตนี้ได้เช่นกัน 

นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ Total-Corbion บริษัทที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่เมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา ด้านหนึ่งคือ Corbion ผู้ผลิตกรดแลคติกรายใหญ่ของโลก ซึ่งเป็นวัสดุพื้นฐานของการผลิต Polylactic Acid หรือ Polylactide (PLA) และ Total บริษัทน้ำมันที่เป็นผู้ผลิต PLA รายใหญ่ลำดับต้นๆ ของโลก และที่สำคัญบริษัทใหม่นี้เลือกมาตั้งโรงงานในประเทศไทย 

Stefan Barot ผู้อำนวยการอาวุโสด้านธุรกิจ เอเชียแปซิฟิก บ. Total-Corbion เล่าให้ MBA ฟังถึงเหตุผลที่เลือกประเทศไทยว่า ในการผลิตจำเป็นต้องหาวัตถุดิบ ซึ่งการจะผลิตแลคติกแอซิด จะต้องใช้น้ำตาลหรือแป้ง ซึ่งไทยมีวัตถุดิบเหล่านี้อยู่มากมายเช่นในอ้อย มันสำปะหลัง และเมื่อมองที่ต้นทุน ความมีประสิทธิภาพ รวมถึงภูมิศาสตร์ประเทศไทยมีที่ตั้งที่เหมาะสมในการส่งออกผลผลิตไปยังเอเชียและยุโรป มีบรรยากาศทางธุรกิจที่เหมาะกับการทำธุรกิจ  

Total-Corbion ตัดสินใจตั้งโรงงานแห่งแรกที่ จ.ระยอง เพื่อผลิตแลคติกแอซิด และกำลังจัดตั้งโรงงานผลิตแลคไตด์ เพื่อนำไปสู่การผลิต PLA ต่อไป โดยเลือกใช้วัตถุดิบคืออ้อยที่ประเทศไทยเป็นอันดับสองของโลกในด้านการผลิต คอยป้อนให้กับโรงงานแห่งนี้ 

Stefan เล่ากระบวนการผลิตพลาสติกชีวภาพว่าเป็นกระบวนการทางธรรมชาติพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ “นี่เป็นกระบวนการธรรมชาติ เช่นน้ำตาลก็มีส่วนผสมของน้ำตาลหลายรูปแบบ ถ้าแบคทีเรียของคุณมีคุณภาพไม่ดีก็จะไม่สามารถให้ผลผลิตที่ดีได้ ดังนั้นกระบวนการนี้จึงต้องการการดูแลอย่างใส่ใจ สิ่งที่แลคติกแอซิดของเรามีคือเรามีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตทั่วไปที่สูญเสีย Co2 ไปในอากาศถึงครึ่งหนึ่ง เป็นกระบวนการทางเคมีที่บริษัทมีประสบการณ์ และสามารถเปลี่ยนรูปแบบน้ำตาลให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด”  

โรงงานที่ระยอง ของ Total-Corbion มีกำลังการผลิตแลคไตด์ 75,000 ตัน และอยู่ระหว่างก่อสร้างเพิ่มอีก 25,000 ตัน และมีกำลังการผลิต PLA 75,000 ตัน โดยแลคไตด์ส่วนหนึ่งจะส่งออกไปยังลูกค้าในต่างประเทศเช่นประเทศจีนเป็นต้น  

Stefan ให้ข้อมูลความต้องการ PLA ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 140,000 ตัน เติบโตเฉลี่ย 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยมีตลาดใหญ่อยู่ที่สหรัฐอเมริกาประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์และที่เหลือในสัดส่วนเท่าๆ กันอยู่ในยุโรปและเอเชีย โดยตลาดส่วนใหญ่คือผู้ผลิตอาหาร กลุ่มค้าปลีก  

“ปัจจุบันการนำ PLA ไปใช้มากคือในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหาร เพราะเมื่อเราดูที่คุณสมบัติ PLA ค่อนข้างใกล้เคียงกับโพลีสไตรีน EPS (ใช้ทำภาชนะบรรจุอาหาร เช่นกล่องหรือถาดใส่อาหารแก้วโฟมที่ใช้แล้วทิ้ง บรรจุภัณฑ์กันกระแทกแผ่นฉนวนกันความร้อนในอาคาร เป็นต้น) แต่ก็มีคุณสมบัติอื่นอีก เช่น คุณใช้ PLA กับอาหารเพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษาอาหารได้ ยืดอายุในการอยู่บนชั้นวาง ได้นานขึ้น ไม่ปนเปื้อน” Stefan อธิบาย 

ขณะที่ตลาดในประเทศไทยอุตสาหกรรมต่างๆ กำลังขยับตัวเริ่มทดลองใช้ PLA พร้อมกับการเรียนรู้ของผู้บริโภค อีกด้านหนึ่งที่ Stefan เห็นคือสินค้าเกษตร ที่ไบโอพลาสติกจะเข้าไปมีบทบาทได้ เนื่องจากเป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ และงานด้านเกษตรกรรมต้องการวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ เช่นถุงดำที่ใช้ใส่ต้นกล้าและพลาสติกคลุมดิน ซึ่งบางครั้งเมื่อนำไปปลูกในพื้นที่ถุงเหล่านี้ถูกทิ้งอยู่ตามพื้นดิน ซึ่งนอกจากดูไม่งามตาแล้วยังส่งผลต่อสภาพแวดล้อม หากใช้ไบโอพลาสติกก็จะสามารถปลูกลงไปได้ทั้งวัสดุห่อหุ้ม โดยบริษัทอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์เพื่อทดลองสูตรพลาสติกชีวภาพที่นำมาใช้ได้ดีที่สุด 

Stefan อธิบายว่า คุณสมบัติของ PLA ที่สำคัญคือผลิตจากวัตถุดิบหลักจากธรรมชาติ เมื่อย่อยสลายก็จะเป็นพิษต่อธรรมชาติน้อยกว่า คือเมื่อย่อยสลายแล้วก็จะกลับไปเป็นแลคติกแอซิด และในกระบวนการผลิตพลาสติกชีวภาพก็สามารถปรับเวลาในการย่อยสลายของไบโอพลาสติกได้อีกด้วย  

“เมื่อเราดูวิธีการผลิตแบบเก่าๆ เราใช้วัตถุดิบมาผลิตสินค้า นำมาใช้แล้วก็ทิ้งไป ผมคิดว่าเราควรจะเริ่มคิดเรื่องนี้ใหม่ว่าเราจะทำอย่างไรกับผลิตภัณฑ์ที่เราไม่ใช้แล้ว จะจัดการอย่างไร คุณไม่สามารถจัดการรถยนต์แบบเดียวกับถ้วยโยเกิร์ตได้ เช่นถ้วยโยเกิร์ต คุณสามารถล้างแล้วนำกลับมาใช้ นั่นอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดหรือไม่ เพราะคุณต้องใช้น้ำจำนวนมากในการทำความสะอาด จึงอาจจะไม่ใช่วิธีที่ฉลาดที่สุด อาจจะใช้วิธีเผาดีกว่า หรือปล่อยให้ย่อยสลายไปตามธรรมชาติแบบเดียวกับของเสียที่เป็นอาหาร เราคงต้องมาพูดคุยกันอย่างจริงจังว่าจะจัดการสิ่งต่างๆ อย่างไรในฐานะทรัพยากร มันจะกลายเป็นปุ๋ยในดินได้ไหมหรือเอากลับมาใช้ใหม่ได้หรือไม่ เราต้องมองเป็นอย่างๆ ไป”  

“ทำไมเราต้องใช้ไบโอพลาสติก เหตุผลคือ เรารู้ว่าพลาสติกที่ทำมาจากปิโตรเลียมไม่ใช่หนทางที่ยั่งยืนเราไม่ควรใช้ไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นคือ เราจะจัดการกับพลาสติกที่ผลิตขึ้นมาอย่างไร คุณทำอะไรสักอย่าง คุณผลิตพลาสติกที่นี่แล้วส่งไปที่อเมริกา คุณใช้มันครั้งเดียวแล้วก็ทิ้งมันไป นั่นคงไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องในการจัดการทรัพยากร อีกข้อคือเรามีพลาสติกจำนวนมากอยู่แล้วบนโลก ซึ่งสร้างมลภาวะ ปัญหาคือพลาสติกย่อยสลายได้ยาก โดยภาพรวม ระบบที่เรามีอยู่คือโลกสามารถรองรับของเสียจากคนได้ประมาณพันล้านคน แต่สำหรับคนหมื่นล้านคนโลกไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เราต้องจัดการกับการใช้ทรัพยากร การใช้ไบโอพลาสติกจะทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น” Stefan สรุป   

 

โครงการ Bioplastic Innovation Contest 2017 

“เรามีวัตถุประสงค์ คือ หนึ่งเราอยากให้สถาบันการศึกษารู้จักไบโอพลาสติกมากขึ้น เพราะสถาบันการศึกษามีความสามารถที่จะเผยแพร่วิธีการใช้งานไบโอพลาสติกในแบบต่างๆ ได้ อีกข้อคือทำให้คนรู้จัก Total Corbion มากขึ้น และเราอยากให้มหาวิทยาลัย รู้ว่าสามารถนำไบโอพลาสติกไปใช้งานอย่างไร ไม่ใช่การวิจัยแต่เป็นการนำไปใช้ เป็นช่วงเวลาของการพัฒนาการใช้งาน คือการนำไบโอพลาสติกไปใช้งานทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และเราอยากจะทำให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์นี้ใช้งานได้ และผมหวังว่า ผลงานที่ออกมาจะสามารถนำไปผลิตออกสู่ตลาดได้” Stefan อธิบายที่มาของโครงการ BioPlastic Innovation Contest 

โครงการนี้เป็นความร่วมมือของ Total Corbion กับ Petromat จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อประกวดผลงานนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพและส่งเสริมให้มีการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าของพลาสติกชีวภาพและประยุกต์ใช้งานในด้านต่างๆ  

การเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา นอกจากเป็นการสร้างพันธมิตรที่ดีแล้ว ยังสามารถช่วยเชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้องให้เห็นประโยชน์ของพลาสติกชีวภาพเพิ่มมากขึ้น เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาแล้ว ที่ภาคเอกชนร่วมกับสถาบันการศึกษาหาหนทางแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น  

Stefan ยกตัวอย่างว่า “เรารู้ว่า แลคติกแอซิด ช่วยหยุดการเติบโตของแบคทีเรีย เรารู้เรื่องนั้นกันอยู่ และใน PLA มีแลคติกแอซิดเหลือยู่ 0.2-0.3 ผมอยากจะคุยกับมหาวิทยาลัย ให้ช่วยพิสูจน์เรื่องนี้ ว่าจะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขอย่างไร นี่ไม่ใช่เรื่องที่ผมอยากจะทำโครงการวันพรุ่งนี้ แต่ผมอยากจะได้บทพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ผมไม่อยากทำเอง”  

“การจะพิสูจน์ว่าโครงการไหนดี หนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดคือการพิสูจน์ด้วยตลาด ผลิตภัณฑ์นี้สามารถประสบความสำเร็จในทางตลาดหรือไม่” Stefan กล่าว

X

Right Click

No right click