December 23, 2024

ครั้งแรก วงการ Health Care ร่วมเวิร์กชอป “GETTING START with FHIR” พลิกโฉมการบริหารระบบ “ข้อมูลสุขภาพ” ร่วมกับ สำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (สมสท.) และโรงพยาบาลสระบุรี

September 28, 2022 1837

 

สำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (สมสท.) ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)(TCELS) และพันธมิตรสำคัญจาก Standards and Interoperability Lab Thailand (SIL-TH), H LAB และโรงพยาบาลสระบุรี ร่วมกันจัดงาน GETTING START with FHIR :The most practical and popular data standard in healthcare” พร้อมเดินหน้าผลักดันให้“ข้อมูลสุขภาพ”ในไทยเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขครบทุกมิติ โดยมี นายแพทย์ดาวฤกษ์ สินธุวณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย(สมสท.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา

นายแพทย์ดาวฤกษ์ สินธุวณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (สมสท.) กล่าวว่า “เนื่องจากทุกวันนี้“ข้อมูลสุขภาพ”พื้นฐานในระบบสาธารณสุขของไทยมีความซับซ้อนมาก บวกกับเทคโนโลยีที่แต่ละหน่วยงานนำมาใช้ในองค์กรของตนก็ต่างระบบกัน ในประเทศไทยเองถ้าหากนำระบบเทคโนโลยีเชื่อมต่อข้อมูลที่มีมาตรฐานระดับสากลเหล่านั้นมาปรับประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประเทศของเรา เป็นตัวกลางการเชื่อมต่อ“ข้อมูลสุขภาพ”ทั้งระบบสาธารณสุขของประเทศ  ย่อมจะก่อให้เกิดผลดีต่อทุกภาคส่วน ส่งผลดีทั้งในแง่ของภาคโรงพยาบาลจะได้มีการบริหารจัดการที่ดี ภาคประชาชนก็จะได้รับการบริการที่มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัยขึ้นเป็นลำดับครับ”

ด้าน นายแพทย์รัฐ ปัญโญวัฒน์  ผู้ช่วยผู้จัดการ สำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (สมสท.)  หนึ่งในวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้าน FHIR profiling & SNOMED-CT สอนเวิร์กชอปในงานนี้  กล่าวว่า “ทาง สมสท. เป็นหน่วยงานที่มีความ    แข็งแรงในด้านการเก็บข้อมูลสุขภาพในไทย จากการศึกษาเรื่องมาตรฐานการเชื่อมต่อระบบ“ข้อมูล” พบว่า  FHIR นั้นถูกออกแบบมาได้ค่อนข้างสมบูรณ์ ใช้งานได้ง่าย อีกทั้งยังมีเครื่องมือต่างๆรองรับจำนวนมาก ทาง สมสท. เล็งเห็นว่าระบบนี้จะเป็นเครื่องมือที่เพิ่มความสะดวกให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จำเป็นต้องใช้ได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งได้ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขได้นำไปพิจารณาในการยกระดับเพื่อการพัฒนาเชื่อมต่อฐาน“ข้อมูลสุขภาพ”โดยรวมเรียบร้อยแล้ว และสำหรับการจัดงานเผยแพร่ความรู้ในครั้งนี้ มีผู้คนสนใจมาร่วมเวิร์กชอปเป็นจำนวนมาก ต่อจากนี้ไปทั้ง 2 ภาคส่วนนี้ คงต้องทำงานควบคู่สอดรับกันไปเรื่อยๆ เพื่อร่วมกันพลิกโฉมระบบสาธารณสุขไทยในทุกมิติให้เกิดขึ้นครับ”   

คุณกมลวัทน์ สุขสุเมฆ ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ H LAB  ผู้นำ Health Tech สตาร์ทอัพแถวหน้าของเมืองไทยที่นำเอาแนวทางของ FHIR มาพัฒนาเป็นนวัตกรรมต่อยอดในเชิงธุรกิจในประเทศและกำลังวางแผนไปตลาดโลก รวมถึงยังเป็นวิทยากรในงานนี้อีกด้วย   กล่าวว่า ทาง  H LAB เริ่มศึกษาระบบ FHIR อย่างจริงจังเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจาก บริษัทเราปรับกลยุทธ์จากเดิมเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านไอที (IT Consultant) เปลี่ยนมาเป็นให้บริการด้านไอที  (IT Solution) แบบครบวงจร ด้วยเหตุนี้ ทางบริษัทจึงมองหาระบบมาตรฐาน“ข้อมูลสุขภาพ”ที่ต้องตอบโจทย์มาตรฐานระดับสูงสุด ใช้งานง่าย มีความปลอดภัย ที่สำคัญต้องทำหน้าที่เชื่อมต่อกับทุกระบบที่ต่างกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยเหตุนี้บริษัทเราจึงนำแนวทางของ FHIR ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสหรัฐอเมริกา และตอบทุกโจทย์ความต้องการของ H LAB นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในด้านการออกแบบการเก็บข้อมูล, ออกแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพราะ FHIR สามารถผูกเข้ากับระบบมาตรฐานอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบ SNOMED-CT ซึ่งเป็นระบบ“จัดการคำศัพท์ทางการแพทย์ที่สำคัญต่อการลงข้อมูลในทุกจุดของการรักษาพยาบาล” นั่นเอง เรียกได้ว่าตอนนี้ทางบริษัทของเราใช้ FHIR ในการให้บริการงานด้านไอทีแบบครบวงจรเลยทีเดียว   

 “H LAB ตั้งเป้าไว้ว่าอยากจะเข้าไปแก้ไขปัญหาและช่วยพัฒนาระบบของทางโรงพยาบาลให้ดีขึ้นทั้งในการบริหารจัดการ,บุคลากร,การเบิกจ่าย เป็นต้น ซึ่งตอนนี้ ทางบริษัทมีลูกค้าที่ให้ความไว้วางใจในการเข้าไปดูแลวางระบบไอทีทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ เช่น โรงพยาบาลศิริราช ซึ่ง H LAB มีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการเข้าไปแก้ไขปัญหาให้โรงพยาบาลในไทยก่อนเป็นอันดับแรก และหลังจากนั้นภายใน 3 ปี จะขอไปชิงส่วนแบ่งการตลาดในต่างประเทศต่อไป และตั้งเป้าเติบโตของรายได้อยู่ที่ 200 ล้านบาทต่อปี เพราะตอนนี้เริ่มมีโรงพยาบาลจากต่างประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สนใจติดต่อมาทางH LAB เป็นที่เรียบร้อย” คุณกมลวัทน์ กล่าวทิ้งท้าย    

ตบท้ายกันที่ นายแพทย์อนันต์ กมลเนตร  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี ถือเป็นโรงพยาบาลที่มีวิสัยทัศน์   เป็นโรงพยาบาลต้นแบบในการยอมรับและนำ FHIR มาใช้งานได้จริง  กล่าวว่า “ในอดีตที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลสระบุรีมีปัญหาเรื่อง  “การจัดการข้อมูล”และ“การวิเคราะห์ข้อมูล” เนื่องจากมีฐานจัดเก็บ“ข้อมูล”ที่ไม่ได้มาตรฐานทำให้เวลาส่งต่อ“ข้อมูลสุขภาพ”ไปยังหน่วยงานอื่นๆ เพื่อทำการวิเคราะห์และเบิกจ่ายในด้านต่างๆ เกิดความยุ่งยากและเสียเวลา เนื่องจากฝ่ายไอทีต้องแปลง“ข้อมูล”ให้เข้ากับแต่ละระบบของหน่วยงานนั้นๆ เพื่อให้เชื่อมต่อกันได้  ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลต่อการออกนโยบายบริหารงานเป็นอย่างมาก แต่หลังจากติดตั้ง FHIR แล้ว ทำให้ทีมไอทีลดเวลาทำงานลง และมีเวลาไปทำงานเพื่อเพิ่มคุณภาพตามนโยบายของโรงพยาบาลในด้านอื่นๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น เช่น ทาง รพ. มีแอปพลิเคชันที่หลากหลาย ทำให้คนไข้-ประชาชน ที่เข้ามาใช้บริการเกิดความสะดวกสบาย ได้รับการบริการที่รวดเร็วทันใจ ตอบโจทย์การเข้ารับบริการได้ตรงจุดมากขึ้นครับ” นายแพทย์อนันต์ กล่าวสรุปอย่างน่าสนใจ

ภายในงานนี้ ยังมีวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาร่วมให้ความรู้ เช่น นพ.ธนภพ ณ นครพนม แพทย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, นพ.ศุภฤกษ์ ถวิลลาภ หัวหน้ากลุ่มสารสนเทศ กองระบาดวิทยาควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, นพ.เดโชวัต พรมดา CEO & FOUNDER of HEALTHTAG, นายพงษ์ชัย เพชรสังหาร  CEO & CO-FOUNDER of Dietz & อุปนายกสมาคมเฮลท์เทคไทย, คุณปฏิภาณ ประเสริฐสม ผู้จัดการ​โครงการ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ(สวข.)(GBDi), นพ.กวิน สิริกวิน หัวหน้างานพัฒนาคุณภาพสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, ภก.ณัฐดนัย ไทยพิพัฒน์  เภสัชกร โรงพยาบาลศิริราช  เป็นต้น ทำให้ผู้เข้าร่วมงานกว่า 50 ท่านได้รับความรู้กันเต็มที่

สำหรับผู้ที่สนใจ สอบถามเกี่ยวกับ FHIR สามารถติดต่อเข้ามาขอคำปรึกษาได้ที่ สำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (สมสท.) โทร. 02-027-9711 อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. หรือ H LAB ที่ปรึกษาและผู้พัฒนาระบบบริหารจัดการในโรงพยาบาล ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบคิวและการนัดหมายออนไลน์ มือถือ 063-446-7740 หรือ www.hlabconsulting.com

 

 

X

Right Click

No right click