November 08, 2024

โรคปอด เรื่องใหญ่ แถมไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิด!

December 21, 2022 1238

แพทย์ รพ. วิมุต เผยกลุ่มเสี่ยง สัญญาณอันตราย และวิธีดูแลสุขภาพปอดให้แข็งแรง ในช่วงที่โควิด-19 ยังอยู่และฝุ่น PM 2.5 กลับมาแล้ว

ปอด เป็นหนึ่งในอวัยวะภายในที่สำคัญของร่างกาย ที่ทุกคนได้เรียนกันตอนเด็ก ๆ ว่า มนุษย์หายใจด้วยปอด เพราะปอดเป็นส่วนสำคัญของระบบทางเดินหายใจ ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซ (gas exchange) โดยเอาก๊าซออกซิเจนเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต (blood circulation) ของร่างกายและนำเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการสันดาปพลังงานเพื่อเผาผลาญอาหารออกไปจากร่างกาย ออกซิเจนที่ร่างกายได้รับจากการหายใจจากปอด ก็เข้าสู่หลอดเลือด และหัวใจสูบฉีดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ดังนั้นหากระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผลต่อการทำงานของเนื้อเยื่อและอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายนั่นเอง

โรคปอด สาเหตุการชีวิตอันดันต้น ๆ ของประชากรไทย

ในปัจจุบัน โรคที่เกี่ยวกับปอด โดยเฉพาะโรคปอดอักเสบ เริ่มเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง หลังจากที่โลกต้องเผชิญกับการติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธ์ใหม่หรือโรค โควิด-19 ซึ่งหลาย ๆ ครั้งทำให้เกิดอาการปอดอักเสบรุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้ แต่บางคนอาจไม่ทราบว่า จริง ๆ แล้ว ก่อนที่โควิด-19 เกิดเป็นปัญหาโรคระบาดทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย พบว่าประชากรไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง โดยเฉพาะปอด (lung cancer) และปอดอักเสบจากการติดเชื้อ (pneumonia) ในทุกปี ปัจจุบันจากข้อมูลทางสถิติ โรคระบบทางเดินหายใจทั้งสอง นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในห้าอันดับแรกของประชากรไทย นอกเหนือไปจากโรคหัวใจขาดเลือด และอัมพาตุหรืออัมพฤกษ์ จากโรคหลอดเลือดในสมอง ที่จัดว่าเป็นโรคไม่ติดต่อที่สำคัญที่พบได้บ่อยในประชากรไทย (non-communicable diseases; NCD)

ที่มา https://www.worldatlas.com/articles/leading-causes-of-death-in-thailand.html

วันนี้ รศ.นพ. ธีระศักดิ์ แก้วอมตวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ศูนย์อายุรกรรม รพ.วิมุต จะมาไขข้อข้องใจในเรื่องโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับปอด รวมไปถึงประชากรกลุ่มเสี่ยง ปัจจัยกระตุ้น และปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรค สัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม ไปจนถึงแนวทางป้องกันโรคปอดที่ทุกคนพึงสามารถทำได้ อย่างเช่น การดูแลสุขภาพปอด หลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศ (air pollutants) หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ (aeroallergen) ในผู้ป่วยโรคหืดและกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งการงดสูบบุหรี่ (smoking cessation) และ การฉีดวัคซีน (vaccine) เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่นไข้หวัดใหญ่ (influenza) และป้องกันการติดเชื้อปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมค็อกคัส ( pneumococcus) เป็นต้น

แพทย์ชี้คนทุกเพศทุกวัยก็เสี่ยงเป็นโรคปอดได้

“ปอดของมนุษย์ไม่ได้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์มาตั้งแต่แรกเกิด เพราะสมรรถภาพปอดที่ดี ต้องอาศัยการเจริญเติบโตที่ดีต่อเนื่องตั้งแต่ในครรภ์ แรกเกิดและในวัยเด็ก (prenatal and perinatal period) ปอดมีพัฒนาการอย่างเต็มที่ในช่วงอายุ 20-25 ปี หลังจากนั้น จะเริ่มคงที่และค่อย ๆ เสื่อมลงตามวัย (aging lungs) แต่เสื่อมเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัยที่มีผลกระทบ เช่น มลพิษทางอาการหรือหรือติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ” รศ.นพ. ธีระศักดิ์ แก้วอมตวงศ์ อธิบาย “ในแง่ของกรรมพันธุ์ ประชากรที่มีโรคปอดหรือโรคระบบทางเดินหายใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เช่น โรคหืด หรือ ภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ มีโอกาสที่ปอดทำหน้าที่ไม่เท่ากับประชากรปกติ นอกจากนี้ ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือทารกแรกเกิดที่ตัวเล็กน้ำหนักตัวน้อยก็อาจมีพัฒนาการของปอดที่ไม่ดี อีกปัจจัยหนึ่ง คือคนไข้ที่มีอาการติดเชื้อในปอดแบบเป็น ๆ หาย ๆ การทำงานของปอดก็มีโอกาสเสื่อมถอยลงได้รวดเร็วขึ้น ประกอบกับเมื่อผู้ป่วยดังกล่าวสัมผัสกับปัจจัยกระตุ้น เช่น ควันบุหรี่ หรือมลพิษทางอากาศ เช่นฝุ่นขนาดเล็กในอากาศ (particulate matter 2.5 หรือ PM 2.5)nทำให้ปอดที่ไม่ดีอยู่แล้ว เกิดเสื่อมถอยของสมรรถภาพปอดเร็วมากขึ้นไปอีก” ดังรูป

ที่มา M. Tsuge et al Children 2022, 9(8), 1253; https://doi.org/10.3390/children9081253

สาเหตุของโรคปอดประเภทต่าง ๆ

โรคเกี่ยวกับปอดจะแบ่งเป็น 2 ประเภทได้ง่ายจากกลไกก่อโรค ได้แก่ โรคติดเชื้อ (infectious diseases) และโรคไม่ติดเชื้อ (non-infectious diseases) ซึ่งโรคปอดจากการติดเชื้อที่เรารู้จักกันได้แก่ ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ หรือปวดบวม รวมทั้งโควิด-19 นอกจากนี้ยังมีการติดเชื้อจากแบคทีเรียและไวรัสอื่น ๆ นอกจากโควิด 19 อีกด้วย เช่น ไข้หวัดใหญ่ และวัณโรคปอด ส่วนโรคไม่ติดเชื้อก็จะแบ่งเป็น โรคที่เป็นมาแต่กำเนิด (inherited diseases) และโรคที่เกิดภายหลัง (acquired diseases) โรคปอดพิการแต่กำเนิด โรคหืด หรือกลุ่มที่เป็นภูมิแพ้ มักพบในวัยเด็ก มีประวัติในครอบครัวเป็นโรค ซึ่งการป้องกันทำได้ยาก เนื่องจากปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยช่วงตั้งครรภ์ หรือก่อนคลอด ส่วนโรคปอดที่เกิดภายหลัง เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต (life style factors) หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว (environmental factors) เช่น การสูบบุหรี่หรือการรับควันบุหรี่มือสอง เพิ่มความเป็นโรคถุงลมโป่งพอง หรือปอดอุดกั้นเรื้อรัง และมะเร็งปอด นอกจากนี้ การสูดมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่น PM 2.5, มลพิษทางอากาศ ที่เกิดจากการทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน โดยโรคปอดที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ เหล่านี้ เป็นโรคที่พบในประชากรไทยได้บ่อยมากขึ้น” รศ.นพ. ธีระศักดิ์ กล่าว ส่องสัญญาณเตือนปอดทำงานผิดปกติ แพทย์แนะสังเกตอาการตัวเองก่อนสาย

“สัญญาณเตือนอันดับแรกคือการไอ โดยเฉพาะอาการไอเรื้อรัง อันดับที่ 2 คือ อาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายผิดปกติเมื่ออกแรง อันดับที่ 3 อาการเจ็บหน้าอก ซึ่ง 3 อาการที่พบในผู้ป่วยนี้ เรียกว่าเป็นอาการที่สัมพันธ์กับโรคปอดและระบบทางเดินหายใจ ” รศ.นพ. ธีระศักดิ์ อธิบาย โดยหากมีอาการไอเรื้อรังหรือเกิน 8 สัปดาห์ขึ้นไป ส่วนมากจะไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัสและจะหายเองไม่ได้ จำเป็นต้องรับการตรวจหาสาเหตุ สำหรับอาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ก็อาจเป็นเรื่องปอดหรือไม่ใช่ก็ได้ เช่น อาจเหนื่อยหอบเพราะเป็นโรคโลหิตจางหรือโรคหัวใจ ทั้งนี้ก็ควรพบแพทย์เพื่อประเมินและหาสาเหตุอย่างจริงจัง สุดท้าย สำหรับการเจ็บหน้าอก บางคนเข้าใจว่าเจ็บหน้าอกเป็นเรื่องโรคหัวใจเท่านั้น จริง ๆ อาการเจ็บหน้าอก เป็นอาการโรคปอดได้เหมือนกัน เช่น เจ็บแปลบ ๆ ที่บริเวณชายโครงแบบสามารถชี้จุดที่เจ็บได้ชัดเจน สัมพันธ์กับการหายใจ หรืออาการไอ (pleuritic chest pain) ซึ่งจะต่างจากโรคหัวใจที่จะมีอาการเจ็บใต้ลิ้นปี่ หรือเจ็บหน้าอกด้านซ้ายและชี้จุดที่เจ็บไม่ได้ชัดเจน และสัมพันธ์กับการออกแรง (anginal chest pain) มีอาการเหงื่อแตก ใจสั่น ดังนั้น ถ้าเกิดอาการเหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอกดังกล่าว หรือมีอาการไอร่วมด้วย ผู้ป่วยดังกล่าวควรรีบมาตรวจเพื่อสืบค้นสาเหตุและรับการรักษาต่อไป

แนวทางการดูแลให้ปอดแข็งแรงและวัคซีนที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อในปอด

สำหรับผู้ป่วยที่ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคปอดมาก่อน เช่น โรคหืดหรือภูมิแพ้ระบบทาง แนะนำให้ติดตามอาการและพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าไม่มีโรคประจำตัว การป้องกันการสัมผัสปัจจัยกระตุ้น มีผลป้องกันการเกิดโรค ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศ รวมทั้งควันบุหรี่ ทั้งสูบเองและการรับควันบุหรี่มือสอง ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ควรตรวจติดตามกับแพทย์ เพื่อให้ประเมินความเสี่ยงและผลกระทบของปัจจัยดังกล่าวต่อการเกิดโรคไว้ก่อน เพราะหากนิ่งนอนใจ โรคอาจรุนแรงและรักษาได้ยากลำบาก “แต่สำหรับโรคปอดติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อโรคที่มากับอากาศ ไม่ว่าจะเป็นไวรัส หรือแบคทีเรีย ที่เราหลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะอาจไปรับเชื้อมาโดยไม่รู้ตัว การป้องกันในประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่นผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ที่มีโอกาสเสียชีวิตจากการติดเชื้อดังกล่าวในระบบทางเดินหายใจ มากกว่าประชากรทั่วไป ในประเทศไทย นอกจากการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ หรือโควิด 19 ยังมีวัคซีน 2 ตัวที่ฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และปอด คือวัคซีนป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza vaccine) กับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมค็อกคัส (pneumococcal vaccine) ทั้งนี้แนะนำให้พบแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำก่อนฉีดวัคซีนดังกล่าว การรู้จักโรคทางเดินหายใจ

ปัจจัยเสี่ยง และสัญญาณเตือน และมาตรการป้องกัน ทั้งปัจจัยจาก สารก่อภูมิแพ้ทางการหายใจ มลพิษทางอากาศรวมทั้งควันบุหรี่ และโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจ ถือว่าเป็น ปัจจัยทั้งสาม (triple threats) ส่งผลกระทบร่วมกันต่อสุขภาพปอดของคนไทยในปัจจุบัน ด้วยแนวทางดังกล่าว ช่วยเสริมให้ประชากรไทยมีสุขภาพปอดที่ดียิ่งขึ้น” รศ.นพ. ธีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ที่สนใจบริการของศูนย์อายุรกรรมของรพ. วิมุต เพื่อพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจและภาวะวิกฤตระบบการหายใจ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์อายุรกรรม ชั้น 3 รพ.วิมุต หรือใช้บริการ Telemedicine ปรึกษาแพทย์ ออนไลน์ผ่าน ViMUT Application คลิก https://bit.ly/372qexX

 

 

 

 

X

Right Click

No right click