December 28, 2024

ปรับ - เปลี่ยน - ปั้น ฐานประชากร สู่สังคมแห่งความยั่งยืน

November 25, 2021 2160

ประเทศไทยกำลังประสบความท้าทายด้านประชากร

โดยในด้านโครงสร้างนั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ไว้ว่าในปี พ.ศ. 2580 สัดส่วนผู้สูงอายุในสังคมไทยจะอยู่ที่ราวร้อยละ 30 ของประชากร ทั้งนี้ ประเทศไทยมีอัตราเจริญพันธุ์รวมที่ต่ำกว่าระดับทดแทนมาเป็นระยะเวลา 20 ปีแล้ว ส่งผลให้จำนวนประชากรวัยเด็กและวัยทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง และในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาก็พบว่ามีจำนวนการเกิดรวมเพียง 587,368 คน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีจำนวนการเกิดรายปีที่ต่ำ กว่า 600,000 คน ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นด้านคุณภาพประชากรก็เป็นประเด็นที่สำคัญไม่แพ้ประเด็นด้านโครงสร้างประชากร โดยสถานการณ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะยาว

จากการประชุมระดับนโยบายในหัวข้อ “ปรับ - เปลี่ยน - ปั้น ฐานประชากร สู่สังคมแห่งความยั่งยืน” ภายใต้โครงการ “Smart Family Planning for Women” เมื่อวันอังคาร ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา โดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย และบริษัท ออร์กานอน (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการรวบรวมข้อคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในภาครัฐและภาคประชาสังคม เกี่ยวกับช่องว่างทางนโยบายของประเทศไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนนโยบายการสร้างครอบครัวคุณภาพ หรือ SMART FAMILY เพื่อเป็นรากฐานในการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง พัฒนาคุณภาพประชากร และสร้างครอบครัวคุณภาพ นำมาสู่งานประกาศวิสัยทัศน์แห่งความร่วมมือ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ และร่วมสร้างเครือข่ายแห่งความร่วมมือที่มีศักยภาพเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านโครงสร้างและคุณภาพประชากรของไทย

โดยงานประกาศวิสัยทัศน์ หัวข้อ “ปรับ – เปลี่ยน – ปั้น” ฐานประชากรสู่สังคมแห่งความยั่งยืนได้รับเกียรติจาก ดร. สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้เปิดงานพร้อมประกาศเจตนารมณ์และวิสัยทัศน์ เพื่อแสดงศักยภาพของประเทศไทยในการผลักดันนโยบายประชากรที่นำไปสู่การสร้างสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน พร้อมแสดงปาฐกถาด้วยความมุ่งมั่นที่จะยกระดับครอบครัวคุณภาพและโครงสร้างประชากร สู่สังคมแห่งความยั่งยืน โดยมีใจความว่า “หัวใจของการพัฒนาประเทศ คือ การพัฒนาคนให้มีศักยภาพ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ พวกเราทุกคนในที่นี้ มีหน้าที่ มีบทบาทที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนมีเหมือนกัน และมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การสร้างครอบครัวคุณภาพสู่สังคมแห่งความยั่งยืน และผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าการที่จะดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นการทำงานภายใต้การบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน”

จากการประชุมระดับนโยบายดังกล่าว สามารถสรุปประเด็นการปฏิบัติงานที่สำคัญที่สุดต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและพัฒนาคุณภาพประชากรในประเทศไทย เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตได้ 4 ประเด็นดังนี้

1) การพัฒนาระบบการศึกษาให้เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตและทันต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก

2) การกำหนดเจ้าภาพหลักที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนนโยบาย และการส่งเสริมเอกภาพของการทำงานระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

3) การส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้และมีการเข้าถึงบริการด้านการศึกษา สังคม และสุขภาพมากยิ่ง
ทั้งในแง่ของความทั่วถึงและค่าใช้จ่าย

4) การนำกรอบความคิดแบบเส้นทางชีวิต (life course) มาใช้ในการกำหนดนโยบาย โดยคำนึงถึงการใช้ชีวิตหลากหลายขั้น (multi-life stage) และไม่จำกัดแต่เพียงเส้นทางชีวิตที่ตั้งอยู่บนบรรทัดฐานครอบครัวแบบดั้งเดิม (traditional family) เท่านั้น

ซึ่งมีการใช้ประเด็นดังกล่าวเป็นกรอบในการประกาศวิสัยทัศน์ในครั้งนี้ของผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม องค์กรอิสระ และองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ อันได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ UN Women

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า “จากความท้าทายและความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาด้านโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น อัตราการเกิดที่ลดลง อัตราการตายที่เพิ่มขึ้นและความกังวลต่อคุณภาพชีวิต และความมั่นคงทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19  ทำให้เราต้องเร่งส่งเสริมโครงการสร้างครอบครัวคุณภาพ จากการวางแผนครอบครัวอย่างชาญฉลาดและการส่งเสริมด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการส่งเสริมอัตราการเกิดภายในประเทศ โดยต้องคำนึงถึงทั้งในแง่ของโครงสร้างประชากรและคุณภาพของประชากรเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

 

มิสเตอร์ คุง คาเรล เคราท์บ๊อช (Mr. Koen C. Kruijtbosch) กรรมการผู้จัดการบริษัท ออร์กานอน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความเชี่ยวชาญ และประสบ การณ์การทำงานระหว่างองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ และภาคเอกชน ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือและการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการผลักดันวาระการทำงานด้านการขับเคลื่อนนโยบายประชากร โดยการสร้างครอบครัวคุณภาพสำหรับผู้หญิงไทย และเพื่อความยั่งยืนของประเทศ ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นที่ทรงพลังอันจะเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวร่วมกันต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด”

“โครงสร้างของประชากรที่ไม่สมดุล ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเกิดที่ลดลง หรือสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะนำไปสู่ผลกระทบด้านสังคมและเศรษฐกิจในภาพรวม แม้ว่าการป้องกันผลกระทบดังกล่าวจะสามารถทำได้ด้วยการวางแผนครอบครัวเพื่อส่งเสริมอัตราการเกิดที่มีคุณภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรทุกกลุ่มและทุกช่วงวัย แต่สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งคือการดำเนินงานที่ได้รับความร่วมมือและการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ อย่างครอบคลุม อันจะเป็นกุญแจสำคัญสู่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” คุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการ และรองประธานกรรมการ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย กล่าวทิ้งท้าย

เจตนารมณ์และพลังความร่วมมือในวันนี้จะก่อเกิดเป็นเครือข่ายการทำงานอย่างจริงจังและมีศักยภาพ ในการขับเคลื่อนนโยบายครอบครัวคุณภาพ เพื่อเป็นรากฐานของโครงสร้างประชากรของไทย เพื่อเป็นเกราะที่เข้มแข็งสำหรับการรับมือและป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างยืนต่อไป

X

Right Click

No right click