×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 800

ถ้ามาจันท์ อย่าพลาด ท่ามาจัน

March 15, 2017 3341

เยี่ยมเยือนชุมชนริมน้ำจันทบูรทั้งที ก็ต้องเข้าพักในสถานที่ย้อนยุคสักหน่อยหลังจากเดินชมบรรยากาศเก่าๆ เราก็สะดุดตากับที่พักแห่งหนึ่งใกล้บ้านพักทางประวัติศาสตร์ หลวงราชไมตรี โดยเป็นอาคารสองหลังที่อยู่ตรงข้ามกัน มีดีไซน์คนละแบบ แต่มีชื่อเดียวกันว่า ท่ามาจัน

 

จิรพัฒน์ พ่อค้า หรือ จูน เป็นเจ้าของที่พักแห่งนี้ เขาเล่าว่าพื้นเพเดิมอยู่ที่แหลมสิงห์ เป็นคนจันทบุรีโดยกำเนิด แต่มีความคุ้นเคยกับชุมชนริมน้ำตั้งแต่ยังเด็ก และทราบมาว่าในอดีต แม่น้ำจันทบุรีหรือจันทบูรเป็นจุดสัญจรทางเรือ มีย่านค้าขายที่มีความรุ่งเรือง เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ ผู้คนจึงเริ่มอพยพออกจากชุมชน หนำซ้ำยังประสบเหตุน้ำท่วมบ่อยครั้ง ย่านการค้าเก่าแห่งนี้จึงเงียบเหงาลงมาก

ด้วยความผูกพันกับจังหวัดจันทบุรีและเห็นว่าท้องถิ่นริมน้ำนี้มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ จูนจึงอยากให้ถนนสุขาภิบาลนี้กลับมาคึกคักด้วย “การค้าขาย” อีกครั้ง ก็เริ่มคิดว่าถ้ามาเปิดร้านกาแฟก็อาจจะเป็นจิ๊กซอว์ตัวแรกที่ช่วยให้พื้นที่นี้มีความเคลื่อนไหวมากขึ้น จังหวะดีที่มีคนขายอาคารเก่าติดแม่น้ำ จูนจึงซื้อไว้แล้วปรับปรุงเป็นร้านกาแฟ ร้านอาหาร ต่อมาก็ปรับปรุงเป็นโรงแรมเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว

เราอยู่เมืองจันท์ก็คิดเสมอว่าจะคืนอะไรให้เมืองจันท์บ้าง ที่ทำท่ามาจัน เราไม่มีประสบการณ์หรอก แต่อยากทำให้ดีที่สุด ก็เอาใจเข้าไปใส่กับงาน เจอความผิดพลาดบ้างก็เก็บไว้เป็นประสบการณ์ ที่ดีก็ทำต่อไปเพราะอยากทำให้พื้นที่นี้เกิด นี่คือตลาดเก่าของเมืองจันท์ที่อยู่ๆ มันหายไป เราไม่อยากให้คนลืมถนนเส้นนี้ เพราะมันมีเสน่ห์ด้วยตัวของมันเอง เราจึงปลุกตรงนี้ขึ้นมาอีกครั้ง” จูนกล่าวในฐานะฟันเฟืองหนึ่งที่ลุกขึ้นมาปลุกคนในชุมชนให้ตื่นตัวต่อเสน่ห์และเห็นความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งนอกจากอยากทำให้ชุมชนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ก็อยากให้ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้นด้วย

มีอะไรในท่ามาจัน

ท่ามาจันเป็นโรงแรมเล็กๆ ที่แบ่งออกเป็นอาคารสองฝั่ง ได้แก่ ฝั่งริมน้ำซึ่งมีห้องพักสไตล์ไทยทรอปิคัล (Tropical Thai Style) เน้นบรรยากาศความเป็นไทย และฝั่งอาร์ตๆ ฮิปๆ (Hip Hotel) ซึ่งมีห้องพักที่มีดีไซน์ไม่ซ้ำกัน เน้นตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ โดยทั้งสองอาคารมีห้องพักรวมแล้วทั้งสิ้น 24 ห้อง

โลเกชันที่ติดริมน้ำเป็น potential สำคัญของท่ามาจัน กอปรกับอาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีสตลอดแนวยิ่งเพิ่มแรงดึดดูดให้แก่
ผู้พบเห็น ในด้านคอนเซ็ปต์การแต่งร้านอาหารและที่พัก จูนตั้งใจใช้ของเก่าประดับตกแต่งเพื่อคงความเป็นอดีตและให้ชนรุ่นหลังได้เห็นของใช้สมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ เช่น เครื่องเสียงโบราณ โทรศัพท์เก่า โต๊ะ เก้าอี้เก่า ขาจักรเย็บผ้ายี่ห้อต่างๆ ก็นำมาตกแต่งกำแพง อาหารก็จัดใส่ปิ่นโตมาเสิร์ฟ ตลอดจนการต้อนรับลูกค้า พนักงานก็จะมีธีมเครื่องแต่งกายแบบไทยๆ สะท้อนความเป็น local

เราเก็บเล็กเก็บน้อยมาดีไซน์ คนที่มากินข้าว มาพักที่นี่ ก็จะรำลึกถึงอดีต เช่น การที่เราใช้ผ้าถุงปูโต๊ะ เราไม่ลืมตัวนะ รุ่นพ่อรุ่นแม่ใช้ผ้าถุง กินข้าวในปิ่นโต ซึ่งเมนูเด็ดที่ใครมาท่ามาจันแล้วต้องลอง ได้แก่ กุ้งฝอยคั่วเกลือ หมูผัดเผ็ดกระวาน โดยกระวานเป็นอาหารพื้นเมืองที่คล้ายตะไคร้ ข่า ช่วยบำรุงร่างกาย ซึ่งนิยมปลูกกันที่จันทบุรี และจานเด็ดอีกอย่างคือ ข้าวผัดกากหมู อาหารจานเดียวที่มีสูตรเฉพาะของร้าน แล้วเราก็มีวงเล่นเพลงสากลและไทยในยุค 60 ให้ฟังสดๆ ในร้านด้วย”

4 ปีมาแล้วที่จูนทำร้านอาหาร ส่วนโรงแรมนั้นเพิ่งเปิดได้เพียง 1 ปี แต่บ่อยครั้งที่จูนจะมาดูแลลูกค้าด้วยตัวเอง ซึ่งเมื่อมีแขกมาพักมากขึ้น ถนนสุขาภิบาลก็คึกคักมากขึ้น คนจันทบุรีก็หาอะไรมาตั้งขายหน้าบ้านตามริมถนน ทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งเมื่อ ททท. เข้ามาดูพื้นที่และมีแนวคิดว่าจะทำให้คนรู้จักถนนเส้นนี้มากขึ้น ความเชื่อมั่นบนถนนเส้นนี้ก็ย่ิงทวีคูณ

เรามองว่าถนนเส้นนี้จะมีของกินทั้งแถบในอนาคต ซึ่งตอนนี้ก็มีขนมไข่ กวยจั๊บป้าไหม ไอศกรีมตราจรวด ขนมเทียนแก้ว ขนมโก๋ โรตีอร่อยๆ แล้ว และด้วยระยะทางของถนนเส้นนี้เกือบ 1 กิโลเมตร เดินชิลริมน้ำไปได้เรื่อยๆ เราก็อยากให้ทุกคนรักษาบรรยากาศเดิมๆ บนถนนเส้นนี้ไว้ ซึ่งถ้าเราทำด้วยใจที่คิดแต่เรื่องการค้า เราเลิกไปนานแล้ว เพราะการลงทุนกับอาคารเก่า มันหมดไปเรื่อยๆ แต่เราทำเพื่อสืบสานคุณค่า ให้คนที่มามีความสุข ถ้าคุณมาจันทบุรี มาท่ามาจัน คุณได้เรื่องบรรยากาศเก่าๆ รสชาติอาหาร และเรื่องดนตรีแน่ๆ”

 

จับตา! พ่อค้ากุ้งมาทำโรงแรม

ก่อนจูนหันมาทำท่ามาจัน เขาเป็นพ่อค้ากุ้ง จึงมีแนวคิดการทำธุรกิจอีกรูปแบบ

สมัยก่อนราคากุ้งแพง พี่ทำบ่อกุ้งโดยกระจายความเสี่ยงด้วยการเช่าตรงนั้น 5 บ่อ ตรงนี้ 7 บ่อ ตรงโน้น 3 บ่อ ก็เอาอาหารไปลงเมื่อถึงเวลา ซึ่งชาวบ้านไม่ค่อยมีทุน ก็ให้จับแล้วมาแบ่งกัน เราทำบ่อกุ้งเป็นอาชีพ ณ ปัจจุบันก็ยังทำอยู่ เพราะรู้อยู่แล้วว่าเป็นอาหารที่คนนิยมบริโภคก็เลยยังทำไปเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้ก็มีคนมาจับกุ้งที่บ่อเพื่อส่งออก มันก็ลิงก์มาว่า มาจันทบุรีต้องมากินกุ้ง กุ้งกุลาก็ได้ กุ้งขาวก็ได้ ซึ่งตอนนี้เราก็ทำบ่อกุ้งกระจายหลายๆ ที่ รวมประมาณ 30 บ่อ ใน 3 จังหวัด”

แม้จะเจอปัญหาสารพัดเกี่ยวกับการทำบ่อกุ้งมานานกว่า 20 ปี แต่จูนก็อาศัยแรงฮึด มานะและสู้ชีวิตเพราะการทำธุรกิจเลี้ยงกุ้งมีโอกาสได้ราคาดีแต่ก็มีความเสี่ยงมาก เพราะเมื่อไรที่กุ้งเป็นโรคก็จะเสียหายไปทั้งบ่อ ขณะที่การทำธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมนั้น แม้ไม่มีประสบการณ์ก็ใช้เลือดนักสู้ลุยไปข้างหน้า

ทำอะไรให้ง่ายก่อน อะไรจะรั่วได้ก็กันจุดนั้น พาให้องค์กรมันเดินได้ แล้วก็ต้องนึกอยู่เสมอว่าลูกค้ามาด้วยใจ ที่จอดรถของเราก็มีนิดเดียว แต่เขายังมา ถามว่าทำไมต้องอยู่ร้านเอง ก็เพื่อบริการให้แขกที่มาพักรู้สึกว่ามาแล้วเหมือนอยู่บ้านเขา ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้...ยาก (เน้นเสียง) ยากตรงที่กว่าเราจะเข้าใจชุมชน กว่าที่ชุมชนจะเข้าใจเรา เราต้องเรียนรู้จากคนที่อยู่เก่า เขาก็คิดว่าเราจะมารุกล้ำเขาหรือเปล่า จะมากว้านหมดหรือเปล่า ทำเป็นเมืองเหมือนปายหรือเชียงคานหรือเปล่า แต่เราพิสูจน์แล้วว่าที่อยู่มา 4-5 ปี เราทำเพื่ออนุรักษ์ ไม่ได้เบียดเบียนเขา และเขาก็อยู่ของเขาเหมือนเดิม”

ด้านการทำตลาด จูนโปรโมต Tamajun Hotel ผ่าน www.booking.com และ www.agoda.com และเนื่องจากยูเนสโกประกาศรางวัลโครงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2558 ให้โครงการอนุรักษ์บ้านหลวงราชไมตรี อ.เมือง จ.จันทบุรี ได้รับรางวัลดี หรือ Award of Merit ทั้งชุมชนริมน้ำจันทบูรและท่ามาจันได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

 

X

Right Click

No right click