×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

Yamanashi Gold mining ตำนานยุคขุดทองของญี่ปุ่น

April 22, 2018 8994

“ไม่มีแม่น้ำสายไหนในประเทศญี่ปุ่นที่ร่อนหาทองแล้วจะไม่พบ”

คือคำบอกเล่าของ ฟุกาซาว่า ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์เหมืองทองแห่งประวัติศาสตร์ The Yunooku Museum of Gold Mining History ที่จังหวัดยามานาชิ ด้วยประสบการณ์และความรอบรู้ที่สัมผัสกับงานของพิพิธภัณฑ์เหมืองทองมาอย่างยาวนาน ทำให้ผู้จัดการท่านนี้ ตั้งสมมุติฐานต่อประโยคข้างต้นว่า “เพราะญี่ปุ่นเป็นเกาะที่ผุดจากใต้ท้องทะเล เป็นแผ่นผืนดินแดนเกาะเดียว จึงเชื่อว่าทรัพยากรดิน หิน แร่ธาตุต่างๆ จึงน่าที่จะมีลักษณะเหมือนๆ กัน” และที่สำคัญ ในประเทศญี่ปุ่นมีชมรมนักร่อนทอง ที่มีกิจกรรมร่อนหาทองตามแม่น้ำสายต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งก็มีการร่อนพบทองจริงๆ อยู่ทั่วไป และเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์และส่งเสริมความรู้และความบันเทิงให้กับนักขุดทองที่มีเครือข่ายทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศทั่วโลก

 

เหมืองทองยุคอาณาจักร “ไค” 

ยามานาชิ หนึ่งในจังหวัดของญี่ปุ่นที่ในอดีตมีชื่อว่า “เมืองไค” ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ถูกโอบล้อมไปด้วยภูเขาน้อยใหญ่หลายร้อยลูก โดยหนึ่งในนั้นมี ฟูจิซัง ภูเขาไฟที่ยิ่งใหญ่อันดับหนึ่ง ของประเทศญี่ปุ่นรวมอยู่ด้วย ภายใต้การตั้งอยู่ในอ้อมกอดของเทือกเขาน้อยใหญ่ ที่ไม่เพียงเป็นแหล่งกำเนิดของทรัพยากรป่าไม้ และแหล่งอาหาร เทือกเขาเหล่านี้แต่ยังเป็นต้นทางของแหล่งน้ำจำนวนมากมาย หลายร้อยสายทอดเป็นสายธารแหล่งน้ำให้ผู้คนใช้ดื่มกินและดำรงชีวิตตลอดมาอย่างยาวนาน เป็นความอุดมสมบูรณ์อยู่ดีกินดี และที่เหนือไปกว่านั้น เทือกเขาเหล่านี้ยังเป็นขุมทองที่ส่งมอบความมั่งคั่งให้กับเมืองไค จนขยายตัวเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ภายใต้การค้นพบ “เหมืองทอง” บนภูเขาของเมืองไค

กว่า 400 ปีก่อนในยุคเซ็งโกกุ ที่มีไดเมียวหรือเจ้าเมืองของเมืองไค นามว่า ทาเคดะ ชินเง็น (Takeda Shingen) เป็นผู้นำและผู้ปกครองที่ทรงอำนาจและบารมี ปรากฏให้เห็นจากมรดกทางประวัติศาสตร์ที่ตกทอดมาและพบเห็นเป็นประจักษ์ว่าจนทุกวันนี้ ชาวเมืองยามานาชิยังคงให้ความเคารพนับถือและแสดงศรัทธาต่ออานุสาวรีย์ของไดเมียวทาเคดะ ชิงเง็น ซึ่งนักท่องเที่ยวหรือผู้ไปเยือนเมืองหลวงโคฟุ ของจังหวัดยามานาชิ จะพบว่า การวางผังเมือง สิ่งก่อสร้าง ถนนหนทาง ตลอดจนสถาปัตยกรรมจากอดีตที่ปรากฏอยู่เป็นสิ่งที่ฉายแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองในยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะมรดกทางภูมิปัญญา ที่ปรากฏชัดของยุคนั้นคือ การสร้างเหรียญเงินตราของญี่ปุ่นเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในยุคนี้ ที่เรียกว่า “โคชูคิง”

“โคชูคิง” เป็นเงินตราของญี่ปุ่นที่ทำขึ้นใช้เป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านั้น การซื้อขายแลกเปลี่ยน ถ้าไม่นับว่าเป็นระบบแลกของกับของ หรือ barter system เงินตราที่มีใช้ในยุคสมัยก่อนนั้นก็เป็นเงินตราที่มาจากเมืองจีน โคชูคิง จึงเป็นเงินตราแรกเริ่มของญี่ปุ่น ในยุคของผู้นำ ทาเคดะ ชินเง็น โดยทำขึ้นจากทองคำที่ขุดได้จากเหมืองทองที่ค้นพบบนภูเขา

ฟูกาซาว่าซัง บรรยายให้ฟังในระหว่างนำชมพิพิธภัณฑ์เหมืองทองว่า “สันนิษฐานกันว่า การค้นพบทองคำในตอนแรก เกิดจากการที่ชาวบ้านร่อนพบทองคำตามแม่น้ำสายต่างๆ ซึ่งร่อนไปก็จะพบในแม่น้ำแทบทุกสายของเมืองไค ทำให้เกิดผู้ฉุกคิดได้ว่า ทองคำที่มีอยู่ตามแม่น้ำ น่าจะไหลมาจากแหล่งต้นกำเนิดไหน หรือจะเป็นบนภูเขาจึงมีการส่งคนไปสำรวจและค้นพบว่า หินผาบนภูเขามีแร่ทองคำปะปนอยู่”

เมื่อขุดพบขุมทอง เจ้าเมืองทาเคดะ ชินเง็นจึงได้กำหนดให้เหมืองทองคำ เป็นสมบัติของส่วนรวม ห้ามผู้คนรุกล้ำขุดนำมาเป็นของส่วนตัว แต่ต้องขุดนำมาเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเพื่อคนทุกคน ซึ่งต่อมาได้มีการปรับลานบนภูเขาสูงกว่า 120 แห่งตั้งเป็นหมู่บ้านของนักขุดทอง ในสมัยนั้นเรียกขานนักขุดทองที่มีความรู้และเชี่ยวชาญเหล่านี้ว่า “คานายามาชู” และทำการขุดทองบนเทือกเขา คายาโกยะมะ นาคายะมะ และภูเขาฟูจิยามะ เป็นเวลาหลายปี 

ทองคำที่ขุดได้อย่างมากมายในยุคสมัยผู้นำทาเคดะ ชินเง็น ถูกนำมาทำเป็นก้อนทองคำ ก่อนที่จะถูกนำไปสร้างเป็นเงินตรา โคชูคิง ทองคำเหล่านี้ถูกนำไปใช้ ซื้อขาย-แลกเปลี่ยนเป็นอาวุธกับเรือสินค้าชาติตะวันตก โดยนักเดินเรือเหล่านั้น เมื่อแลกอาวุธกับทองคำมาได้ ก็นำทองคำไปใช้แลกเปลี่ยนสินค้าอย่างอื่นต่อไปตามเส้นทางเดินเรือ โดย 'ฟูกาซาว่าซัง' เชื่อว่าตั้งแต่ยุคนั้น ทองคำของญี่ปุ่นก็หลั่งไหลออกไปทั่วโลก 

ด้วยอาวุธที่ซื้อหามาได้ด้วยทองคำ ทำให้ผู้นำทาเคดะ กลายเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ ทั้งร่ำรวย มั่งคั่ง และมีอำนาจ สามารถขยายอาณาจักรของเมืองไคออกไปอย่างกว้างขวาง มีคำกล่าวขานกันโดยชาวเมืองยามานาชิ จนกระทั่งถึงยุคปัจจุบันนี้ว่า ถ้าไม่เพราะผู้นำทาเคดะ ชินเง็น ต้องมาเสียชีวิตเร็วเกินไป เชื่อว่า เมืองไคจะเป็นศูนย์กลางของประเทศญี่ปุ่นอย่างแน่นอน 

ในปัจจุบันนี้ เหมืองทองได้ถูกปิดลง ไม่มีการเปิดสัมปทานอนุญาตให้มีการทำเหมืองและขุดทองอีกต่อไป แต่ได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เหมืองทองชื่อว่า The Yunooku Museum of Gold Mining History ขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการทำเหมืองทองคำในอดีต รวมทั้งยังมีกิจกรรม “ร่อนทอง” ที่เป็นหนึ่งในสันทนาการที่สนุกสนานและยังมีโอกาสได้ทองกลับบ้านเป็นที่ระลึกอย่างง่ายดาย

 


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ "สาธิตวิธีการร่อนทอง"  ได้ที่นี่

X

Right Click

No right click