December 21, 2024

สจล. ผลักดัน “นวัตกรรม” แห่งอนาคต เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรไทย

January 26, 2024 3460

ปัจจุบัน และอนาคตของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ภายใต้หัวเรือใหญ่อย่าง

รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองไกล พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงพัฒนา สจล. ให้เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมระดับ World Class ที่ผลิตบุคลากรนักศึกษาคุณภาพที่เชี่ยวชาญทางด้านงานวิจัย เทคโนโลยี รวมถึงเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ การพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยี ใหญ่ระดับประเทศ ที่พร้อมประสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย มุ่งมั่นสนับสนุน ส่งเสริม สร้างนวัตกรรม บนแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ความต้องการในมิติทางสังคม การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรไทย และการเติบโตของเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมของประเทศ

ย้ำภาพผู้นำแห่งนวัตกรรม สร้างต้นการพัฒนารอบด้าน

เป้าหมายของ สจล. คือ The World Master of Innovation” ซึ่งในยุคที่โลกของนวัตกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันเด็กรุ่นใหม่ต้องการองค์ความรู้ที่หลากหลายทั้งในมิติลึก และกว้าง มากขึ้น “รศ. ดร. คมสัน” ยอมรับว่าการจัดการบริหารสถาบันการศึกษาในยุคนี้ไม่ง่าย เพราะการจะผลิตบุคลากรด้านเทคโนโลยี นักวิจัย นวัตกรรม ผลักดัน ให้นักศึกษาก้าวไปสู่การเป็น “ผู้ประกอบการรุ่นใหม่” สร้างธุรกิจแบบ “สตาร์ตอัป” จำเป็นต้องขับเคลื่อนองค์กรพัฒนาหลายด้านไปพร้อม ๆ กัน โดยทาง สจล. ได้มีการกำหนดแผนกลยุทธ์ ด้วยตัวชี้วัด 5 ด้าน เรียกว่า 5 Global Index ประกอบไปด้วย Global Innovation , Global Citizen, Global Learning, Global Infrastructure, และGlobal Management ขึ้นมาเพื่อเป็นเสมือนเข็มทิศในการพัฒนาผลิตบุคลากรทางด้านงานวิจัย นวัตกรรมออกสู่สังคม

ถ้าต้องการขับเคลื่อนสถาบันฯ ให้เป็นผู้นำนวัตกรรมระดับโลก เรื่องของ Global Infrastructure สำคัญ ทุกพื้นที่ภายในรั้ว สจล. ต้องมีความพร้อมวางโครงสร้างการเชื่อมการเดินทาง ความสะดวก สะอาด ปลอดภัยมีระเบียบ ส่วนเรื่องของการ Global Management เพื่อให้การบริหารจัดการทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันอย่างมีประสิทธิภาพ ได้มีการนำเอา AI, Data มาช่วยวิเคราะห์เพื่อปรับหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด และนักศึกษาที่วันนี้โลกของเขาเปิดกว้างมาก สามารถหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งในแง่ของสถาบันการศึกษาก็ต้องพัฒนาตัวเองให้ก้าวกระโดด ต้องสามารถให้ความรู้รองรับการใช้ชีวิตในอนาคต ส่วน Global Citizen คือ การสร้างความให้นักศึกษาจบมาแล้วพร้อมทำงานได้ทั่วโลก มีความรู้ทักษะที่ตลาดโลกต้องการ ในขณะที่ Global Learning คือ การใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนสามารถเสริมสร้างทักษะได้ทุกด้าน รวมถึงการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ของสจล. ทั้งที่ลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร และศูนย์เรียนรู้ที่อำเภอด่านช้าง จ.สุพรรณบรี ให้เชื่อมโยงกันเป็นแหล่งเรียนรู้ตอบโจทย์ประชากรในสังคม และชุมชนได้

จาก 4 Global นี้ ผลลัพธ์ที่ได้คือ Global Innovation เกิดการพัฒนาสร้างนวัตกรรมระดับโลก เพราะแท้จริงแล้ว นวัตกรรมไม่ได้เน้นทำขึ้นมาเพื่อขายในประเทศเท่านั้น แต่ต้องสามารถนำไปทำตลาดต่างประเทศ สร้างชื่อให้ประเทศไทยได้ด้วย เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนผสมสำคัญที่ทำให้วิสัยทัศน์ของ สจล. ที่จะเป็น The World Master Innovation ผู้นำนวัตกรรมระดับโลก เกิดขึ้นได้จริง

ทั้งนี้ “รศ. ดร.คมสัน” ย้ำว่าเหนือสิ่งอื่นใดต้องเข้าใจด้วยว่า ในยุคนี้ องค์ความรู้หาได้ง่าย คนรุ่นใหม่อยากรู้อะไรก็เข้าอินเทอร์เน็ตมีคำตอบให้หมด ดังนั้น บทบาทของสถาบันการศึกษาจึงต้องเน้นไปที่การปฏิบัติ หน้าที่ของคณะอาจารย์เสมือนเป็นที่ปรึกษา ทำให้นักศึกษานำความรู้ต่าง ๆ มาประยุกต์ผสมผสานไปเป็นการปฏิบัติ ฉะนั้น รูปแบบการเรียนการสอน หลักสูตรต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนไปปรับให้เข้ายุคสมัยอยู่ตลอดเวลา

นอกจากความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้ สจล. เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านงานวิจัย และนวัตกรรมที่ทันสมัยแล้ว “รศ.ดร. คมสัน” ยังหมายมั่นปั้นมือให้สถาบันฯ แห่งนี้เป็นต้นแบบของการนำนวัตกรรมมาใช้สร้างประโยชน์ในมิติต่าง ๆ เป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานให้กับภาคการศึกษา หน่วยงาน ภาคเอกชน อื่น ๆ ได้มีไอเดียในการนำนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามแต่ละองค์กร

โดย “รศ. ดร.คมสัน” เผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ทาง สจล. เน้นในเรื่องของ Sustainable University โดยกำหนดเป้าหมายในการเป็น Green University มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมุ่งใช้พลังงานสะอาด เช่น การจัดการขยะ ที่ผ่านมาการจัดการขยะคือ จ้างบริษัทเก็บขยะมาดำเนินการ แต่ตอนนี้ สจล. เตรียมสร้างโรงที่เก็บขยะ ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม เปลี่ยนขยะเหล่านี้ให้มีค่า เช่น กลั่นเป็นน้ำมัน หรือ รีไซเคิล พร้อมสร้างการตระหนักรู้รักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อมสีเขียวภายในสถาบัน

นอกจากนี้ สจล. ยังมีเป้าหมายสู่การเป็น Smart University โดยอธิการบดี สจล. เชื่อมโยงการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในสถาบัน ด้วยแอพลิเคชั่น KMITL UApp ทั้งด้านการจัดการการเรียน การทำงาน การจองสถานที่ co – working space, โรงยิม, สระว่ายน้ำ, ที่จอดรถอัจฉริยะ และระบบกล้องวงจรปิด การติดตามตรวจสอบ แจ้งเตือน เพื่อรักษาความปลอดภัยในสถาบัน โดยเป้าหมายของการทำ Smart University ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของนักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงตั้งใจให้เป็นโมเดลในการพัฒนาแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในการทำ Smart City ของประเทศไทยในอนาคตด้วย

ภารกิจหนุนนวัตกรรมสร้างอิมแพคระดับประเทศ

ทั้งนี้หนึ่งในภารกิจที่ รศ. ดร.คมสัน ให้ความสำคัญอย่างมาก หลังจากรับหน้าที่หัวเรือใหญ่แห่ง สจล. มาตลอด 1 ปีเต็ม คือ ต้องการส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรมที่สร้างอิมแพคให้กับประเทศ ทั้งในเชิงการยกระดับคุณภาพชีวิตสังคมไทย เศรษฐกิจมหภาค และชื่อเสียงด้านนวัตกรรมของคนไทยที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก

อธิการบดีแห่ง สจล. เผยว่าขณะนี้ทางสถาบันฯ เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมในหลากมิติ หลายอุตสาหกรรม โดยโฟกัสไปนวัตกรรมด้านความปลอดภัยในแง่มุมต่าง ๆ ที่เชื่อว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมภาคธุรกิจได้ พร้อมยกตัวอย่างสองโปรเจกต์ใหญ่ที่ต่อยอดมาจากความปลอดภัย คือ อาหารปลอดภัย และพลังงานทดแทนที่ปลอดภัย

ทั้งนี้หนึ่งในโปรเจกต์ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอาหารปลอดภัยคือ การเกษตร โดยที่ผ่านมา สจล. ร่วมมือกับนักวิจัย นวัตกรรม ระดับประเทศ และภาคธุรกิจ พยายามพัฒนาส่วนนี้อย่างครบวงจร ซึ่งภาคการเกษตร ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับประเทศ เพราะไทยถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าการเกษตรมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ถ้าทำให้เกิด เกษตรยั่งยืน เกษตรปลอดภัย ได้จริงจะสามารถพลิกโฉมอุตสาหกรรมของไทยให้รุดหน้าแข่งขัน และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ คุณภาพชีวิตของชาวเกษตรกร เศรษฐกิจไทย ก็จะถูกยกระดับโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พร้อมเผยว่า ล่าสุดได้มีการจัดตั้ง สถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ สจล. ขึ้นมา เพื่อหนุนนวัตกรรมการเกษตรในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำกระบวนการคิด การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ การจดลิขสิทธิ์นวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการยอมรับและเชื่อมั่นในระดับโลก การฝึกอบรมให้ความรู้เกษตรกรไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำการเกษตร ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร ไปจนถึงปลายน้ำ คือ ผู้บริโภคไทยได้ทานอาหารที่ดีมีประโยชน์อย่างปลอดภัย และในเชิงเศรษฐกิจ คือ ให้ไทยเป็นประเทศที่มีอาหารปลอดภัยสามารถส่งไปทำตลาดได้ทั่วโลก ไม่เสียโอกาสอย่างทุกวันนี้ ที่ไม่สามารถส่งไปขายในตลาดต่างประเทศได้อย่างที่ควรจะเป็นเพราะติดกฎเกณฑ์เรื่องการใช้สารเคมีต่าง ๆ

“รศ. ดร.คมสัน” ยกตัวอย่างถึงแนวคิดในการนำงานวิจัย และ นวัตกรรมมาช่วยแก้ไขปัญหาการเกษตรของไทยว่า "เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ยังไม่ถูกนำมาใช้กันเพราะต้องยอมรับว่า ปุ๋ยอินทรีย์ มีธาตุอาหารที่เข้มข้นน้อย คือ ต้องใส่ 3-4 เท่า ถึงจะเท่ากับการใส่กว่าปุ๋ยเคมีหนึ่งครั้ง แถมราคาก็ไม่ได้ถูกกว่า จึงไม่แปลกที่เกษตรกรไทยจะใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก หรือ เรื่องของแมลงรบกวนพืชผลการเกษตร ก็ต้องใช้สารเคมียาฆ่าแมลงมาช่วยอีก เหล่านี้คือตัวอย่างปัญหาที่ทำให้เกษตรอินทรีย์ไม่ได้รับความสนใจ สิ่งที่ สถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ สจล. ทำ คือ ต้องศึกษาวิจัย ขับเคลื่อนนวัตกรรมจุลินทรีย์ชีวภาพสำหรับการเกษตรขึ้นมาเพื่อทดแทนพวกปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง พวกสารเคมีต่าง ๆ ให้ได้ทั้งหมด"

โลกทุกวันนี้ ให้ความสำคัญกับเรื่องของอาหารปลอดภัย ธุรกิจเกษตรในบ้านเราจะทำแบบเดิม ๆ ไม่ได้ เพราะในอนาคตอาจโดนกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะในฝั่งประเทศยุโรปที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของอาหารที่ปลอดสารเคมีอย่างมาก การส่งออกพืชผลการเกษตรของไทยที่มูลค่ามหาศาลอาจต้องสะดุด และเสียเปรียบคู่ค้าอย่างมาก ถ้าเราไม่พัฒนาการเกษตรไทยให้เข้าสู่ยุคใหม่เกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนจริง ๆ”

สิ่งที่ สถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ สจล. ทำมีหลายส่วนมาก เช่นการ พัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ พัฒนาชีวภัณฑ์ที่ทดแทนการใช้ยาฆ่าแมลงได้ ที่ตอบโจทย์ในแง่ของต้นทุน และคุณภาพ พร้อมมีความร่วมมือกับภาคเอกชนทำปุ๋ยสูตรพิเศษขึ้นมาในราคาที่จับต้องได้คุณภาพไม่แพ้ปุ๋ยเคมี และตอนนี้ก็มีการนำนวัตกรรมอินทรีย์เหล่านี้ไปใช้ในสวนทุเรียนที่จังหวัดชุมพร ซึ่งปกติที่นี่ส่งทุเรียนไปขายที่ประเทศจีนอยู่แล้ว โดยทำมาราว 1 ปี เริ่มตั้งแต่ปรับปรุงดิน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ชีวภัณฑ์ ฯลฯ มีหน่วยงานไปตรวจสอบคุณภาพ อบรมสอนการทำเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ ตอนนี้เรียกได้ว่าเปลี่ยนจากสวนทุเรียนธรรมดาเป็นสวนแบบออร์แกนิกไปแล้ว ทุเรียนที่ส่งไปขายก็ได้มีคุณภาพ ได้ราคาที่ดีกว่าการทำแบบเดิม ๆ

จีนถือเป็นตลาดใหญ่ของทุเรียนไทย ถ้าเกษตรกรจีนพัฒนาขึ้นมาเอง หรือ วันดีคืนดีแจ้งว่าไม่รับทุเรียนไทย แบบนี้ไทยจะเสียหายทันที ทุเรียนค้างตลาด ดังนั้นก่อนที่จะถึงเหตุการณ์แบบนั้น เราต้องคิด และพัฒนาก่อน ซึ่งการทำ ออร์แกนิก คือการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิต ให้ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งกรณีของการพัฒนาสวนทุเรียนที่ชุมพร คือ ตัวอย่างของการใช้งานวิจัย นวัตกรรมมาใช้สร้างอิมแพคที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก

ส่วนมุมของความปลอดภัยด้านพลังงาน “รศ. ดร.คมสัน” ย้ำว่า ทาง สจล. ก็ให้ความสำคัญมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเรื่องของเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่ปลอดภัย ล่าสุดในงานประชุม ‘COP28’ หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ก็พูดถึงความพยายามของนานาชาติในการช่วยลดโลกร้อน อย่าง ลดการใช้ ‘เชื้อเพลิงฟอสซิล’ ลดการปล่อย “คาร์บอนไดออกไซด์” ซึ่งโจทย์ที่ตามมาคือ ต้องหาพลังงานใหม่ พลังงานทดแทนอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนน้อยที่สุด

ทาง สจล. ก็พยายามศึกษาหาพลังงานทดแทนอื่น ๆ อย่าง พลังงานไฮโดรเจน และ พลังงานนิวเคลียร์ ถึงประโยชน์ ข้อดี ข้อเสีย โดยให้ทาง วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศึกษาในเชิงลึก หลายคนอาจมองว่าไมโครนิวเคลียร์เป็นเรื่องที่ไกลตัวประเทศไทยเกินไป แต่ในแง่ของการศึกษาวิจัย ถ้าไม่เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ คือการเสียโอกาสของประเทศ เพราะโลกยุคใหม่ตอนนี้ต่างก็พูดถึงพลังงานนี้กันแล้ว

“ในบ้านเราส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านพลังงานนิวเคลียร์ เพราะพูดถึงถูกติเตือนมีปัญหาตามมาทันที แต่สำหรับ สจล. เราเชื่อว่า ในตอนที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวเรื่องของการลดโลกร้อน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม พลังงานนิวเคลียร์ถูกหยิบยกมาคุยกันมากขึ้น นี้คือโอกาสของประเทศไทยที่จะได้เรียนรู้พลังงานในอนาคตชนิดนี้ ถ้าศึกษาเชิงลึกจริง ๆ จะพบว่า พลังงานนิวเคลียร์มันไม่ใช่น่ากลัวเหมือนเช่นในอดีต ถ้ารู้จักวางแผน รู้จักใช้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก อย่างในประเทศทางยุโรปก็เริ่มนำมาใช้ ซึ่งตอนนี้ทาง สจล. ก็พยายามที่จะร่วมมือกับทางสหรัฐอเมริการ่วมถึงประเทศทางฝั่งยุโรป ในการศึกษาไมโครนิวเคลียร์ ซึ่งในอนาคตประเทศไทยจะทำเรื่องนี้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเราไม่เริ่มคิดทำโมเดลไม่แตะเรื่องนี้เลย อนาคตไทยก็จะตามเรื่องของพลังงานอนาคตไม่ได้เลยตลอดไป”

นอกจากนี้ยังมีโปรเจกต์อื่น ๆ ที่กำลังเตรียมพัฒนาอยู่อีกมาก เช่นการผลักดันเรื่องของเทคโนโลยีอวกาศ (space technology) อย่างดาวเทียม ซึ่งกำลังดำเนินการร่วมกับภาครัฐ และภาคเอกชน จัดตั้ง SPACE HUB ที่ สจล.วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เพราะโลกวันนี้ไม่แค่ 5G ซึ่งเทคโนโลยีอวกาศ จะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์โลกอนาคต ถ้าไทยทำได้ก็จะเป็น HUB ทางด้านดาวเทียมในอาเซียนได้ไม่ยากจนเกินไป

เหล่านี้คือตัวอย่างของการทำโปรโจกต์งานวิจัย นวัตกรรม ที่ตอกย้ำแสดงให้เห็นว่า สจล. ภายใต้การนำของ “รศ. ดร.คมสัน” ได้ตกผลึก นำเทรนด์ และความต้องการในอนาคต มาวิเคราะห์และพัฒนาสร้างนวัตกรรมแห่งอนาคตที่ตอบโจทย์สังคมไทย และสังคมโลกอย่างแท้จริง

KMITL INNOVATION EXPO 2024 เปิดโลกนวัตกรรมล้ำสมัย

ล่าสุดทาง สจล. เตรียมจัดงาน KMITL INNOVATION EXPO 2024 “SustainED Innovation” ในวันที่ 1-3 มีนาคม ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง ทั้งนี้ “รศ. ดร.คมสัน” เผยถึงแนวคิดของการจัดงานแสดงนวัตกรรม และผลงานวิจัยของนักศึกษา คณะอาจารย์ และหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ ที่มีมากกว่า 1,000 ชิ้นงานนี้ว่า

"สจล. พยายามผลักดันและสร้างงานวิจัยนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสังคมไทย และผลิตพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ให้มีทักษะด้านนวัตกรรมที่สามารถผลิตผลงานให้ตรงกับตลาดต้องการ ดังนั้นตลอดการเรียนภายในรั้วของ สจล. จึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชน ธุรกิจต่าง ๆ ในการทำงานร่วมกันกับคณะอาจารย์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้รอบด้านให้กับนักศึกษา และเน้นให้เกิดการลงมือปฏิบัติจริง เวทีนี้จะได้เห็นผลลัพธ์ของการพัฒนางานวิจัย และนวัตกรรม ในด้านต่าง ๆ มาจัดแสดงโชว์ รวมถึงโปรเจกต์ที่มีการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า งานวิจัย นวัตกรรม ถ้าถูกนำมาใช้อย่างเหมาะสมจะสามารถช่วยภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมากมหาศาล"

ภายในงานจะมีการจัดแสดง Project Champion ที่ถูกคิดและพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไข ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ และสังคมได้อย่างชัดเจน อาทิ เรื่องของ การเกษตรยั่งยืน (Sustainable Agriculture), นวัตกรรมพลังงานทดแทน (Renewable energy), นวัตกรรมพลังงานในอนาคต (Future Energy) อย่าง เทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์แบบไมโครโมดูลาร์ เป็นต้น

นอกจากโชว์ผลงานต่าง ๆ แล้ว งาน KMITL INNOVATION EXPO 2024 จะเป็นอีกเวทีหนึ่งที่เปิดโอกาสผลงานวิจัย นวัตกรรมฝีมือคนไทยก้าวไปสู่ระดับโลกได้สะดวกขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา เหล่าบรรดาอาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิของไทย มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมไม่แพ้ต่างชาติ ล้วนแต่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ รวมถึงการได้แลกเปลี่ยนทำงานร่วมกับภาคเอกชนต่าง ๆ ทำให้แนวคิดของการทำงานวิจัย นวัตกรรม มีความหลากหลาย แต่ที่ทำให้การพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มศักยภาพเพราะขาดการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ซึ่งเชื่อว่างานแสดงนวัตกรรมครั้งใหญ่ที่จัดขึ้นที่ สจล. นี้ เจ้าของนวัตกรรมจะได้เจอกับภาคเอกชน นำพามาซึ่งการร่วมมือกันในอนาคตก็เป็นได้ โดยทาง สจล. พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ทางด้านงานวิจัย นวัตกรรมอย่างเต็มกำลัง

วันนี้ในเชิงของอุตสาหกรรมการทำธุรกิจกับต่างชาติ บทบาทของการรับจ้างผลิตอาจไม่ใช่ เพราะต้องยอมรับว่าต้นทุนค่าแรงบ้านเราสูงกว่าเพื่อนบ้าน สิ่งที่จะทำให้สินค้าบริการไทยเพิ่มมูลค่าได้คือ การสร้างนวัตกรรมต้นแบบที่ภาคอุตสาหกรรมนั้น ๆ ต้องการ ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ต่างประเทศทำกันหมดแล้ว และนี่คือโจทย์สำคัญที่ สจล. ต้องเร่งพัฒนาและทำอย่างจริงจัง ซึ่งจะสามารถผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยแข่งขันได้


 เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ

Rate this item
(2 votes)
Last modified on Tuesday, 30 January 2024 07:21
X

Right Click

No right click