November 21, 2024

BRIA Group บริษัทไบโอเทคไทย

August 12, 2018 8784

ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมาย ความหลากหลายทางชีวภาพของไทยเป็นต้นทุนสำคัญของประเทศอีกประการที่นอกจากเราจะผลิตสินค้าอาหารประเภทต่างๆ เลี้ยงชาวโลกได้แล้ว เรายังสามารถมีส่วนแบ่งในเรื่องไบโอเทคโนโลยีได้อีกด้วย

เพราะคนไทยมีความสามารถด้านไบโอเทคไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก รอเพียงการสนับสนุนอย่างจริงจังจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และจิตใจของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวขึ้นมา

MBA มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทด้านไบโอเทคโนโลยีของไทยที่มีจุดเริ่มต้นคล้ายกับสตาร์ทอัพและสามารถเติบโตจนกลายเป็นกลุ่มบริษัท BRIA เช่นในทุกวันนี้

ทศพล พิชญโยธิน ผู้บริหารกลุ่มบริษัท BRIA ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วย บริษัทกรุงเทพอาร์ไอเอ แล็บ จำกัด บริษัทแปซิฟิค ไบโอเทค จำกัด บริษัท เพชรบูรณ์อินโนเวชั่น จำกัด เล่าเรื่องราวของบริษัทที่เป็นเหมือนธุรกิจครอบครัวแต่ก็น่าสนใจไม่แพ้เรื่องราวของสตาร์ทอัพด้านอื่นๆ ให้ MBA ฟังว่า

BRIA เกิดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2525 โดย ดร.นิลวรรณ เพชระบูรณิน คุณแม่ของทศพล ซึ่งทำงานเป็นนักวิจัยอยู่ในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการตรวจโรคด้วยกัมมันตรังสี ที่เรียกว่า Radioimmunoassay (RIA) ซึ่งเป็นการตรวจโรคที่ทันสมัยมากในยุคนั้น แต่มีข้อจำกัดคือ ต้องการผู้ที่มีทักษะ อีกทั้งยังเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับกัมมันตรังสี ทำให้มีคนทำไม่มาก และชุดตรวจมีอายุเพียง 3 เดือน ส่งผลให้ค่าตรวจสูงและใช้เวลานานกว่าจะได้ผล

ดร.นิลวรรณ เห็นช่องทางจึงเปิดเป็นธุรกิจ รับทำ RIA จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์จึงจะได้ผล เปลี่ยนเป็น ได้ผลภายใน 2 วัน ราคาที่ผู้ป่วยต้องจ่ายก็ลดลงจากระดับหมื่นเหลือเพียงระดับพัน เป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทที่มีคนทำงานเพียง 3 คน สู่บริษัทที่ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 600 คน

ทศพลเล่าว่า “ปัจจุบันเรามีเทสต์ทั้งหมดประมาณ 900 อย่าง และพอเรามีเทสต์เยอะเราก็ทำน้ำยาใช้เองในห้องแล็ป จนลูกค้าเริ่มขอแบ่งซื้อ เลยเปิดอีกบริษัทหนึ่งชื่อแปซิฟิกไบโอเทค เดิมทีขายน้ำยาที่เราผลิตและใช้ในห้องแล็ปของตัวเอง เริ่มจากทำน้ำยาในห้องแล็ปบางส่วนและไปนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเริ่มด้วยชุดตรวจโรคเอดส์ HIV เราทำชุดตรวจโรคเอดส์รายแรกในประเทศไทย”

กิจการของกลุ่ม BRIA เติบโตมาอย่างต่อเนื่องจนสู่ปัจจุบันที่เริ่มเห็นว่าดีเอ็นเอจะมีบทบาทสำคัญ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเข้าเครื่อง Whole genome sequencing เข้ามาเป็นเครื่องแรกในประเทศไทย เพื่อใช้ถอดรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ และพัฒนาจนกลายเป็นบริการที่สำคัญอีกอย่างของบริษัทคือ Non-Invasive Prenatal Test (NIPT) ที่มาช่วยลดความเสี่ยงของการเจาะน้ำคร่ำในหญิงมีครรถ์เพื่อตรวจสอบทารก เปลี่ยนเป็นการเจาะเลือดแม่เพื่อนำมาแยกดีเอ็นเอของทารกแทน

ทศพลสรุปธุรกิจของกลุ่มว่า “บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์  เลือด ชิ้นเนื้อ มะเร็ง ตรวจดีเอ็นเอ  ทำชุดตรวจทางการแพทย์ ทำเครื่องมือในวงการแพทย์”

เขาอธิบายวิธีสร้างธุรกิจของกลุ่มว่า ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการนำเข้าจนเห็นตลาดแล้วจึงทำขึ้นมาทดแทนการการนำเข้า “มีตลาดแน่นอน ใหญ่พอ เราก็เริ่มนำเข้ามาก่อน หลังจากนั้นเราก็พัฒนาขึ้นมาเพื่อทดแทน ซึ่งการพัฒนาแต่ละอย่างมีความยาก เพราะมีความซับซ้อนและความหลากหลายทาง QC (การควบคุมคุณภาพ)สำคัญมาก สิ่งมีชีวิตเราคอนโทรลไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ นี่คือเรื่องการทดลอง ต้องใช้เวลา เงินทุน และกว่าจะออกโพรดักต์มาได้ต้องทำวิจัยเยอะ”

เขากล่าวต่อว่า “เทคโนโลยีเปลี่ยนตลอดและเร็ว เราต้องหาความรู้ตลอดเวลา เราต้องทันสมัย ต้องไปประชุมต่างประเทศ ต้องไปดู journal ใหม่ๆ ต้องมีแผนกที่เป็น Business Development + R&D ที่คอยดูเรดาห์ว่าเทคโนโลยีแบบไหนที่เหมาะสม คือบางทีดีแต่แพงก็ไม่เหมาะกับประเทศไทย คือเราต้องสะสมมาเป็นประสบการณ์ว่าแบบนี้ดีไปได้ บางเรื่องตอนนี้อาจจะยังไม่ถึงเวลา ส่วนใหญ่งานวิจัย 99 เปอร์เซ็นต์คือไม่สำเร็จ เราต้องยิงให้ตรงจุด”

Ecosystem ที่ต้องสร้าง

ข้อคิดหนึ่งที่ได้จากการพูดคุยกับทศพลคือ การที่รัฐบาลต่างประเทศสนับสนุนบริษัทไบโอเทคของตนทำให้มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงกว่าบริษัทไบโอเทคในประเทศอื่น

ตัวอย่างเรื่องราวที่ได้รับฟังคือ เมื่อครั้งที่ BRIA ผลิตชุดตรวจโรคเอดส์ชุดแรกในชื่อ HIV Lip Stick แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่มีผู้ซื้อ จนกระทั่ง US FDA เห็นคุณภาพของสินค้าที่ผลิตขึ้นมา และมีการไปขึ้นทะเบียนกับ WHO จึงมีการสั่งซื้อไปแจกในทวีปแอฟริกา

“ก็เกิดขึ้นมาได้ จริงๆ ขายเมืองไทยไม่ได้เลย เมืองไทยไม่คิดว่าจะใช้ได้ ปัจจุบันเรายังทำชุดตรวจ HIV อยู่ แต่เปลี่ยนเป็นเทคโนโลยีใหม่ขึ้นเร็วขึ้น ตรวจเอดส์จากน้ำลายได้ และรับจ้างผลิตให้บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในอเมริกาส่งขายทั่วโลก เคยทำชุดตรวจโรคไข้เลือดออกก็ขายทั้งโลกเหมือนกัน”

ทศพลจึงแนะนำสตาร์ทอัพด้านไบโอเทคว่า ต้องคิดให้ใหญ่ ขายสินค้าไปทั่วโลก ไม่คิดเพียงในประเทศไทย  “เวลาทำเครื่องมือ เราต้องคิดจะขายทั้งโลก เช่นทำชุดตรวจไข้เลือดออก แต่ไข้เลือดออกระบาดทุก 2 ปี ถ้าขายเฉพาะเมืองไทย ขายทีแล้วหายไป 2 ปีไม่ไหว ก็ไปขายอินเดีย แอฟริกา ก็วนไปเรื่อยๆ ก็อยู่ได้ เวลาทำพวกนี้ต้องทำมาตรฐานโลกแล้วขายทั้งโลกถึงอยู่ได้”  

บทเรียนของ BRIA ทำให้เห็นว่ากลไกสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ในประเทศ การสนับสนุนด้านการตลาด การสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งใน Ecosystem ที่ต้องเร่งสร้างเพื่อรองรับธุรกิจเกิดใหม่ที่จะสามารถสร้างมูลค่าไปได้ทั่วโลก โดยเฉพาะไบโอเทคที่ไทยก็มีโอกาสไม่แพ้ใคร


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ “เทรนด์ไบโอเทคโลก & โอกาสของธุรกิจไทย” โดย ทศพล พิชญโยธิน CEO BRiA Group จากงาน Thailand MBA Forum 2018  ได้ที่นี่

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Saturday, 26 November 2022 08:22
X

Right Click

No right click