×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 806

FOOD-SMART LIFESTYLE

July 07, 2017 2786

Food Tech กินความกว้างขวาง สามารถแยกพิจารณาเป็นหลายสาย แต่ละสายย่อมแตกกิ่งก้านสาขาไปอีกเป็นจำนวนมาก หากยึดเอาแนวการลงทุนในเชิง Food Tech ของบรรดา Venture Capitalists ชั้นนำของโลกเป็นหลัก

 ก็ย่อมมีตั้งแต่บรรดา StartUp ที่เน้นทำการแบบไม่ซับซ้อน เช่น การจัดส่งอาหาร หรือ Online Food Delivery ไปจนถึงเหล่า StartUp ที่เน้นทำการซึ่งต้องอาศัยความรู้หรือเทคโนโลยีขั้นสูงทางด้าน BioTech เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น ถ้าจะให้กล่าวถึง Food Tech ทั้งระบบ เราคงไม่สามารถครอบคลุมได้ในการนำเสนอเพียงครั้งเดียว ฉบับนี้ เราจึงเลือกหยิบแต่เพียงบางเรื่องที่เราคิดว่าน่าสนใจในระดับโลก แต่ทว่ากำลังจะเห็นจริงเห็นจัง ใกล้ตัว จะจับต้องสินค้าและบริการได้ในบ้านเราในอนาคตอันใกล้ และอาจจะเติบโตได้ในตลาดระดับ Mass Market ในเวลาไม่ช้าไม่นาน

อันที่จริงนิตยสาร MBA ของเรามีความสนใจในเรื่อง Cellular Agriculture และได้เขียนไปบ้างแล้วในฉบับที่ผ่านๆ มา แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเราควรกล่าวถึงเป็นประเด็นแยกต่างหากในอนาคตอย่างลงลึก

หรืออย่างเรื่อง CRISPR/cas9 เอง นิตยสาร MBA ของเราก็ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะคาดว่ามันจะเป็นเทคโนโลยีที่มาเปลี่ยนโลก เราได้ติดตามประเด็นการลงทุนในระดับโลก (และได้ร่วมลงเงินซื้อหุ้นของสองบริษัทนั้นด้วย) ที่สองบริษัทอย่าง Editas Medicine และ Intellia Therapeutics ได้นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว และ Jenifer Doudna ก็คงจะได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับรางวัลโนเบลทางด้านเคมีอีกครั้งในปีนี้ (และอาจจะไม่พลาดอีก) อีกทั้งกิจการขนาดยักษ์ของไทยเราอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์เองก็ได้แสดงความสนใจที่จะใช้เทคโนโลยีนี้ในการตัดต่อพันธุกรรมของกุ้งเพื่อแก้ปัญหาเชื้อโรคในลำไส้ที่ทำให้กุ้งตายเป็นจำนวนมาก

เมื่อไม่นานมานี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เชิญศาสตราจารย์ George Church แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมาที่เมืองไทย ซึ่งเราคาดว่าคงจะได้เห็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CRISPR/cas9 กับธุรกิจในเมืองไทยเร็วๆ นี้

MBA เราได้พูดคุยกับนักพันธุศาสตร์จากสถาบันชั้นนำของเมืองไทยไปแล้วในเรื่องนี้ แต่เนื่องจากมันยังเป็นเรื่องใหม่มาก จึงยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์ไทยที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลในเชิงลึกกับเราได้ว่ามีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้กับโครงการไหนบ้างในเมืองไทย และใช้แล้วได้ผลอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม เราจะได้นำเสนอเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ในลำดับต่อไป

ผู้สนใจแนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ที่สำคัญ หรือผู้ที่ต้องการลงทุนกับเทคโนโลยีแนวนี้ โปรดติดตามนิตยสารของเรา อย่าได้คลาดสายตา ฉบับนี้ เราขอพูดถึงผลิตภัณฑ์ FoodTech ที่เราคาดว่าจะมาช่วยเสริมให้ Lifestyle ของคนรุ่นใหม่สะดวกสบายขึ้น เราจะเรียกมันว่า “หุ่นยนต์ปรุงอาหาร” หรือ “เครื่องปรุงอาหารอัตโนมัติ” หรือ “แม่ครัวอัจฉริยะ” ก็สุดแล้วแต่ มันคือผลิตภัณฑ์ FoodTech ประเภทที่เรียกรวมๆ ว่า Robotic Cooking Devices คล้ายๆ กับเจ้า Food Replicators ในหนังจินตนาการ Star Trek นั่นแหละ 

มีผู้ประกอบการและนักประดิษฐ์จำนวนมากกำลังมุ่งมั่นผลิตเครื่องปรุงอาหารอัตโนมัติเหล่านี้กันอยู่ พวกเขามุ่งไปที่อาหารเพื่อสุขภาพ และเป็นอาหารสด แถมต้องมีรสชาติอร่อยด้วย โดยอาศัยเทคโนโลยีเข้าช่วย เพื่อให้อาศัยพลังหรือแรงงานมนุษย์แต่น้อยนั่นเอง

อันแรกเลยคือ OneCook ที่กำลังพัฒนาโดย Tech-No-Logic และคาดว่าจะส่งมอบผลิตภัณฑ์ล็อตแรกได้ในเดือนสิงหาคม 2559 นี้เอง (คลิกดูตัวผลิตภัณฑ์และการทำงานโดยสั่งงานผ่าน Smartphone Applications ได้ที่ http://onecook4.me/)

One Cook ระดมทุนผ่าน Kickstarter และประสบผลสำเร็จด้วยดี โดย Outsource การผลิตให้กับโรงงานในประเทศจีนและติดตั้ง IOT Module ของ MediaTek โดยมีความคืบหน้ามาตามลำดับ (ผู้สนใจคลิกดูได้ที่ www.kickstarter.com/projects/tech-no-logic/onecook-the-robotic-private-chef-to-free-your-cook)

One Cook ได้พัฒนาเมนูอาหารพิเศษสำหรับเครื่องปรุงอัตโนมัติเสร็จหลายรายการแล้ว สนนราคาประมาณ 6 ดอลลาร์ต่อเมนู ซึ่งต่อไปผู้บริโภคสามารถสั่งวัตถุดิบสำเร็จรูปเหล่านี้ผ่านโทรศัพท์มือถือได้เมื่อเขาเปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบ (คลิกดูตัวอย่างเมนูได้ที่ http://onecook.menu/home)

การทำงานของ One Cook นั้นเป็นแบบ Internet of Things ทั่วไป คือสั่งงานโดยแอพพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต ฯลฯ ผ่านไวไฟซึ่งเชื่อมสัญญาณกับเครื่อง One Cook ซึ่งสามารถตั้งโปรแกรมล่วงหน้าให้เครื่องทำการปรุงอาหาร ณ เวลานั้นเวลานี้ได้ เครื่องนี้มีหน้าตาคล้ายๆ หม้อหุงข้าวไฟฟ้าขนาดใหญ่ สามารถปรุงอาหารให้กับสมาชิกครอบครัวได้ถึง 4 คน โดยใส่วัตถุดิบสำเร็จรูปตามเมนูที่เตรียมพร้อมไว้ก่อนแล้วเข้าไป และรอให้มันปรุงให้กิน ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที (คลิกดูวิดีโอได้ที่ www.youtube.com/watch?v=_o59R6OSkXU)

พออิ่มหนำสำราญแล้ว เรายังสามารถกดปุ่มแชร์ความเห็นไปตาม Social Medias ต่างๆ ได้ตามชอบใจ เราต้องคอยดูต่อไปว่าใครจะเป็นผู้นำเข้าหรือเป็นตัวแทนจำหน่าย One Cook ในประเทศไทย

“แม่ครัวอัจฉริยะ” อีกอันหนึ่งทำนองเดียวกันกับ One Cook แต่ใหญ่กว่าหน่อย คือเจ้า COOKI ซึ่งกำลังซุ่มพัฒนาขึ้นโดย FoodTech StartUp ที่ชื่อ Sereneti Kitchen

สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาและทำให้การทำครัวปรุงอาหารดู Exotic ขึ้นคือ “แขนกล” ที่คอยคนหม้ออาหารที่กำลังปรุงอยู่อย่างต่อเนื่อง (ดูตัวอย่างได้ที่ www.youtube.com/watch?v=FRI6gl1Ui60 และ www.facebook.com/serenetikitchen/)

Cooki คงยังต้องได้รับการพัฒนาไปอีกสักระยะหนึ่ง และยังไม่ได้กำหนดเวลาที่จะนำผลิตภัณฑ์ออกวางตลาด

Business Model ของ Sereneti Kitchen ก็คล้ายกับของ Tech-No-Logic นั่นแหละ คือนอกจากจะขายเครื่องปรุงอาหารที่มีฟังก์ชันทุกอย่างในข่าย Internet of Things แล้ว ยังจะขายวัตถุดิบและเครื่องปรุงสำเร็จรูปสำหรับเมนูชนิดต่างๆ ทางเว็บไซต์ และจัดส่งให้ถึงมือผู้บริโภคอีกด้วย โดยทั้งหมดนั้น คือตั้งแต่สั่งซื้อ กระบวนการจัดส่ง และสั่งงานเครื่อง Cooki สามารถกระทำผ่านแอพพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ได้ 

สุดท้ายที่เราอยากนำเสนอเป็นอันที่เราทึ่งมาก 

มันเป็นหุ่นยนต์เชฟที่เกือบเหมือนมนุษย์ มันมีมือที่แข็งแรงเคลื่อนที่ไปมา ซ้ายทีขวาทีได้อย่างไม่ติดขัดและไม่เหน็ดเหนื่อย มีนิ้วที่แพรวพราว เคลื่อนไหวได้ประหนึ่งนิ้วมือเชฟชั้นยอด และมีสมองกล AI ซึ่งเรียนรู้ได้ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Machine Learning แรกๆ มันยืนดูมนุษย์ปรุงอาหาร และฟังมนุษย์พร่ำสอนมันเรื่องวัตถุดิบ เครื่องปรุง และส่วนผสมต่างๆ แต่ต่อไปมันจดจำเอาไปทำเอง และอาจพัฒนาต่อยอดขึ้นไปเองได้อีก มันยังมีอุปกรณ์หลัก เช่น เตาสำหรับปรุงอาหารที่ต้องติดตั้งตั้งแต่แรก และอุปกรณ์เสริมเช่นเซ็นเซอร์และไวไฟเพื่อให้มันสื่อสารกับเครือข่ายผ่านอินเทอร์เน็ตได้ มันเป็น Internet of Things ที่อาศัยการติดตั้ง Touchscreen เพื่อให้เราควบคุมมันอีกทอดหนึ่ง (คลิกดูการทำงานของ MK1 ได้ที่ www.youtube.com/watch?v=SNy6fEuPWbc)

เราสามารถดาวน์โหลดส่วนผสมต่างๆ ผ่านจอ Touchscreen เพื่อให้มันจัดเตรียมวัตถุดิบและเครื่องปรุงได้ล่วงหน้า

มันถูกเรียกว่า “MK1”

Moley Robotics ซึ่งเป็น Tech StartUp ที่พัฒนามันขึ้นมา คาดว่าจะถูกนำออกวางตลาดได้ในปลายปีหน้า (2560)

สรุป

มูลค่าตลาดของผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ที่เรียกว่า Consumer Robotics นั้น ประเมินกันว่ามีมูลค่าประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2558 ที่ผ่านมา โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในรอบหลายปีมานี้ถึงประมาณปีละ 24% และคาดว่าในปี 2568 หรือปี 2025 ตลาดจะมีมูลค่าถึง 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ นับว่าไม่น้อย! ถ้ามองลึกเข้าไปในเซ็กเมนต์ย่อยของตลาดนี้ จะเห็นได้ว่า “หุ่นยนต์ดูดฝุ่น” หรือที่เรียกว่า Robotic Vacuum Cleaners นั้น มีค่ามากที่สุดและประสบความสำเร็จที่สุด แต่หากผลิตภัณฑ์ทางด้าน Cooking หลายอันที่กล่าวมาแล้ว ออกสู่ตลาด ก็ไม่แน่ว่า “หุ่นยนต์ปรุงอาหาร” หรือ Robotic Cooking Devices จะแซงหน้าขึ้นไปได้ เพราะสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การกินของคนรุ่นใหม่ และอย่าลืมว่ามนุษย์นั้น ถือเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่อยู่แล้ว ทุกวันนี้ การจัดหาอาหารสำหรับทุกครอบครัว เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลามาก และบางทีก็เป็นเรื่องน่าเบื่อและทำให้เสียเวลา แทนที่จะประหยัดเวลาได้ เพื่อเอาเวลาไปทำอย่างอื่น อีกทั้งอาหารประเภทสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป เช่นอาหารแช่แข็งที่ต้องนำมาปรุงผ่านเครื่องไมโครเวฟนั้น ก็ตระหนักกันมากขึ้นแล้วว่าส่วนใหญ่มักจะปนเปื้อนสารเคมีบางชนิด และที่สำคัญคือรสชาติไม่อร่อยเลย ดังนั้น ถ้ามีใครคิดจะแก้ปัญหานี้ สามารถนำเสนอ Solutions ที่ถูก เร็ว สด อร่อย และปราศจากสารเคมี เป็นความคิดที่ไม่เลวเลยใช่ไหม และโอกาสเติบโตต้องมีแน่ เราจะนำเสนอเรื่องราวแบบนี้ให้ท่านได้อ่านอย่างต่อเนื่อง โปรดติดตามอย่างใกล้ชิด

Last modified on Wednesday, 15 April 2020 16:15
X

Right Click

No right click