ดีป้า ประกาศเปิดตัว d-station สาขาแรกของประเทศไทย ใจกลางทำเลแห่งศักยภาพ สานฝันผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในพื้นที่ตั้งต้นธุรกิจ ผลักดันระบบนิเวศดิจิทัลในท้องถิ่น ชูบริการหลัก BKT Digital Solution เครื่องมือยกระดับธุรกิจสำหรับ SMEs และวิสาหกิจชุมชนที่ผ่านการขึ้นบนทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัล เสริมด้วยบริการที่พัก และพื้นที่รองรับการสร้างชุมชนดิจิทัล บริหารธุรกิจโดย บนกองเงินกองทอง
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ดีป้า ได้พัฒนากลไก d-station ขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Digi-Preneur) สามารถเติมเต็มศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการดิจิทัลสัญชาติไทย และสร้างโอกาสการเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น พร้อมกันนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับท้องถิ่น ซึ่ง d-station เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือส่งเสริมและสนับสนุนภายใต้มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัลในบริษัทหมวดผู้ประกอบการให้บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลชุมชน (Digi-preneur)
“d-station จะเป็นผู้ช่วยให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษา ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านดิจิทัล และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์/บริการของเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพที่เหมาะสมกับบริบทของผู้ใช้งานแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่ แผงลอย รวมถึงเกษตรกร ชุมชนในชนบท และวิสาหกิจชุมชน ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมศักยภาพ Digi-preneur ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและธุรกิจท้องถิ่นแล้ว d-station ยังเป็นส่วนช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระดับพื้นที่ด้วยเทคโนโลยี/บริการดิจิทัล นอกจากนี้ยังเป็นการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับดิจิทัลสตาร์ทอัพและผู้ให้บริการดิจิทัลสัญชาติไทย อีกทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลแก่ผู้ใช้งานระดับท้องถิ่น เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ยกระดับประสิทธิภาพการผลิต นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศอีกทางหนึ่ง” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
สำหรับ d-station สาขาแรกของประเทศตั้งอยู่ใจกลางอำเภอเมืองของจังหวัดระยอง มีดิจิทัลสตาร์ทอัพในพื้นที่อย่าง บริษัท บนกองเงินกองทอง จำกัด เป็นผู้บริหารธุรกิจ โดย นายอภิวัฒน์ หวังมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บนกองเงินกองทอง จำกัด กล่าวว่า แนวทางการบริหารกิจการ d-station สาขาจังหวัดระยองมี BKT Digital Solution เป็นแนวคิดหลักในการบริหารจัดการ โดยธุรกิจหลักของ d-station แห่งนี้คือ การให้บริการด้าน Software Digital Solution และเป็นผู้แทนจำหน่ายเครื่องมือโปรแกรมดิจิทัลสำหรับธุรกิจ SMEs ที่เชื่อถือได้ เนื่องจากทุกผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลที่จำหน่ายใน d-station แห่งนี้ผ่านการขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัล ซึ่งเชื่อมั่นว่าตรงปก ไม่ถูกหลอก และอยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการเติมเติมด้วยธุรกิจเสริมเพื่อสร้างชุมชนดิจิทัลด้วยการให้บริการพื้นที่สำหรับจัดประชุม สัมมนา เป็นพื้นที่ให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เชื่อมโยงกิจการและนักบัญชีที่เข้าใจนักธุรกิจ (Matching Accountant Service) รวมถึงพื้นที่ให้บริการที่พักสำหรับนักธุรกิจ
ทั้งนี้ ดีป้า ตั้งเป้าที่จะขยายจำนวน d-station ให้ครอบคลุมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งในระยะเริ่มต้นตั้งเป้าดำเนินการใน 5 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ และระยอง ที่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีพิธีเปิดสาขาอย่างเป็นทางการ โดยมีดร.ปรีสาร รักวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เป็นประธาน พร้อมด้วย นายอภิวัฒน์ ในฐานะผู้บริหารโครงการ d-station ในพื้นที่จังหวัดระยองพร้อมทีมงานร่วมในพิธีดังกล่าว
ทั้งนี้ ดีป้า ยังมีโครงการดี ๆ อย่าง CONNEXION ที่มุ่งยกระดับองค์ความรู้ พัฒนาชุดทักษะใหม่ด้านดิจิทัลแก่คนไทย โดยเฉพาะผู้ว่างงานและนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางานให้มีความพร้อมต่อการประกอบอาชีพใหม่ในยุคดิจิทัล และมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซไทยอย่าง คอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ หรือจะ ประกอบอาชีพอื่น ๆ ในสายอย่าง ออแกไนเซอร์ นักออกแบบ นักพากย์ นักเล่าเรื่อง เป็นต้น
และอีกหนึ่งโครงการกับ เปิดเมือง เปิดท่องเที่ยวไทยด้วยดิจิทัล กับการพัฒนา ThailandCONNEX เพื่อเป็น แพลตฟอร์มกลางที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรูปแบบ Business to Business (B2B) ในลักษณะ Wholesales สำหรับ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้สามารถเข้าถึง นำเสนอสินค้าและบริการสู่ผู้ให้บริการท่องเที่ยว (Online Travel Agents : OTAs) ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก อีกทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้กับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ซึ่งที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยมีผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาทิ กลุ่มธุรกิจที่พัก ร้านอาหาร และธุรกิจบริการเช่ายานพาหนะเข้าร่วมแพลตฟอร์ม ThailandCONNEX กว่า 1 แสนราย มีสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวกว่า 2 แสนรายการ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท