December 28, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6855

DITP เติมเต็มศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ปูทางสู่ตลาดโลก

July 29, 2021 4205

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)

 เดินหน้าเปิด “โครงการพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่ตลาดต่างประเทศ” เร่งเครื่องยกระดับผู้ประกอบการสมุนไพรไทย พัฒนาองค์ความรู้ เสริมทักษะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างครบวงจร มุ่งเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อขยายสู่ตลาดสากลและเปิดตลาดใหม่ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของขวัญ ของฝาก ของที่ระลึก ตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่ตลาดต่างประเทศ ปี 2564 จัดขึ้นเป็นปีแรกเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการยกระดับมาตรฐานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรผ่านการแลกเปลี่ยน แนวคิด และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ พร้อมเสริมทักษะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างครบวงจร ผ่านกิจกรรมของโครงการฯ ภายใต้แนวคิด “SHAPE YOUR BRAND” สร้างความแตกต่าง เพื่อการจดจำและการรับรู้ BRAND โดยการออกแบบบรรจุภัณฑ์สู่ สากล “SHARING KNOWLEDGE” แบ่งปันความรู้และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และ “SHIFT TO NEW MARKET” ปรับเปลี่ยนเพื่อเป็นโอกาสในการเปิดสู่ตลาดใหม่

ล่าสุดได้มีการจัดกิจกรรมอบรมความรู้ (Pool Training) ภายใต้แนวคิด “SHAPE YOUR BRAND” โดยมีวิทยากรจาก 4 แบรนด์ชั้นนำมาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการสร้างความแตกต่างของแบรนด์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำไปประยุกต์และต่อยอดในการพัฒนาตนเองต่อไป

นางพัชรี ภักดีบุตร ผู้ก่อตั้ง ERB ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันการเลือกกลุ่มเป้าหมายในการทำการตลาดของผลิตภัณฑ์จะมุ่งเน้นไปที่ไลฟ์สไตล์มากกว่าการเลือกตามเพศ หรือ อายุ เหมือนในอดีต ดังนั้นการสร้างแบรนด์ที่มีเรื่องราว (Storytelling) และการนำเสนอที่มี เอกลักษณ์และสร้างสรรค์ พร้อมเลือกใช้รูปที่สวยงามเพื่อสร้างการจดจำ รวมถึงวางกลยุทธ์ คิดนอกกรอบ (Out Standing) จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น นอกจากนี้แล้ว การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม และการสร้างความยั่งยืน ก็จะช่วยสร้างโอกาสในการเติบโตระยะยาวตามแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น 

นายสมชนะ กังวารจิตต์ ผู้ก่อตั้งสตูดิโอออกแบบ PROMPT DESIGN ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการสร้างการรับรู้ของแบรนด์ผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ว่า ที่ผ่านมามีแบรนด์ไทยจำนวนมากประสบความสำเร็จจากการปรับบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้มีความโดดเด่นและทำให้ลูกค้าจดจำได้ รวมถึงการเพิ่มฟังก์ชันในการใช้งาน ส่งผลให้ลูกค้าสนใจที่จะเลือกซื้อบรรจุภัณฑ์เพื่อเป็นของสะสม และนำไปใช้งานต่อ จึงสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง

 

นายณัทธร รักษ์ชนะ ผู้ก่อตั้ง KARMAKAMET แบ่งปันประสบการณ์ว่า การผสานองค์ความรู้จากภูมิปัญญาสู่การสร้างแบรนด์ให้เป็นสากล ต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจ ในผลิตภัณฑ์ที่มีความเชี่ยวชาญมากที่สุด รวมถึงต้องเข้าใจปัญหาและความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับตลาด ตลอดจนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้บริโภค นอกจากนี้ การตลาดออนไลน์ควรมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายที่มาใช้บริการ รวมถึงมีการจัดทำข้อมูล (DATA) ขององค์กรเพื่อสร้างประโยชน์แก่องค์กรในระยะยาว

 

นางปารีสา จาตนิลพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโสพัฒนาธุรกิจค้าปลีกของ SIAM PIWAT ชี้ให้เห็นว่า เทรนด์การทำตลาดได้มุ่งไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงต้องปรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกัน พร้อมด้วยการเล่าเรื่องของแบรนด์ (Storytelling) ที่ต้องสร้างอารมณ์และความรู้สึกแก่ผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นอาวุธสำคัญที่ช่วยสร้างแบรนด์และความยั่งยืนให้แก่แบรนด์ นอกจากนี้ พลังโซเซียลมีเดีย (Power of Social Media) เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการตลาดในปัจจุบัน การทำให้ลูกค้าบอกต่อและนำไปโพสต์ต่อ ลูกค้าสามารถเป็นผู้ช่วยเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์ และจัดทำโปรโมชั่นเพื่อให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งถือเป็นการตลาดแบบ Viral Marketing และเป็นที่นิยมในปัจจุบัน

Last modified on Saturday, 31 July 2021 03:50
X

Right Click

No right click