สองสามเดือนที่ผ่านมามีข่าวฮือฮาในแวดวงผู้ที่สนใจเทคโนโลยีการเงินอิเล็กทรอนิกส์นั่นคือ ร้านลิ้มเหล่าโหงว บิสโทร สยามสแควร์วัน เปิดให้ลูกค้าใช้ “บิตคอยน์” เงินดิจิทัลที่เป็นกระแสฮือฮาในโลกการเงินด้วยมูลค่าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านได้
ผู้ที่คิดไอเดียสุดล้ำนี้คือ เตวิช บริบูรณ์ชัยศิริ เจ้าของร้านลิ้มเหล่าโหงว บิสโทร สยามสแควร์วัน ทายาทรุ่นที่ 3 ของตำนานบะหมี่ลูกชิ้นปลากระโดดได้จากเยาวราช ผู้อยากจะสร้างความแปลกใหม่ให้กับตำรับอาหารและพัฒนาชื่อเสียงที่สั่งสมมาของกิจการครอบครัวให้ก้าวไปอีกระดับหนึ่ง
ด้วยการรีแบรนด์ ลิ้มเหล่าโหงว สู่ ลิ้มเหล่าโหงว บิสโทร ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ ที่ใส่ใจคุณภาพของอาหาร พัฒนาเมนูใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างหลากหลาย ในร้านที่จัดบรรยากาศทันสมัยกลางย่านศูนย์รวมคนรุ่นใหม่ ณ สยามสแควร์
เตวิชจบการศึกษาจากคณะพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ เขาจึงสนใจในเรื่องราวใหม่ๆ บิตคอยน์ คือตัวอย่างหนึ่งในสิ่งที่เขานำมาทดลองใช้ จากจุดเริ่มต้นที่ความสงสัยว่าเหรียญอะไรที่อยู่ๆ ก็มีมูลค่าขึ้นมา เหตุใดผู้คนจึงให้ความเชื่อมั่น จนวันหนึ่งเกิดความคิดว่าถ้าอยากจะเป็นเจ้าของเหรียญนี้จะต้องทำอย่างไร เขาจึงตัดสินใจรับชำระเงินที่ร้านด้วยบิตคอยน์
“ถ้าอยากได้จะทำอย่างไรได้บ้าง หนึ่งคือซื้อเลย สองคือต้องไปขุด ศึกษาไปเรื่อยๆ ถ้าเราลงทุนเรื่องการขุด พอมีปัญหาขึ้นมาคงแก้ไม่เป็น เพราะทุกคนก็บอกเหมือนกันหมดว่าเวลามีปัญหาต้องแก้ จะให้ลงทุนผมก็คิดว่าเชื่อขนาดนั้นหรือไม่ ผมก็ไม่ใช่คนที่ลงทุนอย่างนั้นมาก่อน ปกติไม่ค่อยลงทุน ไม่ซื้อหุ้น ผมเป็นคนที่ไม่ได้มองเงินเป็นเรื่องสำคัญ ผมทำอะไรก็แล้วแต่ เป้าหมายของผมคืออยากให้สิ่งที่ผมคิดเป็นจริง พอศึกษาไปก็เจอเทคโนโลยี บล็อกเชน ผมศึกษาบล็อกเชนเจ๋งมาก อีกหน่อยถ้าคนเราตามไม่ทันจะส่งผลกับชีวิตคนมาก ใครที่ตามไม่ทันคือเจ๊งแน่ๆ”
การรับชำระค่าอาหารด้วยบิตคอยน์ของเตวิชนอกจากเป็นการทดลองสิ่งที่น่าสนใจแล้ว เขายังมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยให้ Eco System นี้เติบโตขึ้น
“คนที่มีบิตคอยน์สามารถนำมาใช้ที่ร้านได้ เหมือนการช่วยสร้าง Eco System ผมก็เล่นการตลาดด้วย ผมรู้ว่านี่จะช่วยทำให้เกิดการพูดถึงร้านเรา และทำให้คนรู้ว่ามีบิตคอยน์ ก็มีโอกาสที่ทำให้ร้านอื่นรับบิตคอยน์ด้วยเหมือนกัน ก็จะได้สิ่งที่ผมต้องการ คือผมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มันเติบโตขึ้นมา และสองคือผมได้บิตคอยน์”
ผลตอบรับของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ เตวิชบอกว่า การเปิดรับชำระเงินด้วยบิตคอยน์ ไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคนมาใช้งานจำนวนมาก แต่เมื่อเปิดมามีคนมาใช้งานเดือนหนึ่งเฉลี่ย 10 ราย ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตว่าเป็นกลุ่มคนที่อยากจะทดลองว่าสิ่งที่พวกเขาสนใจ สามารถนำมาใช้ชำระค่าสินค้าได้จริงๆ ซึ่งวันหนึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป เมื่อการใช้จ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิต และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนที่จะต้องมีอะไรตามมาอีกในอนาคต
ความสนใจในสิ่งใหม่ๆ ของเจ้าของ ทำให้พนักงานลิ้มเหล่าโหงว บิสโทร ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่เพียงแค่บิตคอยน์หากยังมีอีกหลายแอปพลิเคชันที่เตวิชนำมาใส่ไว้ในเครื่องไอแพดของร้าน อาทิ Ali Pay, WeChat Pay ที่เป็นระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศจีน หรือแอปพลิเคชัเดลิเวอรี่อาหาร อย่าง Foodpanda, Line Man ที่ต้องเรียนรู้ สะท้อนความเป็นคนรุ่นใหม่ที่เลือกเครื่องมือในการทำธุรกิจที่หลากหลาย
ดีเอ็นเอเถ้าแก่
การรับเงินด้วยบิตคอยน์เป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดที่เตวิชในฐานะผู้ประกอบการรุ่นใหม่นำมาทดลองใช้ ทั้งด้วยความสนใจส่วนตัวและเพื่อช่วยแผนการตลาดของร้าน หากเส้นทางสู่การเป็นผู้ประกอบการของเขานั้นเหมือนจะฝังอยู่ในดีเอ็นเอมาตั้งแต่เด็ก เขาเล่าชีวิตตัวเองว่า เกิดที่กรุงเทพฯ แต่ไปโตที่เชียงใหม่เพราะคุณพ่อซึ่งเป็น
พี่คนโตของรุ่นที่ 2 ต้องการย้ายไปอยู่เชียงใหม่เพื่อเปิดทางให้น้องๆ เติบโต ส่งผลให้เตวิชที่เป็นลูกคนเล็กต้องไปเริ่มต้นชีวิตการเรียน ที่ปรินส์รอยแยลวิทยาลัยที่เขาเล่าว่า ขณะเรียนชอบทำกิจกรรม ไปแข่งโน่นนี่ ขายของ พร้อมช่วยที่บ้านขายก๋วยเตี๋ยว จนมาเรียนต่อระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเริ่มต้นคิดจะพัฒนาธุรกิจของครอบครัว จากวิชาที่เรียนจนกลายมาเป็นต้นทางของลิ้มเหล่าโหงว บิสโทร ณ วันนี้
“ร้านนี้เป็นความฝันตั้งแต่เด็กๆ ผมอยากทำเพราะว่าผมโตกับร้านมา เด็กๆ ผมก็ทำงานที่ร้าน ช่วยล้างจาน เสิร์ฟ คิดเงิน เราก็คิดว่าถ้าเจเนอเรชั่น 3 ไม่ทำต่อ ก็คงไม่มีใครทำ พี่น้องที่เป็นญาติไม่มีใครสนใจ ผมเองเสียดาย ไม่อยากให้หายไป ผมเลยคิดอยากจะทำ ตอนเรียนจะมีวิชาผู้ประกอบการ วิชาย่อยคือต่อยอดธุรกิจครอบครัว ทำแผนธุรกิจ แล้วพอถึงเวลามีโอกาสเราก็เอาแผนมาปัดฝุ่นเปิดจริงๆ คือเหมือนโปรเจ็กต์ตอนที่เราเรียน”
เตวิชบอกว่าความอยากเป็นผู้ประกอบการของตัวเองนั้นรุนแรงมาตั้งแต่วัยเรียน “ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ผมรู้สึกมีปัญหามากเลยว่าคิดอะไรผิดหรือเปล่าเหมือนเราเป็นคนประหลาดในสังคมนั้น เพื่อนๆ เขามีเป้าหมายว่าจบมาจะไปทำบริษัทนั้นบริษัทนี้ ทุกคนต้องเรียนเพื่อเอาเกรด ผมไม่สนใจ ผมมีเป้าหมายของตัวเองอยากทำของตัวเอง อยากเรียนอะไรผมก็เรียน ไม่สนใจว่าตัวนี้เรียนแล้วเกรดไม่ดี เรียนไปไม่มีประโยชน์ ผมอยากเรียนผมก็เรียน ทำให้เขวเหมือนกัน จริงๆ ผมมีสิ่งที่กลัวคือผมไม่อยากเป็นพนักงานประจำ ผมไม่เอาแน่นอน กลัวมาก ผมอยู่ไม่ได้หรอกเข้าออกตรงเวลา ทำไม่ได้ ด้วยการเลี้ยงของพ่อแม่ที่อยากทำอะไรก็ทำ อยากไปไหนก็ไป จะไปเที่ยวก็เที่ยว”
สำหรับการสร้างธุรกิจสำหรับคนรุ่นใหม่เตวิชให้ความเห็นว่า “ผมรู้สึกว่าการทำธุรกิจปัจจุบันเราสู้ยักษ์ใหญ่ไม่ได้ ไม่มีช่องแล้ว ไม่มีช่องให้เราโตอย่าง ซีพี ช้าง สิงห์ ยากจะโตเป็นสหพัฒน์ไม่ได้ถ้าทำธุรกิจแบบเดียวกับเขา สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจโตคือ
ประมาณสตาร์ตอัพเลย ทำธุรกิจใหม่ๆ ถ้ายังทำเหมือนเดิมไม่มีทาง”
แต่กว่าจะเป็นร้านได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เขานำความฝันของตัวเองไปพูดคุยกับผู้ใหญ่ในครอบครัว ก็ไม่ได้รับสนับสนุน เขาจึงเริ่มต้นสะสมทุนของตัวเองเพื่อเตรียมทำธุรกิจนี้ ด้วยการทำงานเป็นผู้ดูแลศิลปิน และขายสินค้าลิขสิทธิ์ของศิลปินที่ประเทศจีน รวมถึงการทำงานด้านที่ปรึกษาตามวิชาที่เรียนมา จนมาเปิดร้านนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
“พอเราเปิดแล้วเรารู้ว่าสิ่งที่เราอยากจะทำบางทีทำไม่ได้ ผมเริ่มรู้แล้วว่าปัจจัยคืออะไรบ้าง มองออกว่าโลเกชั่นไหนคือของเรา ต้องคุมเรื่องต่างๆ อย่างไร เอาจริงๆ ไม่เหมือนอย่างที่สอนในมหาวิทยาลัยเท่าไร มหาวิทยาลัยสอนกว้างๆ ให้เราไปคิดต่อ ลูกค้าเรา หลักๆ จะเป็นคนทำงานซีเนียร์ ลูกค้าที่เคยกินที่ร้านเก่ามาไม่มาก เราพยายามจับลูกค้าใหม่ คือลูกค้าเก่าๆ เขาก็มีอายุไปตามแบรนด์ ตอนแรกผมโฟกัสกลุ่มเด็ก แต่ด้วยก๋วยเตี๋ยวไม่ใช่เป็นเทรนด์ของเด็ก พอเราเริ่มจับกลุ่มลูกค้านี้ได้ เราก็เริ่มจับกลุ่มเด็กอย่างจริงจัง เราไปดูเห็นว่าเด็กนิยมอะไร เริ่มหาอาหารที่เป็นแฟชั่นที่เด็กเริ่มกิน เช่น เล้ง เป็นอาหารแฟชั่น ก๋วยเตี๋ยวกินแล้วไม่เก๋ อาหารเกาหลี ญี่ปุ่นกินแล้วเก๋ ตอนนี้เราลงกลุ่มเด็กมากขึ้น กลุ่มผู้ใหญ่เราจับได้ดีอยู่แล้ว เราก็เพิ่มเมนู”
เตวิชเล่าว่า ทุกเมนูที่มีอยู่ในร้านเขาสามารถทำได้เองหมด เพราะสูตรอาหารเป็นสูตรที่เขาคิดขึ้นมา การเทรนพนักงานทั้งหมดในครัวเป็นหน้าที่ของเขา โดยมีลูกพี่ลูกน้องที่ทำด้านการโรงแรมมาช่วยเทรนพนักงานหน้าร้าน โดยกลยุทธ์ของร้านลิ้มเหล่าโหงว บิสโทรคือ เมื่อโตแล้วต้องขยายสาขาออกไป ขณะเดียวกันต้องไม่ทิ้งเรื่องการส่งถึงบ้าน รวมถึงออนไลน์ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย
นอกจากลิ้มเหล่าโหวง บิสโทร เตวิชยังมีธุรกิจอื่น คือร้านก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ ที่ขายตามฟู้ดคอร์ตต่างๆ โดยเตรียมทำธุรกิจนี้เป็นแฟรนไชส์ ขยายต่อไป พร้อมกันนี้ยังมีงานที่ปรึกษาธุรกิจที่ยังรับทำอยู่ รวมถึงธุรกิจสตาร์ตอัพที่ร่วมกับเพื่อนมองหาโอกาสเติบโตทางธุรกิจใหม่ๆ เตวิชคือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่จะสืบทอดความสำเร็จทางธุรกิจจากคนรุ่นก่อนหน้า ด้วยการใส่แนวคิด กระบวนการทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อต่อยอดสร้างธุรกิจให้เติบโตในรูปแบบใหม่โดยอิงกับจุดแข็งทางธุรกิจที่มีอยู่เดิม ผสมผสานกับตัวตนและแนวคิดใหม่ๆ ที่เรียนรู้มา
ลิ้มเหล่าโหงว
เตวิชเล่าเรื่องราวของลิ้มเหล่าโหงวว่า พ่อของอากง (ปู่) ก็ทำก๋วยเตี๋ยวที่เมืองจีน พออากงอพยพมา ก็มาขายก๋วยเตี๋ยวใช้สูตรจากเมืองจีนเลย ตอนหลังๆ เหมือนจะดีเพราะเริ่มมีให้ไปออกงานของผู้ใหญ่ ก็จะมีลูกค้าผู้ใหญ่ เจียไต๋ให้เราไปขายหน้าบ้านเขา ปากต่อปากพอพ่ออายุสัก 17 อากงก็เสียแล้ว พ่อก็ต้องดูแลน้องๆ ทุกคน ต้องมาขายก๋วยเตี๋ยว สิ่งที่เราสืบทอดมาถึงทุกวันคือ คุณภาพลูกชิ้นปลา ที่ยังทำเหมือนเดิม แม้เรารู้ว่ามีเทคโนโลยี มีฟู้ดไซน์ทำให้ลดต้นทุนได้ แต่ที่บ้านคุยกันว่าไม่เอา ขอเก็บแบบนี้ไว้ดีกว่า และผมเชื่อว่าการเก็บไว้แบบนี้จะมีประโยชน์ คีย์สำคัญคือลูกชิ้นและน้ำซุป บอกได้ว่าลูกชิ้นไม่มีแป้งเลย ไม่เคยเห็นแป้ง ใครกินแล้วบอกว่าแป้งน้อยผมบอกเลยว่าลิ้นเสียแล้ว ผมไม่เคยเห็นแป้ง ไม่มีแป้งทุกวันนี้ทำเป็นครัวกลางแล้วกระจายไป ยกเว้นที่เชียงใหม่พอผมย้ายไปเชียงใหม่ก็ทำเอง อัตราส่วนของปลาไม่เหมือนกัน เขาจะรู้ว่าปลานี้จะให้เนื้อเนียน ปลานี้จะมีความหนึบ ใช้เนื้อปลา 2 อย่าง เราใช้แค่สองอย่าง ซุปจริงๆ ก็คือน้ำที่ต้มลูกชิ้น ต้มเนื้อปลา นั่นคือคุณภาพวัตถุดิบผมมองอย่างนี้ ชีวิตเราดีเพราะก๋วยเตี๋ยว พ่อแม่เราไม่เคยลำบาก รุ่นสามหลักๆ มีผม แล้วก็มีน้องลูกอาคนที่ 3 มาช่วยผมทำ แล้วมีหลานเป็นลูกน้องสาวพ่อคนที่สองมาช่วยที่ร้านนี้ (ลิ้มเหล่าโหงว บิสโทร)
เรื่อง : วีระพงษ์ เจตน์พิพัฒนพงษ์
ภาพ : ธิติวุธ บางขาม