Cartier  Women’s Initiative เปิดโครงการสนับสนุนธุรกิจที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกและสังคมโดยผู้หญิง เริ่มวันนี้ – 30 มิย 65

June 17, 2022 2056

 

คาร์เทียร์ (Cartier) แบรนด์เครื่องประดับสัญชาติฝรั่งเศส ชวนผู้ประกอบการหญิงมากวิสัยทัศน์ร่วมแชร์ประสบการณ์ในการก่อตั้งธุรกิจที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกและสังคม ข้อจำกัดรวมไปถึงวิธีการก้าวข้ามความท้าทายทางเพศ พร้อมชวนเจ้าของธุรกิจหญิงชาวไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน Cartier Women’s Initiative โครงการที่สนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของสตรีจากคาร์เทียร์ โดยเปิดรับสมัครให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2565

 พรปรียา วิวัฒนชาต กรรมการผู้จัดการ คาร์เทียร์ ประเทศไทย กล่าวว่า “คาร์เทียร์ให้ความสำคัญและเห็นศักยภาพของผู้หญิง    มาโดยตลอด จึงก่อตั้งโครงการ Cartier Women’s Initiative ขึ้นในปี 2006 เพื่อขับเคลื่อนพร้อมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการหญิงให้บรรลุศักยภาพสูงสุด พร้อมทั้งให้การสนับสนุนทุนทรัพย์ รวมถึงการสนับสนุนด้านสังคมและด้านบุคลากรเพื่อต่อยอดธุรกิจและสร้างทักษะความเป็นผู้นำ    โดยตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา โครงการ Cartier Women’s Initiative ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการหญิงที่มีความสามารถ 262 รายจาก     62 ประเทศ และมอบทุนทรัพย์รวมกว่า 222.4 ล้านบาท (6.44 ล้านเหรียญสหรัฐ) ผู้ได้รับเลือกจะได้เป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้ที่มีผู้หญิงมากความสามารถจากทั่วโลกกว่า 500 ท่าน และยังได้ร่วมมือกับ INSEAD Business School จากประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย คาร์เทียร์ขอเชิญชวน นักธุรกิจหญิงชาวไทยให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้”

ผู้หญิงกับข้อจำกัดที่ทำให้การดำเนินธุรกิจมีความท้าทายและยากขึ้น

ทพญ. กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ผู้ก่อตั้ง แอป Ooca ร่วมแชร์ประสบการณ์ในการก่อตั้งธุรกิจ “สมัยก่อนเรื่องปัญหาสุขภาพจิตยังไม่ได้เปิดกว้างอย่างในปัจจุบันนี้ คนที่มีปัญหาจะไม่กล้าแสดงออกมา การเข้าถึงเป็นเรื่องลำบาก ทั้งๆ ที่ปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ จึงก่อตั้งแอป Ooca ขึ้นมาเพื่อช่วยให้คนทั่วไปเข้าถึงนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ได้ง่ายมากขึ้นและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ได้เข้าถึงกลุ่มคนไข้ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ในระหว่างการระดมทุนพบอุปสรรคที่เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันทางเพศมากมาย ตั้งแต่การไม่ให้เกียรติหรือไม่เป็นธรรมหรือการมองว่าธุรกิจได้เข้ารอบหรือระดมทุนได้เพียงเพราะโครงการต้องการโควต้าความเป็นผู้หญิงโดยที่ไม่ได้มองเห็นแก่นแท้ของประโยชน์ของธุรกิจที่แท้จริงของเรา ดังนั้น บรรยากาศที่เป็นมิตรต่อผู้หญิงจริงๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ปัจจุบันนี้ โครงการให้ทุนในภูมิภาค Southeast Asia ยังมีน้อยมาก โครงการ Cartier Women's Initiative จึงสามารถเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการหญิงได้อย่างแท้จริง”

เน็ต สุภัทรวณิชย์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ila (ไอล่า) สตาร์ทอัพที่เน้นความเท่าเทียมกันทางเพศ บอกเล่าประสบการณ์และแรงบันดาลใจในการดำเนินธุรกิจ “จุดมุ่งหมายของธุรกิจของเราคือ ต้องการสร้างสังคมที่ผู้หญิงไม่ต้องเผชิญความรุนแรง แอป Ally ซึ่งบริษัทพัฒนาที่อังกฤษ     จะช่วยเปลี่ยนที่สาธารณะหรือพื้นที่รีเทลต่างๆ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ปราศจากการคุกคามทางเพศ อุปสรรคที่พบเจอบ่อยครั้ง คือเวลาไประดมทุน ผู้ร่วมก่อตั้งที่เป็นผู้หญิงมักได้รับคำถามในเชิง Prevention Question เช่น ความเสี่ยงของธุรกิจหรือความสามารถที่เราจะปกป้องธุรกิจของเราได้มากน้อยแค่ไหน ในระหว่างที่ผู้ชายมักจะได้รับคำถามในเชิงวิสัยทัศน์ทางธุรกิจ นอกจากนี้ ยังพบสถิติด้วยว่า ในระหว่างการระดมทุน ผู้ร่วมก่อตั้งผู้หญิงจะได้รับเงินระดมทุนน้อยกว่าผู้ชาย ประเทศไทยไม่ค่อยมีโครงการที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงมาแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ทางธุรกิจกัน ดีใจที่ได้เห็น Cartier Women’s Initiative ในเมืองไทย”

Invisible Soft Power: สิ่งที่มองไม่เห็น แต่เป็นค่านิยมที่เป็นอุปสรรคต่อผู้หญิง

ชวิศา เฉิน หรือคุณเหวิน ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Wendays แบรนด์ผ้าอนามัยออร์แกนิคย่อยสลายได้ เปิดเผยว่า “Wendays เกิดขึ้นจากปัญหาการแพ้ผ้าอนามัยซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้หญิงและไม่มีผลิตภัณฑ์ในตลาดที่แก้ปัญหา รวมถึงยังไม่มีนวัตกรรมที่ใส่ใจในเรื่องนี้ จึงพัฒนาเป็นแบรนด์ผ้าอนามัยออร์แกนิคย่อยสลายได้ แก้ปัญหาแพ้ง่ายและยังรักษ์โลก อุปสรรคที่เจอในการทำธุรกิจคือสิ่งที่มองไม่เห็น แต่มีอยู่จริงและ   ซึมซับโดยไม่รู้ตัว คือ Invisible Soft Power วัฒนธรรมต่างๆ ที่สังคมวาดภาพให้ผู้หญิงถูกปลูกฝังว่าให้เป็นกุลสตรี เรียบร้อย ณ วันนี้ที่ก้าวเข้ามาทำธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศที่ต้องพูดคำบางคำที่สังคมอาจมองว่าหยาบคายแต่ต้องพูดโดยที่ไม่เขินอาย คนภายนอกจึงอาจมองว่าก้าวร้าวและตั้งคำถามว่าทำไมผู้หญิงจึงกล้าพูดคำนี้ ทั้งที่จริงแล้วเป็นเพียงแค่คำเรียกอวัยวะของร่างกาย เรียกได้ว่าเป็นข้อจำกัดและกรอบทางสังคมที่เราจะต้องปฏิบัติตามและต้องพยายามคิดว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้ผิดโดยโฟกัสไปที่ผลลัพธ์ คือเราจะทำให้คนกล้าพูดเรื่องนี้มากขึ้น โดยมีจุดประสงค์คือการแบ่งปันให้ทุกคนเข้าถึงองค์ความรู้ ทั้งหมดนี้คือคือสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ผู้หญิงถูกตีกรอบให้ปฏิบัติตัวให้เรียบร้อย ถูกขนบธรรมเนียม ทำในสิ่งที่สังคมคิดว่าดี นอกจากนี้ การได้รับกำลังใจและความเข้าอกเข้าใจกันในฐานะผู้หญิงถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ จึงมองว่าโครงการ Cartier Women’s Initiative เป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการหญิงจะได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้ที่จะช่วยสนับสนุนกันและกันได้เป็นอย่างดี”

นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คิดคิด ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมกล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการหญิง Cartier Women’s Initiative เป็นโครงการที่น่าสนใจและได้จุดประกายเพื่อสังคม โดยโครงการนี้ให้ความสำคัญกับผู้หญิง เพราะจริงๆ แล้วเพศหญิงทำอะไรได้มากกว่าที่สังคมตีกรอบไว้ โดยเฉพาะช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ดี เป็นเสมือนช่วงเบ่งบานของความเสมอภาคในทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ผู้หญิงได้รับการยอมรับจากคนในสังคมเพิ่มมากขึ้น เช่น การก้าวเข้ามาเป็นผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการ หรือผู้นำในองค์กร จะเห็นได้ว่าเกิดความแบ่งแยกน้อยลง จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมปลุกพลังผู้หญิงให้มาทำสิ่งดีๆ ร่วมกันผ่านโครงการ Cartier Women’s Initiative”

สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ Cartier Women’s Initiative ในปี 2023 สามารถส่งใบสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2565 เวลา 14.00 น.(CEST) หรือเวลา 19.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cartierwomensinitiative.com/

Last modified on Friday, 17 June 2022 01:45
X

Right Click

No right click