ในฐานะผู้ที่ใส่ใจกับอาหารและแม่ครัวผู้ชำนาญที่สนใจวิถีการใช้ชีวิตแบบที่กำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก คือ Slow Food เชฟโบ ดวงพร ทรงวิศวะ ให้คำอธิบายกับเราถึงวิถีนี้ว่า
หากสรุปปรัชญาของ Slow Food มี 2 ประการ คือ หนึ่ง ความสะอาด ไม่ใช้สารเคมี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีคุณภาพดีมาจากธรรมชาติ มีราคายุติธรรมต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
สอง คือ slow food เป็นการทำเองตั้งแต่ต้นจนจบ สนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ เน้นการใช้พืชผักพื้นถิ่น ให้เกิดความหลากหลาย สร้างสมดุล ไม่เน้นที่พืชผักที่เกิดจากการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวหรือปลูกพืชเพียงชนิดเดียวเพื่อจำหน่ายแบบอุตสาหกรรม อีกข้อหนึ่งคืออาหารชนิดนี้เน้นที่การรักษาภูมิปัญญาการประกอบอาหารและการรับประทานอาหาร เช่น ใช้ครกกับสากแทนเครื่องปั่นอาหาร
slow food จึงเป็นวิถีการใช้ชีวิตแบบหนึ่งที่ต้องใส่ใจกับกระบวนการในการรับประทาน เริ่มจากวัตถุดิบที่ควรจะรู้จักตั้งแต่แหล่งต้นทาง เชฟโบ บอกว่าหากเป็นได้การไปดูถึงแหล่งผลิตก็เป็นเรื่องที่ดีเพื่อจะได้เห็นกระบวนการปลูกพืชผักนั้นทำกันอย่างไร
ไม่ใช้สารเคมีจริงหรือไม่ ซึ่งยืนยันได้แน่นอนกว่าใบรับรองที่ออกโดยหน่วยงานต่างๆ
ส่วนอาหารที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม slow food มักจะไม่นำมาใช้เพราะในกระบวนการอุตสาหกรรมมีการแต่งสี แต่งกลิ่น แต่งรส รวมถึงสารเคมีเพื่อให้เก็บรักษาได้นาน ไม่สอดคล้องกับวิถี slow food ที่ใส่ใจในเรื่องวิถี วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
เพราะเรื่องกินคือเรื่องใหญ่ เรารับประทานอะไรเข้าไปก็ได้กับตัวเราเอง ชุมชน slow food ในไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นแม้จะไม่ได้เข้าร่วมกับ slow food นานาชาติอย่างเต็มตัวแต่ก็มีกลุ่มก้อนที่จับกลุ่มกันดำรงวิถีเช่นนี้ ในชื่อ www.food4change.in.th ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลอีกแหล่งสำหรับผู้ที่สนใจในวิถีชีวิตแบบนี้จะเข้าไปเลือกศึกษา
เคล็ดลับง่ายๆ ในการเลือกสรรวัตถุดิบ ก็คือใช้ของที่มาจากธรรมชาติ ดูจากวิธีการเลี้ยง วิธีการผลิต ว่าปลอดจากยาปฏิชีวนะ สารเคมี สารเร่งโตต่างๆ เลือกวัตถุดิบที่เป็นอุตสาหกรรมน้อยกว่า เช่นน้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลจากตาล ที่มีความเป็นอุตสาหกรรมน้อยกว่าน้ำตาลทราย ไม่ว่าจะซื้อที่ไหน ควรจะสอบถามข้อมูล รวมถึงควรจะมีความรู้เบื้องต้นว่าพืชผักแต่ละชนิดออกผลผลิตในช่วงเวลาใด เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าพืชผักที่ซื้อนั้นเป็นผลผลิตตามธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ควรศึกษาฉลากสินค้า และตั้งคำถามเพิ่มเติม ลองโทรศัพท์ไปถามกระบวนการผลิต หรือถามว่าเป็นผักที่ออกมาเมื่อไร เพื่อประเมินว่าสินค้านั้นมีคุณภาพดีเพียงใดโดยไม่ต้องเดินทางไปถึงแหล่งผลิต
วิถี slow food เป็นอีกวิถีหนึ่งในการบริโภคเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ การบริโภคอาหารที่ผลิตตามธรรมชาติ มีคุณภาพ
มีความสด ผลที่ตามมาคือคุณค่าของอาหารที่ได้รับความเอร็ดอร่อยจากรสชาติตามธรรมชาติของวัตถุดิบต่างๆ นอกจากนี้เมื่อผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารที่ผลิตโดยไม่ใช้สารเคมีมากขึ้น ผู้ผลิตก็ต้องปรับตัวตามและจะช่วยให้โลกใบนี้สะอาดจากสารเคมีที่ปนเปื้อนทั้งในอาหารรวมถึงที่ถูกทิ้งในดิน น้ำ อากาศของโลกอีกด้วย