ดิจิทัล เวนเจอร์ส บริษัทในเครือด้านการลงทุนและการค้นคว้านวัตกรรมการเงิน ของธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศเพิ่มงบลงทุนในหน่วยงานทุนองค์กร หรือ Corporate Venture Capital อีก 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้มีขนาดเงินลงทุนใหญ่ที่สุดในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
โดยดร. อารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Officer and Chief Strategy Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารฯ ประสบความสำเร็จในด้านการลงทุน รวมทั้งการร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับเวนเจอร์แคปปิตอลและสตาร์ทอัพต่างๆ ทำให้ธนาคารฯ สามารถเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีชั้นสูง (Deep Technology) โดยในปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีเครือข่ายพันธมิตรกับสตาร์ทอัพ ทั่วโลกกว่า 800 ราย และเวนเจอร์แคปปิตอลในต่างประเทศอีกกว่า 60 ราย จาก 29 ประเทศทั่วโลก ทำให้ ธนาคารฯ สามารถเข้าถึง และเรียนรู้นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดจากกิจการที่ได้เข้าไปลงทุน อาทิ บล็อคเชน ควอนตัมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งการทำงานขององค์กรธุรกิจและผู้บริโภคทั่วไป และจากความสำเร็จที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์จึงมีความมั่นใจที่จะเพิ่มเงินลงทุนอีก 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1,750 ล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุนตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 3,000 ล้านบาท
ดร.อารักษ์ เปิดเผยว่า เงินทุน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐก้อนแรก นั้นเปรียบเหมือนกับเงินที่ใช้กับการเรียนรู้ด้านการลงทุน ทั้งผ่านเวนเจอร์แคปปิตอล และการมองหาผลตอบแทนจากการลงทุนซึ่งวันนี้เริ่มเห็นศักยภาพการลงทุนในสตาร์ทอัพโดยตรง ดังนั้นเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นจะเน้นไปที่การลงทุนตรงกับสตาร์ทอัพที่น่าสนใจเพิ่มขึ้น แต่ยังคงรักษาเป้าหมายการมองหานวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ให้กับองค์กรไว้อยู่ด้วย
ทางด้านพลภัทร อัครปรีดี กรรมการผู้จัดการ หน่วยงานทุนองค์กร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวเสริมว่า ในการเพิ่มงบลงทุนในครั้งนี้ ดิจิทัล เวนเจอร์สจะมุ่งเฟ้นหาบริษัทสตาร์ทอัพและเวนเจอร์แคปปิตอลจากทั่วโลกที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีหลักที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจ และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆ ของธนาคาร เพื่อประโยชน์แก่ลูกค้าองค์กรและลูกค้าทั่วไปของธนาคาร
ดร. อารักษ์ เปิดเผยว่า นโยบายการลงทุนจะมุ่งเน้นในผลิตภัณฑ์และบริการ และเทคโนโลยีชั้นสูง อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) บล็อกเชน ความปลอดภัยบนไซเบอร์ (Cybersecurity) กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล (Big Data / Data Analysis) และอื่นๆ ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้กับบริการต่างๆ ของธนาคาร การเพิ่มเงินลงทุนเชิงกลยุทธ์ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มศักยภาพในการเฟ้นหาและเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับธนาคาร เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินให้แก่ลูกค้าในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้กลยุทธ์นี้ยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ Going Upside Down หรือตีลังกากลับหัว ที่จะทำให้ธนาคารมีศักยภาพด้านดิจิทัล และมีโมเดลการทำงานที่เหมาะสมกับความท้าทายของโลกดิจิทัลในอนาคต สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคการเงินการธนาคาร เศรษฐกิจในภาพรวม และการพัฒนาสังคมของประเทศไทยให้ก้าวทันโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดิจิทัล เวนเจอร์ส ได้ลงทุนเชิงกลยุทธ์ทั้งในเทคสตาร์ทอัพโดยตรง และลงทุนในเวนเจอร์ส แคปปิตอล ได้แก่
- Golden Gate Ventures หนึ่งในกองทุนสตาร์ทอัพชั้นนำที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น (Early Stage)
- Nyca Partners เวนเจอร์แคปปิตอลชั้นนำด้านฟินเทคของสหรัฐอเมริกา ที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวม ความเชี่ยวชาญจากสองยักษ์ใหญ่แห่งโลกการเงินและเทคโนโลยีอย่างวอลล์สตรีทและซิลิคอนแวลลีย์
- Dymon Asia Ventures เวนเจอร์แคปปิตอลชั้นนำของสิงคโปร์ มุ่งเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทคที่ทำธุรกิจแบบ B2B
- Arbor Ventures เวนเจอร์แคปปิคอลชั้นนำด้านฟินเทคของฮ่องกง ที่มีการลงทุนครอบคลุมทั้งในเอเชีย อเมริกาเหนือ ยุโรป และภูมิภาคตะวันออกกลาง
- Ripple บริษัทผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการชำระเงินชั้นนำของโลกจากสหรัฐอเมริกา โดยธนาคารไทยพาณิชย์นับเป็นสถาบันการเงินไทยแห่งแรกที่ริเริ่มลงทุน ศึกษา และทดลองการโอนเงินระหว่างประเทศบนเทคโนโลยี Blockchain
- Pulse iD สตาร์ทอัพด้านการบริการข้อมูลเพื่อระบุพิกัดซึ่งก่อตั้งขึ้นในฮ่องกง มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโซลูชั่นเพื่อระบุตัวตนสำหรับใช้ในธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างระบบความปลอดภัยทางการเงิน การระบุตัวตนลูกค้า และการสร้างความผูกพันกับลูกค้าให้เหนือระดับยิ่งขึ้น
- PayKey สตาร์ทอัพจากอิสราเอล ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มปฏิวัติการชำระเงินรูปแบบใหม่บนคีย์บอร์ด ของอุปกรณ์สื่อสารที่ช่วยให้ลูกค้าธนาคารสามารถโอนเงินผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คที่หลากหลาย โดยเชื่อมโยงเข้ากับแอพพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้งของธนาคาร
- IndoorAtlas ผู้พัฒนาเทคโนโลยีระบุพิกัดตำแหน่งพื้นที่ในร่มจากฟินแลนด์ ซึ่งดิจิทัล เวนเจอร์ส ได้ใช้เทคโนโลยีนี้ร่วมพัฒนาในแอพพลิเคชั่น Chatuchak Guide ที่เป็นหน้าร้านออนไลน์ให้กับร้านค้าในตลาดนัดจตุจักร ซึ่งเทคโนโลยีนี้ช่วยอำนวยความสะดวกในการนำทางให้ผู้ซื้อเดินหาร้านค้าได้แม่นยำและรับข้อเสนอพิเศษต่าง ๆ จากร้านค้าได้แบบเรียลไทม์
- 1QBit ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านเทคโนโลยีควอนตัมและควอนตัมคอมพิวเตอร์จากแคนาดา มีศักยภาพในการแก้ปัญหาทางธุรกิจที่มีความสำคัญสูง สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุน การบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ และการรักษาความปลอดภัย