เพราะ ‘คน’ มีพื้นฐานชีวิต ความถนัด ความชอบ และความต้องการที่แตกต่างหลากหลาย การทำงานบริหารทรัพยากรบุคคล (HR) จึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในยุค Digital Transformation เพราะนอกจากจะต้องบาลานซ์ความต้องการของคนที่เป็นพนักงานแล้ว ยังต้องวางกลยุทธ์ให้คนทำงานไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด สามารถตอบโจทย์ความต้องการหรือเป้าหมายขององค์กรได้ ด้วยทรัพยากรที่มีและความท้าทายสารพัดด้าน
บทความนี้จะพาไปทำความรู้จัก ดร.ธภัทร อาจศรี Leader, HR Thailand, LIXIL APAC บุคคลที่ทำงานอยู่ในสายงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Resource) มานานกว่า 20 ปี ด้วยความรัก (Passion) ที่ได้ทำงานร่วมกับผู้คน ด้วยใจรักในสายอาชีพ และรักในงานแก้ปัญหา ซึ่งส่งผ่านทางใบหน้าที่เปื้อนยิ้มตลอดการสัมภาษณ์
“HR มีหน้าที่รับฟังปัญหา absorb ความเครียดของคน ของพนักงาน ดังนั้น HR จึงจำเป็นต้องมีทัศนคติที่ดี มีจิตใจเข้มแข็งเป็นพื้นฐาน เพื่อส่งต่อพลังบวก (Positive Energy) ออกไป และเป็นตัวกลางที่คอยหาโซลูชันที่จะตอบโจทย์ทั้งองค์กรและพนักงานแบบ Win-Win Situation”
จากการศึกษาสู่การทำงานด้านบริหาร ‘คน’ ซึ่งมีความต้องการหลากหลาย
ดร.ธภัทรเล่าว่า เริ่มต้นการทำงานในสาย Hospitality ซึ่งเชื่อมโยงสายงานโรงแรมและงานบริการ ทำให้ได้พบปะผู้คนมากหน้าหลายตา ครอบคลุมไปถึงการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับลูกค้าและพนักงาน กว่า 6 ปีในการทำงาน โดย ดร.ธภัทรค้นพบว่าความรัก (Passion) และความสุขในการทำงานคือการที่ได้ช่วยผู้คนหาทางออกและแก้ปัญหาต่าง ๆ จนสำเร็จลุล่วง จึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและต่อยอดให้กับตัวเองในสายงานนี้และตัดสินใจศึกษาต่อทั้งปริญญาโทและปริญญาเอกด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์และธุรกิจอุตสาหกรรม
ต่อจากนั้นได้มีโอกาสร่วมทำโปรเจกต์กับบริษัทจากประเทศออสเตรียเพื่อเซ็ตอัพและสร้างโรงงานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนกว่า 8,000 ล้านบาท หลังจากเสร็จโปรเจกต์จึงได้เข้าทำงานใน บริษัท ลิกซิล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่ง Leader ด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในประเทศไทย โดยอยู่ใต้ปีกของ LIXIL APAC ภายใต้ LIXIL Corporation ผู้บุกเบิกผลิตภัณฑ์เพื่อการจัดการน้ำและที่อยู่อาศัย ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น
เกริ่นก่อนว่า ลิกซิลเป็นองค์กรระดับ Global ที่ดำเนินธุรกิจใน 150 ประเทศทั่วโลก มีพนักงานรวม 55,000 คน และมีแบรนด์ชั้นนำมากมายที่อยู่ภายใต้การบริหารของ LIXIL อย่าง American Standard, GROHE, INAX, TOSTEM ฯลฯ
สำหรับลิกซิล ประเทศไทย ดร.ธภัทรมีบทบาทสำคัญในการวางกลยุทธ์พัฒนาบุคลากรทุกคน ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรที่ทำงานในองค์กรมานาน บุคลากรรุ่นใหม่ บุคลากรที่ได้รับการสนับสนุนให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารรุ่นต่อไป ที่สำคัญ เป็นผู้ริเริ่มทำ โครงการพัฒนาทักษะพนักงาน (Talent Development Program) เพื่อเพิ่มศักยภาพของพนักงานให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางที่วางไว้ได้ รวมถึงช่วยแก้ปัญหาการพัฒนาศักยภาพของพนักงานที่ขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เกิดขึ้น
“Talent Development Program” ไม่ได้ทำแค่การพัฒนาคนให้มีศักยภาพ แต่ยังสามารถช่วยสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับองค์กรได้ด้วย และโครงการนี้ก็เหมือนเรายิงปืนนัดเดียวได้นกถึง 4 ตัว นกตัวแรก คือการสร้างความมีส่วนร่วมกับพนักงานในองค์กรทุกคน ทุกระดับ เพราะโครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของพนักงานทุกคนในองค์กร นกตัวที่ 2 คือการปิด Pain Point เรื่องอัตราการลาออกของพนักงาน (Turnover Rate) โดยเฉพาะพนักงานในกลุ่มศักยภาพสูงขององค์กร และการขาดแผนการพัฒนาศักยภาพที่ยั่งยืนของบุคลากร นกตัวที่ 3 องค์กรได้มีแผนทดแทนที่ชัดเจน (Succession Planning) คือ เตรียมคนที่จะขึ้นมาเป็นผู้บริหารในอนาคต ดังนั้น เมื่อมีคนเกษียณ เราจึงมีคนสืบทอดตำแหน่งต่อได้เลย
“และ นกตัวที่ 4 คือ การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร (Employer Branding) โครงการนี้ทำให้เราได้รับ 2 รางวัลใหญ่ คือ Employee Experience Awards 2024 Thailand (EXA Awards) รางวัลที่มีหลายองค์กรในประเทศไทยเข้าร่วมประกวด ซึ่งบริษัท ลิกซิล ประเทศไทย เพิ่งเข้าร่วมเป็นปีแรก และคว้ารางวัลที่ 1 (Gold) เป็น The Best Succession Planning Strategy ยิ่งทำให้เราภูมิใจมาก กับอีกหนึ่งรางวัลคือ The Winner ด้าน Talent Development Program 2024 จาก Country Leadership Award FYE2024 ซึ่งไม่ใช่รางวัลที่จะได้มาง่าย ๆ และถือเป็นรางวัลสูงสุดของโครงการที่สามารถพัฒนาและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับองค์กรในระยะยาวได้ และยังต่อยอดในเชิงธุรกิจได้อีกด้วย” ดร.ธภัทรเล่าถึงผลงานด้านการวางกลยุทธ์ด้วยความภาคภูมิใจ ผ่าน 2 รางวัลที่ได้รับ
นอกจากการทำงาน HR ดร.ธภัทรเล่าเสริมว่า ได้ทำงานด้านการบริการสังคมและแบ่งปันความรู้ในสายงานให้แก่ผู้อื่นเรื่อยมา โดยเป็นวิทยากร อาจารย์พิเศษและที่ปรึกษาให้กับวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มานานกว่า 15 ปี
บริหารคนด้วยปรัชญาการทำงานของ LIXIL
ในโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและด้วยความท้าทายด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน ‘การพัฒนาศักยภาพของบุคลากร’ มีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ แม้บางองค์กรจะมองว่า งานบริหารทรัพยากรบุคคลเป็นหน่วยงานสนับสนุนการทำงานของบุคลากรภายใน แต่ ดร.ธภัทรเผยมุมมองที่กว้างและลึกกว่านั้นว่า งานบริหารทรัพยากรบุคคลมีความสำคัญในการขับเคลื่อนผู้คนให้ทำงานอย่างสร้างสรรค์ เติบโต และเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการขับเคลื่อนคนเพื่อไปขับเคลื่อนองค์กรให้มีความแตกต่าง และสามารถแข่งขันในตลาดได้ดียิ่งขึ้น
ดร.ธภัทรจึงจัดวางระบบอย่างมีเอกลักษณ์ ใส่ใจตั้งแต่การคัดคนจาก ‘ทัศนคติ’ มากกว่า ‘ความสามารถ’ เพราะเชื่อว่าทัศนคตินั้นปรับยาก แต่ความสามารถนั้นฝึกฝนกันได้ สร้างแผนพัฒนาทักษะและความรู้ ความสามารถของบุคลากรที่ทันสมัย อัปเดตอยู่เสมอ เพื่อสนองความต้องการของบุคลากรและองค์กรได้อย่างกลมกลืน สอดคล้องไปกับหลักการทำงานขององค์กร ลิกซิล ประเทศไทย
ดร.ธภัทรอธิบายว่า พนักงานของบริษัท ลิกซิล ทั่วโลก ทำงานบนหลักการ 3 ข้อ
- ข้อแรก Do the right thing คือ ทำสิ่งที่ถูกต้อง
- ข้อสอง Work with Respect ทำงานด้วยความเคารพผู้อื่น เคารพซึ่งกันและกัน และให้ความร่วมมือในการทำงาน
- ข้อสาม Experiment & Learn กล้าทดลองสิ่งใหม่ ๆ และพร้อมที่จะเรียนรู้ พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง
ทั้ง 3 ข้อเป็นปรัชญาการทำงานที่พนักงานของบริษัท ลิกซิล ยึดเป็นแนวปฏิบัติทั่วโลก และเป็นพื้นฐานของการวางกลยุทธ์พัฒนาบุคลากรที่ ดร.ธภัทรนำมาผสานรวมกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ ลิกซิล ประเทศไทย ได้อย่างลงตัว กล่าวคือ
- บริษัทให้อิสระในการทำงาน พนักงานสามารถคิดและเสนอแนะวิธีการต่าง ๆ ในการทำงานหรือ ขอทำงานจากที่บ้านได้ (Hybrid Workplace) เพราะบริษัทเข้าใจในความหลากหลาย และแตกต่างของพนักงาน รวมถึงข้อจำกัดของแต่ละคน โดยจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นมืออาชีพ ในออฟฟิศ บริษัทก็ได้จัดเตรียมอุปกรณ์รองรับการทำงานกับพนักงานให้ทั้งหมด
- บนพื้นฐานการทำงานด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน จึงลดความขัดแย้งได้ไม่ว่าพนักงานจะอยู่ในเจเนอเรชันไหน และยังเปิดให้มีการพูดคุยแบบ 1-on-1 เพื่อรับฟังและสร้างความเข้าใจเพื่อการทำงานร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น
- พนักงานสามารถทดลองทำสิ่งใหม่และผิดพลาดได้ (Failure) เราเชื่อว่าการทำงานบางครั้งก็สามารถเกิดความผิดพลาดได้ เราเข้าใจเพราะเราเชื่อว่าจะทำให้พนักงานได้เรียนรู้ ได้คิดอย่างสร้างสรรค์ และกล้าทำในสิ่งที่แตกต่าง ซึ่งสามารถต่อยอดทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือเพิ่มมูลค่าจากไอเดียใหม่ ๆ ได้
- ส่งเสริมให้พนักงานเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ มี Career Path ให้เติบโต ไม่ว่าจะเป็นแบบ On-site, Online, Meeting การให้พบปะพูดคุยกับคนเก่ง ๆ เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญหรือคนที่มีประสบการณ์ในสายอาชีพ เพราะสามารถช่วยให้คนทำงานเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่รู้สึกว่าตัวเองย่ำอยู่กับที่ ส่งผลให้พนักงานอยากอยู่กับองค์กรไปนาน ๆ ลดอัตราการลาออก รวมถึงการเตรียมความพร้อมให้พนักงานรุ่นถัดไปขยับสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นแบบไม่ขาดช่วง
- ให้พนักงานได้เรียนรู้และทดลองทำหลาย ๆ อย่าง (Multitasking) เพื่อพัฒนาทักษะให้พนักงานได้มีทักษะที่หลากหลายและเพิ่มความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการทำงาน ในกรณี หากพนักงานคนใดคนหนึ่งลาหรือเลือนขั้นเมื่อโอกาสมาถึง ในระยะสั้นองค์กรยังสามารถ ประครองให้การทำงานเกิดความต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก เพราะพนักงานสามารถเข้าไปเสริมหรือทำแทนกันได้ ตรงนี้จะลดภาวะการหมดไฟ (Burn Out) ของพนักงาน และอยากลาออกในท้ายที่สุด เพราะเรามุ่งให้เกิดการสร้างเสริมทักษะและความคล่องตัวในการทำงานให้กับพนักงานมากกว่าการลดค่าใช้จ่าย
3 ทักษะแห่งอนาคตที่คนทำงานรุ่นใหม่ต้องมี
ในโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวนและเทคโนโลยีก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจ และการดำเนินชีวิต คนทำงานต้องพร้อมปรับตัวเพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญ ต้องมีความสามารถในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยงานได้ ร่วมกับการมี Soft Skills
“คนคนหนึ่งที่จะเก่งและเติบโตไปกับองค์กรได้ต้องมีความรู้รอบด้านนะครับในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เก่งเฉพาะสายงาน แต่ต้องมีทักษะด้าน Soft Skills ด้วย คือสื่อสารเป็น มีบุคลิกภาพและการวางตัวที่เหมาะสม ตัดสินใจเป็น ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ และเขาต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เรื่องเหล่านี้สําคัญและส่งผลต่อความสําเร็จของพนักงานเลยนะครับ” ดร.ธภัทรกล่าวถึงทักษะที่ไม่ว่าจะทำงานในสายใดก็ควรมี
ในฐานะที่ทำงานด้าน HR เห็นเทรนด์ เห็นความเปลี่ยนแปลงสารพัดด้านมาตลอด ดร.ธภัทรปิดท้ายด้วยการให้คำแนะนำแก่ Young Talent & Young Professional ว่า มี 3 ทักษะพื้นฐานที่สำคัญต่ออนาคตและมีผลต่อความสำเร็จในหน้าที่การงาน ได้แก่
- รู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็น (Digital Intelligence) เช่น สามารถใช้ digital เพื่อมาต่อยอดในสายงานอาชีพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน นำไปสู่ผลลัพธ์ที่รวดเร็ว แม่นยำหรือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้
- ต้องรู้จักสร้างเครือข่ายในสายอาชีพ ( Professional Networking) ในปัจจุบันความสำเร็จไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากคน คนเดียว การสร้างเครือข่ายในสายอาชีพและธุรกิจที่แข็งแกร่งจึงจำเป็นอย่างมาก เพราะการมีเครือข่ายในสายอาชีพที่แข็งแกร่งที่ส่งเสริมและช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ จะทำให้เราประสบความสำเร็จในสายอาชีพหรือธุรกิจได้เร็วขึ้น
- ต้องเปิดรับเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Lifelong Learning) การเรียนรู้ตลอดชีวิตและตลอดเวลาเป็นสิ่งสำคัญเพราะปัจจุบันนี้บริบทของโลกในธุรกิจเปลี่ยนไปเร็วมาก ความรู้ก็เช่นกัน ความรู้ที่เรารู้ในวันนี้ อีกสามเดือน หรือ หนึ่งปี ความรู้นั้นอาจใช้ไม่ได้ไม่ทันสมัยแล้วก็ได้ ดังนั้นการเรียนรู้ตลอดเวลา จะทำให้เราสามารถพัฒนาและตามคนอื่นและคู่แข่งได้ทัน
“มนุษย์เป็นอะไรที่มหัศจรรย์ การพัฒนาคน การลงทุนกับคน มันคือการทําให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน ที่บอกนี่ไม่ใช่เพราะผมทํางาน HR แต่เพราะคนเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในธุรกิจจริง ๆ แม้ยุคนี้ใคร ๆ จะพูดถึงการนำ AI เข้ามาทดแทน แต่ความสำเร็จของการทำงานในยุคดิจิทัลไม่ได้มาจากการทำงานหรือเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่จะมาจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อต่อยอดทางธุรกิจให้ได้ สร้างเครือข่ายในสายอาชีพให้แข็งแกร่ง และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะและถึงแม้ว่าจะนำ AI เข้ามาใช้ในองค์กร แต่องค์กรก็ยังต้องมีคนคอยควบคุมอยู่ดี จริงไหม?” ดร.ธภัทร สรุปทิ้งท้าย
เรื่อง / ภาพ โดย: กองบรรณาธิการ