November 08, 2024

บทแถลงการณ์จากคณะทำงาน APEC CEO Summit 2022:

November 19, 2022 4257

สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ผู้จัดงาน APEC CEO Summit 2022 ได้ออกแถลงการณ์ในนามภาคเอกชนที่มีความภูมิใจสำหรับการรับหน้าที่การเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งสำคัญ ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ด้วย APEC CEO Summit 2022 นับเป็นเวทีคู่ขนานกับเวทีประชุมของภาคนโยบายหรือประชุมเอเปค 2022

อย่างคู่ขนานกันที่เวทีของภาคเอกชน ได้มีการจัดการเจรจา อภิปราย และแลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างผู้นำทางธุรกิจ ตลอดจนผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ผู้กำหนดนโยบาย และนักวิชาการต่างๆ ในประเด็นทางธุรกิจที่ภูมิภาคกำลังเผชิญ โดยนับเป็นความพยายามอันมุ่งมั่นของเอเปคในการส่งเสริมการเจรจาและความร่วมมือภาครัฐ และภาคเอกชน

ทั้งนี้ การประชุม APEC CEO Summit 2022  มีความมุ่งเน้นการขับเคลื่อนทางด้านการค้า การลงทุน สังคม และเศรษฐกิจภายใต้แนวทาง "Embrace Engage Enable" ที่เน้นการเปิดโอกาส การสอดประสานความร่วมมือ และการผลักดันสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในชุมชนเอเชียแปซิฟิก โดยนอกจากความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน เวทีนี้ยังนับเป็นความร่วมมือกับภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในการตอบสนองต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นที่เราชุมชนเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญ และนอกจากนี้ ยังนับเป็นเวทีต่อการเตรียมความพร้อมของมิติใหม่ทางการค้า การลงทุน และทางสังคม เพื่อให้ภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก สามารถขับเคลื่อนไปยังอนาคตข้างหน้าได้อย่างมีพลวัตและยั่งยืน

สำหรับเวทีการสนทนาของการประชุม APEC CEO Summit 2022 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 นี้ ได้มีวาระการประชุมที่สำคัญ อันได้แก่

ประเด็นที่ 1: ผู้นำเขตเศรษฐกิจและผู้นำทางธุรกิจเห็นพ้องกันว่าจำเป็นต้องมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด เพื่อส่งมอบการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมสำหรับอนาคต

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนสีเขียว หรือ BCG ซึ่งประเทศไทยได้นำมาเป็นวาระแห่งชาติและเป็นยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดใหญ่

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวในคำปราศรัยที่เตรียมไว้ว่า การเปิดกว้างเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความก้าวหน้า ในขณะที่การขัดขวางห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นในเอเชียแปซิฟิก จะขัดขวางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ จีนมุ่งมั่นที่จะ 'ส่งเสริมการสร้างชุมชนเอเชียแปซิฟิกที่มีอนาคตร่วมกัน'

นายจอห์น เดนตัน เลขาธิการสภาหอการค้านานาชาติ กล่าวว่า การหลอมรวมภาคธุรกิจเข้ากับการกำหนดนโยบายเป็นจุดแข็งที่สำคัญของเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก และความร่วมมือนี้มีความจำเป็นในอนาคต ด้วยเป็นภูมิภาคที่สร้างความยืดหยุ่นด้านห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของพลังงานและคาร์บอน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สะท้อนความรู้สึกดังกล่าว โดยกล่าวว่า การดำเนินการและความร่วมมือร่วมกันเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยจัดการกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำเศรษฐกิจไปสู่การพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน และให้ความสำคัญกับ 'การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม'

ศาสตราจารย์เคล้าส์ ชวาป ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสภาเศรษฐกิจโลก เรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ โอบรับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน การเปลี่ยนแปลงเป็นดิจิทัล การคิดเชิงกลยุทธ์ และแนวคิดเรื่องเงินทุนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสร้างความไว้วางใจจากสาธารณะ

ประเด็นที่ 2: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความครอบคลุม และความยั่งยืน จะเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผู้กำหนดนโยบายและบริษัทต่างๆ

นายเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม กล่าวว่า การลงทุนทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการดูแลสุขภาพและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถูกกำหนดให้เป็นตัวขับเคลื่อนกระแสการลงทุนจากต่างประเทศในอนาคต

นายแฟร์ดินันด์ โรมูอัลเดซ มาร์โคส จูเนีย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เห็นพ้องต้องกันว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาพ และความมั่นคงทางอาหารเป็นความท้าทายสำคัญที่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญ และเรียกการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศว่าเป็น 'ความท้าทายที่กดดันที่สุดต่อความอยู่รอดในยุคสมัยของเรา’

นายโรเบิร์ต มอริทซ์ ประธานบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส (PwC) กล่าวว่า ความยืดหยุ่น ความยั่งยืน และความคล่องตัว จะมีความสำคัญต่อการเติบโตในอนาคต เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากสาธารณชน ผู้ประกอบการธุรกิจต้องมีความสามารถในการกำหนดแนวทางและดำเนินงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต

นายกาบริเอล โบริก ประธานาธิบดีสาธารณรัฐชิลี กล่าวว่าการปฏิรูปสังคมเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจัดการกับความไม่เท่าเทียมและสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม

นางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา รองประธานาธิบดีคนที่ 1 สาธารณรัฐเปรู ได้เห็นด้วยต่อประเด็นก่อนนี้ โดยเสริมว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นมีสามมิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกล่าวว่าความท้าทาย คือการตอบสนองความต้องการในปัจจุบันโดยไม่ประนีประนอมกับอนาคต

จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวว่า การเติบโตจำเป็นต้องมีความครอบคลุม และไม่ทิ้งกลุ่มผู้ด้อยโอกาสไว้เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ธุรกิจขนาดเล็ก หรือชนพื้นเมือง เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดในช่วงการระบาดของโควิด-19

 

 

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Monday, 21 November 2022 05:32
X

Right Click

No right click