“สุพันธุ์ มงคลสุธี” เปิดเผยกับนิตยสาร MBA หลังเข้ารับตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จากบทบาทเดิม ที่นั่งแท่นประธานกรรมการ บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และสร้างความสำเร็จให้ธุรกิจด้วยวิธีคิดปรับตัวรับเทคโนโลยีมาโดยตลอด
เช่นเดียวกับวิสัยทัศน์ เพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม Thailand 4.0 นี้ เขามองถึงการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีปัจจัยหลากหลาย ทั้งการแข่งขันในต่างประเทศ และกระแสดิจิทัลที่รุกเข้ามาอย่างรวดเร็วและรุนแรง นอกจากนั้นการที่มีระบบไอทีเข้ามาเกี่ยวข้องยังทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคในทุกสายอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป ระบบที่รวดเร็วของโซเชียลเน็ตเวิร์ก การซื้อขายสินค้าออนไลน์ การออกสินค้าใหม่จึงต้องทำให้ผู้คนสนใจ และสร้างความนิยมอย่างรวดเร็ว
สุพันธุ์ ยกตัวอย่างให้เห็นถึงความสำเร็จที่ผ่านพร้อมเผยถึงแนวคิดต่อไปว่า
“เรามองมานานแล้ว มอง Technology Trend เป็นหลัก เพราะการที่เราอยู่ในวงการที่ใกล้เทคโนโลยีมากที่สุด ทำให้เห็นทิศทางของเทคโนโลยีว่าจะไปทางใด เราจึงปรับตามได้อย่างทันเวลา มองว่าเทรนด์จะมาแบบไหน ตั้งแต่เรื่องโทรศัพท์มือถือ จนเมื่อ 4.0 เข้ามาเราก็มีบริษัทที่รองรับ Hardware ทางด้าน 4.0 หรือกระทั่ง
เรื่องของโดรนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร การผลิต Entertainment เป็นต้น ยังมีเรื่องของ Database ก็มีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งหลาย ตั้งแต่การเก็บรักษาข้อมูล อุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์เชื่อมต่อ ไปจนถึงอุปกรณ์ที่ตอบสนองเรื่องของ Smart home Solution ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังมาในอนาคต เรียกว่าเราสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมในทุกอุตสาหกรรม”
สิ่งที่สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมไทยจะต้องเตรียมตัวรับมือกับการบริโภคและการผลิต ซึ่งมีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเริ่มตั้งแต่เปลี่ยนรูปแบบการผลิต (Production) ต่างๆ ให้สอดคล้องกับแนวโน้ม ที่สถานการณ์ความต้องการแรงงานของภาคการผลิตลดลง และมีการใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทน รวมทั้งการเสริมศักยภาพให้กับสินค้าในทุกอุตสาหกรรมเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรม นั่นเพราะการขาดนวัตกรรม คงไว้แต่สินค้าเดิมถือเป็นจุดอ่อนทำให้
เดินหน้าต่อไปได้ยาก
ระบบการผลิตจึงต้องสอดคล้องกับนวัตกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งมีการประเมินกันว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าเราจะเห็น Production line ในโรงงานทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และด้วยเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบไอที และระบบเซนเซอร์ของเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต มีราคาลดลงเกินกว่าครึ่งจากในอดีต จึงทำให้ผู้ประกอบการหันมาลงทุนเพิ่ม
ในเทคโนโลยีทางการผลิตที่มีแนวโน้มราคาถูก ซึ่งสวนทางกับค่าแรงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตแล้ว ต้นทุน (Costing) และคุณภาพ (Quality) เป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นการใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วย จะทำได้ง่ายกว่าการใช้แมนพาวเวอร์ในหลายๆ เรื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้
เป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมขนาดเล็กต้องเตรียมตัว หันไปมองว่าจุดแข็ง (Strength) ของเราคืออะไร ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่นั้นมีการนำร่องไปในทิศทางนี้อย่างแน่นอนแล้ว
ตัวอย่างประเทศของเรานั้นมีจุดแข็งที่การเกษตร สิ่งที่ทั่วโลกมองเข้ามาที่ประเทศเรานั้นเป็นเรื่องของอาหาร ซึ่งวิธีการปรับตัวที่ง่ายที่สุดของคนในอุตสาหกรรมอาหาร คือ การพยายามหาเทคโนโลยีและวิธีการเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทางด้านอาหารขึ้นมา จะสังเกตได้จากงาน Food ทั้งหลายผลิตภัณฑ์ของไทยใกล้จะถึงระดับ World Class แล้ว ไม่ใช่เพียงแค่ในระดับอาเซียนอีกต่อไป ทั่วโลกให้ความสนใจในอาหารของไทย มีการตอบรับที่ดี ถือว่ามีข้อได้เปรียบตั้งแต่วัตถุดิบ แต่ต้องไม่จำกัดการทำแต่เพียงต้นน้ำ คือ การจำหน่ายแค่เพียงวัตถุดิบคือสินค้าการเกษตร แต่ต้องพยายามทำการแปรรูปไปจนถึงกลางน้ำและปลายน้ำให้ได้
รับมือกับ Technology Disruption อย่างไร
ในบทบาทของประธานสภาอุตสาห-กรรมแห่งประเทศไทย ยังมองเห็นว่า การต่อยอดจากจุดแข็งเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมกับ Disruption ของเทคโนโลยีนั้น รัฐบาลต้องเข้ามาสนับสนุนเรื่องของ R&D (การวิจัยและพัฒนา) อย่างเต็มรูปแบบ โดยทำร่วมกับภาคการศึกษา เพื่อการวิจัยและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการ SME มีโอกาสนำไปใช้เสริมศักยภาพให้ธุรกิจเดินหน้าไปอย่างมั่นคงและมีความยั่งยืน
“เพราะลำพัง SME เอง จะไม่มีกำลังที่เพียงพอในการลงทุนพัฒนา เพียงแต่อาจจะมีไอเดีย ดังนั้นรัฐบาล ภาคการศึกษา และภาคเอกชนต้องทำงานร่วมกัน เพื่อการพัฒนาสินค้า สำหรับในส่วนของภาคการผลิต รัฐบาลก็ต้องสนับสนุน Financing Knowhow เพื่อให้ SME ตามให้ทัน ให้มีความเข้าใจเครื่องมือต่างๆ ทางด้าน Production ของ Industry 4.0 เมื่อมีความเข้าใจในเทคโนโลยี ตระหนักถึงการลงทุนทางเครื่องจักร ก็จะต้องมีความเข้าใจทาง Financing”
เรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนา SME คือเรื่องของผลิตภัณฑ์ ที่ต้องมี
นวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อดึงดูดผู้ซื้อให้ได้ จากนั้นคือเรื่องของการผลิต เรื่อง Finance และการทำ R&D ซึ่งต่างเป็นเรื่องที่สำคัญและสอดคล้องกัน การใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพื่อควบคุมต้นทุน และควบคุมคุณภาพ เพื่อให้ได้คุณภาพเป็นมาตรฐาน ในกรณีที่มีการขยายจำนวนการผลิต
เพราะจากการศึกษาหาข้อมูลถึงปัญหาส่วนใหญ่ของ SME ในอดีต คือ ไม่สามารถควบคุมคุณภาพให้คงที่ได้ เมื่อมีจำนวนการผลิตมากขึ้น ซึ่งความพร้อมในวันนี้ ทุกคนมีความตื่นตัวตั้งแต่เรื่องของการลดค่าใช้จ่าย (Cost saving) การผลิต (Production) และการหาเครื่องมือและอุปกรณ์ (Equipment) ใหม่ๆ เข้ามาเสริมสร้างศักยภาพทำให้ผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพและมีความโดดเด่นเป็นที่ต้องการของตลาด
อุตสาหกรรมดาวรุ่งและเข้มแข็งของไทย
โดยเฉพาะการโฟกัสไปที่ อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นดาวรุ่งของอุตสาหกรรมไทย และแม้ว่าดาวรุ่งใน GDP หลักของประเทศจะอยู่ในส่วนของยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม แต่จำนวนผู้ประกอบการยังคงมีไม่มากนัก และตามที่ทราบกันดีว่า เทคโนโลยีกำลังอยู่ในระหว่าง Disruption เช่น ยานยนต์ที่จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เช่นระบบไฟฟ้า หรือยานยนต์ไร้คนขับ
ในขณะที่ “อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่ SME ไปได้ง่ายที่สุด” ไม่ต้องมีการลงทุนที่สูงมาก การขยายสามารถค่อยเป็นค่อยไปได้
อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและสุขภาพ เป็นอีกอุตสาหกรรมที่เป็นดาวรุ่งและมีโอกาสเติบโต นั่นเพราะวันนี้กระแสการก้าวสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) กำลังเข้ามาอย่างชัดเจน เรามีวัตถุดิบในประเทศที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อีกมาก โดยเฉพาะวันนี้ตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สมุนไพรของเราก็ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี ทั้งในด้านมาตรฐาน และความปลอดภัย จึงมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับอาเซียน รวมไปถึงสินค้าประเภทไลฟ์สไตล์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ Aroma Therapy ศาสตร์ที่ใช้น้ำมันหอมระเหยบำบัดเป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมเข้มแข็งเป็นส่วนของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตามที่กล่าวว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก รวมไปถึงอุตสาหกรรมเกษตร ที่เป็นพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรักษาไว้ให้ได้ โดยวันนี้รัฐบาลก็มีนโยบาย EEC: Eastern Economic Corridor หรือ โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่เป็นแผนยุทธศาสตร์ต่างประเทศภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard เข้ามานั้น มีเรื่องของ 10 อุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจาก S Curve ที่เป็นอุตสาหกรรมเก่า 5 และใหม่ 5 ถือว่ามาถูกทาง แต่ที่สำคัญคือจะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมในประเทศมีส่วนร่วมอย่างไร
ปัจจัยในความสำเร็จของอุตสาหกรรมเข้มแข็ง
สุพันธุ์ มองว่านอกจากเรื่องของผลิตภัณฑ์ เป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จแล้ว อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของ "คนที่มีอยู่ต้องเรียนรู้ว่าเทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนไป" Skill set ต้องเปลี่ยน วันนี้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยเพราะเราพร้อมทุกอย่าง ขาดแต่เพียงเรื่องของคน
“ที่น่าเป็นห่วงคือเราขาดแคลน Engineer การสนับสนุนเรื่องนี้ต้องทำตั้งแต่การปรับปรุงด้านพื้นฐานการศึกษา ไม่ใช่ส่งเสริมให้จบแค่ปริญญาตรี เรื่องสาขานั้นเป็นสิ่งสำคัญ หรือหากไปต่อถึงปริญญาตรีไม่ไหวก็ต้องสนับสนุนไปในสายอาชีวะแทน ยกตัวอย่างวันนี้มีเด็กที่จบสาขาสังคมเป็นจำนวนมากเกินกว่าดีมานด์ในตลาด ในขณะที่เมกะเทรนด์ของวันนี้คือ engineer และไอที ซึ่งมีดีมานด์เป็นจำนวนมากและต่อเนื่อง เพราะดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องในทุกอุตสาหกรรม”
การที่เทคโนโลยีมีผลให้อุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงเร็วนั้น เราต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน เพราะวิวัฒนาการที่ทำให้สินค้าใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ไลฟ์ไทม์ของผลิตภัณฑ์นั้นสั้นลง
ซึ่งในอีกแง่มุมหนึ่งก็ต้องพร้อมรับความเสี่ยง (Take risk) ภาคอุตสาหกรรมวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ ต้องมีการปรับตัว สร้างโอกาสในการออกไปดูงาน ศึกษาผลิตภัณฑ์ งาน R&D ต้องทำอย่างหนักและต่อเนื่อง
ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่ดำเนินการเรื่องนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว องค์กรขนาดเล็กจำเป็นต้องพึ่งภาครัฐ เช่นกระทรวงวิทยาศาสตร์ และภาคการศึกษาเข้ามาช่วยในเรื่องของงานวิจัยอย่างเหมาะสม ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับภาคเอกชนทั้งขนาดใหญ่และสตาร์ตอัพ
“เชื่อว่าการเตรียมการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมียุทธศาสตร์ที่มีความชัดเจนตามที่กล่าวมานั้น จะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนที่สำคัญทำให้ผู้ประกอบการ SME ไทยมีความสำเร็จในธุรกิจ และมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งตาม GDP ในวันนี้สัดส่วนของ SME ไทยมีเพียง 30% จากภาพอุตสาหกรรมรวม ซึ่งที่เหมาะสมนั้นควรจะอยู่ที่ 40% ขึ้นไป”