กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) ส่งต่อความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจให้กับ Hattha Bank Plc. ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำในประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นสถาบันการเงินในเครือกรุงศรี ผลักดันโมเดล ASEAN Privileges ขยายฐานลูกค้าบัตรเดบิตด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อยกระดับประสบการณ์ทางการเงินที่สะดวกสบายและปลอดภัยให้กับคนกัมพูชา พร้อมต่อยอดในเครือข่ายธุรกิจของกรุงศรีในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวอาเซียนเข้ามาใช้จ่ายในประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทย

นายวันชัยระบิน จิตวัฒนาธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานธุรกิจระดับภูมิภาค ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กรุงศรีทำงานร่วมกับ Hattha Bank อย่างใกล้ชิดและเห็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดย Hattha Bank ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายออกสู่ตลาดเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในกัมพูชาให้สอดคล้องกับเทรนด์และสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ล่าสุดได้เปิดตัวบัตรเดบิต Hattha Visa Debit Card  ซึ่งนอกจากกรุงศรีจะได้ส่งต่อประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจบัตรให้กับบริษัทในเครือซึ่งเป็นธุรกิจในต่างประเทศแล้ว เรายังได้ใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งด้านเครือข่ายพันธมิตรในไทย ช่วยสร้างจุดแข็งให้กับบัตรเดบิตดังกล่าวด้วย โดยนักท่องเที่ยวกัมพูชาที่ถือบัตร Hattha Visa Debit Card จะได้รับสิทธิประโยชน์ส่วนลดต่างๆ เมื่อมาใช้จ่ายในประเทศไทย ในช่วงแรกเป็นการนำเสนอสิทธิประโยชน์สำหรับการใช้จ่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำในไทย และในอนาคต กรุงศรีและ Hattha Bank มีแผนร่วมกันที่จะขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้า”

“กรุงศรีได้วางกลยุทธ์ในการช่วยต่อยอดธุรกิจให้กับเครือข่ายธุรกิจต่างๆ ในอาเซียน ภายใต้โครงการ ASEAN Privileges โดยต้องการขยายฐานลูกค้าธุรกิจบัตรด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับการใช้จ่ายในประเทศไทย ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศอาเซียนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยหลักล้านคน เราต้องการให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เมื่อเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้รับสิทธิประโยชน์และประสบการณ์ทางการเงินที่พิเศษซึ่งสนับสนุนโดยกรุงศรีและพันธมิตร เราได้เริ่มโครงการนี้กับ Hattha Bank เป็นที่แรก และมีแผนที่จะขยายโมเดลดังกล่าวไปยังเครือข่ายธุรกิจอื่นของกรุงศรีในอาเซียน ซึ่งนอกจากจะช่วยขยายฐานลูกค้าในต่างประเทศแล้ว ยังเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียนให้เข้ามาท่องเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศไทยได้อีกด้วย”

นอกจากความสะดวกและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากผลิตภัณฑ์บัตรแล้ว กรุงศรียังร่วมกับ Hattha Bank ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์การโอนเงินระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้มีการเพิ่มฟีเจอร์การทำธุรกรรมโอนเงินแบบเรียลไทม์ระหว่างไทยและกัมพูชาด้วยระบบที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะในเครือกรุงศรี ลูกค้าไม่ว่าที่ไทยหรือกัมพูชาสามารถทำธุรกรรมการโอนเงินออกผ่านทางโมบายแบงก์กิ้งได้อย่างสะดวกรวดเร็ว  นอกจากนี้เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Hattha Bank ยังได้เปิดตัวบริการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านทาง SWIFT ซึ่งเชื่อมต่อกับเครือข่ายธนาคารทั่วโลก นับเป็นอีกหนึ่งบริการใหม่ที่ช่วยสร้างความสะดวกสบายและความมั่นใจในการรับบริการทางการเงินให้กับประชาชนชาวกัมพูชาอีกด้วย

“ด้วยความร่วมมือในการการผสานความแข็งแกร่งของทั้งสองบริษัท กรุงศรีเชื่อมั่นว่า Hattha Bank จะสามารถขับเคลื่อนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มุ่งสู่การเป็นธุรกิจธนาคารพาณิชย์ชั้นนำที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ครบวงจร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม และพร้อมเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจกัมพูชาให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” นายวันชัยระบิน กล่าวปิดท้าย

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) โดย วิจัยกรุงศรี ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตตามวัฎจักรเศรษฐกิจ แม้การเติบโตจะยังไม่กระจายตัวและมีความไม่แน่นอน โดยคาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.4% ซึ่งไม่รวมผลของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ด้วยแรงส่งส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายในประเทศ

ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (จำกัด) มหาชน กล่าวว่า “วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวที่ 3.4% ซึ่งตัวเลขนี้ไม่นับรวมผลของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีปัจจัยภายในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ได้แก่ 1) การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐและความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น โดยประมาณการว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นจาก 27.7 ล้านคนในปี 2566 เป็น 35.6 ล้านคนในปี 2567 แม้จะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิดที่ 40 ล้านคนก็ตาม  2) การบริโภคภาคเอกชนยังคงเติบโตต่อเนื่องที่ 3.3% โดยมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น กอปรกับยังมีผลเชิงบวกจากนโยบายของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย  3) การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2567 ภายหลังจากการอนุมัติพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้น 9.3% จากงบประมาณในปีงบฯ ก่อน) ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาครัฐในปี 2567 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ 1.5% และ 3.0% ตามลำดับ จากที่คาดว่าจะหดตัวในปี 2566 และ 4) การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโตดีขึ้นที่ 3.5% ตามการเติบโตของภาคบริการและกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสำคัญๆ

อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่ำ เนื่องจากยังเผชิญแรงกดดันจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยคาดว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัว 2.5% ในปี 2567 จากที่คาดว่าจะหดตัว -1.5% ในปี 2566 อันเป็นผลจากปัจจัยเฉพาะ เช่น วัฏจักรการฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อานิสงส์จากการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหาร และความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค (Regionalization) เป็นต้น การทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นคาดว่าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มจาก 1.3% ในปี 2566 เป็น 2.0%

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2567 วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงไว้ที่ 2.50% ตลอดทั้งปี 2567 เพื่อดูแลเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นให้อยู่ภายในกรอบเป้าหมายและเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวกลับเข้าสู่แนวโน้มระยะยาว ขณะเดียวกันยังเป็นการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (Policy space) เพื่อรองรับความเสี่ยงที่มีอยู่มากในอนาคต

“แม้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะมีแนวโน้มปรับดีขึ้นแต่อัตราการเติบโตยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน โดย IMF คาดว่า GDP ของกลุ่มประเทศอาเซียน-5 จะเติบโตที่ 4.5% ในปี 2567 เร่งขึ้นเล็กน้อยจาก 4.2% ในปี 2566 สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่อาจกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางต้นทุนการกู้ยืมที่ปรับเพิ่ม ผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ประชากรสูงวัย การขาดแคลนแรงงาน และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในหลายอุตสาหกรรม ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศที่อาจสร้างความเสี่ยงในปี 2567 ได้แก่ ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศที่สูงสุดในรอบกว่าสองทศวรรษที่อาจกดดันเศรษฐกิจและภาคการเงินในประเทศแกนหลักของโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนท่ามกลางความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายวงกว้างในระยะต่อไป” ดร.พิมพ์นารา กล่าวเพิ่มเติม

คว้ารางวัลชนะเลิศ พร้อมโอกาสต่อยอดสู่การเป็นครีเอเตอร์มืออาชีพ

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) ประสานพลังความร่วมมือกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. นำความเป็นเลิศของทั้งสองสถาบันสร้างความเข้มแข็งให้กับ Tech Ecosystem ของประเทศไทย ผ่านการสนับสนุนด้านการศึกษา งานวิจัย การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการแบ่งปันความรู้และโอกาสให้กับนักศึกษา ชุมชน และสังคม เพื่อต่อยอดการเติบโตของทั้งสองสถาบัน พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่โลกอนาคตอย่างยั่งยืนด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม

ดร. วศิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านทรัพยากรบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ด้วยตลาดแรงงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ Tech Talent มีความต้องการสูง ขณะที่โอกาสในการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติงานจริงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถของนักศึกษาให้พร้อมสำหรับตลาดแรงงาน กรุงศรี และบริษัทในเครือ ได้แก่ กรุงศรี ฟินโนเวต กรุงศรี นิมเบิล กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และกรุงศรี ออโต้ จึงพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งด้านความรู้ และประสบการณ์ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับนักศึกษาและบุคลากรของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รวมถึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พัฒนาต่อยอดความรู้ความสามารถ และได้ลงมือทำงานในสภาพแวดล้อมจริง แก้ไขปัญหาไปกับทีมงาน ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่จะสร้างให้บัณฑิตแข็งแกร่งขึ้น นอกจากนี้ กรุงศรี ยังพร้อมส่งเสริมงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยี เพื่อนำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายในการสร้าง Tech Ecosystem ที่เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจและประเทศต่อไป”

ด้าน รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า  “การร่วมมือกับกรุงศรี ในครั้งนี้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ สจล. ในการเป็นผู้นำนวัตกรรมระดับโลก หรือ The World Master Of Innovation และด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม วิจัย สจล. พร้อมเดินหน้าร่วมสร้างเครือข่ายการทำงานทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เพื่อผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคู่จริยธรรม และรักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมอันดีของประเทศ ในโอกาสนี้ ต้องขอขอบคุณ ผู้บริหาร และผู้ทำงานทุกภาคส่วน ที่ทำให้เกิดความร่วมมือนี้บนพื้นฐานความเข้าใจอันดีต่อกัน และประสานผลประโยชน์ในการพัฒนาความรู้ทางวิชาการ งานวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป”

สำหรับโครงการความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาและบุคลากรของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางปัญญาระหว่างสองสถาบันอย่างเป็นรูปธรรมผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การจัดตั้งโครงการศึกษาและวิจัยร่วมกัน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การจัดตั้งโปรแกรมการฝึกอบรม สัมมนา พัฒนาบุคลากรและนักศึกษาร่วมกัน เพื่อยกระดับทักษะและการสร้างทักษะใหม่ให้เท่าทันปัจจุบัน การสนับสนุนการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ (Startup) ให้แก่นักศึกษาและบุคลากรจากทั้งธนาคารและบริษัทในเครือ และสจล. เป็นต้น โดยมุ่งหวังว่าการร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะช่วยสร้าง Tech Ecosystem ที่สมบูรณ์เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่โลกอนาคตได้อย่างยั่งยืน

X

Right Click

No right click