จากทีมขยะสู่ขยะของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนปลาปากวิทยา จังหวัดนครพนม ในโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน
โครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน จัดขึ้นโดย อินโดรามา เวนเจอร์ส ร่วมกับ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ (SEAMEO Regional Centre for Sufficiency Economy Philosophy for Sustainability) และวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อปัญหาขยะในประเทศไทย โดยเปิดโอกาสให้นวัตกรรุ่นใหม่พัฒนาทักษะสำหรับการคิดค้นโซลูชั่นเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยโครงการนี้มีผู้ลงทะเบียนรวมถึง 174 ทีม และส่งผลงานเข้าร่วมประกวดรวมถึง 108 โครงการ มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจพอเพียง
ทรงสิทธิ์ ศรีเสนาะ หรือน้องดัขชี่ อายุ 17 ปี หัวหน้าทีมขยะสู่ขยะ เท้าความให้ฟังว่า “เราเริ่มตีโจทย์โครงการจากการสังเกตชาวบ้าน ปู่ย่าตายาย ที่ทำเกษตรกรรม ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ถุงพลาสติกสีดำใหม่ๆ ในการเพาะพันธุ์พืช จากนั้นเมื่อไม่ใช้แล้วก็ไม่ได้นำเอาไปทำอะไรต่อก็ทิ้งไป หรืออีกส่วนหนึ่งก็จะเอาไปเผาทำให้เกิดกลิ่นควันและมลพิษ โดยไม่ได้มีการกำจัดขยะที่ถูกวิธีนัก ซึ่งเรามองว่านอกเหนือจากเกษตรกรจะมีต้นทุนจากการใช้ถุงพลาสติกใหม่ๆ แล้วยังสร้างมลพิษโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย จึงทำให้เกิดความคิดที่ต้องการแก้ปัญหาตรงนี้”
“เราเลยรวมตัวกัน 5 คน ตั้งทีมขยะสู่ขยะขึ้น และเริ่มคิดโครงการรีไซเคิลถุงเพาะกล้าไม้จากถุงพลาสติกใช้งานแล้ว โดยออกแบบเครื่องหลอมจากการนำเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้แล้ว และนำขยะถุงพลาสติกจากการเกษตรมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการนำแผ่นฮีตเตอร์ ฝาปิด และถังบรรจุน้ำ ของกระติกน้ำร้อนเก่า มาดัดแปลงและประกอบให้เป็นกล่องทรงกระบอกปิด ในการใช้งานจะนำแบบถาดเพาะขนาดที่ต้องการเข้าไปวางภายในกล่องดังกล่าว แล้วนำถุงพลาสติกเหลือใช้เข้าไปวางทับแบบ จากนั้นปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไป ทำให้ฮีตเตอร์ทำงานภายในทรงกระบอก ทำให้ถุงพลาสติกที่ครอบเริ่มละลายเกาะกับแบบ จากนั้นปล่อยให้เย็น แล้วแกะแบบออก ทำให้ได้ถุงเพาะกล้าไม้จากถุงพลาสติกใช้งานแล้วที่มีขนาดและรูปทรงเหมือนกับแบบ สามารถนำไปใช้ในการเพาะปลูกทดแทนการใช้ถุงหรือถาดเพาะชิ้นใหม่ ช่วยลดขยะจากถุงพลาสติกได้ ซึ่งจากการทดสอบประสิทธิภาพพบว่า ถุงเพาะรีไซเคิลที่ได้มีความแข็งแรง คงรูป และทนต่อสภาพแวดล้อมภายนอกใกล้เคียงกับถุงเพาะใหม่ตามท้องตลาดทั่วไป โดยสามารถนำกลับรีไซเคิลใช้ได้อีก 4-5 ครั้งเป็นอย่างน้อย ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้ในการปลูกพืชผักสวนครัว และเพาะกล้าไม้” นางสาวปาริชาติ เบอร์ขุนทด หรือน้องไอซ์ ผู้ร่วมทีมอธิบายถึงแนวคิดการรีไซเคิล
“ผมคิดว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมากที่มีคำแนะนำให้เรามองเห็นถึงต้นตอของปัญหา การปรับพฤติกรรมของเราในการจัดการกับปัญหาขยะอย่างถูกวิธี เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้จากองค์การยูนิเซฟ อินโดรามา เวนเจอร์ส และองค์กรพันธมิตรต่างๆ ที่ร่วมจัดการประกวดครั้งนี้ ทั้งยังช่วยต่อยอดการเรียนรู้ของเราต่อไปในอนาคต” ดัชชี่ กล่าวปิดท้าย
นาย Evariste Kouassi Komlan, Regional Water, Sanitation and Hygiene Advisor องค์การยูนิเซฟ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิค กล่าวว่า “เรามีความยินดีที่ได้สนับสนุนโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน และส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่สามารถคิดค้นนวัตกรรม และสร้างโซลูชั่นใหม่ๆ ที่สามารถจัดการปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม น้ำ และสุขาภิบาล เพื่อให้เขาได้มีโอกาสร่วมกันสร้างอนาคตที่เด็กๆ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีได้อย่างทั่วถึง”
ด้านนายยาช โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า “เราภูมิใจที่เยาวชน คนรุ่นใหม่ สามารถนำแนวคิดของพวกเขามาพัฒนาต่อยอดใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้ภายใต้แนวทางของการรีไซเคิล และเศรษฐกิจหมุนเวียน สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของไอวีแอลในการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน เราเชื่อว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้คืออนาคตของเราที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน”