บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากลที่ ยึดมั่นในการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืน แจงผลประกอบการปี 2566 เติบโตขึ้นกว่าปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญสามารถรักษาประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง และรุดหน้าการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ชูทิศทางปี 2567 โดยเดินหน้าธุรกิจตามกลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าคุณภาพสู่สังคม (Powering Society with Quality Megawatts) นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทมีมติแต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ มีผล 2 เมษายนนี้
ผลการดำเนินงานปี 2566 BPP มีรายได้รวม 30,443 ล้านบาท โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม 12,262 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีกำไรสุทธิ 5,319 ล้านบาท ทั้งนี้ถ้าไม่รวมกำไรจากการวัดมูลค่าเงินลงทุนใหม่และขาดทุนสุทธิที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงของอนุพันธ์ทางการเงิน BPP มีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 74 เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่ไม่รวมกำไรจากการจำหน่าย เงินลงทุนและกำไรสุทธิที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงของอนุพันธ์ทางการเงินในปี 2565 นอกจากนี้ BPP ยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพด้านพลังงาน โดยยังคงมุ่งมั่นในการรักษาประสิทธิภาพ และความพร้อมของระบบการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุก ๆ แห่งให้สามารถจำหน่ายกระแสไฟฟ้าไปยังชุมชนและสังคมได้อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง อีกทั้งยังผลักดันการดำเนินงานในทุกกระบวนการให้สอดคล้องกับหลักความยั่งยืนหรือ ESG อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG Committee) ซึ่งทำหน้าที่ในการพิจารณาทิศทางและนโยบาย ESG ของบริษัทฯ และทำงานร่วมกับฝ่ายบริหาร
ในปี 2566 บริษัทฯ ได้เข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ในรัฐเท็กซัส ซึ่งอยู่ติดกับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ที่บริษัทฯ ได้เข้าไปลงทุนเมื่อปี 2564 และผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจไฟฟ้าในสหรัฐฯ ที่มีอยู่ครบวงจรทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ตั้งแต่การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ไปจนถึงการขายไฟฟ้าในตลาดค้าส่ง (Wholesale) และตลาดค้าปลีก (Retail) รวมถึงร่วมลงทุนในโครงการ Cotton Cove ในแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ (Barnett) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการก้าวสู่ธุรกิจดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ในสหรัฐฯ ซึ่งสามารถนำประสบการณ์ไปพัฒนาต่อยอดกับธุรกิจโรงไฟฟ้าได้ในอนาคต ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (CHPs) ในจีนทั้ง 3 แห่ง มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นจากการปรับตัวลดลงของราคาเชื้อเพลิงและรายได้จากการขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Emission Allowances - CEA)
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานผ่านการลงทุนในบ้านปู เน็กซ์ โดยในปีที่ผ่านมา มีการลงทุนในบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (SVOLT Thailand) ธุรกิจกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ครบวงจรเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การลงทุนในโอยิกะ (Oyika) สตาร์ทอัพสิงคโปร์ ผู้ให้บริการโซลูชันสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (Battery Swap Solutions) รวมถึงเดินหน้าโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มขนาดใหญ่ที่เมืองโตโนะ (Tono) จังหวัดอิวาเตะ (Iwate) ในญี่ปุ่น เพื่อการต่อยอดในธุรกิจซื้อขายพลังงาน (Energy Trading) ในอนาคต
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในปีที่ผ่านมา BPP สามารถบริหารจัดการการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าทุกแห่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเดินหน้าขยายพอร์ตธุรกิจผลิตไฟฟ้าได้ตามกลยุทธ์ที่วางไว้ โดยการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ในสหรัฐอเมริกาถือเป็นผลสำเร็จที่ชัดเจน ทั้งหมดนี้ส่งผลให้บริษัทฯ สร้างกระแสเงินสดได้อย่างแข็งแกร่ง สำหรับในปี 2567 นี้ BPP ยังคงพัฒนาและขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าคุณภาพสู่สังคม หรือ Powering Society with Quality Megawatts ผ่าน 3 จุดแข็งในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ 1) ดำเนินงานด้วยคุณภาพระดับสากลจากความเชี่ยวชาญของทีมงานของ BPP เพื่อสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจและปรับตัวกับความท้าทายต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ 2) ผสานพลังร่วมในระบบนิเวศทางธุรกิจที่แข็งแกร่งใน 8 ประเทศยุทธศาสตร์ของ BPP และผนึกกำลังร่วมภายในกลุ่มบ้านปูผ่านการแบ่งปันองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านพลังงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มโอกาสและมูลค่าทางธุรกิจ และ 3) สร้างคุณค่าที่ยั่งยืนแก่สังคมทุกภาคส่วน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการเป็นองค์กรพลเมืองที่ดี ผ่านการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักความยั่งยืน”
ทั้งนี้ BPP ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรภายในผู้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กร และการดำเนินตามแนวทางการวางแผนและพัฒนาผู้สืบทอดตำแหน่งสำคัญ (Succession planning and high potential management) ของกลุ่มบ้านปู โดยคณะกรรมการบริษัทมีมติให้นายอิศรา นิโรภาส ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะมีผลในวันที่ 2 เมษายน 2567 โดยนายกิรณ ลิมปพยอม จะดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (Chief Operation Officer: COO) ของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญในการบริหารจัดการการดำเนินงาน (Operation) ของธุรกิจแหล่งพลังงานและธุรกิจผลิตพลังงานในทุกประเทศ
นายอิศรา นิโรภาส ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สายงานปฏิบัติการธุรกิจไฟฟ้า บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำในการบริหาร BPP ว่า “ผมต้องขอขอบพระคุณคณะกรรมการบริษัทในความไว้วางใจให้ผมรับหน้าที่สำคัญนี้ต่อจากคุณกิรณ จากประสบการณ์การทำงานในสายปฏิบัติการในกลุ่มบ้านปูมาตั้งแต่ปี 2537 และการมีส่วนร่วมในการออกแบบทางวิศวกรรม การพัฒนาธุรกิจ และการจัดการงานด้านปฏิบัติการในโครงการสำคัญต่าง ๆ ผมมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสานต่อภารกิจของ BPP ในการเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และบริหารธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าใน 8 ประเทศ โดยยึดหลัก ESG ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ”
“ปัจจุบัน BPP มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 3,642 เมกะวัตต์ มุ่งสร้างการเติบโตด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจทั้งจากพลังงานความร้อนและพลังงานหมุนเวียน รวมถึงธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานที่ลงทุนผ่านบ้านปู เน็กซ์ บริษัทฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและทีมงานมีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของ BPP โดยมีหลัก ESG เป็นแนวทางในทุกกระบวนการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอแก่ผู้ถือหุ้น และสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม” นายกิรณกล่าวปิดท้าย
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ BPP ได้ที่ www.banpupower.com
บ้านปู เน็กซ์ บริษัทลูกของบ้านปู ผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานสะอาดชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ร่วมกับ SVOLT ผู้ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ประกาศเดินหน้าสายการผลิตของโรงงาน SVOLT Thailand อย่างเป็นทางการ พร้อมส่งมอบแบตเตอรี่สู่ตลาดประเทศไทย เพื่อใช้งานกับรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายรุ่นจาก เกรท วอลล์ มอเตอร์ และ โฮซอน มอเตอร์ นับเป็นก้าวสำคัญสำหรับโรงงานแห่งนี้ที่สามารถผลิตแบตเตอรี่และส่งมอบให้กับลูกค้าในไทยได้ภายในระยะเวลาเพียง 5 เดือน ตอกย้ำความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ในเอเชียแปซิฟิก โดยมีผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ Group Senior Vice President บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) นายสมิทธิพร เศรษฐปราโมทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด และ Mr. Yang Hongxin, Chairman และ CEO บริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี จำกัด (SVOLT) ร่วมเป็นเกียรติในงาน
โรงงาน SVOLT Thailand ได้ก่อสร้างและเปิดทำการอย่างรวดเร็ว นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการขยายธุรกิจของบ้านปู เน็กซ์ และ SVOLT ด้วยความตั้งใจที่จะผลิตและส่งมอบแบตเตอรี่ให้กับลูกค้าในประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น โดยโรงงานแห่งนี้ดำเนินการตามมาตรฐานการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ของบริษัทฯ ทั้งยังนำเทคโนโลยีล้ำสมัยจากประเทศจีนมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม กระบวนการผลิต และอุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่โดยเฉพาะ ผสานหลายเทคโนโลยีอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย AI อาทิ ระบบการตรวจสอบและวิเคราะห์ด้วยดิจิทัล รวมถึงระบบการติดตามและวิเคราะห์คุณภาพอย่างเต็มรูปแบบ สอดรับกับนโยบาย EV 3.5 ของภาครัฐ ทั้งยังมีสายการผลิตที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถสลับการผลิตแบตเตอรี่แต่ละประเภทได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยจะผลิตแบตเตอรี่ให้กับรถยนต์ไฟฟ้าจากเกรท วอลล์ มอเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น ORA, Haval, Tank และรุ่นอื่นๆ รวมถึงรถยนต์พลังงานใหม่จากค่ายโฮซอน มอเตอร์ คาดว่าโรงงาน SVOLT Thailand จะส่งมอบแบตเตอรี่ให้กับลูกค้าในประเทศไทยได้มากกว่า 20,000 ชุดตามความต้องการตลาดในปีนี้
นายสมิทธิพร เศรษฐปราโมทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด กล่าวว่า “บ้านปู เน็กซ์ มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือนี้กับ SVOLT ซึ่งช่วยสะท้อนความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้คาร์บอน (Net-Zero) ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เรามั่นใจว่าการเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของ SVOLT จะรองรับความต้องการแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโตขึ้น รวมถึงเสริมแกร่งศักยภาพการแข่งขันให้กับตลาด EV ทั้งในประเทศไทยและอาเซียน ตอกย้ำวิสัยทัศน์ของบ้านปู เน็กซ์ และ SVOLT ที่ต้องการส่งมอบโซลูชันพลังงานสะอาดคุณภาพสูง ผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศ และบริการที่ตอบสนองเทรนด์และความต้องการของลูกค้า ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมพลังงานในภูมิภาค”
Mr. Yang Hongxin, Chairman และ CEO บริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี จำกัด (SVOLT) กล่าวว่า “การเปิดโรงงาน SVOLT Thailand ตอกย้ำความมุ่งมั่นของบริษัทที่จะสานต่อปรัชญาการทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าในแต่ละประเทศควบคู่ไปกับการเดินหน้ากลยุทธ์ระดับโลกของเรา โดยโรงงานแห่งนี้มีศักยภาพการผลิตและทุนสำรองทางเทคนิคสำหรับผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท เมื่อเปิดทำการ โรงงานแห่งนี้จะเพิ่มขีดความสามารถทางการผลิตเพื่อให้สอดรับกับแผนการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไปยังต่างประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญกับการตอบสนองความต้องการของตลาดและผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพการแข่งขัน ในอนาคต SVOLT จะต่อยอดองค์ความรู้ระดับโลกและอุดมการณ์ระยะยาวเพื่อให้เข้าใจตลาดและความต้องการของลูกค้าในแต่ละประเทศได้อย่างแท้จริง นำไปสู่การส่งมอบบริการและผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศเหล่านั้นให้กับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น”
โรงงาน SVOLT Thailand เป็นส่วนสำคัญในแผนการขยายสู่ตลาดต่างประเทศของ SVOLT โดยเป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง บ้านปู เน็กซ์ กับบริษัทลูกของ SVOLT คือ บริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ SVOLT Thailand เน้นผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า สำหรับรถ 2 ล้อและ 3 ล้อ ระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ และอื่นๆ อีกมากมาย ปัจจุบัน โรงงาน SVOLT Thailand ผลิตแบตเตอรี่ LCTP (Low-Carbon Transition Plan) ซึ่งมาพร้อมเซลล์พลังงาน Short Blade L600 ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ได้แก่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ และ โฮซอน มอเตอร์ รองรับความต้องการแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ขนาดเล็ก (A-Segment) ในตลาดประเทศไทย
บ้านปู เน็กซ์ และ SVOLT เป็น long-term partners ที่มีความมุ่งมั่นและเป้าหมายร่วมกันในการตอบรับเทรนด์พลังงานโลก การเปิดโรงงาน SVOLT Thailand จะช่วยให้ทั้งสองบริษัทได้ผนึกความเชี่ยวชาญและยกระดับเทคโนโลยีล้ำสมัยจากประเทศจีน เพื่อส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางชั้นนำของการลดการปล่อยคาร์บอนในเอเชียแปซิฟิก สะท้อนจุดยืนของทั้งสองบริษัทที่จะส่งมอบบริการและผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่คุณภาพสูงที่เหมาะสมในแต่ละตลาด ตลอดจนส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอีกด้วย
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ แถลงปรับเปลี่ยนตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารตามมติของคณะกรรมการบริษัท ชูความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านผู้นำ (Leadership Transformation) โดยเป็นบริษัทพลังงานที่สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ขึ้นนำทัพขับเคลื่อนการบริหารธุรกิจได้อย่างราบรื่น มีผล 2 เมษายนนี้ พร้อมผลักดันการปรับโครงสร้างการบริหารองค์กรให้กระชับและทันสมัย สอดรับกับวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ สำหรับผลประกอบการปี 2566 ยังคงสร้างกำไรและกระแสเงินสดได้อย่างมีเสถียรภาพจากกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงานและกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน ควบคู่กับการเติบโตต่อเนื่องของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ตอกย้ำการเดินหน้าธุรกิจตามกลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่องและต่อยอดการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืนสำหรับอนาคต
ทั้งนี้ คณะกรรมการได้มีมติแต่งตั้งคุณสินนท์ ว่องกุศลกิจ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะมีผลในวันที่ 2 เมษายน 2567 เป็นต้นไป ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและสรรหา โดยการสรรหาและแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทบ้านปูเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติการกำกับดูแลกิจการที่ดี นอกจากนี้ เพื่อสะท้อนถึงความพร้อมและความเชื่อมั่นของบริษัทฯ ในการเปลี่ยนผ่านผู้นำองค์กร(Leadership Transformation) คณะกรรมการฯ ยังได้กำหนดแนวทางและวางแผนพัฒนาผู้สืบทอดตำแหน่งสำคัญ (Succession Planning and High Performance Management) เพื่อขับเคลื่อนองค์กรในช่วงการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ (Business Transformation ) มาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลประกอบการในปี 2566 กลุ่มบริษัทบ้านปูรายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 160 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5,343 ล้านบาท) โดยรายงานกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 1,562 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 54,361 ล้านบาท) ซึ่งในปีที่ผ่านมา แต่ละกลุ่มธุรกิจมีความคืบหน้าที่สำคัญ ดังนี้
กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ด้านธุรกิจเหมือง คงความสามารถในการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างแข็งแกร่ง สำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าราคาก๊าซจะไม่เอื้ออำนวย แต่บริษัทฯ สามารถปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานและการผลิตให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และบริหารจัดการต้นทุน เพื่อคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าในโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ในสหรัฐอเมริกา ที่เริ่มดำเนินการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เรียบร้อยแล้ว
กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน มีผลการดำเนินงานที่ดีจากการรักษาประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง โดยโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และ Temple II ในสหรัฐฯ รายงานผลการดำเนินงานที่ดีจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้อานิสงส์จากราคารับซื้อไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงวิกฤตคลื่นความร้อนในรัฐเท็กซัส ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ในประเทศลาว โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในประเทศไทย และโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Lu Guang: SLG) ในประเทศจีน สามารถเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) ในระดับสูง ด้านธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มีกำลังผลิตรวมจากพลังงานหมุนเวียน 870 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในทุกประเทศต่างมีผลการดำเนินงานที่ดีจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและค่าความเข้มของแสงที่สูง
กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน มีการเติบโตต่อเนื่องของโซลูชันพลังงานฉลาดแบบครบวงจร ผ่านการขยายฐานลูกค้าและการลงทุนสู่พันธมิตรใหม่ ๆ ในธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage System Solutions: BESS) เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจแบตเตอรี่ที่แข็งแกร่ง อาทิ การลงทุนในโครงการฟาร์มแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ กำลังกักเก็บพลังงานไฟฟ้า 58 เมกะวัตต์ ที่เมืองโตโนะ (Tono) จังหวัดอิวาเตะ (Iwate) ในประเทศญี่ปุ่น และการลงทุนในบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อร่วมกันพัฒนา ผลิต และจัดจำหน่ายแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยานยนต์ 2 ล้อ และ 3 ล้อ รวมไปถึงระบบกักเก็บพลังงาน การรีไซเคิลแบตเตอรี่ และบริการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในจังหวัดชลบุรี กำลังผลิตราว 2 กิกะวัตต์ชั่วโมง ขณะที่ธุรกิจพัฒนาเมืองอัจฉริยะและจัดการพลังงาน (Smart Cities & Energy Management) มีความคืบหน้าสำคัญ โดยบริษัท บีเอ็นเอสพี สมาร์ท เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บ้านปู เน็กซ์ กับเอสพี กรุ๊ป ผู้ให้บริการระบบสาธารณูปโภคด้านพลังงานแห่งชาติในสิงคโปร์และเอเชีย-แปซิฟิก ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการออกแบบ พัฒนา และบริหารจัดการระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลาง (District Cooling System) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนซี นอกจากนี้ ธุรกิจอี-โมบิลิตี้ (E-Mobility) ยังขยายการให้บริการระบบสัญจรทางเลือกแบบครบวงจรในรูปแบบ Mobility as a Service (MaaS) และการบริหารการเดินทางและขนส่งด้วยยานพาหนะไฟฟ้า(EV Fleet Management) เพื่อส่งเสริมการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีจุดบริการไรด์ แชร์ริ่ง 2,500 จุด, คาร์แชร์ริ่งกว่า 1,500 จุด, สถานีชาร์จกว่า 300 สถานีและจุดบริการหลังการขายรถยนต์ไฟฟ้า 20 แห่ง
“สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2567 บริษัทฯ จะเดินหน้าเสริมสร้างความแข็งแกร่งของทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ต่อยอดประโยชน์สูงสุดจาก Banpu Ecosystem เพื่อทำให้บ้านปูเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานที่สามารถส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืนและตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานของโลกในอนาคต ดิฉันเชื่อมั่นว่าการนำทัพของผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีความสามารถและความมุ่งมั่นเต็มเปี่ยม พร้อมการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากคณะผู้บริหารของกลุ่มบ้านปูทั้งหน่วยธุรกิจและหน่วยสนับสนุน จะสามารถนำบ้านปูไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างแน่นอน” นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวปิดท้าย
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.banpu.com และ https://www.facebook.com/Banpuofficialth
*หมายเหตุ: คำนวณโดยอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยปี 2566 ที่ USD 1: THB 34.8022