พร้อมกำหนดแนวทางและวางเป้าหมายการส่งเสริมผู้ประกอบการด้วยกลยุทธ์พัฒนา SMEs 4.0 ด้วยมาตรการใหญ่ 3 ด้าน คือ 1. มาตรการยกระดับศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs ในระดับท้องถิ่นให้มีความครอบคลุมในระบบบริการด้านที่ปรึกษาธุรกิจ ระบบเทคโนโลยี และเครื่องมือส่งเสริมที่มีความทันสมัย 2. มาตรการการผลักดัน SMEs ที่มีศักยภาพตามแต่ละพื้นที่ด้วยแนวทางประชารัฐ 3. มาตรการการเชื่อมโยง SMEs ไทยสู่ระดับสากล ทั้งประเทศในระดับคู่ค้าร่วมทุน ลงทุน ประเทศร่วมพัฒนา อาทิ ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ และฮ่องกง โดยจะอาศัยแนวทางการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curve การเชื่อมโยงระบบการผลิตไร้แรงงานมนุษย์ การเชื่อมโยงเส้นทางสายไหม และการจัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เป็นต้น
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ทางด้านการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้ปรับแนวทางการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง 2560 ต่อเนื่องถึงปีงบประมาณ2561 ซึ่งทางกรมฯ ได้กำหนดนโยบายและวางเป้าหมายการดำเนินงานที่จะเดินหน้าผลักดันความสำเร็จให้กับผู้ประกอบการด้วยกลยุทธ์การพัฒนา SMEs 4.0 โดยวางมาตรการใหญ่ไว้ 3 เรื่อง ได้แก่
- มาตรการยกระดับศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs ที่จะขยายการให้บริการครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศอย่างทั่วถึง โดยการยกระดับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขึ้นเป็นเครือข่ายศูนย์สนับสนุน และช่วยเหลือ SMEs ประจำจังหวัด ซึ่งรูปแบบและโครงสร้างจะเหมือนกับศูนย์ SME Support & Rescue Center ที่ขณะนี้ได้ดำเนินการครบแล้วในทุกจังหวัด นอกจากนี้ ยังจะยกระดับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้ง 11 แห่ง ทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก พิจิตร อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี สุพรรณบุรี ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา เพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพ SMEs ด้วยระบบนิเวศรูปแบบใหม่หรือ Ecosystem ให้ครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่
- การขับเคลื่อนผลงานนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ด้วยการส่งเสริมระบบดิจิทัล และเครื่องมือทันสมัยสำหรับการต่อยอดผลิตภัณฑ์ เช่น 3D Printer ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ เพื่อให้ SMEs ในพื้นที่ทั่วประเทศได้มาทดลองเรียนรู้
- ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยมีนักออกแบบที่คอยให้บริการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พร้อมด้วยการเชื่อมโยงผู้ประกอบการ และเครือข่ายที่เป็นหน่วยงานหลักด้านการออกแบบให้สามารถแชร์ไอเดียและดำเนินธุรกิจร่วมกัน
- การเติมองค์ความรู้ในการเพิ่มผลิตภาพและมาตรฐาน การพัฒนาระบบบริหารจัดการ การบัญชีและการเงิน ให้ก้าวสู่ SMART SMEs ในลักษณะของ SME Academy โดยเฉพาะการใช้ระบบดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น E-Commerce ระบบApplication หรือการเรียนรู้บทเรียนต่างๆ ผ่านแพลทฟอร์มเว็บไซต์เพื่อก้าวสู่โลกการค้าสมัยใหม่
- การจัดที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลทางอุตสาหกรรมประจำศูนย์เพื่อให้คำแนะนำเบื้องต้น จนถึงเชิงลึก อาทิ การบริหารจัดการ โอกาสด้านการลงทุน โอกาสทางธุรกิจ ซึ่งจะเริ่มเปิดตัว การให้บริการรูปแบบใหม่ผ่านกิจกรรม Open House ราวในเดือนกันยายนนี้ที่จังหวัดชลบุรีเป็นที่แรก และจะดำเนินการให้ครบทั้ง 11 แห่งภายในปีนี้
- มาตรการการผลักดัน SMEs ที่มีศักยภาพตามแต่ละพื้นที่ ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ โดยบูรณาการแนวทางร่วมกันระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับกระทรวงมหาดไทย เบื้องต้นได้เสนอนายกรัฐมนตรีให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน สำหรับภารกิจสำคัญก็คือกำหนดแนวทางการพัฒนา SMEs ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความต้องการและศักยภาพของจังหวัด และคณะกรรมการชุดนี้จะมีองค์ประกอบของหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในจังหวัดทุกภาคส่วน มาร่วมกันส่งเสริมพัฒนาพร้อมผลักดัน SMEs ที่มีศักยภาพให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
- มาตรการเชื่อมโยง SMEs ไทยให้ก้าวสู่ระดับสากลมากขึ้น โดยจะอาศัยความร่วมมือกับต่างประเทศในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในระดับคู่ค้า ร่วมทุน ลงทุน ส่งออก หรือการร่วมมือพัฒนา ซึ่งที่ผ่านมาทางกระทรวงฯ ได้พยายามสร้างความสัมพันธ์กับประเทศที่เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน การพัฒนาให้เกิดผลเป็นรูปธรรมทุก ๆ ปี อาทิ
- ญี่ปุ่นได้มีการลงนาม MOU ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมของไทยกับกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น เพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อออกสู่ตลาดโลกไปด้วยกัน ครอบคลุมความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curve การพัฒนาพื้นที่ EEC รวมถึงการพัฒนาบุคลากรทุกระดับ รวมไปถึงSMEs ของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น อุตสาหกรรมอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ ชิ้นส่วนอากาศยาน และอุตสาหกรรมอาหาร ให้สามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตและเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้
- เกาหลีใต้ ได้มีการลงนาม MOU กับ SMBA หรือกระทรวงส่งเสริม SMEs ของเกาหลีใต้ในการจัดตั้ง Thai – Korea TechnologyCenter (TKTEC) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนหรือถ่ายทอดเทคโนโลยีรวมทั้งนวัตกรรมที่โดดเด่นของเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการผลิต พร้อมด้วยการส่งเสริมสตาร์ทอัพในด้านระบบนิเวศและ กองทุน การพัฒนา ด้านไมโครเอสเอ็มอี รวมถึงการขยายธุรกิจต้นแบบที่โดดเด่นของเกาหลีมายังประเทศไทย เป็นต้น
- ฮ่องกง ได้มีการลงนาม MOU กับ HKTDC หรือสภาพัฒนาการค้าแห่งฮ่องกง โดยฮ่องกงถือเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของจีนในฐานะ"ตัวเชื่อม"ระหว่างจีนกับเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับSMEs ไทยในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกับจีนและตลาดโลกผ่านช่องทางดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบาย "One Belt-One Road" ที่มีความได้เปรียบที่สุดบนแถบยูเรเชีย เพื่อสร้างความมั่งคั่งได้ต่อไป
- เยอรมนี ซึ่งกำลังจัดตั้งคณะทำงานประชารัฐไทย-เยอรมัน เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 โดยเยอรมนีเป็นต้นคิดและต้นแบบของโลกและไทยในเรื่อง Industry 4.0 จึงสามารถที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ความก้าวหน้าในการนำเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศ (ICT) ไปใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งจุดเด่นที่สำคัญ คือ สามารถสร้างเครือข่ายเชื่อมต่อความต้องการผู้บริโภคกับผู้ผลิตเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการแบบอัตโนมัติ (Automation) ผลิตสิ่งของหลากหลายรูปแบบได้ในเวลาเดียวกัน แทนการผลิตครั้งละจำนวนมากๆ ดังเช่นในปัจจุบัน และสามารถทำได้ทุกแห่งในโลกผ่านระบบอินเตอร์เน็ตซึ่งสามารถขับเคลื่อนได้แม้ไม่มีผู้ควบคุม