November 22, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 813

“เอ็นอีซีเลิร์นนิ่ง” 6 บทเรียนออนไลน์ เพื่อ SMEs ไทย คาดมีผู้ใช้งานแตะห้าหมื่นรายต่อปี

August 10, 2017 2633

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จับมือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โชว์ผลสำเร็จ 6 บทเรียนจากแพลตฟอร์มการเรียนรู้ธุรกิจออนไลน์ www.NEClearning.com อาทิ การสร้างแนวคิดทางธุรกิจ กลยุทธ์ด้าน Digital Marketing ฯลฯ ที่กำลังประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยหลังจากเปิดให้บริการเพียง 90 วัน มีผู้ลงทะเบียนและเข้ามาเรียนรู้ผ่านบทเรียนต่าง ๆ สูงถึง 11,000 คน ทั้งนี้ในอนาคต กสอ. ยังจะพัฒนาบทเรียนให้มีความครอบคลุมและดึงดูดให้ผู้ประกอบการเข้าถึงช่องทางดังกล่าวได้อย่างคล่องตัว โดยคาดว่าระบบดังกล่าวจะมีผู้ประกอบการใช้งานไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นรายต่อปี

อย่างไรก็ดี เมื่อเร็ว ๆ นี้ กสอ. ยังได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการอบรมเรียนรู้ความเป็นผู้ประกอบการใหม่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ NEClearning.com ณ ห้องชฎาบอลลูม ชั้น 2 โรงแรมสยามเคมปินสกี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ    

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ด้วยนโยบายการผลักดันผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมให้สอดรับกับเศรษฐกิจดิจิทัล กสอ. ได้มุ่งเน้นพัฒนากระบวนการการทำงานให้เป็นไปอย่างชาญฉลาด (SMART) ด้วยการผสมผสานและบูรณาการองค์ประกอบที่สำคัญให้เกิดพร้อมกันทั้ง 3 ส่วน เริ่มตั้งแต่

  1. การปรับแนวคิดของทรัพยากรมนุษย์ โดยมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการมีความรู้และทักษะในการคิดค้นหรือพยายามนำสิ่งใหม่ ๆ ที่ทันสมัยมาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน
  2. การประยุกต์กระบวนการผลิต โดยสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเครื่องจักร ระบบอัตโนมัติ ระบบคอนโทรลให้กับผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดมาตรฐานและคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น และ
  3. การเปลี่ยนแปลงสินค้าและผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งผลักดันการใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อให้สินค้าเกิดมูลค่าที่สูงขึ้น พร้อมต่อยอดผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมขั้นสูงให้เข้าสู่การเป็นผลิตภัณฑ์อัจฉริยะเพื่อตอบสนองกระแสการใช้ชีวิตสมัยใหม่ของผู้บริโภค

ดร.พสุ กล่าวต่อว่า กสอ. ได้ร่วมมือกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาช่องทางการเรียนรู้ผ่านระบบอีเลิร์นนิ่ง (E-Learning) บนเว็บไซต์ www.NEClearning.com เผยแพร่ในแบบ Edutainment ประกอบด้วย 6 บทเรียน คือ 1. การสร้างแนวคิดทางธุรกิจ 2. Digital Marketing 3. การออกแบบและพัฒนาร้านค้าออนไลน์ 4. การประมาณเงินลงทุนธุรกิจและวางแผนบริหารทางการเงิน 5. การเขียนและจำลองแผนธุรกิจ และ 6.กฎหมายสำหรับผู้ประกอบการให้กับผู้ที่ตั้งใจจะปรับโมเดลและพัฒนาธุรกิจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งตั้งแต่เริ่มเปิดโครงการเมื่อวันที่ 1 พ.ค. – 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากในระยะเวลาเพียงแค่ 90 วัน มีผู้ลงทะเบียนและเข้ามาเรียนรู้ผ่านบทเรียนต่าง ๆ สูงถึง 11,000 คน เกินกว่าความคาดหมายที่ทางโครงการตั้งเอาไว้อย่างมาก และคาดว่าระบบดังกล่าวจะมีผู้ใช้งานต่อปี ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นรายต่อปี  ซึ่งถือเป็นการพลิกโฉมบริการของ กสอ. ในเรื่องการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการที่ได้พัฒนาองค์ความรู้ด้วยสื่อความรู้ที่ทันสมัย

อย่างไรก็ดี การนำระบบอีเลิร์นนิ่งเข้ามาให้บริการแก่ผู้ประกอบการในครั้งถัดไป กสอ. จะพัฒนาบทเรียนให้มีความครอบคลุม พร้อมทั้งพัฒนาระบบการจัดการหลักสูตรฝึกอบรมการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้มากขึ้นและให้ผู้ที่สนใจจะเริ่มต้นธุรกิจทั่วประเทศได้เข้าถึงเว็บไซต์นี้ได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัว นอกจากนี้ยังตั้งเป้าขยายการให้บริการผ่านออนไลน์ในทุกรูปแบบให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในทุกประเภท ซึ่งเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าบริการที่ดีเหล่านี้จะช่วยดึงดูดผู้ประกอบการให้ตื่นตัวกับการใช้ดิจิทัลในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น  

นอกจากนี้ กสอ.ยังได้มีบริการออนไลน์ใน 2 รูปแบบ คือ 1.การพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ประกอบการผ่านสมาร์ทโฟนและระบบอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ ได้แก่ แอปพลิเคชัน DIP Business Plan Money Flow, Stock Flow, Billing Flow และDIP Business Evaluation มาช่วยลดปัญหาพื้นฐานความยุ่งยากและซับซ้อนด้านระบบการทำบัญชีและการเงินและช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีความรวดเร็วมากขึ้น และ 2.การพัฒนาบริการต่างๆผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.bsc.dip.go.th, www.e-consult.dip.go.th, www.id-society.com เพื่อให้ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปได้เข้าถึงการขอคำปรึกษา แก้ปัญหา การออกแบบและพัฒนาสินค้า ข้อมูลข่าวสาร การร้องเรียน โครงการ/กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในระบบออนไลน์ ซึ่งมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการพบที่ปรึกษาหรือการร่วมกิจกรรมต่าง ๆ โดยตรง ดร.พสุ กล่าวปิดท้าย

ด้าน รศ.ดร.ใจทิพย์ ณ สงขลา หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าการก้าวหน้าของเทคโนโลยีมีส่วนช่วยในการศึกษาให้มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง “อีเลิร์นนิ่ง” คือคำตอบหนึ่งที่ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมาเรียนอยู่ในห้องเรียนตามปกติไม่จำเป็นต้องเรียนพร้อมกัน ในเวลาเดียวกัน แต่สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาที่มีความสะดวก ดังนั้นจึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียนหรือการศึกษาปกติ

สำหรับ NEClearning.com ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) พัฒนาขึ้นนี้เชื่อมั่นอย่างมากว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับความรู้ได้อย่างรวดเร็ว  เกิดความสะดวกสบายในการเข้าถึงการเรียนรู้ พร้อมทั้งช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะด้านการสร้างนวัตกรรมเพื่อต่อยอดธุรกิจ ต่อเนื่องถึงการเป็นผู้ผลิตที่สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าต่าง ๆ เพื่อตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างดีเยี่ยม

 

Last modified on Thursday, 10 August 2017 16:31
X

Right Click

No right click