November 21, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6855

“โคก หนอง นา พช.” นครพนม

May 10, 2021 1804

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม มุ่งมั่นขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.”

 โดยการนำของ นายสุรพล แก้วอินธิ พัฒนาการจังหวัดนครพนม ทีมพัฒนาชุมชนทั้ง 12 อำเภอ พร้อมด้วยภาคีการพัฒนาทั้งภาคส่วนราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันผลักดันการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตจังหวัดนครพนม ในพื้นที่เป้าหมาย 8 อำเภอ 40 ตำบล 81 ครัวเรือน ตั้งแต่กระบวนการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ การฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง ในรูปแบบ โคก หนอง นา พช. การประชุมวางแผนการดำเนินงานร่วมกับทีมช่างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่และคณะทำงานออกแบบผังครัวเรือนฯ โดยมีท่านโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครพนม พร้อมทีมงานในฐานะภาคีการพัฒนา ร่วมสนับสนุนความรู้และเทคนิคการดำเนินการขุดปรับพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสร้างทีมนิเทศ ในการสนับสนุน ร่วมแก้ไขปัญหา อุปสรรค ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการขุดปรับพื้นที่เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามรูปแบบที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด สอดคล้องกับความต้องการและภูมิสังคมครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตมากที่สุด

ความก้าวหน้าล่าสุดของการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จังหวัดนครพนม มีการขุดปรับพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบแล้ว จำนวน 21 ครัวเรือน อยู่ระหว่างการขุดปรับพื้นที่จำนวน 60 ครัวเรือน ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถขุดปรับพื้นที่ครัวเรือนทั้งหมดได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2564 และจะได้ดำเนินการในส่วนกิจกรรมที่ 4 กระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ผ่านกิจกรรมการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) ระดับครัวเรือน “เอามื้อสามัคคี” ในการปลูกป่า 5 ระดับ การห่มดิน การทำปุ๋ยหมัก(แห้งชาม น้ำชาม) ฯลฯ เพื่อนำไปสู่การเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มีความสุขอย่างยั่งยืนตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

นายสุรพล แก้วอินธิ กล่าวว่า นับเป็นโชคดีของประชาชนคนไทยในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักทฤษฎีใหม่แก่พสกนิกรของพระองค์ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตของคนไทยทุกอาชีพ และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิของคุณพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และนำหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ "โคก หนอง นา พช." เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น พึ่งพาตนเองได้และมีความสุขอย่างยั่งยืน

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยการพัฒนาคนให้พึ่งตนเอง มีความเป็นเจ้าของและบริหารจัดการโดยชุมชน พัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชนให้มีวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นสังคม “อยู่เย็น เป็นสุข”โดยร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ ทั้ง 7 ภาคี และจังหวัดนครพนม โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม ร่วมกับสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครพนมโครงการชลประทานนครพนม สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนครพนม สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครพนม สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดนครพนม ฯลฯ ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอน ตามกลไกการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาเพื่อการปฏิรูปประเทศ โดยใช้หมู่บ้านเป็นฐานของการพัฒนา มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกครัวเรือน และพัฒนาคนให้มีความรู้และปรับตัวให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข มีอาชีพ สร้างรายได้ ท่ามกลางวิกฤตโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการจัดทำโครงการที่ประยุกต์การใช้ศาสตร์พระราชาและน้อมนำเอาแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 40 ทฤษฎี ที่ทรงพระราชทานไว้ให้ในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์กับแนวคิดการพัฒนาพื้นที่และการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยเพื่อการพึ่งตนเองและรองรับภัยพิบัติ ในรูปแบบ “โคก หนอง นา พช.” โดยเฉพาะเพื่อบรรเทาผลกระทบอันเกิดจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารรวมทั้งแก้ไขปัญหาคนว่างงานโครงการดังกล่าวฯ นอกจากจะช่วยสร้างและกระจายรายได้ให้แก่ชุมชนแล้ว ยังสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อมให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ มีไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้น ลดปัญหาภัยแล้ง เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำฝน จากการน้อมนำแนวทางของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จากการพัฒนาฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า วิถีวัฒนธรรมของตนเองฟื้นฟูทุนเดิมที่มีอยู่ ให้นำกลับมาใช้ใหม่ ผ่านกลไกการสร้างความสามัคคีโดยการใช้จิตอาสาพัฒนาชุมชน การสร้างคน การพัฒนาคน และสร้างพื้นที่การเรียนรู้ระดับตำบล ระดับพื้นที่ต้นแบบฯ เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคนตลอดชีวิตทุกช่วงวัยก่อให้เกิดผลดีต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน เป็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

Last modified on Saturday, 09 October 2021 17:37
X

Right Click

No right click