นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากมาอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง กระทรวงฯ จึงเร่งพัฒนาส่งเสริมธุรกิจและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น"
“ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ SMEs และผลิตภัณฑ์ของเครือข่ายสมาชิก MOC Biz Club ที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก และถูกจำกัดด้วยกลไกทางการตลาดและช่องทางการจำหน่ายที่ไม่สามารถนำสินค้าเข้าสู่ตลาดได้อย่างถาวร ดังนั้นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ SMEs และผลิตภัณฑ์ของเครือข่ายสมาชิก MOC Biz Club เข้ามาทดแทนในตลาดออฟไลน์และออนไลน์จะช่วยลดอุปสรรคด้านการตลาดลงส่วนหนึ่ง
รวมทั้งเป็นแหล่งกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการใช้ช่องทางการตลาดออฟไลน์และออนไลน์ควบคู่กันจะสามารถเกื้อกูลกันได้เป็นอย่างดี โดยนำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นแต่ละแห่งเข้ามาจำหน่ายในช่องทางที่หลากหลาย ซึ่งจะสามารถสร้างความน่าสนใจแก่ร้านค้ามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถสร้างความแตกต่างในการจำหน่ายสินค้าซึ่งสามารถช่วยเพิ่มยอดขายที่จะส่งผลถึงการประกอบการให้เพิ่มสูงขึ้น"
ทั้งนี้ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินโครงการพัฒนาร้านค้าต้นแบบผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้น ภายใต้แนวคิด “Retransform : Transform Local Retail Experience" กิจกรรม “พลิก เปลี่ยน พร้อม สร้าง" คือ พลิกธุรกิจให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างครบวงจร เปลี่ยนมาตรฐานธุรกิจให้เทียบเท่าระดับสากล โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดแก่ร้านค้าและชุมชนของตนเอง และ พร้อมเดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นคงและเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ท้องถิ่นและชุมชน"
“เบื้องต้นจะได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการในกลุ่มเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ที่มีศักยภาพและอยู่ในการส่งเสริมของกระทรวงฯ เข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าว ประมาณ 50 ราย โดยจะเน้นการสร้างประสบการณ์แก่ร้านค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว มีการบริหารจัดการธุรกิจและสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดที่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน รวมถึงการสร้างระบบนิเวศน์ธุรกิจให้เกิดขึ้นระหว่างร้านค้าในท้องถิ่น ผู้บริโภคและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสทางการตลาด เกิดการเชื่อมโยง และสร้างเครือข่ายภายในระบบธุรกิจร่วมกัน"
โดยกิจกรรมของโครงการฯ ที่สำคัญประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
1) การสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการได้รับการคัดเลือก พร้อมศึกษาดูงานธุรกิจต้นแบบที่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี เพื่อสร้างแนวคิดการออกแบบ การจัดเรียงสินค้า ฯลฯ เป็นต้น
2) ดำเนินการพัฒนาร้านค้าต้นแบบผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น หรือ MOC Biz Shop โดยให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกเกี่ยวกับการออกแบบให้ร้านค้าเกิดอัตลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัวเพื่อดึงดูดลูกค้าและนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมและซื้อสินค้าภายในร้าน รวมถึงการสร้างโอกาสทางการตลาดและขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และ
3) การเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างร้านค้าต้นแบบผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นกับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ได้แก่ SMEs OTOP ผู้ประกอบการเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก รวมทั้งผู้ผลิต ผู้แทนจำหน่าย และผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อคัดเลือกสินค้าจากผู้ประกอบการดังกล่าว เข้าจำหน่ายในร้านค้าต้นแบบผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น หรือ MOC Biz Shop เพื่อสร้างความหลากหลายของสินค้า และสร้างความแตกต่างของสินค้าภายในร้าน"
รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้ายว่า “กระทรวงฯ พร้อมผลักดันให้ร้านค้าต้นแบบผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น หรือ MOC Biz Shop เป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าท้องถิ่นประจำภูมิภาคและจังหวัด และเป็นช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากทั่วประเทศที่สำคัญ โดยกระทรวงฯ จะมีการจัดตั้งร้านค้าต้นแบบฯ ให้ได้ครบทั้ง 4 ภูมิภาค และคาดว่าเฟสแรกนี้ จะสามารถดำเนินการเปิดร้านค้าต้นแบบฯ ได้ไม่น้อยกว่า 10 จังหวัด มูลค่าการซื้อขายไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทต่อปี และจะดำเนินการขยายร้านค้าต้นแบบฯ ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต"