January 22, 2025

กรมพัฒน์ฯ จับมือ 8 Startup ดัน SME ด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล ภายใต้แคมเปญ “DBD Service x Martech Startup”

August 20, 2022 1921

 

 

ปัจจุบัน MarTech (Marketing Technology) ได้ถูกนำมาใช้กับการทำการตลาดอย่างแพร่หลาย เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่ได้ดี ตลอดจนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในกระบวนการด้านการตลาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การวางแผนการทำการตลาด การทำแคมเปญการตลาด การนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ การบริหารการขาย รวมถึงการเก็บข้อมูลและวัดผลต่างๆ ด้านการตลาดให้ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อสร้างสรรค์การให้บริการลูกค้าได้ครอบคลุมและเชื่อมต่อในแต่ละช่องทาง

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สำหรับผู้ประกอบการ SME จึงได้จัดโครงการ “ขยายตลาดธุรกิจ Startup ยกระดับศักยภาพ SME” ภายใต้แคมเปญ “DBD Service x Martech Startup” และประกาศความสำเร็จโครงการพลิกฟื้น SME ด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล พร้อมขอบคุณในความร่วมมือจาก 8 สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการตลาด (MarTech : Marketing Technology) ที่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs       จนสามารถสร้างยอดขายมากกว่า 34 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 จากยอดขายเดิม

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการแถลงความสำเร็จโครงการ DBD SERVICE X MARTECH STARTUP ว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างธุรกิจ Startup ที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยส่งเสริมด้านการตลาดแก่ผู้ประกอบการ SME ซึ่งเป็นการช่วยสร้างโอกาสการเติบโตของธุรกิจ Startup และพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดของ SME ด้วยระบบบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าและระบบบริหารการขายอัตโนมัติ เพื่อเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ธุรกิจของไทย โดยมีผู้ประกอบการ SME จากทั่วประเทศสนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 400 ราย ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจทุกประเภท โดยมีธุรกิจจำนวน 253 ราย อาทิ ผู้ประกอบการโรงงานผลิต ผู้จัดจำหน่าย ธุรกิจนำเข้า ธุรกิจแฟรนไชส์ e-Commerce อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ความงาม สุขภาพ เสื้อผ้าและเครื่องประดับ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ชุมชนและอื่นๆ ที่ได้รับการคัดเลือกให้ทดลองใช้ระบบเครื่องมือส่งเสริมการตลาดออนไลน์จากสตาร์ทอัพชั้นนำของไทย เป็นระยะเวลา 90 วัน ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง สามารถสร้างยอดขายมูลค่ารวม 34,188,821 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากยอดขายรวมก่อนใช้ระบบถึง  ร้อยละ 61 ผู้ประกอบการ SME แต่ละรายเพิ่มยอดขายร้อยละ 10 - 30 ช่วยลดระยะเวลาปิดการขาย เฉลี่ยร้อยละ 50 และช่วยปิดการขายต่อเดือนเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15 ของจำนวนปิดการขายเดิม รวมทั้งสามารถต่อยอด ใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่างๆ นำไปสู่การวางแผน ลดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งของร้านค้าต่อไป

ภายในงานแถลงข่าวสำเร็จของโครงการ มีการเสวนาหัวข้อ “การยกระดับศักยภาพ SME ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” จากเหล่า Start up ผู้เชี่ยวชาญ ที่เข้าร่วมโครงการ และได้มีข้อเสนอแนะและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อ SME ในหลากหลายมุมมอง

นายปฐมรัตน์ ศิริทรัพย์ Co –Founder & Partnership Development จาก Deeple ระบบช่วยขายผ่านแชท 24 ชม. สะดวกครบจบทุกขั้นตอนการขาย ให้ความเห็นว่าการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามานั้นจำเป็นอย่างยิ่งจะช่วยให้ SME พัฒนาร้านค้าได้รวดเร็วขึ้น ช่วยทำให้ยอดขายเติบโต  ช่วยปิดการขายได้และผู้ประกอบการจะได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นจากการใช้ระบบเทคโนโลยีในการทำธุรกิจ

ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย CEO & Founder  Bot Noi Group กล่าวว่า อยากให้ผู้ประกอบการเปิดใจมากขึ้น เพราะการใช้ระบบช่วยในการทำการค้าขายมีความจำเป็นจริงๆ เนื่องจากการอยู่ในตลาดปัจจุบันต้องแข่งขันกับเจ้าใหญ่ที่มีกำลังการลงทุนในสเกลที่ใหญ่ แต่สำหรับ SME เป็นธุรกิจเล็กๆ จึงต้องมีความกล้า และต้องสร้างเครื่องมือเพื่อให้เป็นอาวุธในการแข่งขันเพื่อให้อยู่รอด ซึ่ง Bot Noi ช่วยตอบโจทย์ได้ดี เนื่องจากเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นมารองรับการแก้ปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน เช่น Call Center ซึ่งระบบ AI ช่วยได้ 24 ชม. ซึ่งสามารถช่วยให้ SME เอาเวลาในการตอบแชทไปใช้ในการขยายตลาด และสามารถพัฒนาธุรกิจเพื่อให้แข่งขันได้

นายธรรมรัตน์ จาวะลา Chief Operating Officer บริษัท ทัช คอร์ จำกัด ผู้พัฒนาระบบ One Chat เป็นระบบแชทบอทที่ช่วยให้การทำธุรกิจออนไลน์เป็นเรื่องง่าย ช่วยปิดการขายได้มากขึ้น ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของระบบ    แซทบอท ว่า  “ระบบไม่มีอารมณ์”  สามารถช่วยตอบคำถามและแก้ไขปัญหาได้ในเบื้องต้นตลอด 24 ชม.  เป็นตัวช่วยผู้ประกอบการได้อย่างดีเยี่ยม  โดยอยากให้ผู้ประกอบการ SME ปรับตัว เปิดใจ และทดลองใช้ระบบเพื่อช่วยให้  SME ทำงานได้ง่ายขึ้นเร็วขึ้นและประหยัดเวลา และที่สำคัญราคาไม่ได้แพงอย่างที่หลายคนคิด

นางสาว ชญานิษฐ์ โพธิครูประเสริฐ Managing Director ของ Shipnity ผู้พัฒนาระบบการจัดการออนไลน์ การเชื่อมระบบขนส่ง การสั่งซื้อ สต็อค และบริหารจัดการออนไลน์ทั้งระบบ กล่าวเสริมว่า Shipnity เป็นระบบหลังร้านที่จะช่วยลดเวลาการทำงานของผู้ประกอบการได้อย่างดี ช่วยลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากแรงงาน Human Error  ซึ่งผู้ประกอบการ SME สามารถเอาเวลาไปบริหารจัดการด้านอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น  และอยากให้ลดความกังวลใจในเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะระบบที่เราทำขึ้น มีหลากหลายประเภทที่ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้ได้ตามความจำเป็น

ด้าน  นายชนกานต์ ชินชัชวาล CEO &Co-Founder บริษัท โรโบลิงโก้ จำกัด   ผู้พัฒนา Zwiz.ai ให้ความเห็นว่า เราตอบโจทย์ paint point ของผู้ประกอบการ โดยการใช้ระบบเพื่อช่วยเพิ่มยอดขาย และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ซึ่ง SME สามารถใช้ระบบแชทปิดการขายได้ โดยอยากให้ผู้ประกอบการเปิดใจและศึกษาข้อมูล พร้อมทดลองใช้ระบบแชทให้เป็นประโยชน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขาย

โดยสรุปคำแนะนำจาก Start Up  สำหรับ SME คือ ต้องปรับตัว เปิดใจ ให้เวลากับการศึกษาข้อมูล และทดลองใช้ เพื่อหาโอกาสในการพัฒนาและขยายตลาด ให้สามารถเติบโตแข่งขันได้ในระยะยาว อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ นายณัฐเศรษฐ์ ไตรทิพย์เจริญชัย CEO & Founder Jenosize Co.,Ltd ได้มาเผยเคล็ดลับ เทคนิคในการทำ Social Commerce ให้ประสบความสำเร็จ  ในหัวข้อ “กลยุทธ์สุดปัง เพิ่มพลังธุรกิจออนไลน์” โดยสรุปคือ ผู้ประกอบการควรจะต้องเปิดร้านออนไลน์ทุกวัน คุยกับลูกค้าบ่อยๆ เพื่อให้รู้ว่าลูกค้าชอบอะไร และเปลี่ยนจากการรอรับลูกค้ามาเป็นการขยันนำเสนอสินค้าบริการ เพราะทุกๆวัน จะมีคนเข้าออนไลน์กว่า 40 ล้านคน เราจะทำอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายเหล่านั้น เข้ามาเยี่ยมร้านเรา   และสุดท้ายคือต้องเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการพัฒนาตัวตนและภาพลักษณ์ให้เป็นที่จดจำและดีขึ้นเรื่อยๆ รักษาฐานลูกค้า เพิ่มจำนวนลูกค้าประจำอย่างต่อเนื่อง  ที่สำคัญคือ ต้องมี “วินัย”  ณัฐเศรษฐ์ ให้คำแนะนำไว้อย่างน่าสนใจ

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอจากพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ทำให้ความต้องการในการเข้าถึงข้อมูลของธุรกิจในยุค Data Driven เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องตัดสินใจเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดเก็บข้อมูล และวางแผนการตลาดรูปแบบใหม่ เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่แท้จริงของลูกค้าได้ 

ผู้สนใจสามารถติดตามหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์หมายเลข : 0 2547 5962 สายด่วน 1570 www.dbd.go.th

X

Right Click

No right click