November 08, 2024

น้ำพริกจิ้งหรีดบ้านฉัน: คำสารภาพจากผู้ก้าวพลาดกับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยน้ำพริกออนไลน์สู่โรงเพาะจิ้งหรีดเตรียมส่งออก

August 25, 2022 1477

“บ้าน” สำหรับใครหลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงที่อยู่อาศัย เอาไว้คลุมหัวยามฝนตก ลมพัด แต่คำว่า “บ้าน” นี้อีกเช่นเดียวกัน สำหรับอีกหลายๆ คน กลับไม่เคยได้สัมผัสกับความหมายของบ้านที่แท้จริง ความอบอุ่น ความเป็นครอบครัว จนกระทั่งเติบใหญ่มากว่าครึ่งชีวิต

เช่นเดียวกับ เอนก แก้วผา หรือ เป็ด อายุ 42 ปี เจ้าของน้ำพริกจิ้งหรีดบ้านฉัน เล่าว่าเขาเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด อาศัยอยู่ที่ชุมชนบางพลัดในกับครอบครัว เขารู้จักกับคำว่ายาเสพติดตั้งแต่อายุเพียง 10 ขวบ โดยทำหน้าที่นั่งเป็นเพื่อนกับคนขับรถที่ทำหน้าที่ขนทรายจากท่าบางพลัดไปยังบ่อพักทรายย่านบางบัวทองแลกกับเงินเที่ยวละ 2 บาท ซึ่งระหว่างนั้น เขามักเห็นคนขับรถกิน “ยาขยัน” ซึ่งเอนกในวัยเด็กไม่ได้คิดว่านั่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย 

เอนกเริ่มเข้าใกล้ยาเสพติดอีกครั้งในฐานะ “ผู้เสพ” เมื่อเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 ด้วยวัยคึกคะนอง เกิดการปรามาสและกลั่นแกล้งรังแกในกลุ่มเพื่อนกันเอง ทำให้เขาเปลี่ยนเป็นคนละคน เริ่มหันมาดมกาว ลักเล็กขโมยน้อย จนพบกับเพื่อนคนหนึ่งที่ทำให้เขาพบกับสิ่งที่เรียกว่า “ยาบ้า” 

วังวนยาเสพติด 

เมื่อเข้าสู่ช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เอนกเปลี่ยนบทบาทจากผู้เสพเป็น “ผู้จำหน่าย” โดยขายเล็กๆ น้อยๆ ให้คนในชุมชนแล้วนำส่วนต่างมาซื้อเพื่อเสพต่อ ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงปิดภาคเรียน เอนกหันไปทำงานกับพ่อค้ายา โดยทำหน้าที่เป็น “ด่านหน้า” จนพัฒนาไปสู่ “เด็กเขี่ยยา” (ทำหน้าที่นำยาจากแท่นผลิตไปตากแห้ง) และท้ายที่สุด กลายเป็นพ่อค้ายาเต็มตัวในวัยเพียง 14 ปี และวนเวียนอยู่ในวังวนความรุนแรง 

ชีวิตของเอนกเข้าๆ ออกๆ อยู่ในวังวนยาเสพติดตลอดช่วงชีวิตวัยรุ่น จนล่วงเลยมาถึงปี 2540 ช่วงนั้นยาบ้ามีราคาเพียงเม็ดละ 25 บาท ทำให้เขาหันมาเสพยาชนิดที่เรียกว่างอมแงม คุมตัวเองไม่ได้ และนั่นคือจุดเปลี่ยนในชีวิตของเอนก โดยถูกศาลจำคุกที่เรือนจำพิเศษธนบุรีเป็นเวลาทั้งสิ้น 2 ปี 6 เดือน 

“ความรู้สึกในการเข้าเรือนจำครั้งแรกคือ กลัว ร้องไห้ กินข้าวไม่ลง” เขาเล่า 

เมื่อครบกำหนด เอนกออกมาตั้งต้นชีวิตใหม่ ขายกุยช่าย ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นแคะ แต่ด้วยกิตติศัพท์อันเลื่องชื่อของเขา ทำให้เป็นที่สนใจของคนในวงการนักเลง จนได้รับชักชวนให้เข้าวงการนักเลงอีกครั้งภายใต้คราบ “นายท่ารถตู้” หรือคนคุมวินนั่นเอง ช่วงนั้นคนขับรถมีการใช้ยาขยันโดยทั่วไป และนั่นทำให้เขาหวนกลับสู่วังวนยาเสพติดอีกครั้ง 

เข้าออกเรือนจำ 6 ครั้ง

ในช่วงนั้น เขาได้รับการยอมรับในสังคม (นักเลง) อย่างสูง ด้วยวีรกรรมอันเลื่องชื่อทั้งขายยาและตีรันฟันแทง ความเท่ยิ่งทำให้เขาเสพหนักมากขึ้น จนร่างกายซูบผอม เป็นที่หมายตาของตำรวจ ภายในระยะเวลา 45 วัน เข้าต้องเข้าคุกเข้าตารางถึง 3 รอบ จนทำให้เขาถูกพิพากษาเข้าเรือนจำเป็นครั้งที่สอง 

“ตั้งแต่เข้าเรือนจำครั้งที่ 2 ผมก็เข้าๆ ออกๆ ถึง 5 ครั้ง ยังไม่รวมถึงการโดนจับประปรายนับไม่ถ้วน ออกจากเรือนจำได้ 1 เดือน ออกมาทำผิดใหม่ เข้าไป 2 ปี ไม่เข็ดแต่เรียกได้ว่าชิน จนได้รับการขนานนามว่า ‘ลูกราชทัณฑ์’ ของแท้ ไม่มีความเกรงกลัวแล้ว” เขากล่าว 

ทว่าการเข้าเรือนจำครั้งนี้ของเขาต่างจากครั้งอื่นโดยเฉพาะ 9 เดือนสุดท้ายก่อนครบกำหนดโทษ 

“ช่วงนั้นผมสิ้นหวังมาก ไม่อยากออกจากเรือนจำเลย เพราะไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน อย่างน้อยที่เรือนจำยังมีที่กิน มีที่อยู่ที่นอน แต่ออกไปผมไม่เหลืออะไรแล้ว เงิน ทอง ครอบครัว” จนมูลนิธิบ้านพระพร องค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อช่วยเหลือผู้พ้นโทษ ได้เข้าไปอบรมและให้ที่อยู่ติดต่อ และครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันกับทุกครั้งที่เขาออกจากเรือนจำ โดดเดี่ยว ไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีบ้าน จนอเนกเลือกที่จะโทรหาบ้านพระพร 

“กินข้าวหรือยัง” นั่นคือประโยคแรกที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิบ้านพระพรถามเอนก คำถามง่ายๆ แต่กินใจเขามาก เพราะตลอดระยะเวลาที่เข้าออกเรือนจำ เขาไม่เคยได้ยินคำถามนี้จากใครเลย ในทางกลับกัน คนในชุมชนกลับถามว่า “จะอยู่ที่นี่นานไหม เมื่อไหร่จะเข้าไปอีก” นั่นทำให้ทุกครั้งที่ออกมา เอนกเลือกที่จะกลับไปหาพ่อค้ายา 

มองอนาคตด้วยการแหงนหน้าขึ้น

ในวันนั้นมูลนิธิบ้านพระพรส่งรถมารับเอนกถึงหน้าเรือนจำ แม้ที่มูลนิธิฯ จะไม่ได้ให้เงิน แต่ที่นี่ก็อยู่ได้อย่างสบายใจ มีข้าวกิน มีที่อยู่ มีข้าวของเครื่องใช้จำเป็น มีพี่ๆ น้องๆ เข้ามาทักทาย มีผู้ใหญ่ที่ให้กำลังใจและคำแนะนำ ที่สำคัญคือ “โอกาส” ที่มูลนิธิมอบให้กับพวกเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้พ้นโทษต้องการ 

ระหว่างที่เขาใช้ชีวิตตั้งหลักที่มูลนิธิฯ วันหนึ่ง “ลูกพี่” คนเดิมของเอนกตามมาหาเขาถึงที่มูลนิธิฯ พร้อมโน้มน้าวให้เขากลับไป “ถ้าถามว่าผมลังเลไหม ผมลังเลนะ เพราะผมไม่เคยปฏิเสธผู้ชายคนนี้ ตรงนั้นมีเพียงรางประตูคั่นไว้ แค่เดินก้าวออกไปผมก็ไปได้เลย แต่พอผมนึกถึงสภาพที่ต้องกลับไปที่เรือนจำอีกครั้ง สภาพที่การแข่งขันรุนแรงเพื่อชิงความเป็นใหญ่ สภาพที่อนาคตของผมต้องมองแหงนไปข้างบนเพื่อให้เห็นท้องฟ้า ไม่ใช่มองไปข้างหน้าเหมือนคนที่มีอิสระเสรี ผมไม่อยากกลับไปสภาพเช่นนั้นอีกแล้ว” อเนกกล่าวพร้อมน้ำตาคลอเบ้า 

เมื่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เห็นท่าไม่ดีจึงได้เข้ามาแก้ไขสถานการณ์ หลังจากเขามาอยู่ที่มูลนิธิฯ ได้รับการอบรมบุคลิกภาพ การปฏิเสธสิ่งยั่วยุ ได้รู้จักการใช้อิสรภาพอย่างคุ้มค่า ซึ่งไม่ใช่เพียงอิสรภาพทางกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอิสรภาพทางความคิด อิสรภาพที่เลือกใช้ชีวิตเองได้ 

โลกออนไลน์ = โอกาสใหม่ 

นับจากวันแรกที่เข้ามาสู่มูลนิธิฯ จนถึงวันนี้นับเป็นเวลากว่า 3 ปีที่อเนกใช้ชีวิตที่ที่เขาเรียกว่า “บ้าน” โดยทำหน้าที่เป็นหัวหอกในการทำโรงเพาะจิ้งหรีด ซึ่งทางมูลนิธิเป็นคนริเริ่ม จากเดิมเป็นเพิงธรรมดา เอาไปขายคนงานก่อสร้างได้เพียง 30 บาท สู่การขายแมลงทอด จนปัจจุบัน เขาทำโรงเพาะจิ้งหรีดที่ได้รับมาตรฐาน GAP และแบรนด์น้ำพริกที่ชื่อว่า ‘น้ำพริกบ้านฉัน’ 

อเนก เล่าเสริมว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จิ้งหรีดกำลังเป็นเทรนด์อาหารทางเลือกและเป็นแหล่งโปรตีนแห่งอนาคต แต่การขายจิ้งหรีดในลักษณะวัตถุดิบอาหารอาจไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ จึงต้องมีการแปรรูป ซึ่งน้ำพริกตอบโจทย์ที่สุด ทุกครัวเรือนต้องมีติดบ้าน ยิ่งน้ำพริกจิ้งหรีดถือเป็นสินค้าใหม่ การแข่งขันยังไม่สูงมาก แต่ทำการโปรโมทมากหน่อย 

แต่ด้วยข้อจำกัดด้านทุนทรัพย์ การเช่าแผงขายในรูปแบบเดิมๆ จึงเป็นเรื่องยาก ทางมูลนิธิฯ จึงแนะนำเขาว่าควรโกออนไลน์ด้วยการเปิดเพจ แต่ในระยะแรกก็ยังขายได้กับคนกันเอง จนไปเจอทีมดีแทคเน็ตทำกินที่งาน 10 ปีข้อกำหนดกรุงเทพฯ “แรกๆ ก็ขายไม่ได้หรอก แต่พอมาเจอกับดีแทคเน็ตทำกิน น้องๆ โค้ชช่วยสอนเทคนิคการขายออนไลน์ต่างๆ เช่น การปักหมุด การถ่ายภาพให้น่าสนใจ การไลฟ์สด การดึงดูดลูกค้า หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนภายนอกเข้ามาสั่งซื้อทางออนไลน์” 

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ท้าทายเขาไปพร้อมๆ กัน นั่นคือ โครงการก่อสร้างอาคารเพาะจิ้งหรีด โดยอเนกต้องทำหน้าที่หาแหล่งทุนโดยทำแผนโน้มน้าวให้ผู้บริจาคเชื่อมั่นในความเป็นไปได้ของโครงการ “ทำไมจิ้งหรีดถึงส่งเสียงร้อง” ผู้ลงทุนถามเอนก จากคำถามนี้ เขาใช้เวลาทุ่มเทศึกษาการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดอย่างจริงจังเป็นเวลา 3 เดือนเต็ม จนท้ายที่สุด เขาก็สามารถคว้าเงินทุนมาได้ และก่อสร้างเป็นอาคารเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดสำเร็จ 

วันนี้ น้ำพริกบ้านฉันแม้จะไม่ได้มียอดขายหวือหวา แต่ก็ไปได้เรื่อยๆ โดยทำยอดขายได้ 100-200 กระปุกต่อเดือน บ้างก็มีคนมาสั่งไปขายต่อ และวันนี้ยอดขายหลักของน้ำพริกบ้านฉันคือช่องทางออนไลน์ที่ได้ ดีแทคเน็ตทำกินมาทำหน้าที่โค้ชช่วยสอน ถามว่าเขาภูมิใจไหมกับเอนกในวันนี้ “โคตรภูมิใจ” เสียงสะอื้น พร้อมกล่าวเสริมว่า “ผมภูมิใจเสมอที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบ้านหลังนี้ ภูมิใจในงานที่ผมทำ” 

จากการปฏิเสธลูกพี่ในวันนั้น จนถึงวันนี้ ทุกก้าวเดินมีแรงกดดัน ทั้งการพัฒนาศักยภาพตัวเอง ระบบธุรกิจ มูลนิธิส่งเอนกไปเรียนตามที่ต่างๆ ให้เรียนรู้สร้างแผนธุรกิจ ปัจจุบัน เขามีแผนเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อส่งโรงงาน และเตรียมเพาะจิ้งหรีดเพื่อส่งออกภายใน 3-5 ปีข้างหน้า รวมทั้งรับบทบาทครูสอนอาชีพให้กับคนที่มาเรียนรู้การเพาะจิ้งหรีด 

“คำว่าโอกาส ได้ทำให้ผมเข้าใจความหมายของคำว่าชีวิตและคุณค่าความเป็นมนุษย์ แนวทางการใช้ชีวิตของผมเปลี่ยนไปสิ้นเชิง จากอยากได้ต้องได้ จากชีวิตที่รู้สึกไร้ค่า วันนี้คนในชุมชนชวนมากินข้าวกัน เพื่อนฝูงชวนมาเจอกัน นี่คือการยอมรับและการมีตัวตนในสังคมใหม่ของผม” เอนกกล่าวอย่างภาคภูมิ

 

Last modified on Saturday, 19 November 2022 08:38
X

Right Click

No right click