December 23, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6847

 ธ.ก.ส. กับการบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการเกษตร

August 02, 2018 3801

                หนึ่งในพันธกิจที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธ.ก.ส. คือ “ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร และการให้บริการรวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของลูกค้า” ตามวิสัยทัศน์ที่จะเป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่มั่นคง มีการจัดการที่ทันสมัย ให้บริการทางการเงินครบวงจร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน

                จากพันธกิจดังกล่าว ธ.ก.ส. จึงจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาเพื่อช่วยดูแลเรื่องการบ่มเพาะและพัฒนานวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการเกษตรที่เป็นลูกค้าของธ.ก.ส. ในชื่อ ศูนย์บ่มเพาะและพัฒนานวัตกรรม SMEs เกษตร ที่มี เรืองชัย เจริญกิจสุพัฒน์ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์แห่งนี้ตั้งแต่แรกตั้ง

                เรืองชัยอธิบายที่มาที่ไปของหน่วยงานนี้ว่า ธนาคารต้องการให้ศูนย์แห่งนี้ดูแลและพัฒนาผู้ประกอบการภาคเกษตรกรรม เพราะจากประสบการณ์การทำงานคลุกคลีกับภาคเกษตรมากว่า 50 ปีของธนาคารทำให้เห็นความเป็นไปวงจรต่างๆ ในด้านเกษตรกรรม เช่น สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ เกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตของตนเองได้ ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ธนาคารภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลผู้ประกอบการเพิ่มเติม ธ.ก.ส. จึงปรับบทบาท ด้วยการเพิ่มสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการภาคเกษตรกรรมขึ้นมา โดยมีศูนย์แห่งนี้เป็นแหล่งที่จะช่วยจัดหาองค์ความรู้ ทำหน้าที่เชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อทำให้เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการได้

                 ศูนย์นี้เป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนสถาบันบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เกษตร แต่ตัวสถาบันไม่ได้มีศูนย์อบรมถาวรด้วยแนวคิดว่า การเรียนรู้สามารถทำได้ทุกที่ และจะเน้นการเรียนรู้ด้วยการกระทำ ตัวสถาบันจึงเป็น Virtual Organization สามารถใช้สถานที่ที่สะดวกเช่น โรงสี แหล่งรวบรวมผลผลิตต่างๆ หรือโรงงาน เป็นที่เรียนรู้ของสถาบันได้

เชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคเกษตร

                กลไกการสร้างนวัตกรรมให้ผู้ประกอบการ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ บอกว่าเริ่มต้นใช้วิธีการเชื่อมโยงกับองค์กรภายนอก เช่นมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยดูจากกิจกรรมของกลุ่มเกษตรกรว่ากลุ่มใดที่จะต้องพัฒนาเป็นผู้ประกอบการ เช่นยางพาราที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ ราคารับซื้อถูกกำหนดโดยผู้รับซื้อรายใหญ่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้น้อย

                “เราลงไปพัฒนาโดยร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์โดยทำ MOU ร่วมกัน มีสภาเกษตรกรแห่งชาติด้วย เพื่อเอานวัตกรรมที่อาจารย์วิจัยไว้แล้วมาทำเรื่องแปรรูป เบื้องต้นทำเรื่องแผ่นยางปูพื้น ที่เขานำไปใช้ในสนามฟุตซอลต่างๆ เราไปเริ่มที่เราไปฟื้นสหกรณ์กองทุนสวนยางเดิมที่เขาทิ้งร้างกันแล้ว อย่างที่สตูลมีประมาณ 70 กว่าแห่งเราก็ไปฟื้นมา 29 แห่ง คือเกษตรกรยังใจสู้ ก็รวบรวมน้ำยางจากสมาชิกมาทำยางแผ่น ลงขันจากสมาชิกตั้งเป็นโรงงานชุมนุมสหกรณ์สวนยาง จ.สตูล เพื่อผลิตยางปูพื้นฟุตซอล เป็นจุดเริ่มต้นจากตรงนั้น”

                เหตุที่เริ่มด้วยยางพื้นสนามฟุตซอล เรืองชัยให้เหตุผลว่า เพราะต้องใช้เนื้อยางค่อนข้างมาก และที่สำคัญคือผลผลิตที่ออกมาคุณภาพไม่ด้อยไปกว่าที่นำเข้าจากต่างประเทศ และในบางด้านของที่ผลิตในประเทศดีกว่าเช่นเรื่องความทนทาน  ขณะที่ราคาขายต่อตารางเมตรก็ต่ำกว่านำเข้าจากต่างประเทศ

                เรืองชัยสรุปว่า นี่คือตัวอย่างของการเชื่อมโยงเกษตรกรกับนักวิชาการที่มีงานวิจัยที่สามารถทำเป็นผลผลิต พัฒนากลายเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าผลผลิตที่ออกมาของเกษตรกร ขณะที่ ธ.ก.ส. ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงและสนับสนุนสินเชื่อเพื่อผลักดันให้เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ

                ตัวอย่างการนำงานวิจัยมาใช้อีกเรื่องของยางพารา คือ น้ำยางข้น ซึ่งในอดีตเราต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรสามารถผลิตน้ำยางข้นเองได้ โดยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในมหาวิทยาลัย ด้วยการใช้สารละลายใส่ไปผสมกับน้ำยางสด ทำให้น้ำยางแยกชั้นออกมา ซึ่งจะได้น้ำยางสดที่สามารถนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เช่น หมอน ที่นอนยางพาราออกมาจำหน่ายเพิ่มมูลค่าได้ แต่หากต้องการปริมาณเนื้อยางที่มากกว่าที่เทคนิคนี้จะทำได้ก็ต้องไปซื้อเครื่องจักรที่มีราคาสูงมาก

 

การเพิ่มมูลค่า

ตัวอย่างการเพิ่มมูลค่าราคาจากแผ่นรองพื้นยางพาราน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัมต่อแผ่น จากน้ำยางสด 1 กิโลกรัมนำมาทำเป็นน้ำยางข้นได้ประมาณ 600 กรัม คิดราคาน้ำยางข้น 55-60 บาทต่อกิโลกรัม รวมค่าแรงแล้วต้นทุนประมาณ 500-600 บาท สามารถนำมาจำหน่ายได้ราคาประมาณ 1,000 บาท และเก็บไว้ได้นานกว่าผลผลิตสดจากสวนยางพารา

                อีกงานหนึ่งจากการวิจัยที่มาช่วยผลผลิตยางพารา คืองานวิจัยที่พบว่าหากให้โคนมยืนอยู่บนพื้นซิเมนต์นานๆ กีบเท้าที่ชื้นจะทำให้เกิดโรคเท้าเปื่อย และเมื่อเวลาวัวทรุดลงไปนั่งขาอาจจะกระแทกซิเมนต์ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ แต่หากนำแผ่นยางไปทำแท่นยืนให้กับโคนม จะช่วยลดปัญหาทั้งสองเรื่องข้างต้น และช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำนมได้อีก 20 เปอร์เซ็นต์

                ซึ่งเดิมแผ่นยางรองพื้นสำหรับโคนม ประเทศไทยนำเข้าจากประเทศจีนราคาประมาณ 2,500 บาท แต่เมื่อมาให้สหกรณ์สวนยางผลิตออกมาสามารถทำได้ในราคาประมาณ 1,500 บาท เป็นการช่วยสหกรณ์สวนยางพาราได้มูลค่าเพิ่มจากยางที่ผลิตได้ ขณะที่สหกรณ์โคนมลดต้นทุนที่ต้องจ่ายไป จากงานวิจัยที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยของประเทศไทย

 

หนุนเกษตรกรทำโรงสี

เรืองชัยบอกว่าสำหรับข้าวจากการสำรวจพบว่าปัญหาคือ เมื่อชาวนาผลิตข้าวออกมาต้องนำไปขายให้กับโรงสีที่มีอยู่จำนวนไม่มากในแต่ละจังหวัด การแก้ปัญหาคือการให้เกษตรกรตั้งกลุ่มทำโรงสีขนาดเล็กสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสารเพื่อจำหน่าย ทำให้กลุ่มเกษตรกรสามารถกำหนดราคาข้าวสารที่เป็นอาหารที่ทุกคนรับประทานเป็นประจำอยู่แล้วได้เอง

 ธ.ก.ส. ช่วยเกษตรกรด้วยการนำนักวิชาการไปช่วยดูกระบวนการสีข้าวให้มีประสิทธิภาพ และการให้สินเชื่อเพื่อประกอบการธุรกิจโรงสี

 “  กระบวนการสีอาจารย์วิจัยมาว่า ต้องสีเป็นข้าวกล้องก่อน แล้วพักให้เย็นค่อยขัดขาวจะทำให้ข้าวเต็มเม็ดจำนวนมากกว่า เราต้องเอาความรู้นี้ไปบอกต่อเกษตรกร เอาอาจารย์ไปสอน เราไปดูงานวิจัยของอาจารย์ที่เกี่ยวกับเรื่องของเรา งานเราอยู่ตรงนี้” เรืองชัยกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการช่วยทำการตลาดผ่านบริษัทไทยธุรกิจเกษตร (TEPCO) ที่มาช่วยชาวนาจำหน่ายข้าวผ่านช่องทางต่างๆ อีกด้วย

 

สร้างผู้ประกอบการ

                การจะเป็นผู้ประกอบการนอกจากมีผลิตภัณฑ์และตลาดแล้วการจัดการธุรกิจเป็นอีกด้านหนึ่งที่ศูนย์ฯ เข้าไปช่วยสนับสนุน เช่นเรื่องระบบบัญชีภาษีอาการและการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และจะส่งผลดีต่อตัวผู้ประกอบการเอง

                ที่ศูนย์ มีการเชิญลูกค้าของธนาคารเข้ามาอบรมเรื่องการทำบัญชีภาษีอากร โดยตั้งหัวข้อว่า ‘ทำอย่างไรจึงจะเสียภาษีน้อยที่สุด’ “เราบอกว่าถ้าคุณเข้ามาจะรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะเสียภาษีน้อยที่สุด แต่เสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายนะ ยกตัวอย่างเช่น VAT ปกติถ้าไม่จด เวลาเราซื้อของมามี VAT เราไม่สามารถเคลมคืนได้ แต่ถ้าเราจดเมื่อไร เราซื้อของมาผลิตต่อมี VAT เราสามารถไปเคลมคืนได้ในเดือนถัดไป ขณะเดียวกันของที่เราขายเราก็บวก VAT ก็เท่ากับ VAT เราถูกหักด้วย VAT ที่เราซื้ออยู่แล้ว  และยังมีเรื่องการลดหย่อนหลายตัวที่เขาไม่รู้ เช่นวัตถุดิบการเกษตรไม่ต้องเสีย VAT  ถ้ารู้ก็สามารถนำไปใช้ได้ “

                อีกเรื่องที่ศูนย์แห่งนี้ทำคือการเข้าไปช่วยเกษตรกรให้คิดราคาสินค้าให้เหมาะสม ไม่แพงจนไม่มีคนกล้าซื้อหรือถูกจนขาดทุน

                เรืองชัยอธิบายว่า “คุณต้องคิดต้นทุนให้เป็น อยากได้กำไรเท่าไรถึงจะคุ้ม ต้นทุนต้องบวกค่าแรง ค่าเสื่อมราคา ค่าเสียโอกาส เราสอนวิธีเขา คำนวณต้นทุนให้เป็น เขาก็จะสามารถกำหนดราคาได้สมเหตุสมผล ราคาก็จะไม่แพงกว่าทั่วไป”

                เขายกตัวอย่างหมอนยางพาราที่ในช่วงแรกที่ผลิตออกมากำหนดราคาขายใบละมากกว่า1,000 บาท แต่เมื่อนำมาคำนวณต้นทุนแล้วพบกว่าราคาที่กำหนดนั้นสูงเกินไป ทำให้สินค้าขายยาก กลายเป็นปัญหาสต็อกสินค้าล้น ปัจจุบันราคาหมอนยางพาราจึงลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 600 บาท ทำให้ขายได้ง่ายขึ้น

 

เพิ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์

ประเทศไทยนำเข้าเมล็ดพันธุ์ปีหนึ่งหลายพันล้านบาท การส่งเสริมให้เกษตรกรรุ่นใหม่เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์จึงเป็นอีกโครงการที่ศูนย์แห่งนี้ทำร่วมกับ สวทช. ที่มีโครงการบ่มเพาะนักศึกษาด้านเกษตรให้ทำเมล็ดพันธุ์ โดยปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 20 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ

เรืองชัยอธิบายเรื่องมูลค่าเพิ่มของเมล็ดพันธ์ว่า “ตัวอย่างแตงเราขายผลสดออกจากไร่ประมาณ 10-15 บาท แต่เอามาทำเมล็ดพันธุ์ ต้นทุนต่อกิโลกรัมจะอยู่ที่ประมาณ 300-400 บาทแต่ขายได้ 2,000-3,000 บาทใช้เวลา 3 เดือน   ความจริงพ่อแม่เขาก็เป็นเกษตรกรอยู่แล้ว ก็แบ่งพื้นที่มาไร่สองไร่ ใช้ความละเอียด และความรู้ ต้องดูคุณภาพ ดอกอย่างไรถึงว่าสมบูรณ์ เป็นงานละเอียดมาก นี่คือเรื่องหนึ่งที่เรามองว่าจะทดแทนการนำเข้า สวทช.เขาดูแลอยู่แล้ว แต่เราก็เข้าไปดูเรื่องเงินทุนหมุนเวียน เราก็ส่งต่อให้ฝ่ายที่ให้สินเชื่อ เราก็อธิบายให้สินเชื่อฟังว่ากระบวนการเป็นอย่างนี้”


ช่วยปรับวิธีคิดการขายผลผลิต

                อีกผลผลิตที่ศูนย์แห่งนี้เข้าไปช่วยทำให้เกษตรกรได้รับราคาผลผลิตดีขึ้นคือทุเรียน วิธีการที่ใช้ดูไม่ซับซ้อนแต่เป็นวิธีที่สามารถทำได้จริง

                ราคาทุเรียนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 35-40 บาท แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 130-180 บาท มาจากการไปพัฒนาเรื่องการแปรรูปทุเรียนสดให้เป็นทุเรียนแช่เย็นและทุเรียนฟรีซดรายที่ได้ราคาดีกว่า เมื่อเทียบกับต้นทุนที่ต้องจ่ายไป “เอาความรู้ไปให้คิดว่า ทุเรียนหนึ่งกิโลจะได้เนื้อประมาณ 2 .5 ขีด ถ้ากิโลละ 60 บาท 4กิโลของทุเรียนทั้งเปลือกจะได้เนื้อ 1 กิโล 4 กิโลก็ 240 บาท ค่าฟรีซ 1 กิโลต่อเดือน 1 บาท โดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 5 เดือน ค่าแรงการแกะกิโลละไม่เกิน 3 บาท เบ็ดเสร็จเนื้อทุเรียนแช่แข็งต้นทุนจะอยู่ประมาณ 250-260 บาท แต่ราคาเนื้อทุเรียนแช่แข็งส่งออกประมาณ 600 บาท เราไปสอนเขาคิดอย่างนี้ เกษตรกรเขารู้แล้ว ดังนั้นพวกตกเกรดทั้งหลายเขาไม่เอามาขายให้คนกิน แกะแช่ฟรีซให้หมด ไปสอนให้เขาคิด อย่างอื่นมีอยู่แล้ว สอนหลักการจัดการเท่านั้น ตกเกรดก็ไม่ต้องขายถูก”  

                 อีกด้านหนึ่งคือการพัฒนาล้งรับซื้อทุเรียนเพื่อส่งขายไปยังประเทศจีนโดยตรง ธ.ก.ส. ใช้วิธีเลือกวิสาหกิจชุมชนที่มีความเข้มแข็งมาพัฒนาเป็นล้งรวบรวมทุเรียนคุณภาพเพื่อส่งออก โดยการประสานฝ่ายผู้ซื้อในต่างประเทศ และให้กลุ่มเปลี่ยนกลไกการรวบรวมแทนที่จะส่งให้กับล้งที่มีอยู่เดิม ซึ่งอาจจะไม่ได้ราคาที่ดี

                ทุเรียนจึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง

 

แปรรูปโคเนื้อ

ธ.ก.ส.มีสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคเนื้อเป็นลูกค้าอยู่หลายแห่ง โดยมี 9 แห่งที่มีความเข้มแข็ง มีโรงเชือดมาตรฐาน แต่ยังประสบปัญหาคือ เนื้อเกรดรองยังจำหน่ายได้ไม่มาก ศูนย์จึงร่วมกับผู้เชี่ยวชาญไปช่วยวางระบบ ลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคได้

เรืองชัยเล่าเรื่องนี้ว่า “เดิมเขาทำคือเชือดเสร็จ ก็จะเอาครึ่งซีกเข้าห้องเย็นซึ่งไม่มีประโยชน์ไปบ่มเนื้อ 100 เปอร์เซ็นต์ ใช้จริงคือพรีเมียม 20 เปอร์เซ็นต์ เราจึงเอาทีมงานอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องโคขุนไปวางระบบให้ ว่าเนื้อรองควรตัดมาก่อน เหลือ 20 เปอร์เซ็นต์จึงเอาไปฟรีซ เนื้อรองก็เอามาทำลูกชิ้น และเนื้อเสียบไม้ บาบีคิว ซึ่งขายดีมาก”

และทางธ.ก.ส.ก็เชิญผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่มาพูดคุยธุรกิจกับสหกรณ์ทั้ง 9 แห่ง เพื่อนำเนื้อที่ตัดแต่งแล้วไปวางจำหน่าย

นอกจากนี้ยังมีอีกงานหนึ่งที่ผอ.ศูนย์แห่งนี้มองว่าต้องทำต่อเนื่องคืออาหารที่ใช้เลี้ยงโค ซึ่งประเทศไทยก็เป็นผู้ผลิตพืชที่หลากหลาย เช่นข้าวโพด มันสำปะหลังจะต้องนำกลุ่มเกษตรกรกลุ่มต่างๆ มาเชื่อมโยงกันมากขึ้น เป็นหน้าที่ในการเชื่อมโยงตลาดให้กับผู้ประกอบการเกษตรกร

ศูนย์บ่มเพาะและพัฒนานวัตกรรม SMEs เกษตร

                เรืองชัย สรุปว่าหน้าที่ของศูนย์แห่งนี้คือการประสานกับหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานราชการในกระทรวงต่างๆ เพื่อนำความรู้ไปให้เกษตรกร “เราคือหลักสูตรอบรม  มีผลิตภัณฑ์แล้วต้องทำให้ขายได้”

                ศูนย์แห่งนี้มีหลักสูตรอบรม 3 หลักสูตรประกอบด้วย

                หลักสูตรพื้นฐาน เรียนรู้เรื่องการสร้างทัศนคติ ให้เป็นผู้ประกอบการ การบัญชีเบื้องต้น  การวางแผนธุรกิจ การจัดการทางการเงิน การวางแผนการเงิน  หลักสูตรนี้ทำร่วมกับสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สสว. เป็นการบูรณาการร่วมกัน

                 หลักสูตรเฉพาะ เป็นหลักสูตรตามผลิตภัณฑ์เช่นถ้าทำเรื่องข้าว ก็จะเป็นเรื่องโรงสี การเพิ่มคุณภาพข้าว แปรรูปข้าว หลักสูตรนี้จะทำร่วมกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด

                หลักสูตรเชิงลึก คือ ดูหลังผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้วจะทำตลาดอย่างไร การแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ เชื่อมโยงด้านการตลาดอย่างไร   โดยหน่วยงานต่างๆ ในธ.ก.ส. จะทำหน้าที่เหมือนกับพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการ

                ทั้งนี้เป้าหมายของศูนย์แห่งนี้ที่ธ.ก.ส. วางไว้คือการเป็นสถาบันที่เป็นที่ปรึกษาและแก้ปัญหาในด้านการรวบรวม การแปรรูป และการตลาด ให้เกษตรกร และยังมีโครงการอีกมากทั้งการทำโรงเรือนอัจฉริยะ สำหรับเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ การพัฒนาบัณฑิตใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการด้านเกษตร การสร้าง Young Smart Farmer ที่จะจัดเป็นเหมือนการประกวดแข่งขันแนวคิดนวัตกรรมด้านเกษตรของผู้ประกอบการรุ่นใหม่

 

Last modified on Saturday, 11 August 2018 16:34
X

Right Click

No right click