January 22, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

“โคโค่ เมล่อนฟาร์ม” Smart Farmer แห่งยุคดิจิทัล

August 05, 2018 7142

ทำความรู้จัก อีกหนึ่งสมาร์ตฟาร์มแห่งยุค 4.0 ในเส้นทางที่ไม่ธรรมดา กว่าจะเป็น “โคโค่ เมล่อนฟาร์ม” ต้นกำเนิดเมล่อนญี่ปุ่นปลอดสารพิษ ปลูกในโรงเรือน ด้วยเทคโนโลยี Iot (Internet of Things)

แรงบันดาลใจของ “ณัฐ มั่นคง” เริ่มต้นจากการเป็นพนักงานบริษัทเอกชน จากนั้นออกมาทำงานค้าขาย ในแวดวงธุรกิจปุ๋ยหมักชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ปรับปรุงคุณภาพดิน ลดสารตกค้างในดิน กระทั่งปัจจุบันผันตัวมาเป็นเกษตรกรเจ้าของ โคโค่ เมล่อนฟาร์มอย่างภาคภูมิใจ

เขาเล่าถึงความคิดในอดีตกับนิตยสาร MBA ว่า “เมื่อเราจบใหม่ๆ เราอาจจะคิดแค่ว่าทำงานอะไรก็ได้ หรือแค่มีร้านกาแฟสักร้านก็คงจะเท่น่าดู แต่สังเกตว่าตั้งแต่ 3-5 ปีที่ผ่านมาจนปัจจุบัน เทรนด์การเกษตรมาแรงมาก ทำให้ผมมีความรู้สึกว่าเป็นอาชีพที่ทำแล้วมีความสุข คงมีคนอยากคุยด้วยมาก และดูเท่ดี” จึงจะเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยในการเลือกเป็นเกษตรกร ที่มาจากทั้งความหลงใหล บวกกับความต้องการทำการเกษตรปลอดสารพิษด้วย และอีกส่วนหนึ่ง คือ การศึกษาจากคณะธุรกิจเกษตร สาขาการตลาด จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำให้สามารถนึกภาพการค้าขายได้

“คนมักจะมองเกษตรกรว่าเป็นฝ่ายผลิตเท่านั้น เราจึงต้องเริ่มจากความคิดในการสร้างโมเดลของธุรกิจเกษตร เพื่อให้เกิดการครบวงจร ไม่อย่างนั้นเกษตรกรจะไปต่อไม่ได้”

เริ่มจากการผลิต ที่เราต้องกล้าทดลอง แต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างอย่างไร และต้องคิดว่าพื้นที่ในมือที่เรามีอยู่ในตอนนี้เท่าไร มี 100 ไร่หรือมี 10 ไร่ ถ้ามี 100 ไร่ รูปแบบการทำเกษตรของผมอาจจะเปลี่ยนไป อยากจะทำอะไรก็ได้

แต่เผอิญวันนี้ พื้นที่มีอยู่ 10 กว่าไร่ ก็ต้องคิดว่า 10 กว่าไร่ ถ้าทำนาแปลว่าปีหนึ่งจะไม่มีเงินหมุนเลย เพราะมันจะน้อยมากจนไม่เห็นตัวเลข ต้องมามองว่าจะทำพืชอะไรที่เป็นไปได้ และเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นจังหวะที่เมล่อน พืชเศรษฐกิจตัวใหม่กำลังมาแรง จึงตัดสินใจกระโดดเข้ามาทำ วันนั้นเมื่อตอนแรกเริ่มมีพื้นที่เพียง 3-4 ไร่ แต่สามารถมีเงินหมุนเป็นล้านบาทต่อปีได้

เสริมกับประสบการณ์ที่เราเคยอยู่ในแวดวงเรื่องปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ ทำให้มีความรู้เรื่องปัญหาพืช โรคในดิน การให้ปุ๋ย มาช่วยในเรื่องผลผลิตอีกด้วย จากเริ่มต้นที่ 3.5 ไร่ ขยายออกไปอีก 7.5 ไร่ ต่อเนื่องพัฒนาไปถึงการรวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ วันนี้รายได้ต่อเดือนสำหรับณัฐ เขาตอบว่า ไม่ได้หวือหวานัก แต่สามารถหล่อเลี้ยงทุกชีวิตที่ช่วยงานในฟาร์มได้อย่างสบาย โดยมีเงินหมุนต่อเดือนประมาณ 2-3 แสน และในอนาคตมีแผนจะพัฒนาเป็นเกษตรเชิงท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามทุกอย่างต้องเริ่มที่เงินทุน ซึ่งอยู่ระหว่างการสะสม และมีพันธมิตรร่วมกันที่จะทำให้ชุมชนแข็งแรง

คิดแบบเกษตรกรยุคดิจิทัล

ณัฐ ย้ำว่าจุดเริ่มต้นของแนวคิดการจะมาเป็นเกษตรกรนั้น เราต้องมองอาวุธในมือเราก่อน เช่น มีพื้นที่เท่าไร บางคนทำแค่ไร่อ้อยแต่เขาทำ 500-1,000 ไร่ ก็รวยได้แน่นอน แต่อย่างเรามีพื้นที่ไม่มากนัก 3 ไร่ หรือ 10 ไร่ ทำอะไรแล้วจะคุ้ม จึงต้องมองไปถึงค่าจัดการ ทั้งของตัวเราและลูกน้องของเรา เพราะการทำเกษตรนั้นทำคนเดียวไม่ได้แน่นอน จากนั้นก็ต้องมามองว่าจะปลูกอะไร

“ถ้าปลูกข้าวโพดหรือข้าวบนพื้นที่จำกัด คงจะมีรายได้เพียงหลักหมื่นต่อปี ต้องหันมามองพืชเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างที่ผมหันมามองเมล่อน”

จากนั้นต้องมีการสำรวจตลาดก่อนการทดลองปลูก ณัฐเล่าถึงวิธีสำรวจราคาในหลายช่องทางการขาย ทั้งตลาดไทย ห้างสรรพสินค้า การขายส่งเข้าห้าง และหลังการสำรวจ เขาก็เริ่มเพาะปลูกเมล่อนญี่ปุ่น ไม่ต่ำกว่า 20-30 สายพันธุ์ พร้อมกับเก็บข้อมูลจากการออกบูธวางหน้าร้านว่าสายพันธุ์ไหนอร่อย ถูกใจลูกค้า และซื้อง่ายที่สุด

“ในระยะเวลาทดลองประมาณ 1 ปี ที่ปลูกหมุนเวียนได้ประมาณ 3-4 ครั้งเราได้คัดเลือกมาที่ 3 สายพันธุ์”

นอกจากนั้นการพยากรณ์ผลการผลิตให้สัมพันธ์กับยอดขายในอนาคต ถือเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ณัฐ มีการวางแผนเตรียมโรงเรือนในการเพาะเมล็ดหมุนเวียนเพื่อรอบการผลิตทุกสัปดาห์ เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนให้สอดคล้องกับทุกช่องทางการขาย และเนื่องจากผลผลิตที่ได้มามีหลายเกรด ดังนั้นช่องทางต้องทำแบบผสมผสาน โดยผลผลิตเกรด A ตัวท๊อป อาจไม่ได้มีจำนวนมากนัก แต่ได้ราคาที่สูง ในขณะที่ปานกลางนั้นสามารถขายส่งได้ เป็นต้น

“การพยากรณ์ผลผลิต ไม่ต่างจากการพยากรณ์หนี้เสียของธนาคารหรือบัตรเครดิต ในแต่ละ 10 รอบของการปลูก (Crop) เมล่อน เขาจะพยากรณ์ไว้เลยว่าจะได้ประมาณ 8 crops คำนวณต้นทุน 10 crops จะได้ประมาณ 8 crops เรียกได้ว่ามีหนี้เสียประมาณ 20% หากไม่เสียหายถึงระดับที่พยากรณ์ก็ถือว่าเป็นกำไร เขากล่าวว่าเป็นการมองต้นทุนที่แท้จริง ดีกว่าการมองแบบเดิมๆ ที่ว่า 1 ไร่จะได้ 40,000 เพราะฉะนั้น 10 ไร่ได้ 400,000 จะทำให้การคำนวณผิดเพี้ยน เพราะผลผลิตเกษตรสามารถเน่าจนเป็น 0 ได้”

ณัฐ บอกว่า หากในบางปีที่ผลผลิตเกิดความเสียหาย หรือตกเกรดไม่ได้ตามที่คาด ก็ต้องหาแผนสำรองไว้ด้วย เช่นการแปรรูป อาจจะเป็นแยม หรือน้ำเมล่อนสกัดเย็น ที่สำคัญคือทำอย่างไรจะทำให้ผลผลิตเหลือ 0 ให้ได้ นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยราคาของพืชผลการเกษตรจะมีขึ้นมีลง แต่สังเกตได้ว่าราคาในห้าง นั้นไม่มีขึ้นลง ยกตัวอย่าง สับปะรดราคาตก แต่ก็ไม่เห็นราคาสับปะรดที่ในห้างราคาเท่ากับท้องตลาดทั่วไป

ในฐานะเกษตรกรที่เป็นต้น ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เมื่อตัดสินใจว่าจะปลูกเมล่อน ตอนเปิดตัวราคาค่อนข้างดีทีเดียว 1 กิโลกรัมอย่างน้อย 100 -200 บาท แต่วันนี้เมื่อเริ่มมีผู้ปลูกจำนวนมาก ราคาจึงตกลงตามเงื่อนไขดีมานด์ซัพพลายโดยปกติ วิธีที่จะหาทางรอดมาได้ต้องแข่งขันกันที่ต้นทุนการจัดการฟาร์ม ให้ได้ผลผลิตเกรด A ในปริมาณสูงต่อ 1 โรงเรือน ถ้าใครจัดการได้ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

เทคโนโลยีกับภาคเกษตร

ณัฐ บอกว่าเมล่อนญี่ปุ่นเป็นพืชที่มีฤดูกาล ดังนั้นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จ คือ เทคโนโลยีที่สามารถควบคุมระบบการเพาะปลูกได้ทุกขั้นตอน เกษตรกรมีหน้าที่เพียงติดตามดูข้อมูลว่า สิ่งไหนเกินกว่าความจำเป็น การลงทุนลงไป จะถึงจุดคุ้มทุน หรือลดต้นทุน ไม่ทำให้คุณภาพของผลผลิตด้อยลง เช่น เซนเซอร์วัดปริมาณแสงแดดในโรงเรือน ที่ในแต่ละฤดูกาลแสงไม่เท่ากันส่งผลต่อขนาดของผลผลิต เช่น แสงหน้าหนาวลูกจะเล็กและโตช้า เมื่อได้ข้อมูลจากเซนเซอร์เราก็ไปช่วยในส่วนนี้ เช่น ขยายระยะปลูก เพื่อให้ได้ขนาดเกรด A ตามที่ตลาดต้องการ

สำหรับเครื่องวัดความชื้นที่เป็นหัวเซนเซอร์ใส่ไปในดินเพื่อวัดค่า ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากโครงการเกษตรกรรุ่นใหม่ ในกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่ง ดีแทค (บริษัท เปอร์เซ็นต์เทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ) มีโครงการเข้ามาสนับสนุน โดยร่วมมือกับ NECTEC (ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ) ที่นำเทคโนโลยี IoT ช่วย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และควบคุมคุณภาพ และเลือกฟาร์มโคโค่ เมล่อนของณัฐ เป็นหนึ่งในฟาร์มนำร่องของโครงการฯ ที่นำอุปกรณ์มาวิจัยและเก็บข้อมูลในแปลงเกษตร โดยอุปกรณ์นี้ทำให้เกิดประสิทธิผลเพราะทำให้เกิดความแม่นยำ ค่าที่ได้เป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจน ไม่ใช้ความรู้สึกที่อาจผันแปรได้ตามบุคคล เป็นกระบวนการที่ทำให้มีคุณภาพสม่ำเสมอ

รวมถึงเทคโนโลยี ตรวจความชื้นดิน ที่การตรวจดูจากหน้ามอนิเตอร์จะทำให้รู้ว่าความชื้นในดินมีกี่เปอร์เซ็นต์ ควรจะปรับระดับน้ำเท่าไรให้พอดี ในขณะที่ในอดีต ถ้าเห็นว่าใบเหี่ยวจะคิดว่าเมล่อนขาดน้ำก็จะให้น้ำไปอีก แต่วันนี้มีมอนิเตอร์ทำให้พบสาเหตุได้ ถ้าความชื้นในดินยังมีค่าเท่าเดิม จะทำให้รู้เลยว่ารากเน่า อย่างนี้เป็นต้น เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสร้างผลผลิตในเชิงปริมาณที่ได้คุณภาพเกรด A สูงขึ้น

ณัฐ ทิ้งท้ายด้วยข้อคิดถึงให้เกษตรกรรุ่นใหม่ว่า ต้องสำรวจดูสเกลตนเอง ว่าจะควบคุมการจัดการฟาร์ม ควบคุมแสง ความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ และอุณหภูมิ เพราะทุกส่วนมีผลต่อผลผลิตที่ดี และเท่ากันทุกโรงเรือน อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดการทำเกษตรไม่มีสูตรตายตัว เช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ และอย่าทำการทำเกษตรเพราะกระแสมา ต้องรักและตั้งใจทำ จึงจะได้เงินจากตรงนี้จริง และเพียงพอต่อความต้องการ อย่าเพียงแค่เบื่องาน แล้วมาทำเกษตร

X

Right Click

No right click