September 16, 2024

ความผันผวนทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้ทดสอบความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จากรายงานผลสำรวจ UOB Business Outlook Study 2024 ที่ได้จากการสำรวจบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ประมาณ 9 ใน 10 บริษัทได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ โดยร้อยละ 62 ระบุว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น และ ร้อยละ 50 ระบุว่าต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้มทางเศรษฐกิจเหล่านี้เชื่อมโยงกับความยั่งยืนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  อาทิ ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นอาจเกิดจากการขาดแคลนทรัพยากร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) ซึ่งเป็นมาตรการที่มีผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปรวมถึงผู้ส่งออกของไทย ก็เป็นตัวกระตุ้นต่อการเติบโตและการอยู่รอดของ SMEs ด้วยเช่นกัน

ด้วยแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ที่เป็นความท้าทายสำคัญสำหรับธุรกิจ SMEs แต่ยังมีโอกาสจะพลิกสถานการณ์และเพิ่มความยืดหยุ่นได้ หากผนวกความยั่งยืนเข้าไปในธุรกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย โดย ยูโอบี ฟินแล็บ จึงได้ดำเนินโครงการ Sustainability Innovation Programme หรือ SIP ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ,องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, PwC Thailand เป็นต้น เพื่อสนับสนุน SMEs กว่า 200 รายให้สามารถปรับธุรกิจสู่ความยั่งยืนได้ ด้วยการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์เชิงลึก รวมถึงกลยุทธ์การทำธุรกิจยั่งยืน ให้สามารถยืดหยุ่นและเติบโตได้

นายบัลลังก์ ว่องธวัชชัย Head of Digital Engagement and FinTech Innovation ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการ SIP ได้ทำงานกับพันธมิตรหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยเหลือ SMEs ให้ปรับธุรกิจสู่ความยั่งยืน เพราะเราเข้าใจดีถึงการสนับสนุนที่ SMEs ต้องการได้รับจากธนาคารและภาครัฐ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจและความยั่งยืน อาทิ เทรนด์ความรู้ แนวทางปฏิบัติ คำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานด้าน ESG การเชื่อมต่อกับบริษัทที่อยู่ในระบบนิเวศอุตสาหกรรมเดียวกัน รวมถึงโซลูชันทางการเงินสีเขียวที่จะช่วยลดค่าใช้จ่าย”

นางสาวนรีรัตน์ สันธยาติ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการลงทุนอย่างยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กล่าวเสริมว่า  “ประเด็นด้าน ESG ได้กลายเป็นเรื่อง Do or Die เพราะเป็นเรื่องของความอยู่รอดและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในระยะยาว ทุกธุรกิจจึงต้องกลับมาคิดทบทวนว่า จะปรับตัวให้อยู่รอดท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ท้าทายได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ SMEs และธุรกิจครอบครัวจะสามารถส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างไร SMEs จึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อติดอาวุธให้ตัวเอง โดยควรพัฒนาความรู้ความเข้าใจและบริหารจัดการประเด็น ESG ที่สำคัญเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งตัวอย่างการปรับตัวของธุรกิจให้ตอบโจทย์ทิศทางของโลกเรื่อง ESG ก็มีให้เห็น เช่น การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถย่อยสลายและกลับคืนสู่ระบบนิเวศน์ได้อย่างสมบูรณ์ หรือการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ ให้สามารถชี้แจงที่มาของวัตถุดิบ ตั้งแต่แหล่งกำเนิดของสินค้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า สอดรับกับ EU Deforestation Regulation เพื่อจับกลุ่มลูกค้าพรีเมี่ยมชั้นนำในระดับโลก เป็นต้น”

5 แนวทางการปรับตัวทางธุรกิจ

ดร.ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์  นักวิชาการด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แนะนำ 5 แนวทางให้กับผู้ประกอบการ SMEs สำหรับการทำธุรกิจในแนวทางของ  ESG  ดังนี้ 1. รู้บริบทธุรกิจ – เพื่อประเมินผลกระทบของธุรกิจของเรา 2. รู้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย – เก็บข้อมูลว่าแต่ละรายได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง 3. รู้ประเด็นไหนสำคัญ – งานหรือสิ่งไหนที่มีผลกระทบสูงต่อธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสีย 4. รู้ว่าทำประเด็นไหนก่อน - คัดจากประเด็นที่สำคัญว่าอันไหนสำคัญที่สุด เรียงลำดับความสำคัญ แล้วค่อยทยอยปรับเปลี่ยนแนวทาง และ 5. รู้สื่อสาร- ต้องสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร เผื่อผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทาง ESG อย่างต่อเนื่อง

ประเมินความพร้อมของธุรกิจด้วยเครื่องมือใหม่ UOB Sustainability Compass

นางสาวกุลธิดา วิรัตกพันธ์  หุ้นส่วนด้านความยั่งยืน ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส ได้กล่าวว่า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการธุรกิจเอสเอ็มอี พีดับบลิวซี  ได้ร่วมกับ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย พัฒนา UOB Sustainability Compass ซึ่งเป็นเครื่องมือในรูปแบบของแบบประเมินออนไลน์ ที่จะช่วยวัดระดับและประเมินความพร้อมด้านความยั่งยืนของบริษัทว่าอยู่ในระยะใด บริษัทสามารถลงทะเบียนเพื่อทำแบบสอบถาม และรับรายงานที่รวบรวมแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน โดยรายงานมีการรวบรวมข้อมูลจำเพาะของกฎระเบียบ บรรทัดฐาน และมาตรฐานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนที่จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทของแต่ละอุตสาหกรรม พร้อมคำแนะนำเกี่ยวกับโซลูชันทางการเงินที่เหมาะสมให้แก่บริษัททั้งนี้ รายงานความยั่งยืนจะเปรียบเสมือนคัมภีร์เล่มสำคัญที่สะท้อนภาพลักษณ์ของการดำเนินธุรกิจของกิจการในระยะยาว  

ออกแบบโมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืนด้วย S-BMC (Sustainable Business Model Canvas)

ดร.รณกร ไวยวุฒิ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงการออกแบบโมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืนด้วย S-BMC  (Sustainable Business Model Canvas) ว่า สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงในการนำ Innovation มาพัฒนาร่วมกันกับ ESG ประกอบด้วย 1.ความต้องการอยากใช้นวัตกรรมของลูกค้า 2.ความคุ้มค่าทางธุรกิจ และ 3.สามารถทำได้จริง  นับเป็น 3 องค์ประกอบหลักการสร้างนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในโลกปัจุบัน ครอบคลุม เรื่องของ Human Value , Business และ Technology

โดยทั้ง 3 องค์ประกอบ ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่ความต้องการของลูกค้าไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ดังนั้นการสร้าง Innovation ในยุคนี้จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งรอบข้าง อย่างไรก็ดีควรนำ Social, Environmental และ Economic มาพัฒนารวมกัน นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ และสามารถทำได้จริงและวัดผลได้

ด้านนางสาวอโณทัย สังข์ทอง ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารและทะเบียนคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO) เล่าว่า SMEs ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ หลังนโยบายทั้งไทยและต่างประเทศมุ่งเป้าจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พบว่ามีหลายๆ บริษัทได้ตั้งเป้าหมายสู่ Net Zero มากขึ้น แต่ไม่มีความรู้ที่แน่ชัดว่าจะเริ่มต้นจากจุดไหน ทาง TGO จะเข้ามาช่วย เสริมโครงการ SIP ในจุดนี้ได้ ด้วยการสนับสนุน SMEs ทั้งในเรื่องของแพลตฟอร์มการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งแพลตฟอร์มการขอขึ้นทะเบียนโครงการคาร์บอนเครดิต กับ TGO ตลอดการให้คำปรึกษาและข้อแนะนำต่างๆ ที่จะช่วยสร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจ SMEs สามารถรุกตลาดคาร์บอนเครดิตต้องทำยังไง ทั้งเป็นหน่วยงานกลางให้ความรู้เทคนิควิชาการเรื่องการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าให้มีการลดการใช้พลังงาน ลดของเสียและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย Net Zero ของธุรกิจ อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการติดต่อสอบถามและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้เว็บไซต์ฉลากคาร์บอน https://thaicarbonlabel.tgo.or.th/

สำหรับโครงการ SIP จะจัดมีเวิร์กชอปเกี่ยวกับด้านความยั่งยืนให้กับ SMEs อย่างต่อเนื่อง ตลอดปี พ.ศ. 2567 นี้ ผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมของ โครงการ Sustainability Innovation Programme สามารถคลิกได้ที่นี่

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เดินหน้ายกระดับประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน ให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารในประเทศ

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ผนึกความร่วมมือกับ บริษัท เอโซลาร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการลดต้นทุนด้านพลังงาน และเปลี่ยนผ่านการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืน 

ความร่วมมือนี้ครั้งนี้เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการ U-Solar ที่ธนาคารทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวกลางเชื่อมต่อทุกภาคส่วนตลอดทั้ง Supply Chain ของอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจและผู้บริโภคทั่วไปให้เปลี่ยนมาใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มากขึ้น โดยในปีนี้ธนาคารยูโอบีได้แต่งตั้งให้ บริษัท เอโซลาร์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นผู้รับเหมาออกแบบติดตั้ง (EPC Contractor) รายล่าสุดที่เข้าร่วมโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งในเรื่องการติดตั้งและควบคุมระบบ เรื่องการจัดหาอุปกรณ์เพื่อติดตั้งระบบ การบำรุงรักษา และแพคเกจบริการหลังการขาย

นางสยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) เริ่มให้ความสำคัญในการปรับตัวเพื่อนำพาธุรกิจสู่ความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยหนึ่งในแนวทางที่ธุรกิจเอสเอ็มอีให้ความสนใจมากที่สุด คือการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการผลิตไฟฟ้าใช้เองจากพลังงานหมุนเวียน เพราะธุรกิจจะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากต้นทุนทางพลังงานที่ลดลง สอดคล้องกับรายงานการศึกษา UOB Business Outlook Study 2024 ที่พบกว่าร้อยละ 46 ของผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีมีการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และร้อยละ 43  มีแผนจะนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ ดังนั้นความร่วมมือกับ บริษัท เอโซลาร์ คอร์ปอเรชั่น สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของธนาคารที่พร้อมเป็นตัวกลางเพื่อส่งเสริมให้การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดของภาคธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น” 

ธนาคารยูโอบีสนับสนุนเงินทุนเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ และการบำรุงรักษาผ่านสินเชื่อธุรกิจของธนาคาร ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เมื่อมีใบเสนอราคาค่าติดตั้งและบำรุงรักษาจากบริษัท เอโซลาร์ คอร์ปอเรชั่น โดยผู้ประกอบการสามารถขอวงเงินโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันวงเงิน

นายเอกภัทร ปัญญาแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอโซลาร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำตลาดและผู้เชี่ยวชาญด้านโซลาร์เซลล์มากกว่า 10 ปี เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ในการสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน บริษัทพร้อมนำเสนอโซลูชันแบบครบวงจรให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอี ตั้งแต่การเข้าไปประเมินหน้างานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ให้คำแนะนำ คำนวณความเหมาะสมของขนาดในการติดตั้ง จนไปสู่การติดตั้งแผงและอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ ช่วยดำเนินการแทนลูกค้าในการยืนใบขออนุญาตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบริการหลังการขายจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญและมีศูนย์บริการทั่วทุกภูมิภาค เพื่อส่งมอบประสบการณ์การใช้โซลาร์เซลล์ที่มีคุณภาพให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีที่สนใจเปลี่ยนโมเดลการดำเนินธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน” 

ประกันชีวิตควบการลงทุนรายแรกของไทย ที่ล็อคมูลค่ารับซื้อคืนหน่วยลงทุนสูงสุดตลอดอายุสัญญา  

เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Power Purchase Agreement) กับ เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ บริษัทผู้พัฒนาและให้บริการธุรกิจโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชั้นนำของประเทศไทย เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ให้แก่อาคารสำนักงาน และสาขา ธนาคารยูโอบีทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถนำพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์มาใช้ และช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงปีละ 200,000 ตัน หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ถึง 8,000 ต้น

ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของธนาคารยูโอบี ประเทศไทยปี 2566-2573 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการประหยัดพลังงานภายในอาคารสำนักงานและสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ ภายใต้ข้อตกลงนี้เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ จะดำเนินการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ที่อาคารยูโอบี สาทร อาคารยูโอบี เพชรเกษม และสาขาอีก 24 แห่งที่มีความพร้อมในการติดตั้ง ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากจะช่วยให้ธนาคารลดค่าไฟฟ้าแล้วและยังช่วยรักษาและดูแลสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

นางสาวปิยพร รัตน์ประสาทพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือข่ายสาขาและบริการดิจิทัล กล่าวว่า “ธนาคารตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้กำหนดเป้าหมายในการบรรเทาผลกระทบนี้ด้วยการยกระดับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอสังหาริมทรัพย์ของธนาคาร ปัจจุบันสาขาของธนาคาร มีสัดส่วนในการใช้พลังงานประมาณร้อยละ 40 ของการใช้พลังงานทั้งหมดของธนาคารยูโอบี ในประเทศไทย[1] ซึ่งโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ริเริ่มร่วมกับ เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่คาดหวังที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรภายใต้ Scope 2[2] อย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเกือบร้อยละ 90 ในสาขาที่ร่วมโครงการอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการรักษาความเป็นกลางทางคาร์บอนในการดำเนินธุรกิจของยูโอบี เป็นอย่างดี”

นายอนาวิล จิรธรรมศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ CHOW กล่าวว่า “ เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือธนาคารยูโอบี เพื่อยกระดับการพัฒนาองค์กรไปสู่ความยั่งยืนและลดผลกระทบของการดำเนินธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทั้งสององค์กรในการนำพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียนเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเชาว์ ในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน บริษัทพร้อมทำหน้าที่พัฒนาโครงการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ให้เหมาะสมกับความต้องการของอาคารสำนักงาน และสาขาของธนาคารยูโอบี เพื่อให้เกิดการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ธนาคารสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย จะดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ อาคารยูโอบี เพชรเกษม และ สาขาธนาคารที่ได้รับการคัดเลือกใน 13 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น เชียงราย นครปฐม นครราชสีมา นนทบุรี ภูเก็ต ระยอง สุรินทร์ และอุบลราชธานี ภายในปีนี้ และจะดำเนินการติดตั้งเพิ่มเติมใน 11 สาขาอื่นๆ ที่เหลือรวมไปถึงที่อาคารยูโอบี สาทร ให้แล้วเสร็จภายในปี 2568


[1] ที่มา รายงานความยั่งยืน ประจำปี 2566 ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย

[2] Scope 2 emission คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Indirect Emissions)

Page 1 of 11
X

Right Click

No right click