November 22, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

Dtac Talk "เปิดมุมมอง" ธุรกิจในโลก "อนาคต"

December 04, 2017 2873

หนึ่งในงานทอล์กของ ปี 2017 ที่ยอมรับว่า โดน ได้ และใช่ ทั้งในมิติของประเด็นและเงื่อนของเวลา งานหนึ่งคือ งาน Shift Happens ที่จัดโดยดีแทค เมื่อปลายไตรมาส 3 ที่ผ่านมานัยว่ามีเป้าหมายที่หวังกระตุ้นการตื่นรู้ของภาคสังคมและธุรกิจ ให้เตรียมตั้งรับกับกระแสของการเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่ยุคใหม่ที่จะไม่เหมือนเดิม เช่นนั้นแล้วต่อไปในอนาคต วิธีคิดและวิถีทางในการทำธุรกิจในอนาคตจำต้องถึงเวลาที่ต้องพลิกใหม่ 

ด้วย 4 วิทยากร ที่รายเรียงกันขึ้นทอล์กบนเวที Shift Happens บน 4 ประเด็นของการพลิกใหญ่ได้

 

พลิกแรกเพื่อความเท่าทันต่ออนาคต

อเล็ก รอสส์ (Alec J Ross) ผู้ที่ได้รับการกล่าวขานกันว่าเป็นหนึ่งในร้อยผู้ที่ได้รับการยอมรับว่า ”ทรงอิทธิพล” ต่อความคิดในสังคมอเมริกันอย่างมากในปัจจุบัน จากผลงานการเป็นที่ปรึกษาอาวุโสด้านนวัตกรรมให้แก่ฮิลลารี คลินตัน สมัยดำรงตำแหน่งเป็น รมว. ว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ และยังเคยเป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านการสื่อสารแคมเปญการเลือกตั้งของอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา และเขาเป็นเจ้าของหนังสือขายดีที่ชื่อว่า The Industries of the Future ซึ่งเขาได้นำมากล่าวถึงในการทอล์กบนเวที Shift Happens ในครั้งนี้ โดยอเล็ก รอสส์ ได้ให้ทรรศนะของ 5 อุตสาหกรรมที่จะอนาคตและความเติบโต โดยอเล็กมองว่า 5 เทคโนโลยีที่จะพลิกโฉมโครงสร้างอุตสาหกรรม เศรษฐกิจและสังคมโลก คือ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotic) อุตสาหกรรมชีวภาพ (Genome) อุตสาหกรรมข้อมูล (Big Data) อุตสาหกรรมความปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการเงิน (Fin-Tech)

 

เทคโนโลยีอันล้ำสมัย จะนำมาซึ่งอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต มิเพียงตอบสนองความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมและทั่วถึงได้มากขึ้น จะนำมาซึ่งนิเวศน์ใหม่ของอุตสาหกรรมที่คาดการณ์กันว่า จะทำให้เกิดราคาที่ถูกลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเข้าถึงสินค้าได้ เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจบนพืนฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation)

 

เศรษฐกิจนวัตกรรมเกิดได้ด้วยการแข่งขันเสรีและมีธรรมาภิบาล 

อเล็ก รอสส์ แสดงความเห็นต่อทิศทางของอุตสาหกรรมในอนาคตที่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีเทคโนโลยีและ นวัตกรรม ต้องการเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมของสังคมเศรษฐกิจแบบเปิด (Openness) หรืออีกนัยคือการมีธรรมาภิบาลที่ดี มีการแข่งขันเสรีที่เอื้อต่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ไร้การคอร์รัปชัน 

 

อเล็ก รอสส์ มองว่า ภายใต้เงื่อนไขสังคมแบบปิด (Closed) และไร้ซึ่งธรรมาภิบาล ไร้ความโปร่งใส กฎกติกาไม่เป็นธรรม คอร์รัปชันสูง สื่อถูกควบคุมจนไม่สามารถตรวจสอบได้ สามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น ในอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องพึ่งพิงความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี สังคมเศรษฐกิจแบบปิดจะไม่สามารถทำงานได้เลย และประเทศจะติดหล่มในที่สุด 

พลิกสอง พลิกพฤติกรรม

จั่วหัวมาในหัวข้อ ทำไมคนเราถึงโกง? (Why Do We Corrupt?: Understanding Corruption through Behavioral Economics) โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ เปิดประเด็น ว่า “ที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามแก้ปัญหาการติดกับประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ด้วยความพยายามที่จะยกระดับเทคโนโลยี การค้า และการลงทุน แต่กลับละเลยการยกระดับคุณภาพสังคม พูดให้ถึงที่สุดคือ ประเทศไทยจะไม่สามารถก้าวไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้เลย ตราบใดที่คนในสังคมยังมีความ ‘ขี้โกง’ และปัญหาคอร์รัปชันยังคงฝังรากลึกอยู่เช่นปัจจุบัน”

 

“ทำไมคนเราถึงโกง”: คำตอบจากมุมมองเศรษฐศาสตร์สถาบันและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

ดร.ธานีอธิบายพฤติกรรมการโกงของคนในสังคมว่าแท้จริงแล้วเป็นผลมาจาก ‘คุณค่า’ ภายในของสังคมเอง เช่น การนิยาม ‘คนดี’ แบบไทยๆ มีความเป็น ‘Familism’ หรือ ‘ความเป็นครอบครัวสูง’ ดังนั้น คนดีในสายตาคนไทย คือ คนที่ช่วยเหลือคนในครอบครัว คนใกล้ชิด กลุ่มเพื่อน รวมไปถึงผู้ที่เรานับถือและมีบุญคุณต่อเรา วัฒนธรรมนี้นำมาสู่ระบบอุปถัมภ์ที่ทำให้เรามีแนวโน้มที่จะเอาเปรียบและโกง ‘คนนอก’ ครอบครัวของเรา และเป็นเนื้อดินอันอุดมของพฤติกรรมการโกงและคอร์รัปชัน วัฒนธรรมที่เอื้อให้คนโกงเช่นนี้ถูกหล่อหลอมด้วยสถาบันใกล้ตัวเรา เช่น ใน ‘บ้าน’ และ ‘โรงเรียน’ ที่มักสอนและให้คุณค่าที่มีความเป็นครอบครัวสูงเหนือกว่าคุณค่าแบบอื่น ในขณะที่สถาบันทางศีลธรรมหลักอย่าง ‘วัด’ ก็ทำให้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า การทำความดีสามารถชดเชยการทำเลวได้ ทั้งที่เป็นคนละเรื่องกัน

 

แก้โกงด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

ข้อสรุปสำคัญจากมุมมองเศรษฐศาสตร์สถาบันและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมคือ การจะลดพฤติกรรมการโกงในสังคมลงได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง

-ปลูกชุดคุณธรรมสาธารณะขึ้นมาควบคู่กับชุดคุณธรรม ที่เน้นความเป็นครอบครัวสูง เช่น การเคารพสิทธิสาธารณะ การรับฟังความเห็นผู้อื่นด้วย เป็นต้น

-คุณธรรมที่เน้นความเป็นครอบครัว เช่น ความกตัญญู การตอบแทนบุญคุณ ไม่ใช่สิ่งผิด แต่ควรใช้เมื่ออยู่ในบ้านเมื่อก้าวออกมาในที่สาธารณะ การเคารพสาธารณะย่อมมีความสำคัญกว่า

-สถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น บ้าน โรงเรียน วัด และสังคมเองก็ปรับชุดคุณค่าเพื่อเอื้อต่อการทำความดีและไม่โกงได้อย่างแท้จริง

พลิกสาม พลิกโจทย์ธุรกิจ

“ดีพอ” ไม่พอ ถ้าแค่ดี (“Good Enough” Is Not Good Enough) โดย ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บริษัทที่ดีเกี่ยวข้องอะไรกับผลประโยชน์ของผู้บริโภคลาร์ส นอร์ลิ่ง ได้กล่าวชวนให้ผู้คนลองตั้งคำถามว่า คำว่าองค์กรธุรกิจที่ดีของคุณคืออะไร และที่คนทั่วไปคิดว่าดีนั้น “ดีพอแล้วหรือยัง?” นี่คือคำถามที่เป็นจุดเริ่มต้นในการพลิกโจทย์ธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและสังคมของดีแทค

 

ดีแทคได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคและพบว่าเมื่อพูดถึงองค์กรธุรกิจที่ดี ผู้บริโภคโดยทั่วไปมักจะนึกถึงบริษัทที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพดีและราคาถูก และมักมองข้ามการเป็นองค์กรธุรกิจที่ดี ในแง่มุมของการมีบรรษัทภิบาลที่ดี แข่งขันอย่างเป็นธรรม หรือแม้แต่กระทั่งปลอดการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องอะไรโดยตรงกับพวกเขา แต่ดีแทคได้ ‘พลิกมุมมอง’ ให้เห็นว่า ที่จริงแล้ว องค์กรที่มีบรรษัทภิบาลที่ดี การแข่งขันอย่างเป็นธรรม และการปลอดการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นเรื่องเดียวกับ ‘คุณภาพ’ และ ‘ราคา’ เพราะองค์ประกอบมีส่วนช่วยสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีและราคาถูกได้ และไม่ใช่แค่ผู้บริโภคเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่สังคมโดยรวมยังดีขึ้นด้วย

 

มายาคติของผู้บริโภค?

สาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังไม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องมาตรฐานจริยธรรมที่สูงขึ้นจากองค์กรธุรกิจเป็นเพราะความเข้าใจผิด 3 ประการสำคัญคือ 

ประการแรก เข้าใจผิดว่าการแข่งขันที่เป็นธรรมเกิดขึ้นได้เองโดยธรรมชาติและการผูกขาดการค้าไม่ได้ส่งผลเสียต่อธุรกิจ (Fair Competition Just Happens)

ประการที่สอง เข้าใจผิดว่าองค์กรธุรกิจที่ดีคือองค์กรที่ทำ CSR คืนให้กับสังคมเพียงเท่านั้น (Good Companies Plant Trees) ทั้งที่ในความเป็นจริงการทำธุรกิจอย่างมีบรรษัทภิบาลคือการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมในระยะยาว

ประการที่สาม เข้าใจผิดว่าการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ดีขึ้นเกิดขึ้นได้จากภาครัฐหรือผู้มีอำนาจเท่านั้น (Change Can Only Come from the Top) แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงจำนวนมากเกิดขึ้นจากพลังของผู้คนธรรมดา โดยเฉพาะพลังของผู้บริโภค

 

“ดีพอ” ไม่พอ ถ้าแค่ดี : พลังของผู้บริโภคเปลี่ยนสังคมได้จริง

ลาร์ส นอร์ลิ่ง ต้องการจะสื่อว่า เสียงของผู้บริโภคเป็นเสียงที่ ‘ทรงพลัง’ อย่างยิ่งต่อโลกธุรกิจทุกวันนี้ เพียงแค่ผู้บริโภคตระหนักถึงพลังของตัวเอง ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม และเรียกร้องให้องค์กรธุรกิจต้องแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมเพื่อยกระดับให้คุณภาพดีขึ้น ราคาถูกลง มีบรรษัทภิบาลและมาตรฐานทางจริยธรรม สุดท้าย ผู้บริโภคจะเป็นผู้ที่ชนะในที่สุดและนี่คือความหมายของคำว่า “ดีพอ” ไม่พอ ถ้าแค่ดี  (Good Enough” Is Not Good Enough)

พลิกสี่ พลิกสังคม

ด้วยหัวข้อ แก้เกมโกง (Shifting from the Sh*t: Lessons from Corruption Battles Around the World) โดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยดิเรกชัยนามและอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงทรรศนะให้เห็นว่า คอร์รัปชันไม่ใช่คำสาปที่ไม่อาจไถ่ถอนได้ การตัวอย่างการต่อสู้กับคอร์รัปชันทั่วโลกแสดงให้เราเห็นว่าปัญหาคอร์รัปชันแก้ได้ และพลังจากประชาชนคือหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหา

 

กรณีตัวอย่างประเทศอิตาลี: การปฏิวัติของผู้บริโภคและผู้ประกอบการในสังคมมาเฟีย

ในประเทศอิตาลี ผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ในเมือง ปาแลร์โม (Palermo) แคว้นซิซิลี (Sicily) ลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบบมาเฟีย โดยการปฏิเสธการจ่ายค่าคุ้มครอง และได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภคในการบอยคอตธุรกิจที่สนับสนุนมาเฟีย เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง มีธุรกิจเข้าร่วมการรณรงค์นี้กว่า 1,000 กิจการ ทรัพย์สินต่างๆ ถูกยึดคืนจากกลุ่มมาเฟียและนำกลับมาให้กลุ่มประชาสังคมใช้ประโยชน์ทางสังคม เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติของผู้บริโภคและสังคมอย่างแท้จริง

 

กรณีตัวอย่างประเทศอินเดีย: พลังของเทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

ในประเทศอินเดีย การจ่ายสินบนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนอินเดียตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะเป็นวิธีการเดียวที่จะสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้ จนกระทั่งในปี 2554 ภาคประชาสังคมลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านแคมเปญ “ฉันจ่ายสินบน” (I Paid a Bribe - IPAB) ด้วยการใช้พลังแห่งข้อมูลข่าวสารผ่านทางช่องทางออนไลน์ ให้ประชาชนเข้ามารายงานการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ วิธีการนี้เปลี่ยนประชาชนจากการที่เคยเป็นเหยื่อของการคอร์รัปชัน กลายเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างมีพลัง ที่สำคัญ แคมเปญ “ฉันจ่ายสินบน” กลายเป็นบทเรียนและแรงบันดาลใจให้กับการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชันในหลายประเทศนำไปใช้ต่อยอด

 

กรณีอินประเทศอินโดนีเซีย: 4 พลังประสานต้านคอร์รัปชัน

อีกกรณีตัวอย่างคือประเทศอินโดนีเซีย จากประเทศที่มีการคอร์รัปชันมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกในช่วงการปกครองกว่า 32 ปีของอดีตประธานาธิบดี ซูฮาร์โต อินโดนีเซียเคยอยู่อันดับรั้งท้ายในดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index) ในช่วงปี 2538-2542 จนล่าสุดในปี 2559 อยู่อันดับที่ 90 แซงหน้าประเทศไทยซึ่งอยู่ในอันดับ 101

 

การล้มลงของระบบซูฮาร์โตในปี 2541 เปิดโอกาสใหม่ให้อินโดนีเซียขับเคลื่อนประชาธิปไตยไปพร้อมกับการต่อสู้คอร์รัปชัน ความสำเร็จในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของอินโดนีเซียเกิดจากความเข้มแข็งและการทำงานร่วมกันของพลัง 4 ส่วน ได้แก่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ภาคธุรกิจ สื่อ และภาคประชาสังคม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครจินตนาการถึงว่าจะเกิดขึ้นได้ ผู้มีอำนาจที่ทำผิดก็สามารถถูกลงโทษได้ ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย

 

Shifting from the Sh*t : อย่าหมดหวังกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

บทเรียนจากประเทศต่างๆ บอกเราว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันไม่มีคำว่าสายเกินไปและปัญหานี้ไม่สามารถแก้ได้จบภายในวันเดียว สิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่ทำให้เราติดกับดักคอร์รัปชันคือ ‘ความเฉยเมยและความกลัว’ ของประชาชน ที่ยึดติดกับความคิดเดิมๆ ว่าทำไปก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ “โลกไม่เคยเปลี่ยน เพราะคนส่วนใหญ่มองโลกตามความเป็นจริง แต่โลกเปลี่ยนเพราะคนกลุ่มเล็กๆ ที่มองโลกด้วยอุดมคติเสมอ” ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คุณจะลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม“  

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ 

 

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Monday, 04 December 2017 05:23
X

Right Click

No right click