×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

PERFORMANCE & STRATEGY OF THAILAND COMPETITIVENESS

August 25, 2017 2792

IMD World Competitiveness Center ได้ให้นิยามของ Competitiveness ว่าหมายถึง ขีดความสามารถของประเทศในการแข่งขันเพื่อที่จะอำนวยความสะดวกหรือเกื้อหนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ในการที่จะทำให้บริษัทสามารถสร้างคุณค่าทางธุรกิจที่ยั่งยืนได้ ซึ่งเป็นการสร้างผลกำไรได้ ภายใต้การก่อเกิดการจ้างงานต่างๆ โดยกิจกรรมทางธุรกิจทั้งปวงที่เกิดขึ้นจะต้องส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด

 

การจัดอันดับนี้จะคำนึงถึง 4 ปัจจัยหลัก คือ สภาวะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพในการบริหารของรัฐบาล, ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน และยังมีปัจจัยย่อยอีก 20 ปัจจัย เช่น การจ้างงาน เทคโนโลยี การศึกษา การค้าระหว่างประเทศ การเงิน สุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา 346 ข้อ 

 

 

 

สำหรับผลการจัดอันดับขีดความ-สามารถทางการแข่งขันของประเทศฉบับปีล่าสุด ปี 2017 ที่เผยแพร่โดย IMD World Competitiveness Center พบว่า ประเทศไทยมี Performance ที่ดีขึ้นและน่าชื่นชมเป็นอย่างมาก ทั้งคะแนนและอันดับที่ขยับยกอันดับขึ้นเหนือปีก่อนหน้า โดยมีคะแนนรวมในปีนี้เท่ากับ 80.095 เปรียบเทียบกับ 74.681 ในปี 2016 และมีอันดับที่ดีขึ้น 1 อันดับ โดยเลื่อนขึ้นจากอันดับที่ 28 มาเป็นอันดับที่ 27 ขณะที่ปี 2015 อยู่อันดับที่ 30 เมื่อพิจารณาเฉพาะ 5 ประเทศอาเซียนที่อยู่ในการจัดอันดับนี้ ซึ่งได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียแล้ว ส่วนใหญ่มีอันดับที่ขยับดีขึ้นโดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียที่อันดับดีขึ้นถึง 6 อันดับ ขณะที่ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่ลดลำดับลงจากปีก่อนหน้า 

 

สำหรับประเทศไทยแม้จะดีขึ้นมาหนึ่งอันดับ แต่คะแนนรวมที่เพิ่มขึ้นก็ถือว่ามีนัยสำคัญ ซึ่งตัวเลขผลการจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันนี้ มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวเลขแสดงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี โดยตัวเลขนี้คือ ขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สะท้อนอนาคตว่าประเทศไทยมีสมรรถนะหรือศักยภาพอย่างไร และจะมีการเจริญเติบโตหรือก้าวหน้าไปได้เพียงใด ในขณะที่ตัวเลขจีดีพีเป็นตัวเลขมองย้อนหลังไปในอดีตมากกว่าเหมือนผลประกอบการของบริษัท 

 

ทั้งนี้การจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันโดย IMD เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1989 จากเงื่อนไขของโลกในยุคปัจจุบัน ที่ทุกประเทศจำเป็นต้องแข่งขันเพื่อแย่งชิงเงินทุนและทรัพยากรต่างๆ เพื่อเร่งสร้างอัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจ การจัดอันดับของ IMD มีการตั้งหลักเกณฑ์หรือ ตัวชี้วัดต่างๆ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนถึงขีดความสามารถของประเทศนั้นๆ ในการดึงดูดการลงทุน ดัชนีรายได้ของประชากร การสร้างงานใหม่ และการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ ดังนั้นการจัดอันดับขีดความสามารถนี้ จึงเป็นเสมือนเครื่องมือวัดสมรรถนะ จุดอ่อน จุดแข็ง ว่าประเทศไทยมีความท้าทายประการใดบ้าง มีจุดอ่อนใดต้องปรับปรุง เพื่อที่จะทำให้แข่งขันกับนานาชาติได้ดีขึ้น ซึ่งตัวเลขเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนจากทั่วโลกให้ความสำคัญและสนใจไม่น้อยไปกว่าตัวเลขจีดีพีเลยทีเดียว

 

สำหรับการจัดลำดับครั้งนี้ประเทศไทยทำคะแนนติดอันดับ 1 ใน 10 หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การจ้างงาน นโยบายภาษี ตลาดแรงงาน และการค้าระหว่างประเทศ ในขณะที่ยังมีอีกหลายด้านที่จะต้องได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น เพราะอยู่ในอันดับต่ำกว่า 40 ลงมา เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม การศึกษา กรอบการบริหารด้านสังคม รวมถึงผลิตภาพและประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่ทุกภาคส่วนจำเป็นจะต้องร่วมมือกันอย่างแข็งขัน 

 

หากพิจารณาจากปัจจัยหลักที่ใช้ในการจัดอันดับจะเห็นว่า ปัจจัยที่มีอันดับดีที่สุดคือ สภาวะทางเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 10 เพิ่มขึ้น 3 อันดับจากปี 2016 ส่วนปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาครัฐได้อันดับที่ 20 เพิ่มขึ้น 3 อันดับจากปีก่อนหน้า ส่วนปัจจัยด้านประสิทธิ-ภาพของภาคธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐานมีอันดับคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีอันดับที่ 25 และ 49 ตามลำดับ

 

ในส่วนของปัจจัยหลักด้านสภาวะเศรษฐกิจนั้น ประเทศไทยมีปัจจัยย่อยที่มีอันดับดีขึ้นถึง 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจภายในประเทศ การค้าระหว่างประเทศ ราคาและค่า-ครองชีพ ส่วนการจ้างงาน จัดว่าดีมาก เพราะอยู่อันดับ 3 ของโลก แต่ปัจจัยย่อยที่มีอันดับลดลงคือ การลงทุนระหว่างประเทศ 

 

ส่วนปัจจัยหลักด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ประเทศไทยก็มีอันดับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 3 ปีล่าสุด โดยปัจจัยย่อยที่มีอันดับดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ กฎหมายธุรกิจ กรอบการบริหารภาครัฐ ส่วนอันดับที่ดีที่สุดในส่วนนี้ก็คือ นโยบายภาษี ที่ขึ้นจากอันดับที่ 5 เมื่อปีที่แล้ว มาอยู่อันดับที่ 4 แสดงให้เห็นว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐดำเนินการนั้นเป็นที่ยอมรับจากนักลงทุน อาทิ การแก้ไขกฎระเบียบและปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐให้มีความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจ การให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนด้วยแรงจูงใจต่างๆ การปรับตัวของนโยบายภาครัฐ รวมถึงความคล่องตัวในการดำเนินนโยบาย เป็นต้น

 

ขณะที่ปัจจัยหลักด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 25 ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปี 2016 แต่พบว่ามีปัจจัยย่อยที่อันดับดีขึ้น 2 ปัจจัย ได้แก่ ด้านการจัดการ และด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพ ทั้งนี้หนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจในการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยให้เติบโตได้ดีขึ้นนั้น คือ การปฏิรูปภาคเกษตรกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยกลไกประชารัฐ ทั้งการพัฒนาเกษตรกรทันสมัย (Smart Farmer) การทำเกษตรแบบแม่นยำ (Precision Farming) การใช้เกษตรทฤษฎีใหม่ การพัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ๆ การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากลและมีความหลากหลาย การสร้างแบรนด์ และการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enter-prise) ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อช่วยเหลือในการทำเกษตรกรรม เป็นต้น

 

สุดท้ายคือ ปัจจัยหลักด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอันดับในด้านนี้ของไทยยังอยู่ในลำดับที่ค่อนข้างต่ำคือที่ 49 กระนั้นก็ยังมีปัจจัยย่อย 2 ด้านที่อันดับดีขึ้น คือ โครงสร้างพื้นฐานทั่วไป และโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ซึ่งดีขึ้นเป็นลำดับ โดยปัจจัยย่อยด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ประกอบด้วยการมีเทคโนโลยีการสื่อสารที่ตอบสนองภาคธุรกิจและความเชื่อมโยงต่างๆ อินเทอร์เนตความเร็วสูง การส่งออกสินค้าไฮเทค และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างเอกชนกับเอกชน และรัฐกับเอกชน

 

ขณะที่คำแนะนำจาก Arturo Bris ผู้อำนวยการ IMD World Competitiveness Center ระบุว่า ความท้าทายด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยา-ศาสตร์ก็คือ Digital Transformation สำหรับประเทศไทย ไม่ใช่แค่ตัวเลือก แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ และต้องทำอย่างเร่งด่วนด้วย รวมถึง E-Government ส่วนความท้าทายด้านการศึกษาคือ ต้องโฟกัสที่การสร้างและพัฒนาอาชีพในอนาคต โดยควรดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้าสู่ระบบให้มากขึ้น และที่สำคัญเพิ่มไปกว่านั้นคือ การพยายามรักษาบุคลากรไว้ให้ได้ด้วย ขณะที่ความท้าทายด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้น จะต้องเพิ่มการลงทุนของภาครัฐในระบบสุขภาพ มีมาตรการในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ตลอดจนพัฒนาการช่วยเหลือทางการแพทย์สำหรับประชาชนทั่วทั้งประเทศ

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ

 

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Friday, 25 August 2017 09:22
X

Right Click

No right click