ทุกๆ วัน มีหนังสือออกใหม่จำนวนมาก ทว่า หนังสือที่คู่ควรมีไว้เพื่ออ่านจริงจัง อ่านแล้วอ่านอีก อ่านแล้วคิดตามและคิดแย้ง อ่านแล้วยั่วให้อยากรู้ต่อ แล้วก็เก็บไว้บนหิ้งเพื่ออ้างอิง หวนกลับไปหาอีกเมื่อคิดถึงหรือต้องการในอนาคตนั้น นานๆ ถึงจะออกมาให้พวกเรา มีโอกาสได้เป็นเจ้าของกันสักคราหนึ่ง
The Fourth Industrial Revolution ของ Klaus Schwab จัดเป็นหนังสือประเภทนั้น
คุณต้องอ่าน หากต้องการหยั่งรู้อนาคต
มันจะช่วยให้คุณ Identify เทรนด์เทคโนโลยีสำคัญ (Megatrends) ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน และจะมีผลกระทบต่อวิธีการดำเนินชีวิตของเราอย่างลึกซึ้ง
มันจะช่วยให้คุณ Form ความคิด ว่าจะดีลกับมันอย่างไร ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เป็นผู้นำ ผู้ตาม เป็นนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ นักการเมือง ข้าราชการ นักบริหารราชการแผ่นดิน นักวางแผนกลยุทธ์ นักวิชาชีพ นักเรียนนักศึกษา หรือตำรวจทหาร
Klaus Schwab บอกว่าวิถีชีวิตมนุษย์เปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งยิ่งใหญ่ครั้งแรก เมื่อราว 10,000 ปีมาแล้ว ตอนที่เราเลิกจากการเร่ร่อนล่าสัตว์มาลงหลักปักฐานเพื่อทำเกษตรกรรมและนำสัตว์มาเลี้ยงแทนการล่า
การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น เป็นการนำเอาแรงงานสัตว์มาใช้ประโยชน์ในการผลิต ต่อยอดเพิ่มพลังให้กับแรงงานคน จนสังคมมนุษย์สามารถผลิตอาหารได้มากขึ้น รองรับกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร จนเกิดเป็นสังคมเมือง และพัฒนาก้าวหน้าต่อมา
จนมาถึงจุดพลิกผันครั้งใหญ่อีกรอบ คือตอนที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ซึ่งเริ่มขึ้นในอังกฤษ เมื่อปลายสมัยอยุธยาต่อธนบุรีต่อรัตนโกสินทร์ตอนต้น และพัฒนาด้วยอัตราเร่งแบบทีละเล็กทีละน้อย จนมาก้าวกระโดดในรอบไม่กี่ปีมานี้
Klause Schwab แบ่งยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เริ่มขึ้นในยุคอยุธยาตอนปลาย และดำเนินมาจนกระทั่งทุกวันนี้ (และกำลังจะดำเนินต่อไปในอนาคตอันใกล้) ออกเป็น 4 ยุค
The First Industrial Revolution/ The Second Industrial Revolution/ The Third Industrial Revolution/ และ The Fourth Industrial Revolution ซึ่งเป็นเรื่องราวที่หนังสือเล่มนี้ “ว่าด้วย” นั่นเอง
ยุคแรกของการปฏิวัติอุตสาหกรรมตามการแบ่งของ Schwab เริ่มจากช่วงประมาณ พ.ศ. 2303 จนถึงประมาณ พ.ศ. 2383 (ค.ศ. 1760-1840 คือช่วงปลายอยุธยาจนถึงกลางรัชกาลที่ 3) โดยพลังผลักดันของจุดพลิกผันเชิงเทคโนโลยี คือการก่อกำเนิดเครื่องจักรไอน้ำและการสร้างเครือข่ายเส้นทางรถไฟนั่นเอง
ยุคสองของการปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มขึ้นอย่างจริงจังในราวปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 หรือช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ที่เริ่มมีการผลิตแบบ Mass Production โดยพลังผลักดันจากพัฒนาการของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและการจัดการผลิตแบบ Assembly Line
ยุคที่สามก่อเกิดในช่วงทศวรรษ 1960s หรือช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2503 เป็นต้นมาจนถึงช่วงทศวรรษ 1990s (ประมาณ พ.ศ. 2533-2543) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงพัฒนาอันเนื่องมาแต่การก่อกำเนิดของ Semiconductor และ Mainframe Computer (ในยุคทศวรรษ 1960s) และ Personal Computer (ระหว่างทศวรรษ 1970s-1980s) และสุดท้ายคือการอุบัติขึ้นของ Internet (ในยุค 1990s)
จากพื้นฐานการพัฒนาของยุคที่สาม ทำให้เกิดการต่อยอดสู่ยุคที่สี่คือยุคที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงแห่งยุคนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของเทคโนโลยี Digital ซึ่งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทุกวงการ พร้อมทั้งเครื่องมือสื่อสารที่พัฒนาขีดความสามารถอย่างก้าวกระโดดภายในเวลาไม่กี่ปี และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ขยายไปทั่วทั้งโลกในเวลารวดเร็ว
ขีดความสามารถที่เพิ่งขึ้นอย่างมหาศาลของเซนเซอร์ ไมโครโพรเซสเซอร์ชิป ตลอดจน Hardware/ Software ต่างๆ ที่ล้วนราคาถูกลง เป็นพื้นฐานให้มีการต่อยอดในเชิงเทคโนโลยีที่จะเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็น Artificial Intelligence และ Machine Learning รถยนต์และหุ่นยนต์ช่วยผลิตแบบอัตโนมัติ (Industrial 4.0) นาโนเทคโนโลยี ตลอดถึงการค้นพบและสังเคราะห์วัสดุใหม่ๆ และ Quantum Computer และ Gene Sequencing หรือเทคนิคใหม่ๆอย่าง Crispr/ Cas9 ซึ่งจะส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการกิน การอยู่และอุตสาหกรรมการแพทย์ อาหารและยา หรือแม้กระทั่งการเกษตร
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นับวันยิ่งจะจับต้องได้ ดังนั้นเราควรต้องตระหนักและร่วมกันคิดว่าจะดีลกับมันอย่างไร ต้องหาความร่วมมือในระดับโลก
Klaus Schwab ยังได้วิเคราะห์แยกแยะให้เห็นอย่างละเอียดว่า เทคโนโลยีที่เป็นตัวผลักดันการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คืออะไร ทั้งในเชิง Physical, Digital, และ Biology
อีกทั้งยังวิเคราะห์และเสนอความเห็นว่า Megatrends เหล่านี้จะกระทบและสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเมืองการปกครองในระดับประเทศและระดับโลก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมและปัจเจกชน อย่างไรบ้าง
ครอบคลุมผลกระทบทั้งในเชิงของการเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และลักษณะของงานบางประเภทที่จะเปลี่ยนไป ความคาดหวังของผู้บริโภค สินค้าแบบใหม่ที่อาศัยข้อมูลมาเพิ่มขีดความสามารถ เครือข่ายนวัตกรรม และแบบแผนการทำธุรกิจอย่างใหม่ ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดกับรัฐบาล กฎหมาย ประเทศต่างๆ ในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งระบบความสัมพันธ์และประเด็นความมั่นคงในระดับโลก ความเหลื่อมล้ำในสังคมและการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นกลาง ชุมชน และตัวตนในระดับปัจเจก
อีกทั้งยังโยงไปถึงประเด็นเชิงจริยธรรม การเชื่อมโยงระหว่างปัจเจก และการจัดการกับข้อมูลเชิงปัจเจกและข้อมูลสาธารณะ
ในความเห็นของเรา หนังสือเล่มนี้ต่อยอดมาจาก The Second Machine Age: Work, Progress, and Prosperity in a Time of Brilliant Technologies ที่เขียนโดย Erik Brynjolfsson และ Andrew McAfee เมื่อหลายปีก่อน
ทว่า ได้ลงลึกไปถึงรายละเอียดที่มีประโยชน์มากคือ การนำเอารายงานที่ปรับปรุงเพิ่มเติมให้สมสมัยแล้ว เรื่อง Deep Shift-Technology Tipping Points and Societal Impact มาตีพิมพ์เป็นภาคผนวก ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับหนังสือเล่มนี้อย่างอเนก เพราะมันคาดการณ์จุดพลิกผันของเทคโนโลยีแต่ละชนิดที่กำลังเป็นเทรนด์สำคัญอยู่นั้น ว่าน่าจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อใด ปีไหน ในความเห็นของผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญที่ตอบแบบสอบถามทั้ง 800 กว่าคนนั้น อีกทั้งยังได้เขียนถึงผลกระทบเชิงลบเชิงบวกและเชิงที่ยังตอบไม่ได้ว่าจะลบหรือบวก แบบเข้าใจง่ายๆ พร้อมแหล่งข้อมูลอ้างอิงอย่างละเอียดยิบโดยการเปลี่ยนแปลงที่เก็งว่าจะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้ง ซึ่งภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้เลือกมาวิเคราะห์ จะมุ่งเจาะจงลงไปยังพื้นที่ของ 23 เทคโนโลยี ต่อไปนี้
เรื่อง : วิริญบิดร วัฒนา