December 13, 2024

เหมา จักรพรรดิตลอดกาล

September 29, 2023 960

บทเรียนจากวิธีบริหารจัดการแบบเหมาเจ๋อตง

แม้ผลงานแย่ ทว่ากลับสามารถครองอำนาจสูงสุดได้จนตายคาตำแหน่ง

“ผู้นำดี” กับ “ผู้นำแย่” บางทีก็ดูกันยาก!

ถ้าเป็นผู้นำทางธุรกิจ อาจดูง่ายหน่อย เพียงใช้ตัวประเมิณผลงานอย่าง กำไร/ขาดทุน ราคาหุ้น การเติบโตของรายได้ การขยายตัวของธุรกิจที่เขาบริหาร สินค้า/บริการใหม่ๆ ที่เขาสร้างขึ้นมาเพื่อยึดครองตลาดจนสำเร็จและสร้างการเติบโตให้กับกิจการ นวัตกรรมใหม่ขององค์กรที่เกิดขึ้นในยุคเขา หรือแม้กระทั่งขวัญกำลังใจและความรักผูกพันต่อองค์กรของพนักงานในยุคที่เขาบริหารอยู่ ความพอใจของผู้ถือหุ้นและบรรดา Stakeholders อื่น ตลอดจนแผนการสืบทอดอำนาจที่ราบรื่น ไม่ทำให้กิจการเกิดการแก่งแย่งอำนาจบริหารกันจนตกต่ำ

ทว่า ถ้าเป็นผู้นำทางการเมืองหรือผู้นำประเทศและชาติต่างๆ อาจวัดกันยากสักหน่อย

นั่นจึงไม่แปลกที่ผู้คนสมัยนี้บางกลุ่มบางพวกยังคงเลื่อมใสนับถือยกย่องอดีตผู้นำอย่าง ฮิตเลอร์ สตาลิน หรือแม้กระทั่ง นโปเลียน และจิ๋นซีฮ่องเต้ ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านี้เป็นต้นเหตุให้ผู้คนในยุคนั้นๆ ต้องล้มตายกันอย่างมากมายมหาศาล ก่อสงครามหรือปราบปรามทรมานฆ่าทิ้งราษฏรกันอย่างน่าสังเวชใจเป็นที่สุด

ปัจจุบันเรามีตัวอย่างชีวิตของผู้นำที่เก่งและทรงประสิทธิภาพจำนวนมาก หนังสือ คลิป พ็อดแคส ที่เผยเทคนิคการบริหารจัดการของ Steve Jobs, Bill Gates, Mark Zuckerberg, Warren Buffet, หรือแม้แต่ กษัตริย์พระองค์สำคัญในอดีต และมหาบุรุษอย่างเยซู หรือพระพุทธเจ้า

เหล่านี้คือไอดอลของผู้นำหรือนักบริหารทุกระดับ เพราะคนเหล่านี้เป็นผู้นำที่ผู้ตามยอมลงให้และสามารถกุมอำนาจ กุมความจงรักภักดีของสาวกได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งนี้เพราะพวกเขาสามารถมากจริงๆ ซึ่งถ้าเราดูผลงานของพวกเขาก็จะประจักษ์ได้ไม่ยาก

แน่นอนว่า ในทุกสังคม คนเก่งหรือคนที่ไม่ได้เรื่องไปเลย ย่อมมีจำนวนน้อยกว่าคนที่เป็น “พวกกลางๆ”

ผู้นำหรือผู้บริหารก็เช่นกัน ถ้าวัดกันอย่างใจเป็นธรรมแล้ว ก็เห็นได้ไม่ยากว่า ส่วนใหญ่มักเป็นพวกกลางๆ เป็นลักษณะ “กึ่งดิบกึ่งดี” ซะมาก

แล้วผู้บริหาร “กึ่งดิบกึ่งดี” เหล่านี้ควรมองไปที่ไอดอลคนไหนดี ผู้นำที่ผลงานโดยรวมออกมากลางๆ หรือออกเป็นเชิงลบด้วยซ้ำ แต่ก็สามารถกุมอำนาจบารมีและความจงรักภักดีของผู้ตามไว้ได้จนตลอดชีวิตของพวกเขา

มีอยู่คนหนึ่ง ไม่ห่างจากยุคสมัยของเรามากนัก

เขาคือ “เหมาเจอตง” หรือ “ท่านประธานเหมา” ผู้สามารถรวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่นได้จนมั่นคงหลังถูกต่างชาติเข้ายึดครองและแบ่งฝ่ายทำสงครามกลางเมืองกันมาอย่างยืดเยื้อยาวนาน จนก่อตั้งสาธารณะรัฐประชาชนจีนขึ้นได้เมื่อ พ.ศ. 2492 และยึดกุมอำนาจบริหารสูงสุดนับแต่บัดนั้นจนกระทั่งตายคาตำแหน่งในปี 2519

เหมาเจ๋อตงนั้น แม้จะไม่ใช่ผู้นำธุรกิจ แต่ก็ชอบให้ลูกน้องและราษฏรเรียกตัวเองว่า “ประธานเหมา” โดยให้ใช้ตำแหน่งในภาษาอังกฤษคือ “Chairman” ซึ่งเป็นตำแหน่งในองค์กรธุรกิจ มานำหน้าชื่อตัวเอง จนตลอดยุคสมัยของตัว และยังอุปโลกตัวเองให้เป็น “ครูใหญ่ผู้ไม่รู้จักเหน็จเหนื่อย” ของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และประชาชน โดยได้พิมพ์หนังสือคู่มือการปฏิบัติงาน การบริหารจัดการ การจัดองค์กร การวิเคราะห์สถานการณ์และคู่แข่งขัน การวางแผนและแสวงหาแนวร่วม การประเมินผล กลยุทธ์การแข่งขันและขจัดคู่ต่อสู้ ตลอดจนการหมั่นประเมินผลงานตัวเอง (“คอมมิวนิสต์ที่ดีต้องหมั่นวิจารณ์ตนเอง”) การสร้างแรงจูงใจ ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมต่างๆ ในนาม The Little Red Books หรือที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดพิมพ์ในชื่อไทยว่า “สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตง”

ทุกวันนี้เหมายังได้รับยกย่องอย่างสูงในเชิงสัญลักษณ์ รูปเหมือนของเขาพบได้ทั่วไปในประเทศจีน ประดับไว้ทั้งในสถานที่สำคัญและไม่สำคัญ ทั้งพิมพ์อยู่บนธนบัตรเงินหยวน หนังสือ สิ่งพิมพ์ และสื่อต่างๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยังยกย่องเขา แม้จะรับรู้ความจริงกันมากแล้วว่า ในยุคสมัยที่เขาปกครองอยู่นั้น ประเทศจีนแร้นแค้นมาก ประชาชนส่วนใหญ่ยากจนมากและไร้เสรีภาพโดยสิ้นเชิง นโยบายเขย่งก้าวกระโดดของเขา (Great Leap Forward) ทำให้เกิดขาดแคลนอาหารและผู้คนล้มตายหลายสิบล้านคน และนโยบายปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ก็ทำให้เกิดความสับสนปั่นป่วนวุ่นวาย เกิดโกลาหลทั่วทั้งแผ่นดิน พวกกุมารแดงหรือ Red Guard ที่เขาให้ท้ายและใช้เป็นเครื่องมือ ไม่ยอมเคารพกฎหมาย ฆ่าแกงจับขังทรมารผู้มีอุดมการแตกต่างและฝ่ายตรงข้ามจำนวนมากมายมหาศาล เผาวัดวาอาราม ทำลายสถานที่และวัตถุโบราณตลอดจนหนังสืออันเป็นมรดกสำคัญของวัฒนธรรมจีนทว่าพวกเขาเห็นว่าเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนวัฒนธรรมเดิมที่ต้องถูกทำลายทิ้งถอนรากโคนให้สิ้นซาก และเหมายังถือโอกาสกวาดล้างเพื่อนฝูงนักปฏิวัติตลอดจนลูกน้องเก่าที่ร่วมเป็นร่วมตายกันมาในยุคสงครามกลางเมือง บ้างถูกประจานและปล่อยให้ตาย (เช่นอดีตประธานาธิบดีหลิวซ่าวฉี) บ้างก็ถูกทรมารจนพิการหรือวิกลจริต และบ้างก็ถูกเนรเทศให้ไปใช้แรงงานตามท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล (เช่นเติ้งเสี่ยวผิง เป็นต้น)

ทำขนาดนี้ยังสามารถกุมอำนาจสูงสุดอยู่ได้อย่างไร?

เมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์จีนและสังคมจีนช่วงนั้น จะเห็นได้ไม่ยากว่ากลยุทธ์สำคัญที่เหมาเจ๋อตงใช้ในการยึดกุมอำนาจสูงสุดไว้ได้อย่างยาวนานจนตลอดชีวิต แม้จะสร้างผลงานที่แย่ๆ ไว้มากมาย สามารถแสดงให้เห็นเป็นข้อสำคัญดังนี้

ข้อแรก เขาชอบชูคำขวัญอันยิ่งใหญ่

คือเขาสามารถสร้างให้มวลชนเชื่ออย่างมั่นคงเสมอว่า ทุกสิ่งที่เขาทำ เขากำลัง “รับใช้ประชาชนมวลราษฎรทั้งหลาย” ที่เขารักและยกย่อง แม้ว่าโดยความเป็นจริงแล้วเขาจะทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองก็ตาม

เหมาเจ๋อตงเกิดในครอบครัวชาวนาที่พอมีอันจะกินบ้าง แต่เมื่อเขาขึ้นเป็นใหญ่แล้ว เขาใช้ชีวิตไม่ต่างจากฮ่องเต้ในอดีต พำนักในราชวังเดิม แวดล้อมไปด้วยสนมและองครักษ์จำนวนมาก ไปไหนมาไหนต้องมีคนแบกเกี้ยว และมีบ้านตากอากาศจำนวนมากทั่วประเทศจีน ที่ต้องได้รับการอารักขาอย่างแน่นหนา

โดยเนื้อแท้แล้ว เหมาเจ๋อตงเป็นปัญญาชนนักปฏิวัติ คือเขาสนใจเรื่องทางความคิดความอ่านมากกว่าความสำคัญหรือค่าของชีวิตคน เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตไปกับการอ่านหนังสือ เขามักให้เผยแพร่รูปถ่ายที่ตัวเขานั่งอ่านท่ามกลางกองหนังสือรกๆ และจับภู่กันหรือปากกาเขียนหนังสือเสมอ เพื่อเผยแพร่ภาพลักษณ์ความเป็นปัญญาชนของตัวเองไปทั่วโลก เขาเป็น Idealist ที่เชื่อทฤษฎีวิวัฒนาการสังคมของ Marx ว่าพรรคคอมมิวนิสต์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเขาเอง) จะสามารถขจัดชนชั้นและสร้างความเท่าเทียมของมวลมนุษย์ได้ เขาใช้ประเทศจีนเป็นห้องทดลอง และใช้ราษฎรจีนเป็นหนูทดลอง เขาออกแบบระบบสังคมและทดลองนโยบายต่างๆ ที่เชื่อว่าจะสร้างสังคมพระศรีอาริย์ แบบที่ Marx ได้ทำนายไว้ โดยไม่สนว่าประชาชนจะเดือนร้อนยากจนอดอยากพลัดพรากจากครอบครัวและไร้เสรีภาพสักเพียงใด โดยที่ตัวเขามีความเป็นอยู่แบบฮ่องเต้ ตลอดเวลาที่เขาทำการทดลองนั้น

นโยบายจำนวนมากของเขาที่ทะยอยออกมาหลังยึดอำนาจได้แล้ว ล้วนเป็นไปเพื่อการนี้ ตั้งแต่นโยบายปฏิรูปที่ดิน (จริงๆ คือยึดที่ดินและทรัพย์สินของชนชั้นพ่อค้า นายทุน ศักดินา) นโยบายขจัดความคิดเอียงขวา (คือการกวดล้างนายทุนน้อยหรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายเล็กรายย่อย อีกทั้งผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคฯ และตัวเขา) นโยบายเขย่งก้าวกระโดด ที่ต้องการผลักให้สังคมจีนจากสังคมเกษตรมาสู่อุตสาหกรรมโดยก้าวกระโดด (ซึ่งก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก ผู้คนต้องล้มตายหลายสิบล้านคน) และนโยบายปฏิวัติวัฒนธรรม (คือการกวาดล้างศัตรูและผู้ไม่เห็นด้วยกับความคิดซ้ายจัดของเขาครั้งใหญ่)

ความผิดพลาดจากนโยบายหลายอย่างของเขาทำให้ผู้คนต้องล้มตายกว่า 70 ล้านคนในยุคของเขา แต่เขาก็สามารถทำให้คนเชื่อว่าทั้งหมดนั้น เขาทำเพื่อรับใช้มวลชน และเขาจะหมั่นโฆษณาคำขวัญของพรรคฯ เสมอว่า “พรรคฯ ต้องรับใช้มวลชน”

นั่นทำให้เรานึกถึงผู้นำธุรกิจหรือนักการเมืองประเภท “ปากอย่างใจอย่าง” ที่มักตะโกนคำขวัญทำนองนี้กันอยู่ในปัจจุบัน.... “เข้ามาเพื่อรับใช้ประชาชน” “ยอมกลืนเลือดเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้า” “โกหกเพื่อชาติ” หรือแม้กระทั่ง “องค์กรของเรารักษ์โลกและทำเพื่อสังคม” และสโลแกนของโครงการ CSR ต่างๆ ที่มีอย่างเกลื่นกลาด

ข้อต่อมา คือใช้การโฆษณาชวนเชื่อให้เป็นประโยชน์กับการบริหารจัดการ

เมื่อเขายังเดินทัพทางไกลอยู่นั้น เขาใช้วิธีอนุญาตให้นักข่าวอเมริกันเข้าถึงตัวเขาเพื่อมากินมานอนใช้ชีวิตอยู่กับกองกำลังปฏิวัติของเขาและทำการสัมภาษณ์เขาไปด้วย โดยเขาใช้วิธีพูดคุยอย่างเป็นกันเองพร้อมแสดงภูมิปัญญาอันลึกซึ้งของตัวเองอย่างเต็มที่และเลี้ยงดูปูเสื่อฝรั่งแบบไม่ขาดตกบกพร่อง ตลอดจนยอมให้เข้าถึงความลับหรือกลยุทธ์สำคัญบางประการในช่วงนั้น ทำให้นักข่าวเหล่านั้นเกิดความประทับใจ แล้วกลับไปเขียนหนังสือ จนโด่งดังไปทั่วโลก นับเป็นการสร้างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จมากในระดับโลก

เมื่อเขายึดอำนาจรัฐได้สำเร็จ เขาให้ความสำคัญกับทีมโฆษณาชวนเชื่ออย่างมาก เขาเลียนแบบสิ่งที่ Joseph Geobbel ทำในสมัยนาซีเยอรมัน และสตาลินทำในโซเวียต ทั้งการออกแบบสถาปัตยกรรมและเครื่องแต่งกายของบรรดาสมาชิกพรรคฯ ทั้งสิ่งพิมพ์ของพรรคฯ โปสเตอร์จำนวนมาก (ปัจจุบันเป็นที่ต้องการอย่างมากของนักสะสม) และที่สำคัญคือ “สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตง” ที่เป็นข้อเขียนและบทปฐกถาในวาระต่างๆ ของเขาเอง ที่บังคับให้ผู้ปฏิบัติงานของพรรค (Cadre) และประชาชน ต้องอ่านและมีไว้ประจำบ้าน โดยผู้ที่ยังคิดเห็นเป็นอื่น หรือปฏิบัติผิดแนวทาง จะถูกจับเข้าค่ายแรงงาน เพื่อไปใช้แรงงาน (อ้างว่าเพื่อฝึกให้รู้จักเสียสละ) และรับการศึกษาเสียใหม่ (Re-education) ซึ่งเป็นการล้างสมองแบบหนึ่ง

นโยบายโฆษณาชวนเชื่อ เป็นหัวใจสำคัญของการปกครองในระบอบเผด็จอำนาจ เพราะต้องอาศัยการจูงใจให้มวลชนเสียสละ ยอมลำบากลำบน โดยอ้างว่าเพื่อส่วนรวม และหลายครั้งต้องโกหกหรือพูดความจริงไม่หมด เพื่อให้คนคิดเหมือนกัน หรือไม่ก็เพื่อหลอกให้ศัตรูเผยโฉมออกมา (เช่นนโยบาย “ร้อยบุปผาเบ่งบาน” ของเหมาเจอตงที่ล่อให้ปัญญาชนฝ่ายตรงข้ามเชื่อและยอมเผยความคิดต่างออกมา จึงถูกชี้เป้าได้ง่ายขึ้น)

สมัยที่เขายังมีชีวิตอยู่ เขาได้ใช้และหันเหให้สื่อของรัฐและพรรคฯ ทำการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับตัวเขา และสิ่งที่เขาทำเพื่อ “รับใช้มวลชน” เพื่อให้เกิด “ลัทธิบูชาตัวบุคคล” คือบูชาตัวเขาขึ้นในเมืองจีน จนต่อมาเมื่อเติ้งเสี่ยวผิงขึ้นมากุมอำนาจสูงสุดได้แล้ว จึงสั่งให้เลิก รวมทั้งสโลแกน “รับใช้มวลชน” ของเหมา ก็ถูกเติ้งเปลี่ยนใหม่เป็น “หาความจริงจากข้อเท็จจริง” ซึ่งเขาใช้เป็นสโลแกนของนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจอันโด่งดังของเขา หรือ “นโยบายสี่ทันสมัย” นั่นเอง

ข้อที่สาม คือเขาใช้วิธีสอดส่องพฤติกรรมของลูกน้องและศัตรู

เหมาเจ๋อตงมักใช้วิธีกวาดล้างลูกน้องเพื่อนฝูงและศัตรูทางการเมืองที่ตัวเองมองว่าจะเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจตนหากปล่อยไว้ ตลอดจนพวกที่ไม่เห็นด้วยกับตนก็ถูกสอดส่องจับตาอย่างใกล้ชิดจากกองตำรวจลับและถูกทำให้ตกอยู่ภายใต้ความกลัว เพื่อควบคุมไม่ให้แข็งข้อและปฏิบัติออกนอกแนวทางที่ตนคิดว่าถูกและบอกให้ทำ

ในยุคของเขา ผู้ปฏิบัติงานของหน่วยตำรวจลับ (คล้ายๆ Agent ของ CIA หรือ KGB) แทรกซึมเข้าไปสู่ทุกหน่วยของสังคม ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ขึ้นไปจนถึงหน่วยงานของรัฐและระดับนำของพรรคฯ เพื่อคอยสอดส่องและรายงานพฤติกรรมของทุกคน (ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมนั้น ไม่เว้นแม้แต่ในครอบครัวเดียวกัน ก็สอดส่องกันเองด้วย)

บทแรกของ “สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตง” ที่เขาเขียนนั้นขึ้นต้นด้วยคำถาม 2 ประโยคว่า “ใครเป็นศัตรูของเรา? ใครเป็นมิตรของเรา? ปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญอันดับแรกของการปฏิวัติ”

เหมาเจ๋อตงเป็นนักบริหารที่ระวังตัว ไม่ยอมให้ลูกน้องที่เขาใช้งานในการบริหารราชการแผ่นดินเข้าใกล้ชิดจนมากเกินไป เพราะเขาถือว่าตัวเขาคือ “อำนาจ” การเข้าใกล้เขามาก จะทำให้พวกเหล่านั้นพลอยมีอำนาจไปด้วย สไตล์การบริหารของเขามีลักษณะเฉียบขาดและยึดความคิดตัวเองเป็นหลัก การประเมินผลงานขึ้นอยู่กับความพอใจของเขา บทจะโปรโมทใครที่เขาพอใจ ก็อาจเติบโตได้แบบก้าวกระโดด แต่บัดเดี๋ยวก็อาจถูกสั่งปลดหรือสั่งขังหรือเนรเทศเมื่อเขาไม่พอใจขึ้นมา หรือเมื่อเขามองว่าสถานการณ์ต้องเป็นแบบนั้น (ลองดูชะตากรรมของเติ้งเสี่ยวผิง) เขายอมสละแม้กระทั่งลูกเมีย หากมันจำเป็น (แม้แต่หมอที่เคยช่วยชีวิตเขาไว้ เขายังปล่อยให้ตายในคุก เพราะถูกยัดข้อหาที่ไม่เป็นธรรม)

เขาศึกษาประวัติศาสตร์มากและลึกซึ้ง เขานับถือนโปเลียน เลนิน และสตาลิน ทำให้เขาทราบว่านโปเลียนใช้กองตำรวจลับ (Secret Police) เป็นเครื่องมือในการกวาดล้านศัตรูทางการเมือง โดยให้ฟูเช่ (Joseph Fouche) ซึ่งเขาไว้ใจ เป็นผู้ควบคุม เลนินเองก็ศึกษาจากนโปเลียน โดยเขาได้ให้ตั้งหน่วยตำรวจลับขึ้นทันทีที่พรรคบอลเชวิกยึดอำนาจได้ และหน่วยนี้ก็เพิ่มความสำคัญขึ้นอย่างมากถึงมากที่สุดในยุคของสตาลิน (ภายใต้การควบคุมของแบเรีย) ที่ใช้ตำรวจลับกวาดล้างศัตรูไปเป็นจำนวนหลายสิบล้านคน โดยต่อมา ฮิตเลอร์ก็นำกลยุทธ์นี้มาใช้ และใช้ได้อย่างทรงประสิทธิภาพมากๆ ตามแบบเยอรมัน ทำให้หน่วย “เกสตาโป” ของเขาเป็นที่น่าเกรงขามอย่างมาก ไม่ต่างกับ “เคมเปไต” ของญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นชาติที่วินัยเข้มแข็งและทำอะไรได้ทรงประสิทธิภาพไม่แพ้เยอรมัน

เหมาเจ๋อตงก็ได้ใช้บริการของหน่วยงานตำรวจลับเช่นเดียวกัน (ภายใต้การควบคุมของคังเซิน) โดยหน่วยของเขาก็โหดเหี้ยมน่าเกรงขาม ไม่แพ้เกสตาโปและเคมเปไต ที่ไม่คำนึงถึงวิธีการที่ใช้ ทั้งจับเข้าค่ายกักกัน ทรมานด้วยวิธีโหดร้าย ขังลืม แบล็กเมล์ด้วยการลักพาตัวสมาชิกครอบครัวสมาชิกพรรคระดับสูง ใส่ร้ายป้ายสี และยัดข้อหาดื้อๆ ฯลฯ

ข้อสุดท้าย คือเขาเก่งในการออกแบบนโยบายใหญ่ๆ ใหม่ๆ ได้เสมอๆ

เหมาเจ๋อตงเป็นคนคิดการใหญ่ นโยบายที่เขาคิดและออกแบบขึ้นตั้งแต่ขึ้นสู่อำนาจ ล้วนเป็นนโยบายประเภท “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน”... “ขุดรากถอนโคนความคิดเก่า” “ขจัดพวกฉวยโอกาสเอียงขวา ซากเดนศักดินา ลูกสมุนทุนนิยมและจักรวรรดินิยม” “เขย่งก้าวกระโดด” “ปฏิวัติวัฒนธรรม”....ด้วยไอเดียอันบรรเจิดของเขา ข้าราชการและราษฏรจีนในยุคของเขาแทบจะไม่ได้หยุดไม่ได้หย่อน ตลอดระยะเวลา 30 ปี

บางทีการขยันคิดออกแบบนโยบายใหญ่ๆ ประเภทพลิกฟ้าคว่าแผ่นดินออกมาอย่างไม่ขาดสาย ก็เป็นการกลบเกลื่อนความไร้ประสิทธิภาพหรือความล้มเหลวของนโยบายเก่าได้ดีเหมือนกัน เปรียบได้กับผู้นำขององค์กรธุรกิจที่มักประกาศปรับองค์กรอยู่ตลอดเวลา บัดเดี๋ยวก็ Restructuring บัดเดี๋ยวก็ Re-engineering บัดเดี๋ยวก็ Re-thinking บัดเดี๋ยวก็ Re-branding

ทั้งหมดนี้ ทำให้เหมาเจ๋อตงกลายสภาพเป็นดั่งเทพเจ้าในสายตาคนจีนที่อยู่ภายใต้การปกครองของเขา พวกเขามองไปที่ผู้นำเพื่อคอยฟังบัญชาว่าเหมาจะให้เขาเดินอย่างไรต่อ พวกเขามองไปที่เหมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และเมื่อพวกเขาสิ้นหวัง

เราทราบกันดีแล้วว่า ในยุคของเหมานั้น เศรษฐกิจของจีนล้มเหลว ประเทศจีนเป็นประเทศยากจน เกษตรกรรมล้าหลัง อุตสาหกรรมล้มเหลว ระบบราชการไร้ประสิทธิภาพ ความคิดสร้างสรรค์แห้งแล้ง และไร้นวัตกรรม อีกความกลัวยังปกคลุมไปทั่ว ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องสังเวยชีวิตมากกว่า 70 ล้านคน ไม่นับที่ต้องทุพลภาพและวิกลจริตไปเพราะถูกยัดข้อหาทางการเมืองที่ไร้หลักฐาน

ถึงกระนั้น เหมาเจ๋อตง ผู้นำที่ต้องรับผิดชอบต่อความล้มเหลวไร้ประสิทธิภาพดังว่านั้น ก็ยังคงกุมอำนาจสูงสุดไว้ได้ตลอดมา

และประชาชนชาวจีนก็ยังรักและเคารพประธานเหมาของพวกเขาเสมอ

นี่น่าจะเป็นบทเรียนให้ใครซึ่งกำลังครองตำแหน่งผู้นำองค์กรจำนวนมาก ที่รู้ตัวว่าไม่ได้เก่งกาจอะไร ทว่าต้องการที่จะครองอำนาจสูงสุดไว้ในมือจนตายคาตำแหน่ง

โดย ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว / Editor in Chief _MBA magazine

29/09/2566

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Friday, 29 September 2023 12:06
X

Right Click

No right click