January 22, 2025

การประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยโดยคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เมื่อวันที่ 17-18 กันยายนที่ผ่านมา นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ผลกระทบนี้ส่งผลชัดเจนอย่างยิ่งต่อตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มักมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจมหภาค เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่อาจช่วยเสริมสภาพคล่อง และโอกาสในการเติบโต โดยเฉพาะการลดต้นทุนการกู้ยืมที่สามารถกระตุ้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง นักลงทุนหลายคนจึงมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมากยิ่งขึ้น

ภาพรวมพื้นฐานเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย และนโยบายล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ

อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดโดยธนาคารกลางมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายทางการเงิน ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการกู้ยืม การใช้จ่าย และการตัดสินใจลงทุน ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ได้ลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 23 ปีที่ 5.25%-5.50% ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมเงินเฟ้ออย่างเข้มงวดในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา โดยเงินเฟ้อได้ลดลงจาก 7.1% มาอยู่ที่ 2.5% โดยหลังจากวิกฤตโควิด-19 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นถึง 11 ครั้งภายในช่วงเวลาเพียงหนึ่งปี เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อโดยไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

ศักยภาพในการฟื้นตัวของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

ในแง่ของสินทรัพย์ดิจิทัล ผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะโดยทั่วไปแล้ว สินทรัพย์ดิจิทัล เช่น บิทคอยน์ มักมีปฏิกิริยาเชิงลบต่อการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่มุ่งควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ในทางกลับกัน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยมักถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลเชิงบวกต่อสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์เสี่ยง

 

นาย นิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไบแนนซ์ ทีเอช (BINANCE TH)  เผยความเห็นต่อทิศทางนี้ว่า “เราคาดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน ซึ่งจะกระตุ้นความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงและมีความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่น บิทคอยน์ที่เคยมีมูลค่าพุ่งสูงขึ้นถึง 375% ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถึง 2565 ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยใกล้แตะระดับศูนย์”

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดต้นทุนการกู้ยืม ส่งผลให้เกิดการไหลเข้ามาของเงินทุนที่มักมุ่งไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น สินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากนี้ ด้วยคุณสมบัติในการต้านภาวะเงินเฟ้อ อาจยิ่งทำให้บิทคอยน์มีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผู้คนเกิดความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ จากการคาดการณ์การใช้จ่ายและการกู้ยืมเงินที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมักเกิดขึ้นพร้อมกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อาจยิ่งช่วยทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้น ในฐานะเกราะป้องกันความเสี่ยงจากลดค่าของเงินตรา

 

ปัจจัยเฉพาะที่มีผลต่อสินทรัพย์ดิจิทัล

นอกเหนือจากปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคแล้ว บิทคอยน์และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ยังมีลักษณะเฉพาะที่อาจส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโต หนึ่งในนั้นคือ การเกิด Bitcoin Halving ที่ในอดีตมักส่งผลให้มูลค่าของบิทคอยน์ปรับตัวสูงขึ้นภายในระยะเวลา 6-8 เดือน ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าผลลัพธ์ในอดีตจะไม่สามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ปรากฏการณ์ Bitcoin Halving อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ทิศทางให้กับเหล่านักลงทุน และเมื่อผสานรวมกับการเข้ามาของ Spot ETFs รวมถึงสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ยิ่งอาจส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดคริปโตมากขึ้นตามไปด้วย

นาย นิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเกิดปรากฏการณ์ Bitcoin Halving และการเปิดตัวของ Spot ETFs ในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญที่อาจมีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งถึงแม้ว่าเดือนกันยายน มักเป็นช่วงที่สินทรัพย์ดิจิทัลอ่อนตัว แต่ราคาก็มักจะฟื้นตัวและดีดสูงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ คาดว่าจะยิ่งเสริมแรงส่งให้ราคาดีดกลับตัวสูงขึ้นยิ่งกว่าเดิม”

นอกจากนี้ ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ กำลังเดินหน้าเตรียมปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน การประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ อาจนำไปสู่ยุคใหม่ของการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ (Economic recalibration) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมคริปโตได้เช่นกัน

ถึงแม้ว่าผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นยังคงมีความไม่แน่นอน แต่สัญญาณต่างๆ ได้บ่งชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนี้ อาจเป็นจังหวะที่ดีสำหรับนักลงทุน เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลง และสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลมีความน่าสนใจ นอกจากนี้ จากการศึกษาเทรนด์ในอดีต รวมถึงปัจจัยเฉพาะด้านเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ยังตอกย้ำให้เห็นว่าการปรับนโยบายในครั้งนี้ อาจเป็นแรงกระตุ้นที่เร่งให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลได้อีกด้วย” นาย นิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล กล่าวปิดท้าย

FEDCOIN

October 20, 2021

การเตรียมตัวเข้าตลาดหุ้นของ RIPPLE LABS  ถือเป็นนิมิตหมายอันดีของกิจการประเภท Crypto / Blockchain ที่ในรอบหลายปีมานี้ถูกมองในแง่ลบ จนทางการต้องยื่นมือเข้าไปคุมจนกระดุกกระดิกแทบไม่ได้ ส่งผลให้ตลาดระดมทุน ICO ทั่วโลก ซบเซาลงจนแทบไม่เหลือ

ยากที่คนทั่วไปซึ่งมองเห็นแง่งามของธุรกิจประเภทนี้จะเข้าไปร่วมลงทุนกับ Asset Class ประเภทนี้ได้

นับว่าน่าเสียดาย

แต่การที่ Ripple จะเป็นหัวขบวนในการทำ IPO ย่อมเปิดทางให้กับกิจการรายอื่นๆ ทยอยกันเข้าตลาดด้วย (เราคาดว่า Coinbase คงจะตามมาในไม่ช้า) นับเป็นการสร้างความโปร่งใสให้กับอุตสาหกรรม Crypto / Blockchain ในภาพรวม

ต่อไป นักลงทุนและสื่อมวลชนจะเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและมากขึ้น ช่วยสร้างความเข้าใจให้กับคนหมู่มาก เปิดม่านให้สังคมได้เห็นถึงศักยภาพอันเป็นประโยชน์มากมายของเทคโนโลยีประเภทนี้ และเปิดทางเลือกให้นักลงทุนสามารถใช้ Asset Class ประเภทนี้ เข้ามาในพอร์ตเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงทางการเงินของอนาคตตัวได้อีกทางหนึ่ง

กลับมาที่ WEF ซึ่ง Center For the Fourth Industrial Revolution ของเขา เพิ่งออกรายงานใหม่มาชิ้นหนึ่งชื่อ “Central Bank Digital Currency Policy-Maker Toolkit” เพื่อให้เป็นคู่มือสำหรับธนาคารกลางที่จะสร้างสกุลเงินดิจิทัล (CBDC) ของตัวเอง

นับแต่เกิดบล็อกเชนและเงินคลิปโต แวดวงเงินดิจิทัลพัฒนามาไกลแล้ว กระทั่งธนาคารกลางของชาติสำคัญเองก็เข้าไปจับ เพื่อหาทางนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้พัฒนาเงินดิจิทัลของตัว

ณ ขณะนี้ มีธนาคารชาติอย่างน้อย 18 ประเทศ ที่กำลังพัฒนาและทดลองแนวนี้อยู่ รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย (โครงการอินทนนท์)

ที่สำคัญคือธนาคารกลางของจีนที่หลายคนประเมินว่าจะออก “หยวนคอย” มาใช้ได้ในปีนี้ ซึ่งทำให้สหรัฐฯ หวั่นใจว่าจีนจะแซงหน้า จึงได้มีผู้นำหลายคนออกมาเตือนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ รีบชิงออก FedCoin ของตัวเองเสียก่อน และเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเงินดิจิทัลของตัวให้สมบูรณ์ เพื่อรักษาความยิ่งใหญ่ของสกุลเงินดอลลาร์ไว้

อันที่จริง ถ้ามองเรื่องความพร้อมของเทคโนโลยี ธนาคารกลางทั่วไปสามารถนำบล็อกเชนและเงินคลิปโตของตัวเองออกมาใช้ได้ไม่ยาก ทว่ามันจะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงิน ทำให้สถาบันการเงินเจ๊ง เพราะมันจะตัดตัวกลางออก ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มากกับอุตสาหกรรมยักษ์อันหนึ่งของโลกทุนนิยม

คือประชาชนทั่วไปสามารถเปิดบัญชีและทำธุรกรรมโดยตรงกับธนาคารชาติได้เลยโดยไม่ต้องผ่านธนาคารพาณิชย์ และธนาคารชาติก็จะเห็นทุกธุรกรรมของทุกคน สามารถปล่อยกู้ให้ใครก็ได้โดยตรง เพียงสั่งโอนเงินคลิปโตเข้าวอลเล็ทของคนๆ นั้น และในทางกลับกันก็สามารถสั่งหักเงินใครก็ได้โดยตรงเช่นกัน

พูดไปแล้วมันก็เหมือนดาบสองคม คือแม้ว่ามันจะทำให้ธุรกรรมการเงินถูกลงมากเพราะตัดตัวกลางทิ้ง แต่รัฐบาลก็จะสามารถกำกับบุคคลแต่ละคนได้ผ่านธุรกรรมทางการเงิน เช่นบังคับเก็บภาษีโดยอัตโนมัติ หรือกำหนดให้ใช้จ่ายได้/ไม่ได้ ตามที่รัฐบาลต้องการ (เช่นเด็กอายุน้อยกว่า 15 ห้ามใช้เงินคลิปโตจ่ายซื้อแอลกอฮอล์ หรือกำหนดให้เบิกหรือโอนเงินได้วันละเท่านั้นเท่านี้ เป็นต้น ฯลฯ)

การฟอกเงินและโกงกันผ่านการหลอกให้โอนเงินจะกลายเป็นอดีต

MIT Digital Currency Initiative ของสถาบันเอ็มไอที จึงออกผลการศึกษามาเตือนในประเด็นนี้ เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาว่า ถ้าบรรดาธนาคารกลางจะออกเงินคลิปโตของตัวเอง ก็ควรจะใช้คุณสมบัติของบล็อกเชนให้เต็มที่ คือควรคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของประชาชน และใช้ Smart Contract เข้ามาช่วยในการดำเนินนโยบายการเงินของตัวเองเสียแต่ต้นอย่างโปร่งใส เช่น ถ้าต้องการเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ต่อปีในปีนี้ ก็ควรโปรแกรมไว้แต่แรก เพื่อป้องกันการพิมพ์เงินเพิ่มตามอำเภอใจ เป็นต้น

ทว่า MIT ก็รู้อยู่แล้วว่ามันเป็นไปได้ยาก เพราะธนาคารกลางที่ไหนก็ล้วนต้องการเข้าควบคุมแบบ 100%

พวกเขาต้องการรู้ทุกธุรกรรม ตรวจสอบทุกธุรกรรม หรือไม่ก็เก็บภาษีจากทุกธุรกรรม

กระนั้นก็ตาม เพียงไม่กี่ปี เราก็ได้เห็นแล้วว่าเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับเงินดิจิทัลก้าวกระโดดขึ้นเพียงใด

ฟันธงไปได้เลยว่าไม่พ้นปีนี้ เราคงได้เห็นเงินดิจิทัลสกุลสำคัญของโลกที่พัฒนาบนบล็อกเชนโดยธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ ออกมาใช้กันอย่างแน่นอน

30 มกราคม 2563

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

X

Right Click

No right click