ฉากแรก คือประมาณปลายปี 2540 ณ กลางซอยทองหล่อ คลาคล่ำไปด้วยผู้ซื้อผู้ขายที่นำรถยนต์ของตัวเองมาเปิดท้ายขายของดีๆ
ที่ขนมาจากบ้าน เพื่อต้องการลดภาระผ่อนบ้านผ่อนรถและนำเงินสดไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะตัวเองเพิ่งจะตกงานทั้งผัวทั้งเมีย
ใช่แล้ว “ตลาดนัดคนเคยรวย”
สื่อมวลชนทั่วโลกพากันมาทำข่าวและสัมภาษณ์ผู้ขายเหล่านั้นซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็น “มนุษย์ทองคำ” อยู่ในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เงินเดือนสูงและโบนัสมากกว่า 24 เดือนต่อเนื่องกันหลายปี
การสั่งปิด 56 ไฟแนนซ์ ตามคำแนะนำของ IMF เจ้าหนี้รายใหญ่ของรัฐบาลขณะนั้น ทำให้พวกเขาตกงานแบบฉับพลัน
มูลเหตุสำคัญคือวิกฤติหนี้ต่างประเทศ (ภาคเอกชนก่อหนี้ต่างประเทศมาก) และการเก็งกำไรทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจมาเป็นเวลายาวนาน
ทว่า ไม้ขีดไฟก้านแรกที่จุดชนวนระเบิด เกิดจากการที่แบงก์ชาตินำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปปกป้องค่าเงินบาทแต่ขาดทุนเกือบหมดหน้าตัก
จนรัฐบาลต้องลอยค่าเงินบาทเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม และเข้าพึ่งพิง IMF ส่งผลให้หนี้สินต่างประเทศของภาคเอกชนซึ่งมีจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจ สูงขึ้นกว่าเท่าตัว
แล้วทุกอย่างก็เหมือนถูกเบรก ราคาสินทรัพย์ตกลงฮวบฮาบ ดอกเบี้ยสูงขึ้นอย่างมหาโหด เงินหายไปจากระบบ ภาคเอกชนทยอยเจ๊ง ติดต่อกันไปในแทบทุกอุตสาหกรรม
เหมือนกับปาร์ตี้ที่กำลังเฮฮาอู้ฟู้ อาหารเครื่องดื่มหรูหราไม่อั้น ทุกคนสนุกสนานมัวเมา จู่ๆ ก็ถูกถอดปลั๊ก สะดุดหยุดลงดื้อๆ
ลูกโป่งที่ประดับประดาสวยงาม พากันแตกโป้ง ต่อหน้าต่อตา เหลือไว้แต่ขยะกับหนี้สิน ที่ต้องช่วยกันเก็บกวาด
อีกนานกว่าชีวิตจะกลับมาเหมือนเดิม
ขณะที่คนไทยทั้งประเทศกำลังช็อกอยู่นั้น วิกฤติที่รุนแรงแบบเดียวกันก็ได้ลุกลานไปยัง อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย แล้วต่อไปยังรัสเซีย บลาซิล อาร์เจนตินา ฯลฯ
เกิดความโกลาหลไปทั่วทั้งโลก มากบ้างน้อยบ้างตามแต่จำนวนหนี้ที่ตนก่อไว้
ฉากต่อมา คือวันที่ 15 กันยายน 2551 ที่ผู้คนเป็นร้อย พากันเดินออกจากอาคารพร้อมกับกล่องใส่ของใช้ส่วนตัว ลงไปที่ถนน William Street ในแมนฮัตตัน
พวกเขาคืออดีตพนักงานของวานิชธนกิจเก่าแก่และมีชื่อเสียง Lehman Brother ที่ยื่นขอเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย
พนักงานกว่า 25,000 คนทั่วโลก ต้องตกงานพร้อมกัน เพราะความโลภของ Lehman ที่เข้าไปเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ที่เรียกกันว่า “Sup Prime”
วิกฤติ Lehman ได้จุดชนวนให้วิกฤติเศรษฐกิจลุกลามอย่างรวดเร็ว จนรัฐบาลต้องเข้าอุ้มสถาบันการเงินทั้งระบบและกิจการขนาดใหญ่ ด้วยแพ็คเกจช่วยเหลือจำนวนมหาศาล และต้องออกนโยบาย QE และกดดอกเบี้ยให้ต่ำจนผิดปกติไว้ต่อมาอีกนานมาก
“วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” ครั้งนั้น ไม่ได้จำกัดตัวอยู่เฉพาะอเมริกา แต่ได้ติดต่อไปยังญี่ปุ่น จีน และยุโรป
ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่โลกเศร้าหมอง และต้องมารับกรรมกับสิ่งที่พวก Wall Street ก่อไว้ โดยหาตัวคนรับผิดชอบมาลงโทษไม่ได้เลย
ทั้ง “วิกฤติต้มยำกุ้ง” และ “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” พิสูจน์ให้เราเห็นกับตามาแล้วว่า เมื่อเกิดวิกฤติทำนองนี้ขึ้น ความเสียหายมันจะไม่จำกัดขอบเขตอยู่เป็นเอกเทศ
มันมักจะลุกลามเป็นวงกว้าง
ฉากสุดท้าย ที่กำลังดำเนินอยู่ ณ ขณะนี้ เกิดขึ้นที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
ทุกคนล้วนทราบดีว่า Evergrande บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่ก่อหนี้จำนวนมากที่สุดในโลก (มูลหนี้ประมาณ 330,000 ล้านเหรียญฯ) ถูกทางการเข้าสอบสวนมาได้สักพักใหญ่ และเจ้าของซึ่งมีฐานะระดับอภิมหาเศรษฐีเพิ่งถูกรัฐบาลจับตัวไป
ที่สำคัญ Evergrande ได้ยื่นศาลในสหรัฐฯ ขอคุ้มครองในกระบวนการล้มละลาย ภายใต้มาตรา 15 หรือ Chapter 15 เมื่อเดือนที่ผ่านมา และตำรวจสหรัฐฯ ก็ได้เข้าจับกุมพนักงานของ Evergrande Wealth Management จำนวนหนึ่ง
Evergrande นั้นเป็นกิจการอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน ที่ทำโครงการกว่า 1,300 โครงการใน 280 เมือง และมีหนี้สินถึง 330,000 เหรียญฯ เท่ากับประมาณ 2% ของ GDP จีน
ตั้งแต่ปี 2564 Evergrande เริ่มผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ และต่อมาก็ทยอยเบี้ยวหนี้ที่ถึงกำหนดแทบทุกก้อน
ความใหญ่และเครื่อข่ายที่กว้างขวางของ Evergrande ส่งผลให้เกิดโรคติดต่อขึ้นในแวดวงอสังหาฯ คือตั้งแต่ 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ประมาณ 40% ของกิจการอสังหาฯ ในจีนก็ผิดนัดชำระหนี้บ้าง มากบ้างน้อยบ้าง
ที่ทุกคนเป็นห่วงมากคือ Country Garden ซึ่งปุบปับก็ผิดนัดชำระหนี้ด้วย มันไม่เหมือน Evergrande ซึ่งถูกสอบสวนมานานแล้ว แต่กรณี Country Garden นั้นมันค่อนข้าง Surprise
แม้เจ้าหนี้จะร่วมกันแก้ปัญหาผ่อนผันเตะถ่วงไปให้ แต่ในระยะยาวก็ยังคงน่าเป็นห่วง
ว่ากันว่า Country Garden นั้นมีโครงการก่อสร้างในมือมากกว่า Evergrande ถึง 4 เท่า และเป็นกิจการอสังหาฯ ที่ทำรายได้มากที่สุดในจีน แม้มูลหนี้จะน้อยกว่า เพียง 190,000 ล้านเหรียญฯ
ข้อมูลที่เปิดเผย บอกว่า Country Garden มีอพาร์ทเม้นต์ที่กำลังก่อสร้างในมือถึง 1 ล้านยูนิต
มันควรจะเป็นกิจการที่มีเงินสดตุนไว้มาก และสุขภาพดี แต่การที่มันผิดนัดชำระหนี้เมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา ย่อมสร้างความกังวลให้รัฐบาลและทุกคนที่จับตาดูจีนอยู่
Country Garden ประเมินตอนต้นปีว่าจะสามารถส่งมอบยูนิตสร้างเสร็จในปีนี้ 7 แสนยูนิต แต่ถึงขณะนี้ บริษัทเพิ่งส่งมอบจริงได้เพียงครึ่งเดียว
ราคาหุ้นของบริษัทลดลงจากตอนต้นปีกว่า 70% แล้ว
ความเสี่ยงที่ Country Garden จะผิดนัดชำระหนี้และถูกฟ้องล้มละลายนั้นยังไม่หมดไป
ด้วยฐานะของมัน ถ้ามันไปอีกราย อาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่จะทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน พังทลายลงในรอบนี้ก็ได้
และแน่นอน ผลกระทบย่อมลุกลามไปสู่สถาบันการเงินและบรรดาเจ้าหนี้ของกิจการเหล่านั้นทั่วโลก (การที่ Evergrande ยื่นศาลสหรัฐฯ คุ้มครองภายใต้ Chapter 15 แสดงว่าเจ้าหนี้ของกิจการจำนวนพอสมควรอยู่ในสหรัฐฯ)
นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่าทำไมวิกฤติเศรษฐกิจจีนรอบนี้ จะไม่ใช่ปัญหาของจีนแต่เพียงลำพัง
แจ๊ก หม่า หายไปไหน?
ราวพฤศจิกายน ปี 2563 คำถามนี้ต่างผุดขึ้นในใจของทุกคนที่สนใจเมืองจีนและนักลงทุนทั่วโลก
เพราะจู่ๆ อภิมหาเศรษฐีนักธุรกิจจีนที่ชอบออกมาให้ความเห็นและปรากฎตัวต่อสาธารณะตลอดเวลาอย่างคุณหม่า ก็หายไปจากซีนเฉยๆ
แน่นอน คุณหม่าคือผู้ก่อตั้ง Alibaba กิจการยักษ์ใหญ่ของโลกที่ได้ชื่อว่า “Amazon of China” เมื่อ 26 ปีมาแล้ว
การประสบความสำเร็จของ Alibaba ในขณะที่เขาอายุยังน้อย ส่งผลให้เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก กลายเป็นไอดอลของผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ และอาจเป็นคนจีนร่วมสมัยที่คนทั่วโลกรู้จักมากที่สุด รองลงมาจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง
แต่เมื่อกิจการของเขาเติบใหญ่ขึ้นครอบคลุมกว้างขวางไปสู่บริการทางการเงินและฟินเทคภายใต้ Ant Group เขาก็เริ่มอึดอัดขัดข้องกับสภาพที่เป็นอยู่ในระบบการเงินของจีน
เขาตัดสินใจระบายความในใจ ให้สาธารณชนได้ร่วมรับรู้ ที่งานสัมนาหนึ่งในเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อนหน้านั้น
เขาวิจารณ์ว่าระบบการเงินของจีนนั้นขาดการสร้างระบบนิเวศน์ที่แข้มแข็ง สถาบันการเงินทำตัวราวกับโรงรับจำนำ ที่เน้นแต่หลักทรัพย์ค้ำประกัน การเติบโตขึ้นอยู่กับจำนวนและคุณภาพของหลักทรัพย์ค้ำประกันและความสำพันธ์ส่วนบุคคลเป็นสำคัญ ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในวงการนี้มีน้อยและไม่ถูกเน้นย้ำ ทำให้ระบบการเงินจีนนั้นเปราะบาง หากต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจขาลงจะลำบาก
แน่นอน เสียงวิจารณ์ของเขาย่อมไปเข้าหูบรรดาผู้คุมกฏในพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาล
หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน เขาก็ถูกสอบสวน แล้วก็เริ่มหายตัวไปอย่างเงียบๆ
ราคาที่เขาและผู้ถือหุ้น Alibaba ตลอดจนนักลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีของจีนต้องจ่ายคือ การล่มสลายของมูลค่าหุ้น Alibaba อีกทั้งรัฐบาลยังได้สั่งเบรกกะทันหัน ไม่ให้เขานำหุ้น Ant Group เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยกเลิกการขายหุ้น IPO ซึ่งเทียบมูลค่า ณ ขณะนั้น นักวิเคราะห์ต่างลงความเห็นว่าจะเป็น IPO ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ถึง 3.4 หมึ่นล้านเหรียญฯ
นับแต่นั้นมาจนบัดนี้ มูลค่ากิจการของ Alibaba ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก (BABA) ลดลงกว่า 70%
เช้าวันที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่ ณ ขณะนี้ หุ้น BABA เพิ่งปิดการซื้อขายไปที่ 84.11 เหรียญฯ ไหลตกลงมาเรื่อยๆ จากประมาณ 310 เหรียญฯ เมื่อคราวเกิดเรื่อง
และแล้ว สองปีผ่านไป ก็เริ่มมีข่าวว่าคุณหม่าไปปรากฏตัวที่นั่นที่นี่ในย่านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นี้ และเมื่อมกราคม 2566 เขาก็ได้มาปรากฎตัวเป็นๆ ที่สนามมวยราชดำเนินและไปกินผัดไทยเจ๊ไฝกับลูกชายคนโตของเจ้าสัวธนินท์และภรรยา
ปัจจุบัน เขาเป็นศาสตราจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยโตเกียว ที่ญี่ปุ่น และยังไม่มีใครรู้แน่ชัด ถึงชะตากรรมของอาณาจักรธุรกิจของเขา ว่าจะถูกยึดครองจากรัฐบาลให้กลายเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือบังคับให้แตกเป็นหลายๆ ธุรกิจ เพื่อไม่ให้ใหญ่เกินไปหรือไม่ และอย่างไร
เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สำหรับนักธุรกิจและนักลงทุนทั่วไปที่คิดจะไปลงทุนหรือค้าขายในเมืองจีน หรือคิดจะลงทุนในเงินหยวน ยิ่งนักลงทุนไทยเราส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน ย่อมห้ามไม่ได้ที่จะมีจิตใจเอนเอียงไปทางจีน อีกทั้งกระแสแอนตี้ฝรั่งในช่วงหลังมานี้ก็แรงขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนในเทรนด์สำคัญที่ MBA เอง ก็แนะนำอย่างแข็งแรงยิ่งยวด นั่นคือ AI
เด๋วนี้มีกองทุน ETF จำนวนมากทั่วโลก ที่เน้นลงทุนในกิจการ AI และที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของ AI
ขณะเดียวกันก็มีกองทุนจำนวนมากที่ระดมทุนเพื่อไปลงทุนในจีน ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องหา AI Exposure อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กิจการ AI ของจีนนั้น หลักๆ คงหนีไม่พ้น “สี่ใหญ่” อย่าง Alibaba, Baidu, Tencent, และ Huawai
แต่ประเด็นหลักและความเสี่ยงอยู่ที่กฎระเบียบของรัฐบาล
มีข่าวออกมาจากจีนว่ารัฐบาลจีนกำลังสร้างกฎระเบียบฉบับสมบูรณ์ที่จะควบคุม AI โดยยึดหลักการคอมมิวนิสต์เป็นหัวใจสำคัญ เช่นเดียวกับกฎเกณฑ์อื่นๆ ในสังคมจีน
AI ก็คงจะเหมือนกับเทคโนโลยีทุกชนิดหรือซอฟท์แวร์ทุกตัวในจีนที่ต้องอยู่ภายใต้รัฐอย่างเข้มงวด
หน่วยงาน CAC หรือ Cyberspace Administration of China ถือว่า AI เป็น “ยุทธปัจจัย” หรือ Strategic Technology สำคัญของอนาคต (วงเล็บ “ที่จะต้องมีไว้เพื่อฟาดฟันกับศัตรูให้จีนได้เปรียบในสงครามเย็นที่กำลังเกิดขึ้น และสงครามร้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต”)
นั่นหมายความว่า กิจการด้าน AI ทั้งปวง จะต้องไม่สร้าง หรือสนับสนุน เนื้อหาหรือคอนเทนต์ ที่ขัดต่อนโยบายของรัฐและความเห็นของผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์
อันหนึ่งที่เพิ่งออกมาเมื่อ ก.ค. ปีนี้ คือกิจการ AI ต้องขออนุญาตเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตจาก CAC จึงจะดำเนินธุรกิจด้านนี้ในประเทศจีนได้
กิจการหรือผู้ประกอบการที่ยื่นขออนุญาต จะต้องส่งรายละเอียดการทำงานทั้งหมดของอัลกอริทึ่มที่อยู่เบื้องหลังการทำงานและให้บริการของ AI และถ้า CAC เห็นว่าต้องแก้ไข ก็ต้องแก้ไปตามนั้นแล้วยื่นเข้ามาใหม่
โดย CAC ใช้หลักพิจารณาว่า ทุกอย่างต้องสอดคล้องกับ “คุณค่าหลักยึดของระบอบสังคมนิยม” (Core values of socialism)
ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI มองว่า การแทรกแซงในลักษณะนี้ อาจส่งผลให้ระบบ AI เกิดความผิดพลาดได้ง่าย
พวกเขาเรียกข้อผิดพลาดทำนองนี้ว่า AI Hallucinations ซึ่งแม้แต่ ChatGPT หรือ Bard (ของกูเกิ้ล) ก็เกิดแบบนี้บ่อย จนกว่าจะแก้ไขกันไปได้ทีละเล็กทีละน้อย คือต้อง “ทำไปแก้ไป” และ AI ก็จะเก่งขึ้นเรื่อยๆ
บนแชตบอร์ด “ถงยี่” ของ Alibaba เองก็เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เมื่อมีคนถามว่าจะปรุงอาหารที่เรียกว่า “คอนกรีตผัด” อย่างไรดี และบ็อตก็ตอบและให้ข้อมูลเป็นวรรคเป็นเวร
ดังนั้น หากในอนาคต กิจการ AI ของจีนที่ได้รับอนุญาตให้เปิดบริการได้แล้ว เกิดมีข้อความแฝงหรือคอนเทนต์ที่เจ้าหน้าที่รัฐตีความว่าไม่เหมาะสม ก็อาจต้องมารื้อสร้างกันใหม่ และต้องมายื่นขออนุญาตกันใหม่หรือไม่
นั่นเป็นความไม่แน่นอน ที่ยังไม่มีคำตอบในตอนนี้ (ในเชิงการลงทุนถือเป็น “ความเสี่ยง” อย่างหนึ่งที่สำคัญ)
อีกอย่าง แม้ตอนนี้กระแสแอนตี้ฝรั่งจะแรงขึ้นเรื่อยๆ ในเอเซีย แต่ขณะเดียวกันกระแสแอนตี้จีน ก็เริ่มเกิดขึ้นในโลกเช่นกัน
ถ้าวิเคราะห์กันจริงจังแล้ว กิจการเทคโนโลยี “สี่ใหญ่” ของจีนนั้น สร้างรายได้นอกประเทศน้อยมาก
แพล็ทฟอร์มและแอ็พต่างๆ ของพวกเขา ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนอกจีน
และฮาร์ดแวร์ต่างๆ ก็เริ่มขายได้น้อยลง เพราะความไว้วางใจต่อการเก็บข้อมูลส่วนตัวไปไว้ในมือรัฐบาลจีนนั้นลดลง
ถ้ายืมคำของคุณหม่า ก็ต้องพูดว่า กิจการยักษ์ใหญ่เหล่านี้ แม้จะสร้างรายได้มหาศาลในจีน แต่ก็พึ่งพิงตลาดจีนมาก เพราะการขยายธุรกิจในต่างประเทศยังไม่เป็นผล ดังนั้น พวกเขายังมีความเปราะบาง
หากเศรษฐกิจจีนเริ่มเป็นขาลง หรือทรุด พวกเขาจะลำบากกว่ากิจการที่มีฐานรายได้กระจายไปทั่วโลก
บทความ : ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว / Editor in Chief _MBA magazine
29/09/2566
หากดูให้ถึงที่สุดแล้ว การเดินขบวนที่สื่อมวลชนสำนักตะวันตกเรียกว่า Pro-Democracy Movement (เรียกร้องประชาธิปไตย) ของชาวฮ่องกงครั้งนี้ ถือเป็นการท้าทายอำนาจของสีจิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีน เข้าอย่างจัง