ม็อบฮ่องกงจะจบยังไง ต้องอ่านใจ สี จิ้นผิง

August 27, 2019 5615

หากดูให้ถึงที่สุดแล้ว การเดินขบวนที่สื่อมวลชนสำนักตะวันตกเรียกว่า Pro-Democracy Movement (เรียกร้องประชาธิปไตย) ของชาวฮ่องกงครั้งนี้ ถือเป็นการท้าทายอำนาจของสีจิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีน เข้าอย่างจัง

ข้อเสนอของผู้ประท้วง ก็คือ ข้อเสนอที่ทำถึงสีจิ้นผิงนั่นเอง

เพราะลึกๆ แล้ว แม้โดยรูปแบบจะดูเหมือนว่าชาวฮ่องกงปกครองกันเอง แต่โดยเนื้อแท้แล้วจีนเป็นผู้ปกครองที่แท้จริง

โดยระบบปกครองของจีนในปัจจุบัน ถูกเผด็จอำนาจโดยคนๆ เดียว คือ สีจิ้นผิง

เพราะเขาคือ ผู้นำสูงสุดของจีน ควบทั้ง 3 ตำแหน่งสำคัญ คือ ประธานาธิบดี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานคณะกรรมาธิการทหาร และหลังจากที่ได้มีการลงมติแก้ไขธรรมนูญการปกครองของพรรคฯ เมื่อปีที่ผ่านมา เขาก็สามารถจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไปได้โดยไม่มีวาระต้องพ้นจากตำแหน่ง คือ สามารถดำรงตำแหน่งไปจนตายคาเก้าอี้ก็ได้ หากเขาต้องการ

นอกจากเหมาเจ๋อตงแล้ว ก็มีสีจิ้นผิงนี่แหล่ะ ที่สามารถกุมอำนาจขั้นเด็ดขาดไว้ในมือได้แต่ผู้เดียว

ฉะนั้น คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินเลยไปสักเท่าใด ถ้าจะบอกว่า ‘ม็อบฮ่องกงจะจบลงเช่นไร ก็ต้องลองอ่านใจสีจิ้นผิงดู’

สีจิ้นผิงเป็นผู้นำสูงสุดคนแรกที่เกิดหลังจากที่เหมาเจ๋อตงนำพรรคคอมมิวนิสต์ยึดอำนาจรัฐได้เบ็ดเสร็จ และก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นเรียบร้อยแล้ว

เขาเป็นลูกของผู้นำระดับสูงของพรรคฯ พ่อของเขาเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรองประธานสภาประชาชน คือ เปรียบได้กับรัฐสภานั่นเอง

เขาไม่ใช่คอมมิวนิสต์รุ่นเหมาเจ๋อตงและเติ้งเสี่ยวผิง ที่ต้องสู้รบเกือบครึ่งค่อนชีวิต ทั้งเคยลำบากยากเข็ญ เดินทัพทางไกล หรืออยู่แนวหน้า นอนในโคลนเลนเป็นอาทิตย์ๆ และต้องเห็นเพื่อนฝูงลูกหลานล้มตายไปต่อหน้าต่อตาดังผักปลา

ผู้นำเหล่านั้นจึงค่อนข้างใจดำ ประเมินค่าของชีวิตมนุษย์ค่อนข้างต่ำ เมื่อพวกเขาต้องคิดคำนวณผลได้เสีย เวลาจะจัดการกับการท้าทายอำนาจ หรือการลุกฮือต่อต้าน

เวลาตัดสินใจปราบปราม หรือใช้กำลังเข้าแก้ไขปัญหา จึงทำอย่างเด็ดขาดถึงระดับ ตายเป็นเบือ ได้ไม่ยาก

การตัดสินใจของเหมาเจ๋อตงในกรณีทิเบตและเกาหลีเหนือยืนยันเรื่องดังกล่าวได้ดี

ยิ่งไปกว่านั้น โครงการ Social Engineering ของเหมาเจ๋อตง ทั้งนโยบาย เขย่งก้าวกระโดด” (Great Leap Forward) ก็ดี หรือนโยบาย ปฏิวัติวัฒนธรรม” (Cultural Revolution) ก็ดี ล้วนทำให้ราษฎรจีนต้องอดอยากอย่างแสนสาหัสและบาดเจ็บล้มตายจำนวนหลายสิบล้านคน

เหมาเจ๋อตงเอง เคยถูกอ้างอิงถึงคำพูดที่เขาเคยกล่าวว่าประเทศจีนมีคนเป็นพันๆ ล้าน หากจะตายสักสิบล้านร้อยล้าน ก็ไม่ได้กระทบอะไรมาก ถือเป็นการเสียสละต่อส่วนรวมที่มีคุณค่าเสียอีก ถ้าการเสียสละนั้น จะช่วยให้การขุดรากถอนโคนความคิดเก่าหมดสิ้นไป และทำให้สังคมโดยรวมก้าวหน้าขึ้น หรือเปลี่ยนผ่านสู่สังคมใหม่หรือสังคมคอมมิวนิสต์ในอุดมคติเร็วขึ้น

และเขายังยกย่องพอลพตที่สามารถทำการทดลองแนวคิด สังคมใหม่ ได้อย่างเต็มที่กับราษฎรเขมร ตอนที่เขมรแดงเข้าปกครอง

Track Record ของเติ้งเสี่ยวผิงก็เฉกเช่นเดียวกัน ถ้าใครได้อ่านสุนทรพจน์ที่เขากล่าวกับผู้นำเหล่าทัพซึ่งได้เข้าพบกับตนครั้งแรก หลังจากเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน (คุณทองแถม นาถจำนง แปลไว้ในหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง ซึ่งผมจำไม่ได้เสียแล้ว) ก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า การสั่งการให้รถถังยังเข้าไปในม็อบนักศึกษา หรืออีกนัยหนึ่งเท่ากับการสั่งให้ยิงลูกหลานตัวเองครั้งนั้น ถือเป็นความถูกต้องแล้ว เพราะมันจำเป็นต้องทำ เพราะมันจะทำให้ประเทศจีนและระบบปกครองของจีน (หรือของพรรคฯ) เกิดความมั่นคงในระยะยาว ทำนองว่าจำเป็นต้องสละชีวิตคนจำนวนหยิบมือ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระยะยาว ฯลฯ

แต่สำหรับสีจิ้นผิง เรายังไม่เคยเห็นการตัดสินใจทำนองนี้ของเขา ที่ได้เห็นส่วนใหญ่ก็เป็นการปราบคอร์รัปชันหรือจัดการกับศัตรูทางการเมือง ซึ่งก็ทำอย่างเฉียบขาด

ทว่า สำหรับการรับมือกับความขัดแย้งเชิงมวลชนที่สำคัญระดับนี้ ยังไม่มีใครเคยเห็น

สีจิ้นผิงเสียเปรียบเหมาเจ๋อตงและเติ้งเสี่ยวผิงในประเด็นนี้ เพราะเขาขึ้นมาเป็นผู้นำในขณะที่จีนร่ำรวยมาก และเขาก็ต้องการจะนำพาให้จีนไปเป็นชาติผู้นำของโลกเทียบเท่าสหรัฐฯ หรือเหนือกว่าสหรัฐฯ

เขาต้องเปิดตัวเองกับโลก เพื่อให้โลกยอมรับใน Leadership ของจีน ซึ่งแน่นอนว่าจีนในยุคของเขาก็จำต้องจำยอมโอนอ่อนผ่อนตามกระแสโลกอย่างเลี่ยงไม่พ้น

นโยบาย Belt And Road Initiative (สมัยก่อนเรียกว่า “One Belt One Road”) ของเขา เป็นการประกาศให้โลกรู้ว่าจีนในขณะนี้พร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางของ จักรวรรดิหรือ “Empire” ระดับโลกแล้ว เฉกเช่นเดียวกับ Roman Empire, Spanish Empire, Portugal Empire, Dutch Empire, หรือ British Empire ในอดีต ที่ล้วนแต่ต้องมีการสร้างเครือข่าย “One Belt One Road” หรือ Superhighway ของตัวเอง เพื่อเชื่อมเครือข่ายการปกครองของจักรวรรดิ เคลื่อนย้ายกำลังพล และนำเอาทรัพยากร อาหาร และมูลค่าส่วนเกินต่างๆ เข้ามาผลิตและเลี้ยงดูศูนย์กลางเมืองแม่ แล้วในทางกลับกันก็ส่งสินค้าและบริการออกไปค้าขายยังเครือข่ายเมืองขึ้น

แต่เขาก็ยังต้องอาศัยเวลา เพื่อจะให้ทุกอย่างเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จตามที่วางเอาไว้ เดิมพันของสีจึงสูงกว่าเหมาและเติ้ง

เพราะจีนในยุคของเขา คือจีนที่ มีอะไรจะเสีย ไม่ใช่จีนที่ ไม่มีอะไรจะเสีย ในสมัยเหมา และ มีอะไรจะเสียน้อยกว่านี้ ในสมัยเติ้ง

หากพิจารณากันในเชิงของเงินลงทุนจากต่างประเทศ จีนในสมัยของเหมา นับว่าแทบไม่มีอะไรจะเสียเลย เพราะตอนแรกจีนรับความช่วยเหลือจากโซเวียตเป็นหลัก แม้ตอนหลังจะทะเลาะกัน การลงทุนจากต่างประเทศในสมัยเหมานั้น ถือว่ายังไม่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและปากท้องของชาวจีน

ผิดกับสมัยเติ้งที่จีนใช้เศรษฐกิจนำ และอาศัยเงินลงทุนจากต่างประเทศเป็นนโยบายหลัก โดยกันพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกให้เป็นเขตพิเศษ เปิดให้ต่างประเทศนำเงินทุนเข้ามาลงทุน นำเครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามาโดยไม่เก็บภาษี โดยจีนมีหน้าที่จัดหาแรงงานราคาถูกมากเข้ามาเป็นลูกมืออย่างไม่อั้น

เติ้งเป็นนักเรียนฝรั่งเศส จึงเข้าใจระบบทุนนิยมดี และรู้ว่ากิจการในประเทศตะวันตก ซึ่งกุมเทคโนโลยีในการผลิตอยู่นั้น ต้องการหาแหล่งผลิตที่ราคาถูกที่สุด หรือ Low Cost Producers เพื่อที่จะให้ตัวเองได้กำไรสูงสุด ดังนั้นเติ้งจึงเปิดให้บริการตรงนี้

บริษัทของสหรัฐฯ ที่พากันมาตั้งโรงงานในจีนอย่างมากมาย จึงได้ประโยชน์จากการลดลงของต้นทุนการผลิต ทำให้พวกเขาสามารถทำกำไรเพิ่ม และส่งผลให้ราคาหุ้นที่จดทะเบียนในตลาด NYSE หรือ Nasdaq เติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสังคมตะวันตกยังได้ใช้ของถูกจากจีนอีกด้วย (โปรดสังเกตว่า Walmart และ Dollar Store โตเอาโตเอา ตั้งแต่เติ้งเปิดให้บริการการผลิตราคาถูก)

และการดำเนินกลยุทธ์แบบนี้ ก็ได้ทำให้จีนร่ำรวยขึ้น และคนจีนกินดีอยู่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด นับว่าประสบความสำเร็จด้วยดี

ตอนที่เติ้งตัดสินใจปราบนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินนั้น เติ้งคงประเมินแล้วว่า กิจการใหญ่น้อยที่ลงทุนอยู่แล้วในเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน คงจะไม่มีใครถอนออก เพราะพวกเขายังได้ประโยชน์มากอยู่ในเชิงแรงงานราคาถูกและนำเข้าสินค้าราคาถูกไปบริโภคกันในสังคมของตัวเอง

ผิดกับสมัยนี้ ที่ค่าจ้างแรงงานในประเทศจีนไม่ได้ต่ำอีกต่อไป และผู้ผลิตของจีนเอง หลังจากศึกษาเรียนรู้วิชาความรู้ (เทคโนโลยีนั่นเอง) จากเจ้าของเทคโนโลยีเหล่านั้นแล้ว ก็ตั้งตัวผลิตแข่งขันกับเจ้าของเทคโนโลยีเหล่านั้นเสียเอง (และสินค้าจากจีนก็ไม่ได้ราคา ถูกมาก จนมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับแหล่งผลิตอื่นของโลก อีกแล้ว)

ส่งผลให้เกิดการกระทบกระทั่ง และเกิดข้อเรียกร้องให้มีการแข่งขันแบบเสมอภาคจากเจ้าของเทคโนโลยีเดิม จึงเกิดเป็นสงครามการค้า ซึ่งตอนนี้ได้เกิดกรณีขึ้นแล้วกับสหรัฐฯ แต่อนาคต เมื่อประเทศอื่นหรือนักการเมืองของประเทศอื่นๆ เริ่มรู้สึกขึ้นมาบ้าง จีนก็อาจเกิดปัญหาทำนองนี้กับเจ้าอื่นด้วยก็เป็นได้

ดังนั้น หากสีจิ้นผิงจะทำอะไรบุ่มบ่ามในกรณีของม็อบฮ่องกง เขาย่อมมีต้นทุนให้คิดละเอียดกว่าเหมาและเติ้งในเชิงนี้

และถ้าหันมามองเรื่องภายในของจีนบ้าง

ถ้าไม่นับชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในจีน จีนเขาแบ่งคนจีนออกคร่าวๆ ได้สามพวก (สอดคล้องกับค่านิยมทางชนชั้นที่แฝงอยู่ในใจลึกๆ ของคนจีนเช่นกัน) คือพวกคนจีนที่เกิดและอาศัยอยู่ในประเทศจีนพวกหนึ่ง ซึ่งถือตัวว่าสำคัญที่สุด (ซึ่งก็ยังแบ่งกันตามภูมิภาคและภาษาพูดอีก) คนจีนในไต้หวันและฮ่องกงอีกพวกหนึ่ง และคนจีนโพ้นทะเลอีกพวกหนึ่ง

ในบรรดานี้ จีนต้องการให้ไต้หวันกับฮ่องกง เข้ามาอยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของจีน ภายใต้การปกครองของจีน และนโยบายที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยเหมา ก็คือต้องการให้เข้ามาอย่างยินยอมพร้อมใจ มิต้องการใช้กำลังบังคับ โดยฮ่องกงนั้นได้เข้ามาโดยอัตโนมัติเมื่อหมดสัญญาเช่ากับอังกฤษในสมัยเติ้ง แต่ยังเหลือไต้หวัน ซึ่งสีจิ้นผิงต้องการให้เข้ามาร่วมในยุคของเขา

และสำหรับจีนโพ้นทะเล (หัวเฉียว) นั้น จีนก็ต้องดีด้วยเพื่อให้ประเทศเหล่านั้นยอมอยู่ในเครือข่ายผลประโยชน์และจักรวรรดิของตน

แน่นอนว่าการตัดสินใจใช้ความรุนแรงกับฮ่องกง ย่อมกระทบกระเทือนจิตใจคนไต้หวัน (รวมทั้งคนหัวเฉียวด้วย) และสร้างความกลัวให้กับคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นตัวตัดสินลงคะแนนเสียงว่าจะเข้าร่วมกับจีนหรือไม่

ยังไม่นับว่า ไต้หวันนั้นได้รับความคุ้มครองจากสหรัฐฯ เพราะถ้าไต้หวันล่ม มันก็จะเกิดความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับไม่ได้ต่อเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งสหรัฐฯ ถือเป็นเขตอิทธิพลของตัว

มิใยต้องกล่าวถึงประเทศอื่นที่มีอาณาเขตติดกับทะเลจีนใต้และกำลังทะเลาะกับจีนอยู่ในเรื่องการแย่งพื้นที่ทางทะเลระหว่างกัน

การส่งกองกำลังของจีนเข้าไปปราบม็อบที่ฮ่องกง ไม่ใช่เรื่องยาก หากพิสูจน์ได้ว่าการก่อความยุ่งยากนี้ เป็นการจงใจก่อการร้าย หรือเป็นแผนแทรกแซงจากต่างชาติ

แต่การพิสูจน์ให้คนเชื่อก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ทว่า การอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร ก็อาจทำให้คนมองสีจิ้นผิงว่าอ่อนแอ และศัตรูทางการเมืองอาจฉวยโอกาสทอนกำลังหรือแซะบัลลังก์เขาได้ นอกจากนั้น ก็ยังจะเป็นตัวอย่างให้เขตปกครองตัวเองอื่นๆ ที่มีความอ่อนไหวมากๆ อย่าง ซินเกียง หรือ ทิเบต แข็งข้อเอาอย่างขึ้นมาบ้าง ซึ่งกรณีแบบนี้ คนสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยอมไม่ได้อย่างแน่นอน หัวเด็ดตีนขาด

งานนี้สำหรับสีแล้ว ดูเหมือนว่า ทำก็เสีย ไม่ทำก็เสีย

จึงเป็นไปได้ว่า เขาจะปล่อยให้สถานการณ์เคลื่อนไหวไปโดยตัวมันเองเรื่อยๆ ในระหว่างที่ยังไม่มีจุดวิกฤติให้ต้องตัดสินใจ ก็รอดูท่าทีไป ปล่อยให้เป็นเรื่องของคณะผู้บริหารฮ่องกงจัดการกันเองไปก่อน

การใช้กำลังจากจีนคงจะไม่เกิดขึ้น จนกว่าเขาจะประเมินว่าใช้กำลังแล้ว ต้นทุนที่กล่าวมาข้างต้นจะอยู่ในระดับที่ รับได้

แต่ครั้นจะให้ยอมตามข้อเรียกร้องของม็อบ โดยเฉพาะกรณียอมให้ปกครองตัวเองในเนื้อแท้นั้น คงเป็นไปได้ยาก


เรื่อง : ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

X

Right Click

No right click