November 21, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

B School ในยุคอุบัติใหม่

December 14, 2017 5001

‘เทคโนโลยีอุบัติใหม่’ คือคำที่ รศ.ดร.สิริวุฒิ บูรณพิร คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้อธิบายภาษาอังกฤษคำว่า Technology Disruption ซึ่งได้ยินได้ฟังกันอย่างมากมายในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยมองว่าไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่เกิดการอุบัติใหม่ขึ้นมา จากองค์ความรู้ที่คณะบริหารธุรกิจทั้งหลายสั่งสมกันมาทำให้เห็นว่ามีรูปแบบการเกิดซ้ำของพัฒนาการและการรับมือเมื่อมีสิ่งแปลกใหม่กำเนิดขึ้นมาอย่างฉับพลัน 

 

“การเปลี่ยนแปลงจะมาเป็นชุด ทีแรกจะเกิดเทคโนโลยีมีนวัตกรรม มีทรัพย์สินทางปัญญาเกิดขึ้น หลังจากนั้นจะทำให้ความต้องการของผู้บริโภคสินค้าและบริการเปลี่ยนแปลงเพราะผู้บริโภคจะมีทางเลือกใหม่เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่สามคือการเปลี่ยนแปลงทางด้านเงื่อนไขทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ทางด้านกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลให้กติกาการทำธุรกิจเปลี่ยนไปในที่สุด”
รศ.ดร.สิริวุฒิอธิบาย

 

ขณะเดียวกันในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดความไม่แน่นอนขึ้นอย่างน้อยสองประการหลักๆ ได้แก่ ความไม่แน่ใจว่าเทคโนโลยีที่อุบัติขึ้นนี้จะไปสุดปลายทางที่ไหนและคนจะนำไปใช้กันสุดโต่งอย่างไร กับความไม่แน่นอนว่าเทคโนโลยีแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นใหม่นั้นจะส่งผลกระทบทั้งในแง่บวกและแง่ลบอย่างไร ต่อใคร มากน้อยเพียงใด จากปรากฏการณ์ที่มักเกิดขึ้นอย่างนี้ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนโฉมหน้าของเทคโนโลยี คณะบริหารธุรกิจได้เรียนรู้กันมาว่า จะเกิดรูปแบบการรับมือแบบลองผิดลองถูกอย่างมากมาย ปรากฏการณ์ยุคทองแห่งสตาร์ตอัพที่เกิดขึ้นมาทั่วโลกเป็นตัวอย่างหนึ่งของการลองผิดลองถูก...ทำไม? ไม่ใช่เพื่อค้นหาสินค้าใหม่ แต่เพื่อค้นหาสูตรสำเร็จของการทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ หรือ Innovative Business Model และเป็นหน้าที่ของคณะบริหารธุรกิจที่จะสร้างคนให้สอดรับกับสูตรสำเร็จใหม่ที่ว่า ตั้งแต่การร่วมมือกับศาสตร์อื่นในการสร้างความรู้ใหม่ เป็นผู้กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมด้วยการเป็นโซ่ข้อกลางเชื่อมโยงผู้ใช้กับผู้สร้างเข้าด้วยกัน จนถึงติดตามไปถอดองค์ความรู้ค้นหาว่ารูปแบบธุรกิจแบบใดที่เหมาะกับยุคสมัยนี้

 

รศ.ดร.สิริวุฒิอธิบายบทบาทของคณะบริหารธุรกิจในยุคการลองผิดลองถูกว่าจะต้องให้นักศึกษาเรียนรู้จากความล้มเหลว Fail Faster Fail Smarter “เราอยากจะพัฒนาสินค้าตัวหนึ่งเข้าสู่ตลาด เราอยากจะรู้ให้ไวที่สุดว่าทำได้หรือไม่ เขาต้องรู้เร็วที่สุด และเขาจะได้รู้จักปรับปรุงตัวเอง และเขาต้องล้มเหลวอย่างฉลาดขึ้น คือล้มแล้วก็มี Learning Ability มีความสามารถที่จะเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของเขาและปรับตัวแก้ไขได้ไว จะเห็นว่ายุคนี้จะพูดถึงทักษะทางด้านการปรับตัว Adaptability การกล้าที่จะเสี่ยง นี่คือเราบ่มเพาะนักศึกษาผ่านกิจกรรมการปฏิบัติจริง ซึ่งชัดเจนว่าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยเลกเชอร์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีศึกษาแบบฝึกหัดหรือโปรเจ็กต์ที่เราให้นักศึกษาทำแผนธุรกิจและทดลองลงมือทำแผนนั้นกับชุมชนก็คือให้เขาได้เห็นว่าเวลาทำแล้วจะมีข้อบกพร่องและข้อที่จะล้มเหลว แต่ให้เขาค้นพบข้อล้มเหลว ตั้งแต่เนิ่นๆ โอกาสที่จะเจ็บตัวก็จะมี แต่น้อย และประสบความสำเร็จได้ไว นี่เป็นตัวอย่าง” 

 

 

ความท้าทายของคณะบริหารธุรกิจในยุคนี้ส่วนหนึ่งจึงเป็นการขยายความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อเรียนรู้และถอดองค์ความรู้ออกมาในรูปแบบที่เรียกว่า Action Learning เพื่อใช้ในการเรียนการสอน และเป็นประโยชน์ต่อองค์กรธุรกิจในการรับมือกับสิ่งอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น

“การทำหน้าที่ของเราทุกวันนี้ ทำให้เอาไปใช้งานได้จริงๆ เราไม่ได้เป็นซัพพลายเออร์เหมือนเมื่อก่อนที่ซัพพลายแรงงาน แต่เราเป็น Learning Partner หรือหุ้นส่วนของการเรียนรู้ ถ้าแบบนี้เราจะรับมือกับยุคของ Disruption ได้ความร่วมมือจะนำไปสู่โลกใหม่ที่เสถียรขึ้น คือไปสู่ Stable Stage ซึ่งตอนนั้นองค์ความรู้เทคโนโลยีต่างๆ จะค่อนข้างอยู่ตัวเป็นมาตรฐาน และแต่ละคนจะรู้บทบาทของตัวเอง ดำเนินชีวิตของตนอย่างเป็นปกติสุขมากขึ้น”

 

รศ.ดร.สิริวุฒิ ให้มุมมองต่อว่า เทคโนโลยีอุบัติใหม่ไม่ใช่ภัยคุกคามที่มากวาดล้างธุรกิจดั้งเดิม แต่มีคุณูปการที่ช่วยทำให้เราทำหน้าที่หลักดั้งเดิมของการบริหารธุรกิจได้ดีขึ้นอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น หน้าที่สำคัญของการตลาดตั้งแต่วันที่วิชาการตลาดก่อกำเนิดขึ้นมาจนถึงปัจจุบันและอนาคตยังไม่หนีไปจากการตอบสนองความพึงพอใจของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด โดยปัจจุบันเทคโนโลยีเช่น Big Data และ AI ทำให้นักการตลาดทำหน้าที่เดิมของตนได้ดีขึ้นอย่างอัศจรรย์ คือทำให้เราเข้าใจและเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคได้ลึกซึ้งและหลากหลายมิติมากขึ้น จึงสามารถสร้างกลยุทธ์การตลาดที่ตอบสนองรองรับความพึงพอใจของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น ดังนั้น การเรียนการสอนจึงต้องทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ก่อนว่าหน้าที่หลักคืออะไรที่จะไม่เปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยี และขั้นต่อมาจึงเรียนรู้ที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ทำหน้าที่เดิมให้ดีขึ้น กล่าวอย่างย่อที่สุด คือเรียนรู้ที่จะหาสมดุลด้วยการผสมผสานโลกดิจิทัลให้เข้ากับโลกอนาล็อก 

 

“Ask the Right Question ตั้งคำถามให้เป็น ตั้งคำถามให้ถูก ตั้งคำถามให้เหมาะ จะทำให้เขา Make the Right Decision ตัดสินใจได้ถูก เพราะว่าพอเขาตั้งคำถามเป็น เขาก็จะได้คำตอบไปประกอบการตัดสินใจที่ถูกต้อง และเรื่องที่สามที่คณะให้คือ Do It Right in the First Time คือทำถูกใช้ได้ทันที ทำแล้วใช้ได้เลยตั้งแต่ทีแรก นี่คือหน้าที่ดั้งเดิมของ Business School อยู่แล้วเพียงแต่ว่าเทคโนโลยีมาช่วยทำให้เราทำหน้าที่เหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ฝึกให้นักศึกษาตั้งคำถามได้เก่งขึ้น ตัดสินใจแล้วเห็นผลได้ไวขึ้น เลยทำให้เขาตรวจสอบได้เลยว่าที่ทำแล้วได้ผลเลยตั้งแต่แรกจริงหรือไม่ แต่ทั้งสาม Right ที่กล่าวมาจะสมบูรณ์ไม่ได้เลยถ้าขาด Right ที่สี่คือ Do the Right Thing ทำสิ่งที่ถูกต้องต่อสังคม”  คณบดีคณะบริหารธุรกิจอธิบายสิ่งที่คณะให้กับนักศึกษา

 

Learning Platform

รศ.ดร.สิริวุฒิ มองว่า การจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสม มีหลายรูปแบบและสามารถเลือกเครื่องมือที่จะใช้ได้อย่างหลากหลายจึงเป็นแนวคิดที่จะทำเป็น Learning Platform ในคณะบริหารธุรกิจ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับการเรียนการสอนที่สามารถสร้างทักษะให้กับผู้เรียน

 

“วิชาที่ไม่วัดผลด้วยการสอบก็ต้องมี วิชาที่เน้นความรู้ทางเทคนิค อาจจำเป็นต้องวัดด้วยการสอบก็ได้ อย่างบัญชีซึ่งมีมาตรฐานแน่ชัดต้องวัดกันว่าเข้าใจและทำตามมาตรฐานได้ไหม บางครั้งก็มีเครื่องมืออื่นๆ เช่น การเรียนการสอนแบบการสร้างสรรค์ความรู้ด้วยปัญญาหรือ Constructionism ก็เป็นแบบหนึ่งที่เราใช้ บางวิชาก็เหมาะกับทำ Flip Classroom ก็ใช้ไป บางวิชาก็เหมาะกับ Project-Based Learning ก็ใช้ได้ หรือแม้แต่การเลกเชอร์และสอบก็ไม่เสียหายไม่โบราณ เพราะการบรรยายก็มีข้อดี คือส่งต่อความรู้ได้ไวและเรียนลัดได้ กล่าวคือเราต้องยืดหยุ่นพอที่จะเลือกและปรับรูปแบบการเรียนการสอนตลอดจนการวัดผลที่เหมาะกับธรรมชาติของการเรียนรู้ไม่ยึดติดแบบเดียว เทคโนโลยีมาช่วยเราได้มากในเวลานี้ที่ทำให้เราติดตามผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ได้ ทำให้เลือกได้ว่าวิธีการใดเหมาะที่สุดกับวิชาแบบไหน” 

 

 

รศ.ดร.สิริวุฒิ อธิบายหนึ่งในกลยุทธ์การเรียนการสอนของ Learning Platform สำหรับบางวิชาแบบ Flipped Classroom ง่ายๆ ว่า อะไรที่เคยอยู่ในห้องเรียนก็เป็นการบ้าน อะไรที่เคยเป็นการบ้านก็เอากลับมาเรียนในห้องเรียน “เรากลับข้างใหม่ว่าความรู้พื้นฐาน ที่เราต้องเลกเชอร์เราเอาไปใส่ไว้ในอินเทอร์เน็ต แล้วนักศึกษาเรียนผ่าน e-Learning นักศึกษาก็จะสามารถใช้เวลาว่างเข้าไปศึกษาความรู้พื้นฐาน พอกลับเข้ามาเรียนในห้องก็มาทำแบบฝึกหัดมาทำโจทย์ ซึ่งเดิมเขาต้องไปนั่งคิดเองอยู่คนเดียวหรือทำเป็นกลุ่ม โดยที่ไม่มีอาจารย์อยู่ในนั้น กว่าที่จะเข้ามาในห้องเจออาจารย์ กว่าจะรู้ว่าคิดถูกคิดผิด คิดครบถ้วนหรือเปล่ามันผ่านไปตั้งนานแล้ว แต่อันนี้พอเขามีความรู้พื้นฐานที่เขาศึกษาด้วยตัวเอง พอเข้ามาถึงทุกคนมีความรู้พื้นฐานในระดับที่พอเพียง ที่จะทำกิจกรรมกลุ่มที่จะต้องตัดสินใจร่วมกัน หรือว่าแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ทำได้เลยในห้องเรียนซึ่งเป็น Smart Classroom ที่เรามีอยู่ นักศึกษาสามารถแชร์สิ่งที่ตัวเองมีอยู่ขึ้นไปและคนอื่นสามารถช่วยปรับปรุงได้ การเรียนรู้ เห็นได้ชัด Visible ทั้งฝั่งผู้เรียนและฝั่งผู้สอนด้วย ผู้สอนก็เห็นว่าผู้เรียนเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ เมื่อก่อนจะไปรู้เอาตอนสอบ ไม่ต้องส่งรายงาน และในเวลาเดียวกัน บทเรียนทั้งหลายหรือสิ่งที่อาจารย์ปรารถนาจะให้นักศึกษารู้ ก็ชัดเจนกับผู้เรียนด้วย ผมคิดว่าเทคโนโลยีใหม่มาทำให้เราทำหน้าที่ดั้งเดิมของเรา ได้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ในเชิงการเรียนรู้ของนักศึกษาดีมากขึ้นด้วย หรืออย่างวิชาที่ใช้กลยุทธ์การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงหรือ Action Learning เมื่อก่อนทำยาก สมัยนี้พอมี Social Media สามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนตอบข้อซักถาม การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ผมไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านี้จะมาแทนที่ Business School ผมกลับมองว่า จะช่วยเสริมให้เราทำหน้าที่คลาสสิคของเราได้ดีขึ้น” 

 

ในเรื่องของ Project-Based Learning คณบดีคณะบริหารธุรกิจ บอกว่าจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการถอดองค์ความรู้ จากเดิมที่อาจารย์ต้องไปฝังตัวตามองค์กรธุรกิจ หรือไปทำหน้าที่ที่ปรึกษา แต่ด้วย PBL ที่ในหนึ่งโครงการมีทั้งนักศึกษา อาจารย์และบุคลากรขององค์กร รวมถึงอาจจะมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยให้คำแนะนำ ทำให้ขั้นตอนการเรียนรู้และการถอดองค์ความรู้สามารถรวมมาอยู่ในที่เดียวกันได้ 

 

การเรียนแบบ Action Learning ในปัจจุบันก็ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสื่อสารที่ดีขึ้น จากอดีตที่นักศึกษาไปช่วยชุมชนในวันเสาร์อาทิตย์ แต่เมื่อมีแอปพลิเคชันที่ช่วยให้สื่อสารกันได้สะดวกมากขึ้น นักศึกษากับชุมชนก็สามารถพูดคุยกันได้ต่อเนื่อง ทำให้โครงการต่างๆ มีความลึกซึ้งมากขึ้น ขณะเดียวกันการวัดผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ก็ทำได้ชัดเจน รวดเร็วมากขึ้น ในการประเมินผลการเรียนรู้รูปแบบเดิมคือการสอบจะลดความสำคัญลงไปในวิธีการศึกษาใหม่นี้ โดยเปลี่ยนเป็นการถอดบทเรียนผ่านกระบวนการสะท้อนความคิด (Reflection) ทางด้านทฤษฎี ด้านการแก้ปัญหา ด้านการทำงานเป็นทีม และด้านกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้นักศึกษาสะท้อนทัศนคติต่อการเรียนรู้ของตนเองอย่างสร้างสรรค์ 

 

รศ.ดร.สิริวุฒิ ยกตัวอย่างว่า “เวลาสะท้อนเรื่อง Team Effectiveness ประสิทธิผลในการทำงานเป็นทีม คือการทำงานทุกอย่างมีปัญหาจะทำอย่างไร เขาถึงจะข้ามพ้นปัญหาส่วนตัว ทำให้งานเสร็จได้ตามเวลาและเป้าหมายของตัวเอง เขามีวิธีแก้ปัญหานั้นอย่างไร เขาต้องมีมุมมองต่อการทำงานเป็นทีม ต่อโลกทัศน์รอบตัวเขา ต้องฝึกไปเรื่อยๆ พอเขาเจอแบบนี้บ่อยๆ เขาจะได้ทักษะขึ้นมาเอง จะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต”

 

บทบาทของคณะบริหารธุรกิจในโลกยุคอุบัติใหม่ตามที่รศ.ดร.สิริวุฒิ ให้ภาพมาข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า การบ่มเพาะบุคลากรเพื่อรองรับธุรกิจในโลกยุคใหม่จำเป็นต้องพัฒนาทักษะที่หลากหลาย ผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่ไม่จำกัดอยู่เพียงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่ให้ความสำคัญกับเป้าหมาย คือการสร้างผู้ที่มีความรู้และทักษะสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใด

 

เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันห้องเรียนในคณะบริหารธุรกิจก็เป็นเวทีที่สำคัญซึ่งการเรียนรู้ด้วยตัวเองออนไลน์อย่างเดียวไม่สามารถให้ได้ เช่น การถกแถลงแบ่งปันมีความร่วมมือกับอาจารย์และเพื่อนนักศึกษาในห้อง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ยังคงมีความสำคัญ และโรงเรียนธุรกิจอย่างคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือเวทีที่ดีในการแสวงหาความรู้ ทดสอบความคิด และเพิ่มคุณค่าการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยการบูรณาการเทคนิควิธีในโลกอนาล็อกกับเทคโนโลยีอุบัติใหม่แห่งโลกดิจิทัล 

 

เรื่องและภาพ : กองบรรณาธิการ 

Last modified on Thursday, 24 June 2021 09:56
X

Right Click

No right click