January 21, 2025

สจล. มุ่งพัฒนาหลักสูตรนวัตกรรมทุกทักษะ ตอบโจทย์ธุรกิจดิจิทัลยุคใหม่ทุกมิติ

February 01, 2024 5801

เป็นที่ประจักษ์ดีว่าในยุคดิจิทัล “นวัตกรรม” ไม่ได้แค่เพียงเปลี่ยนโลกธุรกิจ และยังเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม และสังคมได้อย่างยั่งยืน บทบาทของสถาบันการศึกษา จึงหาใช่แค่แหล่งรวมองค์ความรู้เท่านั้น หากแต่เป็นจิกซอว์สำคัญของการบ่มเพาะสร้างเมล็ดพันธุ์นักนวัตกรรมรุ่นใหม่ สร้างรากฐานนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจและสังคมของประเทศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

เกือบ 6 ทศวรรษ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ยึดมั่นพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนต่าง ๆ ให้ทันยุคเข้าสมัย สร้างบุคลากรพัฒนาประเทศ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสร้างสรรค์งานวิจัย และนวัตกรรมสู่สังคมโลก โดยทาง รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สจล. เผยถึงแนวทางในการบริหารจัดการด้านวิชาการ หลักสูตรของ สจล. ว่า

เน้นการพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้ความสามารถทางด้านนวัตกรรมเพื่อให้ตอบโจทย์สังคม การทำงานในอนาคต ซึ่งจะทำได้เช่นนี้ต้องพัฒนาผสานความร่วมมือหลายฝ่าย พัฒนาหลักสูตรที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น ร่วมถึงสร้างหลักสูตรใหม่ ๆ ที่ต้องได้รับการยอมรับทั้งในประเทศ และระดับนานาชาติด้วย”

ทั้งนี้ “รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์” ย้ำว่าเพื่อสร้างนักศึกษาที่ตอบโจทย์สังคมตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน การพัฒนาหลักสูตร จึงไม่ใช่เกิดจากแค่องค์ความรู้ของคณะอาจารย์ผู้สอนเท่านั้น แต่ทางอาจารย์ผู้สอนจะร่วมมือกับผู้ประกอบการ หรือ ผู้ที่มีคุณวุฒิจากภายนอกที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง มาร่วมกันแชร์ไอเดีย วิจัย วิเคราะห์ถึงความเหมาะสมของหลักสูตรการเรียนการสอนนั้น ๆ และมีภาคปฏิบัติที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้สัมผัสถึงรูปแบบการทำงานจริง ๆ กับผู้ประกอบการ ตั้งแต่เข้าเรียนชั้นปีที่1 เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงการทำงาน เพราะหากรอให้เรียนใกล้จบแล้วไปฝึกงานก็อาจจะช้าเกินไปในยุคนี้ ผลลัพธ์จากการร่วมพัฒนาหลักสูตรดังที่กล่าวข้างต้น ทำให้นักศึกษาที่จบจากทาง สจล. มีความรู้ความสามารถ กลายเป็นที่ต้องการตัวของภาคธุรกิจนวัตกรรมต่าง ๆ เมื่อใกล้เรียนจบก็มีการจองตัวเพื่อเข้าทำงานจำนวนมาก

การที่ทาง สจล. พัฒนาหลักสูตรไม่ยึดทฤษฎีแบบเดิม ๆ แต่ปรับเปลี่ยนให้ทันโลกความเป็นจริงอยู่เสมอ เปิดโอกาสให้นักศึกษาสัมผัสบรรยากาศการทำงานจริง ๆ กล้าลองนำความรู้ งานวิจัย มาประยุกต์สร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาในการทำงานบนสนามจริง เมื่อเรียนจบนักศึกษาก็จะมีศักยภาพพร้อมกับการทำงานเต็มที่ จบออกมาภายใต้การสร้างนวัตกรรมจากงานวิจัยที่เกิดขึ้นจริงได้ ไม่ใช่แค่ทฤษฎีบนกระดาษ ย่อมสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ประกอบการ ก่อเกิดการจ้างงานในอนาคตนั่นเอง”

เดินหน้าเติมเต็มองค์ความรู้ สร้างหลักสูตร 2 ปริญญา และนานาชาติ

ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ เผยว่า สจล. ไม่เพียงเดินหน้าร่วมมือกับภาคธุรกิจ แต่ได้ผนึกกำลังกับหน่วยงานการศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยไทยชั้นนำอื่น ๆ มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ พัฒนาหลักอบรมทั้งระยะยาว ระยะสั้น จนทำให้วันนี้ สจล. กลายเป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาที่มีหลักสูตรที่เติบโตอย่างมาก โดยปัจจุบันได้มีการเปิด หลักสูตร 2 ปริญญา (Double Degree) และหลักสูตรนานาชาติ ขึ้นมากมาย

รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สจล. กล่าวถึงแนวคิดการทำหลักสูตร 2 ปริญญาหลักสูตรทั่วไปทั้งในไทย และต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบหลักสูตรเดียวเป็นหลัก แต่จากการที่ สจล. ได้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ และภาคสังคมต่าง ๆ รวมถึงใส่ใจความต้องการของนักศึกษา จนพบว่าเด็กรุ่นใหม่มีแนวคิดการเรียนสมัยใหม่มากขึ้น โดยเด็กรู้สึกว่าการเรียน 4 ปี ไม่อยากอยู่ในกรอบเดิม ๆ อยากมีความรู้อื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกัน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทำงานร่วมกันได้จริง ในขณะเดียวกันตลาดงานเองเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ก็ต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถรอบด้านมากขึ้น

เช่นนี้แล้วทางสถาบันจึงออกแบบหลักสูตร 2 ปริญญาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่าย โดยหลักสูตรนี้จะเป็นการผสมผสานความรู้สองด้านเข้าด้วยกัน โดยมีแกนกลางที่เชื่อมโยงความรู้ ไม่ใช่การเรียนแบบสะเปะสะปะ แต่เนื้อหารายวิชาจะมีความสอดคล้องกัน ยกตัวอย่างเช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ซึ่งปกติเรียน 4 ปี และ คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม เรียน 5 ปี พอนำมาทำหลักสูตร 2 ปริญญาร่วมกันจะเหลือเรียน 5 ปี เท่านั้น เท่ากับว่าต้องออกแบบหลักสูตรขึ้นมาใหม่ไม่ให้บีบกรอบการเรียนมากเกินไป ซึ่งการทำให้เกิดความสมดุลของหลักสูตร รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ ยอมรับ ไม่ง่าย แต่ถ้าทำได้ก็จะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษา เพราะเรียนจบแล้ว สามารถไปทำงานได้หลากหลายมากขึ้น อย่างการเรียนวิศวกรรมโยธา จะทำให้นักศึกษาเข้าใจเรื่องของโครงสร้างการคำนวณต่าง ๆ เข้าใจหลักการในการออกแบบ ส่วนสถาปัตยกรรม เรียนเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ซึ่งทั้งสองคณะฯ นี้ช่วยเสริมความรู้ซึ่งกันและกันได้ ปัจจุบันหลักสูตร 2 ปริญญาที่รวมสองสาขาวิชาจากสองคณะฯ นี้เข้าด้วยกัน มี สจล. นำร่อง

โดยส่วนใหญ่การทำหลักสูตร 2 ปริญญา จะใช้เวลาในการพัฒนาราว 6 เดือน ถึง 1 ปี แต่ สจล. ใช้เวลาราว 2-3เดือน เพราะที่ผ่านมาทาง สจล. พัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง มีความร่วมมือที่ดีกับสถาบันการศึกษาในไทย และต่างประเทศ การพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักศึกษาและสังคมจึงทำได้อย่างรวดเร็ว แต่กระนั้นก็ต้องคำนึงถึงโอกาสความเป็นไปได้ของการสร้างหลักสูตรด้วย ไม่ใช่ว่าทุกคณะจะมาร่วมกันได้ ต้องมีแกนกลางรายวิชาที่ไปด้วยกันได้ หลักสูตรนั้น ๆ ถึงจะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาจริง ๆ

ปัจจุบันหลักสูตร 2 ปริญญา ของทาง สจล. มีทั้งที่เป็นจากความร่วมมือของคณะภายใน สจล. อย่างหลักสูตรวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ (AGRINOVATOR) โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะเทคโนโลยีการเกษตร / หลักสูตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา  และ คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม/ หลักสูตร AgriBiz-Econ ของคณะคณะเทคโนโลยีการเกษตร และคณะบริหารธุรกิจ

และมีแบบที่ความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาภายในประเทศอย่าง การทำหลักสูตรปริญญาตรีควบปริญญาโท สาขาการจัดการวิศวกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ และเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และสถาบันบัณฑิต

พัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จากปกติเรียนปริญญาตรีควบปริญญาโท จะใช้เวลา 6 ปี แต่เมื่อมาพัฒนาร่วมกันแบบนี้ก็จะใช้เวลาเรียนเพียง 5 ปี ซึ่งก็จะตอบโจทย์สังคม บัณฑิตก็จะสามารถออกมาทำงานได้เร็วขึ้น

ร่วมถึงสถาบันเองได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ อย่างการทำ หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ (นานาชาติ) ในระดับปริญญาตรี โดยวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอินฮา ประเทศเกาหลีใต้ เหล่านี้เป็นต้น

“ล่าสุดได้มีการพูดคุย เจแปนแอร์ไลน์ หรือแม้แต่สายการบินในไทยเอง ต่างก็ให้ความสนใจในการรับนักศึกษาจาก สจล. ไปร่วมฝึกงานทำงาน เพราะเรามีหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ (นานาชาติ) ที่ทำร่วมกับวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาหลักสูตรแบบร่วมกับสถาบันที่ได้รับการยอมรับ และร่วมมือกับภาคธุรกิจผู้ประกอบการจริง ๆ ทำให้นักศึกษามีโอกาสมากขึ้นในการต่อยอดทางอาชีพในอนาคต”

“ส่วนโอกาสที่ในอนาคต สจล. จะมีการปรับเป็นการเรียนการสอนแบบหลักสูตร 2 ปริญญา ทั้งหมดก็มีความเป็นไปได้ เพราะตอนนี้เด็กไทยมีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรียนจบ ออกมาแล้วทำงานได้อย่างเดียว แต่ต้องเป็นมัลติสกิล คือ ทำงานได้อย่างหลากหลาย เด็กบางคนอยากเป็นผู้ประกอบการ มีความรู้บิสซิเนสไม่พอแต่ต้องมีความรู้วิทยาศาสตร์ด้วย เพราะสามารถนำวิทยาศาสตร์ไปพัฒนาต่อยอดสร้างนวัตกรรมสินค้าใหม่ ๆ ของตัวเองขึ้นมาได้”

นอกจากเรื่องของ หลักสูตร 2 ปริญญา ที่ผ่านมาทาง สถาบันฯ ก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติด้วย โดยตอนนี้มีกว่า 20 หลักสูตรแล้ว เช่น หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (นานาชาติ) คณะแพทยศาสตร์ / หลักสูตร Doctor of Dental Surgery คณะทันตแพทยศาสตร์ / หลักสูตร Business Information Technology คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ / หลักสูตร Culinary Science and Foodservice Management (International program) คณะอุตสาหกรรมอาหาร / หลักสูตร Industrial and Engineering Chemistry (International Program) คณะวิทยาศาสตร์ / หลักสูตร B.Eng. Chemical Engineering (International Program) คณะวิศวกรรมศาสตร์

รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ เชื่อว่า หลักสูตรนานาชาติไม่ใช่แค่ให้นักศึกษามีความรู้ในระดับนานาชาติ มีโอกาสทำงานต่างประเทศมากขึ้น แต่เป็นการพัฒนาสังคมด้วย เพราะการที่มีนักศึกษาต่างชาติมาเรียนด้วย และการที่นักศึกษาไทยได้ไปเรียนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางยุโรป หรือ ญี่ปุ่น จีนเอง เด็กไทยเราก็จะได้เรียนรู้ภาษา และวัฒนธรรมของชาติอื่น ๆ ไปพร้อมกัน ซึ่งถือเป็นประโยชน์อย่างมากเวลาไปทำงานที่ต่างประเทศ และการเรียนหลักสูตรนานาชาติของ สจล. ซึ่งได้รับการยอมรับในต่างประเทศ ก็ช่วยให้นักศึกษามีโอกาสทำงานในต่างประเทศมากขึ้น

สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ ทุกระดับการศึกษาของไทย

ปัจจุบัน นอกจาก สจล. จะได้รับการยอมรับในวงการศึกษาไทยในฐานะสถาบันผู้นำทางด้านนวัตกรรมแล้ว ยังได้รับความเชื่อมั่นในระดับนานาชาติ จนเกิดเป็นความร่วมมือในการจัดตั้งสถาบันการศึกษาเฉพาะทางขึ้นมาเพื่อผลิตบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญรองรับอุตสาหกรรม และโลกอนาคต โดยครอบคลุมทุกระดับชั้นการศึกษา ซึ่งจะช่วยให้เด็กไทยเรียนรู้ศึกษาทางด้านนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดนำมาพัฒนาสังคม และประเทศได้ตลอดทุกช่วงอายุ

ล่าสุด ทาง สจล. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ จัดตั้งสถาบันการศึกษาขึ้นมาด้วยกัน 4 สถาบันคือ มหาวิทยาลัย CMKL, 42 Bangkok, โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า และสถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (KOSEN - KMITL)

สำหรับ มหาวิทยาลัย CMKL ทาง รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ เผยว่า เกิดขึ้นจากเป็นความร่วมมือ ระหว่าง สจล. กับ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา CMKL ถือเป็นรากฐานของการให้ความรู้ด้าน AI ที่เปิดรับตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ถึง ปริญญาเอก วัตถุประสงค์ของ CMKL คือ การพัฒนางานวิจัย นำนวัตกรรมมาช่วยแก้ไขปัญหาที่ประเทศไทย ซึ่งหลักการเรียนการสอนต่างๆ ก็จะเป็นมาตรฐานเช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน

“ปัจจุบัน CMKL เปิดสอนอยู่ที่ Lifelong Learning Center ของทาง KMITL ตอนนี้มีนักศึกษาเข้าเรียนมาก มีหลักสูตรที่ตอบสนองเรื่องของ AI โดยตรง ซึ่งสถาบันแห่งนี้นอกจากผลิตบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีออกสู่ตลาดแล้ว ยังช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับทาง สจล. ในเรื่องของงานวิจัย และก็ช่วยพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ของสถาบันด้วย เนื่องจาก คาร์เนกีเมลลอน เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก การที่มาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับทาง สจล. ก็ช่วยในเรื่องของการวิจัยและการพัฒนาต่างๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยด้วย”

ส่วน 42 Bangkok เกิดขึ้นจากเป็นความร่วมมือ ระหว่าง สจล.กับ Ecole 42 Paris ประเทศฝรั่งเศส เป็นสถาบันโปรแกรมเมอร์ระดับโลก โดยยุคดิจิทัลนี้ต้องยอมรับว่าเรื่องของ Coding สำคัญ ซึ่งทาง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็พยายามโฟกัสเรื่องนี้ ซึ่งทาง สจล. จึงจัดตั้ง 42 Bangkok ขึ้นมาเพื่อพัฒนาการทำ Coding ในไทย โดยเปิดรับผู้ที่สนใจตั้งแต่อายุ 18 ปี คือเด็กที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาแล้วมีทักษะทางด้านนี้อยากเรียนรู้พัฒนาให้เป็นผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะก็สามารถมาเรียนได้ ซึ่งรูปแบบการเรียนจะเป็นในลักษณะของการ Coaching คือ จะเรียนกันเป็นกลุ่มก้อน ช่วยเหลือแนะนำกันและกัน โดย หลักสูตรนี้หากเรียนครบ 21 ระดับ ก็จะได้รับประกาศนียบัตร Ecole 42 Paris แต่ที่ผ่านมาพบว่า ผู้เรียนส่วนใหญ่ถูกทาบทามไปทํางาน ตั้งแต่ยังไม่จบระดับที่ 21 เพราะด้วยความสามารถเป็นที่ต้องการของตลาด ตอบโจทย์ภาคของสังคม ธุรกิจได้จริง

สำหรับ โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า เป็นโรงเรียนนานาชาติแห่งแรกที่มุ่งเน้นการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ เป็นพิเศษ โดยมีคอร์สเรียน AP ตามหลักสูตรประเทศสหรัฐอเมริกา เน้นการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ ตลอดจนคณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM) บรรยากาศการเรียนจะสนับสนุนให้นักเรียนพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ และความพิเศษของนักเรียนที่นี่อย่างหนึ่งคือสามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของนักศึกษาระดับปริญญาของ สจล. ได้ เช่น ห้องสมุด หอพัก สนามกีฬา ตลอดจนบางวิชาจะเป็นอาจารย์ของ สจล.เองที่เข้าร่วมสอนด้วย นอกจากนี้นักเรียนสามารถเลือกเรียน Track ที่เรียกว่า “Pathway to KMITL” เข้าสู่การเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีที่ สจล. ได้ด้วย

นอกจากพัฒนาองค์ความรู้ด้านดิจิทัล เทคโนโลยีในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษา และ ภาคประชาชนทั่วไปแล้ว ทาง สจล. ก็มีรองรับการพัฒนาในระดับอาชีวะศึกษา ระดับอนุปริญญาด้วยเช่นกัน โดยได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยที่ร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น ก่อตั้ง สถาบันโคเซ็นแห่ง สจล. ขึ้นมา ตามโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค โดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เป็นฝ่ายขับเคลื่อนดำเนินการ เปิดสอนในหลักสูตรอนุปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ ในหลักสูตรวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และในปี 2567 จะเปิดหลักสูตรปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมการผลิตเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดงาน

“หลักสูตรที่สอนใน สถาบันโคเซ็นแห่ง สจล. จะเน้นเป็นการเรียนที่มาพร้อมภาคปฏิบัติ เพื่อให้เด็กที่เข้ามาเรียนได้ปูพื้นฐานความรู้ที่ดี ต่อยอดด้านทักษะ มีฝีมือ จนสามารถทำงานได้ตรงกับที่ตลาดต้องการ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จริง ๆ มีความสามารถเก่งเฉพาะด้าน ถ้าจบในหลักสูตรอนุปริญญา แล้วต้องการทำงานไปด้วย และเรียนต่อไปด้วย ทาง สจล. ก็พร้อมสนับสนุนโดยสามารถมาเรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่ สจล. ได้ด้วย”

ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ ซึ่งคลุกคลีอยู่ในวงการศึกษามานาน เชื่อว่า หลักสูตรการเรียนการสอน คือหนึ่งในสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพออกสู่สังคม กำลังคนที่มีศักยภาพจะสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติได้มหาศาล ดังนั้น สจล. ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งมั่นให้การศึกษาและวิจัยเพื่อผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์สังคม มุ่งเน้นการสอนที่ให้นักศึกษาได้รู้จัก คิด วิเคราะห์ กล้าคิด กล้าแสดงออก และรู้จักการทำวิจัยและนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในยุคดิจิทัลได้จริง


เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ

Last modified on Thursday, 01 February 2024 10:03
X

Right Click

No right click