February 23, 2025

พนมเปญ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตอกย้ำบทบาทผู้นำด้านการศึกษาระดับภูมิภาคด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับกัมพูชา ในวันที่ 17 มกราคม 2568 คณะผู้บริหารจุฬาฯ นำโดย ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ ดร.ฮัง ชวน นารอนรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งเป็นศิษย์เก่าหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ เข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ ดร.ฮัง ชวน นารอน

การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นขยายความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นทั้งในด้านการศึกษา และการวิจัย ไม่เพียงแต่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในภาคการศึกษาระหว่างสองประเทศ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการศึกษาเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต อีกทั้งยังร่วมหารือการยกระดับการศึกษาของกัมพูชาผ่านการบูรณาการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย โดยจะมีนำ AI มาช่วยเสริมสร้างรูปแบบการเรียนการสอน เพิ่มการเข้าถึงการศึกษาแก่เยาวชนทั่วภูมิภาคอย่างยั่งยืน ซึ่งการหารือเชิงกลยุทธ์ครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของจุฬาฯ ในการส่งเสริมนวัตกรรมด้านการศึกษาและความร่วมมือที่เปิดกว้างในอาเซียน

นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมการประยุกต์ใช้วิศวกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม การสร้างพลังสะอาดจากแสงอาทิตย์ และการสร้างหุ่นยนต์อำนวยความสะดวก ณ สถาบันเทคโนโลยีกัมพูชา (Institute of Technology of Cambodia – ITC) ภายใต้การบริหารของ ศ.ดร.โพ คิมโถ ศิษย์เก่าหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

 

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ และ ดร.โพ คิมโถ ผู้บริหารสถาบันเทคโนโลยีกัมพูชา (ITC)

เจ้าหญิงนีน่า นโรดม ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ก็เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่สะท้อนถึงบทบาทของจุฬาฯ ในการสร้างผู้นำและขับเคลื่อนวัฒนธรรมของกัมพูชา โดยในโอกาสนี้ เจ้าหญิงนีน่า มีกำหนดการพบปะกับคณะผู้บริหารจุฬาฯ เพื่อพูดคุยถึงความประทับใจในช่วงที่ทรงศึกษา ณ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ รวมถึงร่วมหารือถึงแนวทางความร่วมมือทางวิชาการและวัฒนธรรมระหว่างสองสถาบันในอนาคต

 

เจ้าหญิงนีน่า นโรดม ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และ คณะผู้บริหารจุฬาฯ

ฯพณฯ ดร.ฮัง ชวน นารอน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปการศึกษาของกัมพูชา โดยนำความรู้และทักษะความเป็นผู้นำที่ได้รับจากการศึกษาในจุฬาฯ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ สะท้อนถึงความร่วมมือด้านการศึกษาที่ยาวนานระหว่างสองประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีศิษย์เก่าจุฬาฯ ชาวกัมพูชา จำนวน 10 คน เข้าร่วมพบปะกับรัฐมนตรีในครั้งนี้ ซึ่งสะท้อนถึงความนิยมของจุฬาฯ ในหมู่นักศึกษาชาวกัมพูชา ซึ่งศิษย์เก่าหลายคนได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญในแวดวงการศึกษา รัฐบาล และอุตสาหกรรมของราชอาณาจักรกัมพูชา

ดร.ฮง คิมเชือง ศิษย์เก่าสาขาการสอนภาษาอังกฤษ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยี Kampong Speu Institute of Technology (KSIT) และผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการฯ มีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือครั้งนี้

ปัจจุบัน มีชาวกัมพูชาที่กำลังศึกษาและทำวิจัยที่จุฬาฯ จำนวน 11 คน ประกอบด้วยนิสิตระดับปริญญาตรี คณะทันตแพทยศาสตร์จำนวน 7 คน นิสิตระดับปริญญาตรี คณะวิทยศาสตร์ จำนวน 1 คน นักวิจัยจำนวน 2 คนในคณะพยาบาลศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคมศาสตร์ รวมถึงบุคลากรจำนวน 1 คน ในคณะแพทยศาสตร์

งานฟุงานฟุตบอลประเพณีสุดยิ่งใหญ่ สืบสานมายาวนาน ส่งต่อรุ่นพี่สู่รุ่นน้องมาหลายทศวรรษ พร้อมประกาศความยิ่งใหญ่อีกครั้งหลังจากหยุดการจัดงานมานานกว่า 5 ปี กับการหวนคืนการแข่งขันที่มีประวัติมายาวนานเพื่อเกียรติยศและศักดิ์ศรีกับ “ฟุตบอลประเพณี ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ” ครั้งที่ 75 พร้อมปลุกพลังในตัวเองกับแมทซ์หยุดโลก!!! ประกาศความพร้อมในทุกส่วนของงานฟุตบอลประเพณีในครั้งนี้ตบอลประเพณีสุดยิ่งใหญ่ สืบสานมายาวนาน ส่งต่อรุ่นพี่สู่รุ่นน้องมาหลายทศวรรษ พร้อมประกาศความยิ่งใหญ่อีกครั้งหลังจากหยุดการจัดงานมานานกว่า 5 ปี กับการหวนคืนการแข่งขันที่มีประวัติมายาวนานเพื่อเกียรติยศและศักดิ์ศรีกับ “ฟุตบอลประเพณี ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ” ครั้งที่ 75 พร้อมปลุกพลังในตัวเองกับแมทซ์หยุดโลก!!! ประกาศความพร้อมในทุกส่วนของงานฟุตบอลประเพณีในครั้งนี้

พร้อมร่วมกันสร้างความเป็นหนึ่งของชาวธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ปลุกพลังนิสิตทุกรุ่นทุกสมัย ให้มาเจอกันในนัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่าง 2 มหาวิทยาลัยเก่าแก่ ที่มีชื่อเสียงอยู่คู่ประเทศไทยมาหลายช่วงยุคสมัย โดยจะกลับมาสร้างความทรงจำครั้งใหม่อีกครั้ง ซึ่งในปีนี้ทางสมาคมธรรมศาสตร์ฯ เป็นเจ้าภาพ สลับกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าภาพในครั้งที่ผ่านมา โดยการจัดงานครั้งนี้ทั้งสองสถาบันได้มีการกำหนดรูปแบบงานที่ยังคงรักษาความยิ่งใหญ่ อลังการ พร้อมรวมความสุข สนุกบันเทิง สะท้อนถึงความรักความสามัคคี รวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกัน

นายลวรรณ แสงสนิท ประธานกรรมการดำเนินงานการแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬา ครั้งที่ 75 กล่าวถึงภาพรวมในงานปีนี้ว่า หากพูดถึงกีฬาของสองสถาบันการศึกษาที่อยู่คู่กันมายาวนานกว่า 90 ปี ก็ต้องคิดถึงการแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬา ที่ห่างหายการจัดงานไปนานกว่า 5 ปี โดยเราพร้อมที่จะจัดงานขึ้นอีกครั้งเป็นครั้งที่ 75 โดยการเตรียมงานจากความรัก ความสามัคคี ของนิสิตนักศึกษาที่เป็นปัญญาชนของทั้งสองสถาบันทุกคนที่พร้อมสื่อสารผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการแปรอักษร, ขบวนพาเหรด เพื่อให้สังคมได้รับรู้และเห็นถึงความตั้งใจ ทั้งในด้านการกีฬา, กองเชียร์ ตลอดจนการแสดงทางความคิดเชิงสร้างสรรค์ของเส้นทางการเมือง-การปกครองของประเทศชาติ ผ่านการจัดงานในครั้งนี้

“การแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬา ที่ห่างหายไปนาน โดยมีนักศึกษาบางรุ่นไม่เคยได้สัมผัสงานนี้ ได้กลับมาสร้างความยิ่งใหญ่อีกครั้ง เราคาดว่าในทุก ๆ กิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นในปีนี้จะต้องยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยอุปกรณ์การเชียร์จะทำขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ในปีนี้เราตั้งใจทำการแปรอักษรให้ออกมาดีที่สุด เพราะการแปรอักษรถือเป็นเอกลักษณ์ และเสน่ห์ของงานฟุตบอลประเพณี และอีกเสน่ห์ของการแปรอักษรก็คือการที่มีการตอบโต้ระหว่างกันของทั้งสองสถาบัน ผ่านนิสิตนักศึกษามาแปรอักษรจริง ไม่ใช่การแปรอักษรรูปแบบดิจิทัล ซึ่งในปีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่ายินดีที่ทางจุฬาจะเน้นการนำเสนอรูปแบบความคิดเชิงสร้างสรรค์ที่มีอิสระโดยมีรุ่นพี่ คอยให้คำปรึกษากับรุ่นน้องในการทำงานแต่ละภาคส่วน จึงอยากขอเชิญชวนทุก ๆ ท่านมาพบกันในงานฟุตบอลธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 นี้ครับ”

ทั้งนี้ “ฟุตบอลประเพณี ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ” การแข่งขันที่เป็นไปตามประเพณีดั้งเดิมที่มีมายาวนานระหว่างนักกีฬาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นการแข่งขันที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและประเพณีในวงการศึกษาของไทย จัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2477ทซึ่งนอกจากจะเป็นการแข่งขันกีฬาแล้ว ยังถือเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาวิทยาลัย และมีความสนุกสนานในส่วนของการเชียร์จากผู้ชมที่มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานด้วย

โดย “ฟุตบอลประเพณี ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ” ครั้งที่ 75 นี้มีการออกแบบเสื้อฟุตบอลประเพณีโดย นายภูริทัต ชูชัยยะ คณะอักษรศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ผู้ชนะการประกวดแบบเสื้อเชียร์จุฬาฯ ภายใต้แนวคิด “The Time of Tapestry: อดีต อนาคตของปัจจุบัน” ผ่านการดีไซน์ที่ผสมผสานระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ได้อย่างลงตัว

งานฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 75 ทุกท่านฯ สามารถมาร่วมงาน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ได้ พร้อมกับนิสิต ทั้งรุ่นพี่ที่จบการศึกษาไปแล้ว และกำลังศึกษาอยู่ ที่จะมาพบกัน อีกหนึ่งสีสันที่ขาดไม่ได้ นั่นก็คือ ทีมผู้นำเชียร์แห่งธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์ ปีนี้พร้อมมาก ฟาดแรง ไม่ยั้ง !!! #TEAMCHULA #TEAMTHAMMASAT พร้อมใจส่งแรงเชียร์ ให้ดังกึกก้องไปทั้งสนาม!!! ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 ในวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ณ สนามศุภชลาศัย ประตูเปิดเวลา 12.00 น. เป็นต้นไป

 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย ร่วมกับ Google Cloud ประกาศตัวโครงการ ‘ChulaGENIE’ เพื่อบุกเบิกการพัฒนาและส่งมอบแอปพลิเคชันที่นำเอาเทคโนโลยี Generative AI อันล้ำสมัยที่สุดในโลกอันหนึ่ง มาให้ประชาคมจุฬาฯ ใช้งานได้อย่างปลอดภัย เชื่อถือได้ และไม่มีค่าใช้จ่าย โดยคาดว่าในระยะแรก ChulaGENIE จะเปิดให้คณาจารย์และบุคลากรใช้งานได้ในเดือนมกราคม 2568 และจะเปิดให้บริการแก่นิสิตทุกคนได้ภายในเดือนมีนาคม 2568 โดยชื่อ ChulaGENIE ย่อมาจาก ‘Chula’s Generative AI Environment for Nurturing Intelligence and Education’

ด้วยการผสานรวมกับ Model Garden บน Vertex AI ทำให้ ChulaGENIE เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถค้นหาและเลือกใช้โมเดล AI พื้นฐานที่ได้รับการคัดสรรอย่างดี ซึ่งแต่ละโมเดลมีจุดเด่นและความเหมาะสมกับงานที่แตกต่างกัน ในระยะแรกผู้ใช้สามารถใช้งาน Gemini 1.5 Flash หรือ Gemini 1.5 Pro ของ Google และในอนาคตอันใกล้จะมีตัวเลือก ในการใช้โมเดล Claude จาก Anthropic และโมเดล Llama จาก Meta อีกด้วย

ผู้ใช้ ChulaGENIE สามารถใช้ความสามารถในการรองรับหลายภาษา (multilinguality) ของโมเดล Gemini เพื่ออธิบายหัวข้อที่ซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย รวมถึงสร้างเนื้อหาในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ๆ ด้วยความรวดเร็วและความแม่นยำ และด้วยความสามารถในการรองรับข้อมูลหลายประเภท (multimodality) และขอบเขตการประมวลผลช่วงบริบทที่ยาว (long context window) ของโมเดล Gemini ทำให้ผู้ใช้สามารถอัปโหลดเอกสารที่มีความยาวและซับซ้อน (เช่น เอกสารที่มีความยาว 1.4 ล้านคำ พร้อมตาราง แผนภูมิ และภาพประกอบ) รวมถึงไฟล์ PDF โดยโมเดล Gemini สามารถประมวลผลเนื้อหาและองค์ประกอบภาพในเอกสารเหล่านี้เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ดึงข้อมูลหรือวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักวิจัยที่ต้องการสรุปวรรณกรรมทางวิชาการหรือวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้าน AI ของประเทศไทย (AI University) วันนี้จุฬาฯ ประกาศจับมือกับพันธมิตรระดับโลกเพื่อเร่งรัดการพัฒนา Responsible AI เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยในระยะยาว การใช้แพลตฟอร์ม Vertex AI ของ Google Cloud ซึ่งรวมเอาความสามารถที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวไว้ในที่เดียว รวมถึงความยืดหยุ่นในการเลือกโมเดลผ่าน Model Garden และความสามารถในการปรับแต่งโมเดลพื้นฐานที่ทรงพลังให้เหมาะกับความต้องการที่หลากหลายและการตอบสนองได้แม่นยำ ด้วยความสามารถเหล่านี้ ทำให้จุฬาฯ สามารถพัฒนา ChulaGENIE ได้ภายในเวลาไม่ถึงสามเดือน ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่มีแอปพลิเคชัน Generative AI สำหรับการใช้งานเพื่อการศึกษาและวิจัยในระดับอุดมศึกษา โดยยึดหลัก Responsible AI และตอบสนองความต้องการของประชาคมในวงกว้าง โดยจุฬาฯ มีแผนที่จะร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อพัฒนา ChulaGENIE ให้ดียิ่งขึ้น และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม AI ด้านการศึกษาที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศให้ใช้งานได้จริงเพื่อสนับสนุนการศึกษาทุกระดับ”

เสริมศักยภาพให้ประชาคมจุฬาฯ ด้วย AI ที่ปรับแต่งได้และมีความรับผิดชอบ

จุฬาฯ เตรียมเพิ่มฟังก์ชันใหม่บน ChulaGENIE เร็ว ๆ นี้ โดยประชาคมจุฬาฯ จะสามารถสร้างตัวช่วยเฉพาะทางที่ปรับแต่งได้สำหรับงานเฉพาะด้าน ตัวอย่างของตัวช่วย AI ที่ปรับแต่งได้ มีดังนี้:

  • ตัวช่วยด้านการวิจัย ที่ถูกปรับแต่งในประเด็นเฉพาะ เช่น ประสิทธิภาพของเทคนิคการกักเก็บคาร์บอนต่าง ๆ ในวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือการปรับปรุงการจราจรในเขตเมืองในด้านวิศวกรรมโยธา ซึ่งจะช่วยให้อาจารย์และนิสิตสามารถเชื่อมโยงหรือค้นหาความเชื่อมโยงในงานวิจัย รวมถึงเสนอคำถามหรือสมมติฐานใหม่ ๆ ได้
  • ตัวช่วยด้านการศึกษา ที่พัฒนาจากตำรา หรือฐานข้อมูลด้านการศึกษาและอาชีพ พร้อมข้อมูลแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและข้อพิจารณาด้านจริยธรรม ช่วยให้นิสิตได้รับคำแนะนำที่ปรับให้เหมาะสมและเป็นเฉพาะบุคคลในการเลือกหลักสูตรและการวางแผนเส้นทางอาชีพได้
  • ตัวช่วยด้านการบริหารและธุรการ ที่สามารถเข้าใจและตอบคำถามในประเด็นต่าง ๆ เช่น การสมัครเรียน การลงทะเบียน ทุนการศึกษา การจัดการอาคารสถานที่ หรือการสนับสนุนด้าน IT เป็นต้น

จุฬาฯ ให้ความสำคัญสูงสุดกับการใช้งาน AI ที่มีความรับผิดชอบ โดยทางมหาวิทยาลัยได้นำระบบกรองเนื้อหาของ Vertex AI และนโยบาย AI ของจุฬาฯ มาใช้เพื่อออกแบบ ChulaGENIE มิให้ตอบหรือสร้างเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือเป็นอันตราย นอกจากนี้จุฬาฯ ยังเตรียมเพิ่มความแม่นยำในการตอบคำถามของ ChulaGENIE ด้วยการเปิดใช้งานการ Grounding ด้วย Google Search ซึ่งเป็นฟีเจอร์พิเศษที่พัฒนาโดย Google Cloud

นอกจากนี้จุฬาฯ ยังใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสข้อมูลและการควบคุมการเข้าถึงระดับองค์กรของ Google Cloud เพื่อมอบประสบการณ์ AI ที่มีความเป็นส่วนตัวและปลอดภัย ระบบนี้ช่วยให้มั่นใจได้ว่าคำสั่งหรือข้อมูลที่ผู้ใช้งานป้อนรวมถึงคำตอบของ AI จะไม่ถูกผู้พัฒนาโมเดลภายนอกจุฬาฯ นำไปใช้ในการฝึกโมเดลพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ในขณะเดียวกันจุฬาฯ ยังสามารถวิเคราะห์แนวโน้มการใช้งานโดยรวมของ ChulaGENIE เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของแอปพลิเคชัน และที่สำคัญระบบดังกล่าวยังช่วยป้องกันไม่ให้ ChulaGENIE เผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยที่เป็นความลับหรือทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความอ่อนไหวโดยไม่ได้ตั้งใจอีกด้วย

ในอนาคต จุฬาฯ มีแผนที่จะขยายความร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อพัฒนาโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่แบบโอเพ่นซอร์สที่เน้นเฉพาะด้านสำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โมเดลนี้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ปรับให้เหมาะกับความเร็วและรูปแบบการเรียนรู้ของนิสิตแต่ละคน โดยให้แบบฝึกหัด คำอธิบาย และข้อเสนอแนะที่ปรับแต่งได้ตามความต้องการ นอกจากนี้ โมเดลดังกล่าวยังสามารถสนับสนุนแอปพลิเคชันที่วิเคราะห์หลักสูตรที่มีอยู่ เพื่อค้นหาช่องว่างหรือจุดที่ควรปรับปรุง พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขโดยอ้างอิงจากงานวิจัยล่าสุดและแนวโน้มด้านการศึกษาในปัจจุบัน

เสริมทักษะ AI ที่จำเป็นให้กับประชาคมจุฬาฯ

จุฬาฯ อบรมคอร์ส Google AI Essentials ให้กับบุคลากร คณาจารย์ และนักศึกษา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายใต้โครงการ Samart Skills ของ Google ซึ่งในปัจจุบันมีผู้สำเร็จหลักสูตรนี้แล้วกว่า 800 คน และได้รับใบรับรองจาก Google เพื่อยืนยันความเชี่ยวชาญในการใช้งานเครื่องมือ Generative AI โดยคอร์ส Google AI Essentials นี้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการใช้งาน AI ผ่านวิดีโอการสอนจากผู้เชี่ยวชาญ การฝึกปฏิบัติจริง รวมถึงการประเมินผล และเครื่องมืออื่น ๆ โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเข้าใจเทคนิคการเขียนคำสั่ง (prompting) และการใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบ

ทั้งนี้ จุฬาฯ กำลังปรับหลักสูตร Google AI Essentials ให้เรียบง่ายขึ้นสำหรับผู้เรียนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก เพื่อให้ประชาคมจุฬาฯ ทุกคนสามารถเรียนรู้การใช้งาน ChulaGENIE ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการทำงาน แก้ไขปัญหาในโลกความเป็นจริง และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในสาขาของตนเอง

นายอรรณพ ศิริติกุล Country Director, Google Cloud ประเทศไทย กล่าวว่า “ที่ Google Cloud เราเชื่อมั่นว่าประโยชน์ของ AI ขึ้นอยู่กับความแม่นยำและการนำไปใช้อย่างรับผิดชอบ แพลตฟอร์ม Vertex AI ของเราช่วยให้องค์กรต่าง ๆ อย่างเช่น จุฬาฯ สามารถนำ Responsible AI ไปใช้ได้จริงผ่านฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น Grounding บริการประเมินโมเดล และเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์มาตรฐานที่เข้มงวดในด้านการกำกับดูแลข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดตัว ChulaGENIE อย่างรวดเร็วของจุฬาฯ ตอกย้ำคุณค่าของแนวทางที่เน้นแพลตฟอร์มเป็นศูนย์กลาง (platform-first approach) สำหรับโครงการริเริ่มด้าน AI เชิงกลยุทธ์ ซึ่งช่วยให้สามารถพัฒนา ติดตั้ง และจัดการ AI ได้ในวงกว้าง ประกอบกับการพัฒนาโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และโครงการพัฒนาทักษะ AI ของ Google จะช่วยเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในด้านการวิจัยและวิชาการ ซึ่งในท้ายที่สุดจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยของเรา”

ทีมนักศึกษาจากประเทศไทยสร้างชื่อเสียงให้ประเทศอีกครั้ง โดยคว้ารางวัลทีมภาษาอังกฤษยอดเยี่ยมจากการแข่งขัน Global Brand Planning Competition (GBPC) 2024 ซึ่งจัดขึ้นที่สิงคโปร์ โดยทีม "Win Won Won" ที่ประกอบด้วยนักศึกษาจาก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ได้แสดงความสามารถโดดเด่นในการวางแผนการสร้างแบรนด์ ‘CP Bologna’ จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในประเภทแผนภาษาอังกฤษได้สำเร็จ

การแข่งขันครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT) ซึ่งทำหน้าที่คัดเลือกทีมตัวแทนและส่งเสริมศักยภาพของนักการตลาดรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในการแข่งขันระดับนานาชาติที่มีคู่แข่งจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นจากจีน สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง และฟิลิปปินส์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการตลาดและเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ในวงการธุรกิจ

นอกจากการวางแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจน ทีมไทยยังได้รับคำชื่นชมในเรื่องของการวิเคราะห์ตลาดและความสามารถในการเชื่อมโยงแผนการตลาดเข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งนี้ GBPC เป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาจากหลากหลายประเทศได้แสดงความสามารถ ทั้งด้านความรู้และทักษะด้านการตลาด รวมถึงการสร้างเครือข่ายกับผู้เชี่ยวชาญในวงการ

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "MAT ภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนทีมนักศึกษาไทยให้ก้าวไปถึงเวทีระดับโลก การแข่งขันนี้ไม่เพียงเป็นโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางการตลาดเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างนักการตลาดรุ่นใหม่กับผู้เชี่ยวชาญระดับสากล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตในสายอาชีพในอนาคต"

จากการแข่งขันครั้งนี้ ทีม "Win Won Won" ได้พิสูจน์แล้วว่าความรู้ ความสามารถ และความมุ่งมั่นของนักศึกษาไทยสามารถสร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศได้อีกครั้งในเวทีสากล

คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำวิสัยทัศน์ สถาบันการศึกษาทางทันตแพทยศาสตร์ระดับโลก ที่สร้างบัณฑิต องค์ความรู้ นวัตกรรมเพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน นำโดย ศาสตราจารย์ ทพ.ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดี คณะทันตแพทยศาสตร์  จุฬาฯ   ด้วยผลงานที่สง่างามในปี 2567  กับความสำเร็จที่เกิดขึ้น คือ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการจัดอันดับความเป็นเลิศด้านวิชาการ จาก QS WORLD UNIVERSITY RANKINGS  by Subject Areas 2024  คือ อันดับ 1 ในประเทศไทย   อันดับ 11 ในเอเชีย อันดับ 60 ของโลก

คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ  ได้มุ่งมั่นสู่ความสำเร็จที่จะสร้างสรรค์ให้ก้าวไกลต่อไป ด้วยการเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ ในกิจกรรมต้อนรับเปิดเทอม ด้วยงานปฐมนิเทศนิสิตใหม่ รุ่นที่ 86   พิธีมอบเสื้อกาวน์ นิสิตชั้นปี 4  และ พิธีไหว้ครู 2567

งานปฐมนิเทศนิสิตใหม่ คณะทันตแพทยศาสตร์ รุ่นที่ 86 เป็นงานต้อนรับนิสิตใหม่พร้อมครอบครัวในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรัก ความสุข ที่ฝ่ายวิชาการและฝ่ายกิจการนิสิต นำโดย รศ.ทพ.สุพจน์ ตามสายลม รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และฝ่ายกิจการนิสิต  รศ.ทพ.ขจร กังสดาลพิภพ รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิตและนิสิตเก่าสัมพันธ์ ได้จัดขึ้น  โดยมีคณาจารย์ ฝ่ายบริหาร และรุ่นพี่นิสิต ได้ร่วมกันต้อนรับนิสิตใหม่พร้อมครอบครัว เข้ามาเป็นนิสิตใหม่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่มีความพร้อมทั้งด้านวิชาการและการศึกษาด้านทันตกรรม คลินิกบริการทันตกรรม งานวิจัยและงานนวัตกรรม

งานแห่งความภูมิใจกับวิชาชีพแพทย์ ด้วยพิธีมอบเสื้อกาวน์ นิสิตชั้นปี 4 เป็นพิธีการสำคัญสำหรับนิสิตทันตแพทย์  เพื่อรับเสื้อกาวน์ ซึ่งเป็นเสื้อที่สัญลักษณ์ของวิชาชีพแพทย์  โดยนิสิตที่รับเสื้อกาวน์ จะเป็นนิสิตปี 4 ที่กำลังจะก้าวสู่การเรียนในระดับชั้นคลินิกในปี 4 – ปี 6 เพื่อให้นิสิตได้ตระหนักถึงความสำคัญ รับรู้บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในวิชาชีพและคุณธรรมจริยธรรมตามจรรยาบรรณแพทย์ โดยในงานนี้คณาจารย์ ได้เป็นผู้สวมเสื้อกาวน์ให้นิสิตพร้อมกล่าวอวยพร ด้วยความภูมิใจ และคณาจารย์ได้ร่วมแสดงความยินดีกับความสำเร็จ ชื่นชมความสุขกับทุกครอบครัวนิสิตด้วย

งานประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม ด้วยพิธีไหว้ครู 2567 ที่นิสิตทันตแพทยศาสตร์ทุกคน จะได้มีโอกาสแสดงความเคารพคณาจารย์ ครูผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับลูกศิษย์ ด้วยความรัก ความเมตตา ความปรารถนาดี  และกิจกรรมที่ดีงามนี้ ได้ช่วยสร้างความรัก ความสุข ความผูกพัน ความสามัคคีในกลุ่มนิสิตได้ด้วย

 

Page 1 of 5
X

Right Click

No right click