November 21, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6855

“ความต้องการทางด้านการบริหารธุรกิจไม่เคยหายไป เพียงแต่บางช่วงอาจลดลงไปบ้าง ที่ผ่านมา เรามักจะพูดกันถึง “เศรษฐกิจดิจิทัล” ทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่า ไม่จำเป็นต้องไปทำงานที่ออฟฟิศ หรือสามารถช็อปออนไลน์ได้ แต่ถ้าเราไม่มีพื้นฐานการบริหารจัดการก็ถือว่ายาก ที่สำคัญ ผู้ที่ไม่ได้เรียนแล้วประสบความสำเร็จถือว่ามีสัดส่วนน้อยมากกว่าผู้ที่ได้เรียน”

รศ.ดร.ธัชวรรณ กนิษฐ์พงศ์
คณบดี คณะบริหารธุรกิจ (MBA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอันเป็นพลวัต โดยเฉพาะวิกฤติโควิด-19 และดิจิทัลดิสรัปชันที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในระดับมหภาค-จุลภาคลงไปจนถึงไลฟ์สไตล์ การทำงานของผู้คน ตลอดจนการเรียนการสอนของสถาบันต่างๆ ซึ่งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า: NIDA) แม้จะเป็น Business School ก็มิได้รับการยกเว้นแต่ประการใด เพียงแต่ “ในวิกฤติยังมีโอกาส” เมื่อบวกกับการปรับตัวของ “นิด้า” รวมทั้งความเข้มแข็ง อันมาจากปัจจัยพื้นฐานของสถาบันฯ เอง ทำให้ “นิด้า” กลายเป็นสถาบัน “ยืนหนึ่ง” ที่ครองตำแหน่งผู้นำ Business School ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน AACSB อย่างต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง ก้าวนำ Business School จากสถาบันอื่นๆ

สำหรับปี 2566 ซึ่งถือเป็นปีที่มีสัญญาณบวกจาก “เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ” ต่างๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว, การเดินทาง – ขนส่ง โลจิสติกส์ ฯลฯ ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ รวมทั้งบุคลากรต่างก็ปรับตัว และเปิดรับเทคโนโลยีในวงกว้าง และทำให้เป็นห้วงเวลาที่เราจะได้ยินคีย์เวิร์ดเชิงกลยุทธ์สำคัญๆ อย่าง Agile, Resilience, Digital Transformation และคีย์เวิร์ดที่มาจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่าง Big Data, Machine Learning และที่มาแรงจริงๆ อีกทั้งมากับความคาดหวังของหลายๆ อุตสาหกรรมทั่วโลกในปีนี้ คือ Chat GPT

ด้วยเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่เป็นพลวัตเหล่านี้ อะไรคือทิศทางและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ของ NIDA Business School ในปีนี้ จากบรรทัดนี้จึงเป็นการเปิดเผยเพื่ออัปเดตอย่างพรั่งพรูของ รศ.ดร.ธัชวรรณ กนิษฐ์พงศ์ คณบดี คณะบริหารธุรกิจ (MBA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กับ MBA Online อีกครั้ง

ปักหมุด “ยืนหนึ่ง” กับ AACSB 3 ครั้งซ้อน

การได้รับการรับรองมาตรฐานจาก AACSB (Association to Advance Collegiate Schools of Business) ซึ่งเป็นสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีทั่วโลกเป็นครั้งที่ 3 อย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าย่อมจะเป็น Pride of NIDA Business School ที่ “ชาวนิด้า” ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ รศ.ดร.ธัชวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สถาบันการศึกษาทั่วโลกที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน AACSB นั้นมีเพียง 5% เท่านั้นและคณะบริหารธุรกิจ ของ “นิด้า” (NIDA Business School) ก็เป็นคณะแรกในประเทศไทยที่ได้รับรองมาตรฐานการศึกษาของหลักสูตรบริหารธุรกิจในหลักสูตรภาษาไทย

สำหรับการรับรอง AACSB ล่าสุด NIDA Business School ได้รับการตรวจประเมินคุณภาพโดยคณะกรรมการ PRT ระหว่างวันที่ 30 – 31 ตุลาคม และ 1 พฤศจิกายน 2565 และแจ้งผลการประเมินต่อผู้บริหารสถาบัน ผู้บริหารคณะ คณาจารย์ และบุคลากรของคณะบริหารธุรกิจ โดย PRT Team Recommend ให้ NIDA Business School ได้รับการ Re – Accredited จาก AACSB ต่ออีก 5 ปี นอกจากนั้นผู้ตรวจประเมินยังแสดงความชื่นชมกับคณะบริหารธุรกิจ นิด้าว่า เป็นสถาบันที่มีความเข้มแข็งในเรื่องบุคลากรและความสัมพันธ์อันดีกับทั้งอาจารย์ในอดีตและศิษย์เก่าซึ่งถือว่าเป็น Network ที่สำคัญและเป็นจุดเด่นของคณะ

ทั้งนี้ มาตรฐาน เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อระบบการศึกษาในภาพรวมของประเทศไทยในอนาคตที่กำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เนื่องจากมาตรฐานดังกล่าวได้รับการยอมรับในระดับสากล ทำให้เมื่อจบหลักสูตรที่นี่ก็สามารถการันตีต่อบริษัทชั้นนำทั้งในและต่างประเทศได้ทันที เพิ่มความได้เปรียบในการรับเข้าทำงาน มากกว่าหลักสูตรบริหารธุรกิจทั่วไปที่ยังไม่ได้รับการรับรอง นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่จบจากสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองโดย AACSB และต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่ได้รับการรับรองเช่นเดียวกันก็จะทำให้การติดต่อหรือการสมัครเรียนทำได้ง่ายและสะดวกมากขึ้นด้วย

เกณฑ์ AACSB เพิ่มที่ตัวแปร “ความยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม สำหรับการรับรองมาตรฐาน AACSB ในปีนี้ รศ.ดร.ธัชวรรณ กล่าวเพิ่มเติมถึงเกณฑ์ที่เพิ่มเติมขึ้นมาในส่วนของ “ความยั่งยืน” ว่า

“เกณฑ์ที่เพิ่มเติมทางด้านความยั่งยืนนั้น คือ Societal Impact (ผลกระทบที่มีต่อสังคม) ซึ่งมีมิติที่ลึกกว่าการทำ CSR มิใช่แค่การบริจาคของ หรือการทำกิจกรรมปลูกต้นไม้ ฯลฯ หากแต่เป็นความยั่งยืนที่เป็นการแบ่งปัน “คุณค่าร่วมกัน” (Shared Value) ระหว่าง “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโซ่คุณค่า” นับแต่ NIDA Business School - คณาจารย์ - ผู้เรียน - องค์กร - สังคม

ทั้งนี้ ในส่วนของ “สถาบันฯ” AACSB ได้พิจารณาว่า ในหลักสูตรได้บรรจุเรื่องความยั่งยืนที่สามารถสร้าง Societal Impact หรือไม่ อีกทั้งมีส่วนร่วมที่จะทำให้เกิด Societal Impact หรือไม่ โดยในส่วนของนิด้า ที่ผ่านมาเราเองก็มิได้มุ่งสอนเพื่อให้นักศึกษาจบไปเท่านั้น หากแต่มุ่งสร้างและส่งมอบความรู้กับสังคมแบบ Life Long Learning โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายด้วยการเชิญอาจารย์มาบรรยายแบบเดือนเว้นเดือน เพื่ออัปเดตความรู้ในประเด็นต่างๆ และได้ดำเนินการมา 4 ครั้งแล้ว สำหรับครั้งที่ 5 นิด้ามีแผนที่จะเชิญ “อาจารย์ มีชัย วีระไวทยะ” มาบรรยายเพื่อให้ความรู้กับสังคม และไม่ค่าเสียใช้จ่ายอีกเช่นเคย โดยจะเป็นการเรียนออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom”

ขณะเดียวกัน ก็ประเมินจากอาจารย์ด้วยว่าได้ทำงานวิจัยที่ทำให้เกิด Societal Impact อย่างไร ที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างการทำวิจัยของอาจารย์ที่ทำให้เกิด Societal Impact อาทิ การทำวิจัยที่เกี่ยวกับโมเดลการออมเงินอย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเกษียณอายุ ซึ่งได้นำเสนอเพื่อกำหนดเป็นนโยบายจากภาครัฐเพื่อคิดเบี้ยผู้สูงอายุด้วย เป็นต้น ส่วนบัณฑิตที่จบไปแล้วได้ทำอะไรที่เป็นความยั่งยืน และเป็น Societal Impact นอกจากนี้ ผู้เรียนที่จบการศึกษาแล้วได้สร้างสรรค์ Shared Value ที่ฝังในระบบของบริษัทหรือไม่ และก่อนที่ผู้เรียนจะจบการศึกษา เราก็ได้มอบหมายให้ทำโครงการของตนเองเพื่อนำเสนอ Shared Value ให้กับสังคมด้วยโจทย์ที่สมมติให้ผู้เรียนคือผู้บริหารองค์กร

ยืนยันไม่ใช่ยุคอวสาน “อาหารสมอง”

จากเทรนด์ของ Ai, Chat GPT ที่ไหลบ่าในยุค 5G นี้ ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ในอนาคต ตลาดการเรียนการสอน การสอนจะต้องเปลี่ยนไป ที่สำคัญ การเรียนบริหารธุรกิจในระดับ MBA จะถึงยุคอวสาน อาหารสมองกันแล้ว ประเด็นนี้ รศ.ดร.ธัชวรรณ มองมุมต่างที่ว่า

“ในทางปฏิบัติ Chat GPT ยัง “ไม่ใช่” การเรียนการสอนที่ควรจะเป็นเสียทีเดียว เพราะในเชิงทฤษฎี แม้ Chat GPT จะสามารถหาเนื้อหามาให้อ่านได้ แต่จะสามารถประยุกต์ใช้ (Implement) ได้หรือเปล่า เพราะในการประยุกต์ใช้นั้นยาก ซึ่งหากผู้เรียนทำงานมาผิดตรงนี้จะแนะนำได้หรือไม่ว่าผิดตรงไหน ที่สำคัญ ต้องเข้าใจด้วยว่า ทักษะของมนุษย์นั้นแตกต่างกัน โดยส่วนตัวมองว่า อะไรที่เป็น Inner ของมนุษย์นั้นก็ควรจะเรียนรู้จากมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งการมาเรียนกับอาจารย์จริงๆ แบบ On Site นั้นจะทำได้ผู้เรียนได้เห็นผู้สอนตัวจริง สามารถสอบถามข้อสงสัย หรือสิ่งที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมได้ทำให้สามารถเรียนรู้ได้มากกว่าการเรียนแบบถามไป แชตไปกับ Chat GPT ดังนั้น ในฐานะผู้บริหารหลักสูตรมองว่า AI กับ Chat GPT จะดิสรัปต์หลักสูตรที่เน้นการเรียนการสอนแบบเลกเชอร์ที่ให้นักศึกษาเรียนจากวิดีโอ แต่จะไม่สามารถดิสรัปต์หลักสูตรการเรียนการสอน อย่างที่นิด้าใช้เป็นแนวทางและหลักการการเรียนการสอนมานานในหลักสูตร MBA นั่นคือ การเรียนแบบสามผสาน นั่นคือ “การเรียนเชิงทฤษฎี บวกกับกรณีศึกษา หรืองานวิจัยต่างๆ การแบ่งปันประสบการณ์ และการมีเครือข่ายซึ่งกันและกัน”

นอกจากนี้ กับฐานความคิดที่เชื่อว่า MBA น่าจะไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร แต่เทรนด์ที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม รศ.ดร.ธัชวรรณ เปิดเผยว่า “หลังโควิด-19 กลับมีเทรนด์ความต้องการของผู้เรียนมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ โดยกลุ่มที่เข้ามาเรียนมีหลากหลายทั้งจากกลุ่มข้าราชการ - รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนวิชาชีพเฉพาะ อาทิ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร วิศวกร ฯลฯ ที่สนใจเข้ามาศึกษา MBA เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน เช่น วิชาชีพแพทย์ที่สนใจมาศึกษาต่อในหลักสูตร MBA จะเป็นกลุ่มที่ต้องการทำธุรกิจส่วนตัว กับกลุ่มที่เตรียมการเพื่อที่จะเป็นผู้บริหารในอนาคต ซึ่งแพทย์ที่จบทางด้าน MBA มีจำนวนไม่มาก นอกจากนี้ ก็เป็นเหตุผลจากการเปลี่ยนแปลงขององค์กรที่กำลังทรานส์ฟอร์มตนเอง ทำให้หลักสูตร MBA ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเทอมล่าสุดก็มีผู้สนใจสมัคร Executive MBA กว่า 50 คน ขณะเดียวกัน องค์กรต่างๆ ก็เริ่มให้ทุนการศึกษาระดับ MBA กับพนักงาน อาทิ เอ็มเค โฮมโปร เป็นต้น ขณะเดียวกัน ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ประเทศไทยจะเป็น “เมดิคัล ฮับ” (Medical Hub) ของภูมิภาค, การเติบโตของธุรกิจโลจิสติกส์ ฯลฯ นอกจากนี้ ก็ยังมีผู้เรียนจากกลุ่มธุรกิจโรงแรม”

จุดแข็ง 3 ผสาน On Site X Case Study X Connection

สำหรับจุดแข็งของ NIDA Business School กล่าวได้ว่า มาจาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ On Site X Case Study X Connection รศ.ดร.ธัชวรรณ กล่าวถึงหลักสูตรการเรียนการสอนของ MBA NIDA ว่า

“โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการเรียนการสอนแบบ ดิจิทัล แคมปัส (Digital Campus) ที่เรียนทางดิจิทัล 100% และปัจจุบันนิด้าสอนออนไลน์เพียง 20% ที่สำคัญ นักศึกษาเองก็อยากมาเรียนที่นิด้าอยู่ เพราะการเรียนก็ยังต้องการเครือข่ายด้วย

สำหรับการปรับเนื้อหาหลักสูตร Young-Executive และ Executive MBA NIDA ขณะนี้ เราปรับให้เป็นการเรียนในห้องและมีกรณีศึกษาที่ให้นักศึกษาทำโครงการเป็นเอกเทศของตนเองในแต่ละด้านเพิ่มขึ้น เช่น การเรียนทางด้าน Operation ก็จะเป็นวิชาที่คล้ายๆ การสัมมนา ไม่ได้สอน แต่จะมอบหมายให้นักศึกษาทำโครงการ เป็นต้น ส่วนนักศึกษา MBA ภาคปกติ คณะก็มีแผนที่จะฝึกให้นักศึกษาที่ยังไม่มีประสบการณ์ได้มีโอกาสใช้ความรู้ควบคู่ไปกับการปฏิบัติจริง โดยเราก็จะจับคู่หลักสูตรภาคปกติกับสมาคมศิษย์เก่าของคณะบริหารธุรกิจ หรือใช้ธุรกิจของนักศึกษา Executive MBA ให้นักศึกษาภาคปกติเข้าไปช่วยในโครงการต่างๆ โดยทำออกมาเป็นผลงานก่อนจบการศึกษา ดังนั้น นักศึกษาภาคปกติก็จะได้ทำโครงการจริงๆ ด้วย ขณะที่ ศิษย์เก่าและ Executive MBA จะได้ความคิดใหม่ๆ จากคนรุ่นใหม่เหล่านี้ด้วย ซึ่งจะเป็นการผสานระหว่างคนสองรุ่นเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ คาดว่า เทอมหน้าก็จะเป็นการเริ่มจับคู่หลักสูตรภาคปกติได้”

นอกจากนี้ NIDA Business School ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเกี่ยวกับการเรียนการสอน การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ อีกทั้งได้ทำ MOU โครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยนกับฝรั่งเศสและเยอรมนี และกำลังพิจารณาถึงการขยายเครือข่ายความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย อาทิ เมียนมา ลาว อินโดนีเซีย จีน เป็นต้น

2 ศูนย์บริการทางด้านวิชาการ

รศ.ดร.ธัชวรรณ กล่าวถึงโครงสร้างรายได้และงานบริการทางด้านวิชาการของสถาบันฯ ว่า

“NIDA Business School มีศูนย์ฝึกอบรมที่รับงานทั้งอินเฮ้าส์ และรับงานแบบสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันก็ฟื้นจากโควิดและดีขึ้นมาก อย่างล่าสุด Mini MBA ที่เปิดรุ่นล่าสุดได้รับนักศึกษาเต็มพิกัดแล้ว ซึ่งหลักสูตร Mini MBA เราเปิดทุกปี ปีละ 2 รุ่นและเต็มทุกรุ่น ส่วนหนึ่งอาจจะเรียนแบบหลักสูตรระยะสั้น อีกส่วนหนึ่งก็คงอยากที่จะชิมรางก่อนที่จะเรียน MBA

นอกจากนี้ NIDA Business School มี 2 ศูนย์บริการวิชาการ คือ

  • ศูนย์นวัตกรรมทางธุรกิจ ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกอบรมและการให้คำปรึกษา พร้อมทั้งดำเนินงานด้านหลักสูตร Mini MBA ตลอดจนหลักสูตรระยะสั้นที่ไม่ได้เน้นดีกรี เช่น หัวข้อที่เกี่ยวกับ Agile, เทคนิคสำหรับการบริหารโครงการอย่างมืออาชีพตามมาตรฐานของ PMI (Project Management Institute), การบริหารความเสี่ยง ฯลฯ
  • ศูนย์ปัญญาทัศน์เพื่อการจัดการ ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับ Neuroscience (ประสาทวิทยาศาสตร์) ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง และหน้าที่ของระบบประสาท และสมอง เพื่อนำไปใช้ในศาสตร์ด้านการตลาด

4 Keys Take-Away

ในตอนท้าย รศ.ดร.ธัชวรรณ ได้กล่าวถึงความเข้มแข็งของคณะบริหารธุรกิจ นิด้าที่ชี้ชัดๆ ให้เห็นว่า เหตุใดผู้ที่ต้องการเรียนหลักสูตรบริหารธุรกิจต้องเลือกนิด้า นั่นคือ

หนึ่ง นิด้ายังคงเป็นการเรียนการสอนที่เน้นศึกษาจากการใช้กรณีศึกษา และนำไปใช้ปฏิบัติงานได้จริง

สอง มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทำให้ผู้เรียนได้สายสัมพันธ์จากเครือข่ายเหล่านี้ในสถาบันการศึกษา

สาม มีธรรมชาติของการเป็นสถาบัน Business School ที่มีแต่ Graduate School ไม่ใช่เข้ามาเรียนแบบปริญญาตรี ซึ่งจะมีความเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้อย่างชัดเจน การเรียนการสอนก็เป็นแบบ Discussion นักศึกษาถามมากก็ได้คำตอบมาจากอาจารย์ เพราะมีการอภิปรายกัน ที่สำคัญ นิด้ายังใช้เกณฑ์อายุของผู้เรียนแต่ละโครงการ เหมือนเดิม และรับผู้เรียนให้เหมาะสมกับตามเกณฑ์ อย่างหลักสูตร Executive MBA ก็กำหนดที่อายุ 30 ปีขึ้นไป ประสบการณ์ 8 ปี จะไม่ลดอายุผู้เรียน เพื่อทำการตลาด เพราะเราตระหนักว่า ผู้ที่เรียนระดับ MBA นั้นการแบ่งปันประสบการณ์มีความสำคัญมาก

สี่ ยังคงรักษาคุณภาพของสถาบันไว้ และไม่เคยปรับมาตรฐานให้ต่ำลง

ที่สำคัญ นิด้ายังให้อิสระกับคณาจารย์ให้สามารถเป็นที่ปรึกษากับธุรกิจภายนอกได้ เช่น การทำวิจัย อิสระในการทำวิจัยยังคงเป็นเช่นเดิม ทำให้คณาจารย์ที่มาสอนที่นิด้ามีความสุข ได้มีโอกาสค้นหาตนเอง ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ และถนัด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะกลับมาที่การสอนในคณะที่ทำให้อาจารย์ได้แบ่งปันประสบการณ์ของตนเองให้กับผู้เรียน ขณะเดียวกัน คณาจารย์ที่ออกไปจากนิด้าและศิษย์เก่าก็ยังกลับมาแบ่งปันประสบการณ์กับคณะมาโดยตลอด และมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างกันมาก อย่าง ดร.ทนง พิทยะ คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ก็ยังมาสอนและแบ่งปันประสบการณ์ที่นิด้าเสมอมา


บทความ: กองบรรณาธิการ
ช่างภาพ: ภัทรวรรธน์ พงษ์บริพันธ์

เอเอซีเอสบี อินเตอร์เนชันแนล (AACSB International) เครือข่ายการศึกษาด้านธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศยกย่องโรงเรียนธุรกิจ 25 แห่งภายใต้โครงการอินโนเวชันส์ แดท อินสไปร์ (Innovations That Inspire) หรือ นวัตกรรมสร้างแรงบันดาลใจ

โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อยกย่องโรงเรียนธุรกิจจากทั่วโลกที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การศึกษาด้านธุรกิจ สำหรับปี 2566 นี้ ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนธุรกิจในรูปแบบที่เพิ่มมูลค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ซึ่งรวมถึงผู้เรียน ธุรกิจ และสังคม โดยโรงเรียนธุรกิจเหล่านี้กำหนดนิยามใหม่ให้กับอนาคตของการเรียนรู้ การเป็นผู้นำ และการเชื่อมโยง ซึ่งปูทางไปสู่การนำเสนอคุณค่าเพื่อส่งเสริมการศึกษาด้านธุรกิจ

นวัตกรรมเด่นของโรงเรียนธุรกิจเหล่านี้ช่วยบุกเบิกความร่วมมือในอุตสาหกรรมและชุมชน กำหนดนิยามใหม่ของอิทธิพลด้านการวิจัย และยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดชีวิต ยกตัวอย่างเช่น

· อนาคตของธุรกิจคือดิจิทัล (The Future of Business Is Digital) โดยโรงเรียนธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย (UniSA Business): ทางสถาบันได้ผนึกกำลังกับเอคเซนเชอร์ (Accenture) บริษัทที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยีระดับโลก เพื่อพัฒนาหลักสูตรปริญญาตรีสาขาธุรกิจดิจิทัลแบบเรียนออนไลน์ ซึ่งมอบทักษะทางธุรกิจและดิจิทัลระดับสูง และมุ่งเน้นประสบการณ์จริงในอุตสาหกรรม

· ปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ (Act for Climate) โดยโรงเรียนธุรกิจแอมลียง (EMLYON Business School): นำเสนอหลักสูตรที่ผสมผสานความเข้าใจพื้นฐานด้านสภาพภูมิอากาศ คำอธิบายสถานการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม และการออกแบบแผนปฏิบัติการที่เหมาะสม เพื่อสอนให้ผู้เรียนพัฒนาทฤษฎีสำหรับรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สามารถแก้ปัญหาได้จริง

· ศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมและผู้ประกอบการ (Center for Innovation and Entrepreneurship หรือ iCenter) โดยวิทยาลัยธุรกิจลูวิสแห่งมหาวิทยาลัยมาร์แชลล์ (Marshall University: The Lewis College of Business): จัดตั้งศูนย์ iCenter ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดนวัตกรรมทั่วทั้งวิทยาลัย วิทยาเขต และชุมชน ด้วยการเผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมผ่านการให้ความรู้และการฝึกอบรม

· การพัฒนากลุ่มวิจัยในโรงเรียนธุรกิจ (Developing Research Groups in Business School) โดยโรงเรียนเศรษฐศาสตร์และธุรกิจเคทียูแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีคอนาส (Kaunas University of Technology: KTU School of Economics and Business): พัฒนากลุ่มวิจัยแบบสหวิทยาการ 4 กลุ่ม เพื่อขจัดอุปสรรคทางวิชาการ เพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยของคณาจารย์ ส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เรียน ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการสร้างความร่วมมือและการได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

"ความต้องการใหม่ ๆ ของบรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้น ได้ผลักดันให้ต้องมีการคิดใหม่ทำใหม่ในส่วนของการศึกษาด้านธุรกิจ และนวัตกรรมจากโรงเรียนธุรกิจในโครงการอินโนเวชันส์ แดท อินสไปร์ ประจำปี 2566 นี้ แสดงให้เห็นถึงแนวทางใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อโรงเรียนธุรกิจในอนาคต" คุณแคริน เบค-ดัดลีย์ (Caryn Beck-Dudley) ประธานและซีอีโอของเอเอซีเอสบี กล่าว "การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเพื่อร่วมกันสร้างองค์ความรู้ วิธีการเรียนรู้ใหม่ ๆ และขยายการเข้าถึงการศึกษา ส่งผลให้โรงเรียนธุรกิจสามารถตอบสนองความคาดหวังของตลาด ตลอดจนเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ ผู้เรียน และสังคม"

โครงการอินโนเวชันส์ แดท อินสไปร์ เข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว และได้ยกย่องโรงเรียนธุรกิจรวม 214 แห่งซึ่งเป็นแบบอย่างของแนวทางที่ก้าวหน้าด้านการศึกษา การวิจัย การมีส่วนร่วมกับชุมชน ความเป็นผู้ประกอบการ ความเป็นผู้นำ รวมถึงความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่าง ทั้งนี้ โครงการอินโนเวชันส์ แดท อินสไปร์ ประจำปี 2566 ได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียนธุรกิจสจ๊วตแห่งสถาบันเทคโนโลยีอิลลินอยส์ (Illinois Institute of Technology's Stuart School of Business) สามารถดูข้อมูลและตัวอย่างเพิ่มเติมได้ที่ aacsb.edu/innovations-that-inspire

นอกเหนือไปจากการเป็นสถาบันระดับนานาชาติ ที่ให้การรับรอง มาตรฐานและคุณภาพการศึกษาโรงเรียนบริหารธุรกิจ หรือ Business School แล้ว  AACSB International (The Association to Advance Collegiate Schools of Business) ยังให้ความสำคัญต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสังคม เศรษฐกิจและการพัฒนาสู่ความยั่งยืน  จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งโครงการ Influential Leaders โดยคัดเลือกจากศิษย์เก่านักเรียนบริหารธุรกิจที่ได้รับการเสนอชื่อจากเครือข่าย Business School บนมาตรฐานการรับรองจาก AACSB กว่า 880 แห่งทั่วโลก โดยโครงการ Influential Leaders ได้ดำเนินเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว

การเรียนในระบบที่มีมายาวนานกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

X

Right Click

No right click