คณะการบริหารและจัดการภายใต้การบริหารของ ผศ.ดร.สุดาพร สาวม่วง จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งสอดรับกับการครบรอบ 60 ปีของสจล.
กล่าวได้ว่าตลอดปี 2562 เป็น ความเคลื่อนไหวใหญ่ หรือ Big Moves ก็ว่าได้ สำหรับคณะการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หรือ FAM (Faculty Administration and Management) ภายใต้การนำการขับเคลื่อนของคณบดี ผศ.ดร.สุดาพร สาวม่วง ที่มีความมุ่งหมายในการที่จะนำพาคณะฯ และทีมงาน ก้าวให้ทันโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนใหญ่ไม่เพียงเน้นย้ำความสำคัญในส่วนของนักศึกษาหรืองานวิชาการเพียงเท่านั้น แต่มีการขยับทั้งโครงการด้านการศึกษาและงานส่งเสริมพัฒนาความรู้ให้กับทั้งภาคสังคม ธุรกิจ อุตสาหกรรม ไปจนถึงศิษย์เก่าและประชาชนทั่วไปอย่างครบถ้วนทุกมิติ ผศ.ดร. สุดาพร ได้เปิดเผย กับนิตยสาร MBAถึงความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาและที่กำลังจะเป็นการขยับใหญ่ในปี 2563
เมื่อเริ่มเข้าสู่ปี 2563 ทาง FAM มีความคืบหน้าในด้านการจัดการด้านการศึกษาหลายๆ เรื่อง ในส่วนของภาคผู้เรียนทาง FAM แบ่งเป้าหมายการทำงานเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรกคือภาคหลักสูตรนานาชาติ ทาง FAM ได้เปิดความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศคือ Shandong Technology and Business University ประเทศจีนเพื่อที่จะจัดหลักสูตรอินเตอร์สำหรับรองรับนักศึกษาจากประเทศจีน โดยแผนงานยังครอบคลุมไปยังกลุ่มนักศึกษาจากแถบยุโรปและประเทศในอาเซียน เป็นลักษณะที่นักศึกษาเข้ามาเรียนกับทาง FAM โดยตรงแล้วก็ Transfer Credit Bank ซึ่งส่วนงานของหลักสูตรนานาชาติ นอกเหนือไปจากเรื่องการจัดวางหลักสูตร ทางคณะต้องเตรียมความพร้อมด้านวิชาการเพื่อพร้อมรับผู้เรียนทั้งในเรื่องการปรับพื้นฐานนักศึกษาก่อนเข้าสู่ระบบการเรียนของเรา เรื่องเหล่านี้มีทั้งเรื่องภาษา เรื่องวัฒนธรรมความเป็นอยู่ซึ่งนับเป็นพร้อมที่สำคัญเพราะทาง สจล.มีสถานที่หอพักรองรับอย่างครบครัน โดยเรื่องนี้ก็เป็นความคืบหน้าของการบริหารจัดการด้านการศึกษาของคณะฯ ในปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องมาถึงปี 2563 นี้
สำหรับส่วนผู้เรียนในประเทศนั้นทาง FAM ได้เริ่มมีการทำ MOU กับโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ 130 แห่ง บนการสื่อความกับคณาจารย์และนักเรียนเพื่อให้มีความเชื่อมั่นว่า FAM สามารถบ่มเพาะพัฒนาการและศักยภาพของเด็กให้เข้มแข็ง เปิดโอกาสให้เด็กที่มีความสนใจทางด้านบริหารจัดการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ FAM ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ที่เขาจะได้เรียนรู้จากการลงมือจริง และยังมีความพยายามผลักดัน Output ในส่วนของนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเชิง Qualitative ที่มีเข้ามาเท่าไหร่ก็จบการศึกษาออกไปเท่านั้น และเมื่อจบออกมาก็มีงานทำ มีความสามารถ เป็นที่ยอมรับในกิจการและบริษัทชั้นนำ ส่วนในเชิง Quantitative นั้นเรามีการวัดผลจากองค์กรผู้จ้างงานหลายแห่งที่ค่อนข้างพอใจกับบัณฑิตของ FAM
สำหรับนักศึกษาที่มีอัตลักษณ์ของการเป็น Entrepreneur ทาง FAN ก็มีกิจกรรมส่งเสริมอย่างเข้มข้น พบว่านักศึกษามี Outcome เป็นการจดบริษัท Startup กว่า 3 บริษัทในปีที่ผ่านมา โดยนักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้กระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้ทาง FAM กำลังเตรียมจัดทำพื้นที่ Co-working Space ในคณะเพื่ออำนวยให้นักศึกษาสามารถทำProject ร่วมกันได้อย่างเต็มที่ และต่อไปจะหมายถึงความพยายามที่จะก่อตั้ง ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ เพื่อสร้างแรงสนับสนุนนักศึกษาที่ต้องการ Startup ธุรกิจทั้งในด้านเงินทุนเริ่มต้นและโค้ชซึ่งเป็นอาจารย์ในคณะที่จะคอยให้คำปรึกษาและแนะนำ โดยเรื่องนี้ยังคงอยู่ในกระบวนการทำงานต่อต่อเนื่อง
นอกเหนือไปจากเรื่องแนวทางการพัฒนาผู้เรียน ในส่วนของการบริหารภายใน คณบดีหญิงของ FAM ยังได้เผยถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงที่เข้ามาบริหารคณะฯ ว่า การบริหารหลักสูตร
“ในช่วง 4 ปีของวาระบริหารของอาจารย์เรามีแผนงานที่จะปรับโครงสร้างบุคลากรภายใน เพื่อให้องค์กรก้าวไปได้รวดเร็วมากขึ้น โดยเราจะลดเลิกการมีภาควิชา แต่จะเน้นไปที่ประธานหลักสูตรมากกว่า เพื่อให้เขาสามารถทำหน้าที่ภายใต้กลไกที่ว่องไว เมื่อมีระเบียบ นโยบายอะไรก็ลงถึงหลักสูตรได้ทันที เพื่อความคล่องในการเคลื่อนตัว ได้ผลแม่นยำ และยังทำให้อาจารย์ได้มีเวลามุ่งเน้นโครงการในเชิงพัฒนา การบริการวิชาการแก่สังคม”
ในส่วนของ ‘งานวิจัย’ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของภาคการศึกษา ผศ.ดร สุดาพร เผยถึงนโยบายซึ่งมุ่งให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิบัตรหรืออนุสนธิบัตร โดยจะมีการจัดเงินทุนให้อาจารย์ทำวิจัยปีละ 3 ทุน เมื่ออาจารย์ทำวิจัยออกมาและสามารถมีผลสำเร็จเป็นผลิตภัณฑ์หรือส่วนบริการที่สามารถนำไปจดสิทธิบัตรและจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งบริษัท Startup สามารถมารับช่วงไปจำหน่ายต่อ เราทำหน้าที่เป็น Incubator บ่มเพาะทางธุรกิจไปในตัว ทำงานร่วมกับสำนักงานวิจัยนวัตกรรมของ สจล.
คณบดีของ FAM ได้ยกกรณีตัวอย่างงานวิจัยที่ ผศ.ดร สุดาพรเองได้จัดทำขึ้น ภายใต้การลงพื้นที่เพื่อทำวิจัยเกษตรกรที่เป็นชาวนา เพื่อศึกษาการทำนาและปลูกข้าว ทำให้ได้รับรู้ปัญหาจากชาวนาว่าเขามีความต้องการอะไร? หลังจากได้โจทย์ปัญหาก็นำมาระดมความคิด ประมวลความต้องการร่วมกับ ภาควิชาวิศวฯ จนในที่สุดเกิดเป็น Prototype เครื่องสีข้าวขนาดเล็กในครัวเรือนที่สามารถเคลื่อนที่ได้รุ่นแรก ที่จะเป็นตัวช่วยให้ชาวนาผู้ปลูกข้าวสามารถสีข้าวเองได้ ไม่จำเป็นจะต้องไปที่โรงสี โครงการวิจัยนี้ได้มีการนำไปจดอนุสิทธิบัตร เป็นเทคโนโลยีที่ต่อยอดมาให้ทำงานสะดวก Fit need มากขึ้น สามารถสีข้าวได้ 12 kg ต่อชั่วโมง และมีบริษัทเอกชนเข้ามารับสิทธิเพื่อไปจัดจำหน่ายแล้ว เป็นต้น
นอกเหนือไปจากโครงการบริหารการศึกษา วิชาการและอื่นๆ ที่เป็นภารกิจหลักของทางคณะฯ แล้ว คณบดีหญิงของ FAM ยังบอกเล่าถึงเป้าหมายในการรวบรวมศิษย์เก่าที่มีศักยภาพคืนสู่เหย้ามาร่วมทำกิจกรรมเพื่อร่วมส่งเสริมคณะ และร่วมพัฒนารุ่นน้อง โดยอีกนัยสำคัญเพื่อว่า ให้ศิษย์เก่ากลับมาเพื่อ Re-skill หรือ Up-skill ความรู้ใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและโครงสร้างอุตสาหกรรม แน่นอนว่าเหนือไปกว่านั้นคือเป็นการกระชับความผูกพันและเป็นเครือข่ายที่สามารถเอื้อและเกื้อหนุนกันได้ระหว่างคณะฯ และศิษย์เก่า หรือแม้แต่ ศิษย์เก่าและศิษย์เก่าที่ไม่ได้พบนับแต่สำเร็จการศึกษาออกไป ซึ่งเป็นโครงการที่อยากให้เกิดขึ้นภายในปีนี้
สำหรับก้าวใหญ่ที่สำคัญของ FAM นับแต่นี้คือทางคณะการบริหารและจัดการจะเริ่มเข้าสู่การรับรองมาตรฐาน AACSB ในปี 2020 ซึ่งถือว่าเป็นจะเป็นอีกก้าวใหญ่ที่จะมูฟไปข้างหน้าและจะเป็นก้าวที่ FAM จะเป็นที่รู้จักและยอมรับในเวทีการศึกษาระดับชั้นนำของโลกในที่สุด
แน่นอนว่าการพัฒนาย่อมต้องมาพร้อมกับความท้าทาย ผศ.ดร. สุดาพร มองว่าสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ในศักราชใหม่นี้คือเรื่องของ Human Resource Management เพราะการเก่งคนเดียวนั้นไม่เพียงพอ ต้อง Drive team ทำให้ทีมมีแรงที่จะเคลื่อนตัวเอง เคลื่อนองค์กร จัดกระบวนการต่างๆ ให้มีการปฏิบัติที่ชัดเจน สร้างคนให้มีความรู้สึกว่าเขาอยากมีส่วนร่วม มีบทบาท มีหน้าที่ มีรางวัลให้เขาภาคภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ ทีมบริหารและนักศึกษา เพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าเป็นทีมอย่างพร้อมกัน
ตอนที่อาจารย์แถลงวิสัยทัศน์ไว้ว่า อาจารย์ทุกคนต้องมีโครงการวิจัย โครงการบริการวิชาการเป็นของตัวเองอย่างน้อย 1 โครงการ หรืออาจจะเป็นโครงการที่ทำร่วมกับทีมงานหรือคณบดีก็ได้ ทั้งนี้เพื่อพยายามสร้างให้เกิด Human Value Capital นอกเหนือจากงานสอนปกติ เพราะฉะนั้นทุกท่านจะเป็นบุคลากรที่ครบเครื่อง และยังทำให้เกิดแรงบันดาลใจจากการได้ออกไปพบปะผู้คนภายนอก ได้ให้บริการแก่บุคคล เอาสังคมภายนอก เอาประสบการณ์เข้ามาปรับใช้ในมหาวิทยาลัยได้ ด้วยกลยุทธ์นี้อาจารย์ของคณะฯ ก็จะทันต่อการเปลี่ยนแปลง อย่างเรื่องเทคโนโลยีดิจิตอล หรือประสบการณ์ในการเป็นผู้ถ่ายทอด มีโครงการที่เราทำอยู่ตอนนี้คือ Smart Supervisor หลักสูตรที่เราทำให้กับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว โดยทีมงานของอาจารย์ทุกคนเราก็ร่วมกันเป็นวิทยากรในด้านที่ถนัด ได้ฝึกฝนทักษะการบรรยายให้กับผู้ที่มีตำแหน่งสูงซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่แปลกใหม่แต่ก็ทำให้อาจารย์ได้เพิ่มพูนประสบการณ์
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพ: อาทิตย์ กัณฐัศว์กำพล
สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ดำเนินการจัดทำหลักสูตร Smart Supervisor 4.0