รายงานฉบับใหม่จาก Stripe ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินสำหรับธุรกิจ พบว่าธุรกิจมีความมั่นใจในการเติบโตของตนเองมากกว่าภาวะเเศรษฐกิจในวงกว้าง ในรายงานยังแสดงข้อมูลเชิงลึกถึงแนวทางที่ทำให้ธุรกิจไทยสามารถขยายและได้ประโยชน์จากโอกาสการเติบโตในระดับโลกเพื่อที่จะรับมือกับความท้าทายในอนาคตระหว่างปี 2566 และปีต่อๆ ไป

รายงานนี้อ้างอิงจากการสำรวจผู้นำธุรกิจจำนวน 2,500 รายจาก 9 ประเทศ พบว่าธุรกิจจำนวน 65% มีความมั่นใจในธุรกิจตัวเองว่าสามารถเติบโตได้ในปี 2566 แม้ว่า 80% จะมีทัศนคติเชิงลบต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจต่าง ๆ จัดอันดับให้เงินเฟ้อเป็นความกังวลสูงสุด และ 72% ชี้ว่าต้นทุนการดำเนินงานสูงกว่าปีที่แล้ว จากเหตุการณ์นี้ รายงานพบว่าธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มรุกด้วยการทดลองใช้โซลูชัน และแหล่งรายได้ใหม่ๆ หลายๆ ธุรกิจเริ่มหันมาใช้เครื่องมือการรับชำระเงินเพื่อช่วยทำให้รายได้เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็มองหาวิธีทำให้งานด้านการเงินให้เป็นอัตโนมัติมากขึ้นเพื่อที่จะควบคุมต้นทุน

คุณธีร์ ฉายากุล ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย บริษัท Stripe ประเทศไทย กล่าวว่า “คุณไม่สามารถพยายามตัดต้นทุนอย่างเดียวให้รอดพ้นจากวิกฤตได้ จากเหตุการณ์ชะลอตัวที่ผ่านมา ธุรกิจต่างๆที่ประสบความสำเร็จมีการเสี่ยงขยายธุรกิจ พร้อมไปกับการลดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองที่ไม่จำเป็น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำในช่วงที่สภาพการเงินตึงตัว แต่โลกออนไลน์นั้นมีธุรกิจอีกมากมายที่สามารถใช้กลยุทธ์นี้ได้ในครั้งนี้"

ธุรกิจไทยสามารถทำการประเมินและนำประเด็นสำคัญที่พบเจอในรายงานไปใช้เพื่อเพิ่มรายรับทางออนไลน์ได้ ดังนี้

การรับชำระเงินออนไลน์ยังไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้

ธุรกิจเกือบสองในสามเห็นพ้องตรงกันว่าการรับชำระเงินออนไลน์ได้สร้างวิธีใหม่ๆ ในการหารายได้ และ 71% ยอมรับว่าความคาดหวังของลูกค้าที่มีต่อประสบการณ์การชำระเงินที่ราบรื่นนั้นเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ธุรกิจจำนวนมากจึงให้ความสำคัญกับเครื่องมือรับชำระเงินที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มยอดขาย

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอื่นๆ จำนวนมากกำลังเสียโอกาสโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเทคโนโลยีการรับชำระเงินอย่างเต็มที่ ผลการวิจัยของ Stripe ก่อนนี้ เปิดเผยว่าลูกค้า 3 ใน 4 มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าเมื่อมีการให้บริการชำระเงินด้วยคลิกเดียว ขณะเดียวกันตามรายงานข้อมูลเชิงลึกปี 2566 พบว่า ครึ่งหนึ่งของธุรกิจทั้งหมดกล่าวว่าพวกเขายังไม่ได้ศึกษาการชำระเงินออนไลน์เพื่อเพิ่มยอดขายอย่างเต็มที่

ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจไทยต้องหาวิธีขยายโอกาส

ธุรกิจกว่า 60% กำลังใช้ประโยชน์จากการชะลอตัวในปัจจุบันเพื่อทดลองวิธีใหม่ๆ ในการเพิ่มรายได้ทางออนไลน์ หลายคนกำลังใช้เครื่องมือที่เปิดแหล่งรายได้ใหม่โดยไม่ต้องลงทุนล่วงหน้าที่มีนัยสำคัญ รูปแบบกระแสรายได้ใหม่บางรูปแบบที่ธุรกิจต่างๆ ติดตาม ได้แก่ การเปิดใช้งานโปรแกรมสมาชิก (loyalty program)ประสบการณ์การขายที่เชื่อมโยงช่องทางการขายทั้งหมดไว้ที่เดียว (unified commerce experience) และระบบรับการจ่ายเงินแบบตามรอบ (subscription) เพื่อให้ธุรกิจได้รับรายได้ประจำ ตัวอย่างเช่นความร่วมมือล่าสุดระหว่างStripe และ ซาร่า (Zara) แบรนด์แฟชั่นชื่อดังที่เปิดให้บริการแพลตฟอร์ม Zara Pre-Owned สำหรับซื้อ-ขายเสื้อผ้ามือสองระหว่างลูกค้าด้วยกันโดยใช้ Stripe Connect ซึ่งเป็นโซลูชันการชำระเงินสำหรับแพลตฟอร์มและมาร์เก็ตเพลส แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมในการเพิ่มรายได้ โดยให้ความสำคัญกับความยั่งยืน

หลายธุรกิจมุ่งที่จะลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน แต่ไม่ลดการลงทุนไปกับสินทรัพย์ถาวรของบริษัท นั่นเพราะต้องการที่จะรักษาแผนสำหรับการเติบโตเอาไว้

2 ใน 3 ของธุรกิจกล่าวว่า พวกเขามีวิธีรับมือกับภาวะเงินเฟ้อโดยการใช้วิธีการลดต้นทุนลง ในขณะที่ธุรกิจต่างๆ กำลังเลือกว่าจะตัดค่าใช้จ่ายส่วนไหน น้อยกว่า 20% ของผู้ตอบแบบสำรวจมีแผนจะลดการใช้จ่ายในส่วนของผลิตภัณฑ์หรือบริการหลัก และมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับการลดอัตราการจ้างงาน ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่าธุรกิจกำลังลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลง โดย 51% กำลังให้ความสำคัญกับการเจรจาต่อรองกับคู่ค้าเพื่อให้ได้ราคาที่ดีที่สุด และ 70% มีผู้ตอบแบบสอบถามกำลังวางแผนที่จะลดจำนวนบริษัทผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ที่พวกเขาใช้ลง

หลายคนมองว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ และเมื่อบริษัทเหล่านั้นถูกขอให้ระบุเหตุผลว่าอะไรคือปัจจัยหลักที่ทำพวกเขาให้ตัดสินใจรวมผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ลง พวกเขาอาจจะหยิบยกประเด็นเรื่องการเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็วขึ้นมาเป็นเหตุผลหลัก เช่นเดียวกันกับที่พวกเขาให้เหตุผลว่าต้องการลดต้นทุนของบริษัทลง

โจนาธาน กาน (Jonathan Gan) หัวหน้างานฝ่ายบัญชีรายรับของ Slack กล่าวว่า “ทีมของผมต้องทำธุรกรรมการเงินหลายล้านรายการซึ่งเกี่ยวโยงกับการชำระเงินด้วยบัตร การโอนเงินผ่านธนาคาร ใบแจ้งหนี้ และอื่นๆ" พร้อมทั้งเพิ่มเติมอีกว่า “แต่ด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น เครื่องมือของ Stripe เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก ทำให้เรา

ประหยัดเวลาในส่วนนี้ เพื่อมีเวลามากขึ้นในการวางกลยุทธ์ และมองภาพรวมของธุรกิจ เราจึงสามารถดำเนินงานแบบอัตโนมัติและเร่งทำรายงานทางการเงินที่ Slack ได้สะดวกรวดเร็วขึ้น” สามารถดูรายงานข้อมูลเชิงลึกของ Stripe ปี 2566 ทั้งหมดได้ที่ https://stripe.com/lp/stripe-insights-2023

คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าอบรมใน หลักสูตรการฝึกอบรมวิชามัคคุเทศก์ทั่วไป (บัตรบรอนซ์เงิน) DPU รุ่นที่ 1  โดยผู้ผ่านการอบรมสามารถขึ้นทะเบียนรับบัตรประกอบวิชาชีพได้ 2 ประเภท  ได้แก่ (1) บัตรมัคคุเทศก์ประเภท Inbound และ Domestic และ (2) บัตรมัคคุเทศก์ประเภท Outbound

สำหรับทีมวิทยากรและอาจารย์ในหลักสูตร ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวระดับประเทศ ได้แก่ อ.สร้อยนภา พันธุ์คง ที่ปรึกษาสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพฯ และผู้ฝึกสอนระดับประเทศในนามสมาพันธ์มัคคุเทศก์โลก (WFTGA),  อ.สุระชาติ สวนทรัพย์ มัคคุเทศก์อาวุโส - อ.กฤติเดซ ทองเพิ่ม ผู้ช่วยประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย - รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์

- อ.ธนกฤต ลออสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง - คุณจักรพงษ์ ชินกระโทก ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด - คุณสุดาพร แก้ววิเชียร ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายบริหารและมัคคุเทศก็ บริษัทหนุ่มสาวทัวร์ จำกัด

หลักสูตรนี้มีจำนวนชั่วโมงการอบรมที่ 211ชั่วโมง จัดอบรมเฉพาะวัน เสาร์ - อาทิตย์ เวลา 9.00 -17.00 น. ระหว่าง  วันที่ 10 มิถุนายน - 24 ธันวาคม 2566 (สัมภาษณ์วันที่ 4 มิถุนายน 2566) ค่าสมัครและค่าธรรมเนียมตลอดหลักสูตร (รวมเอกสารการอบรมและการออกภาคสนาม 5 เส้นทาง) เพียง 42,000 บาท ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติม ได้ที่  02 954 7300 ต่อ 667 563  สายด่วน คุณอุษา 096 685 6862, ดร.ดาวศุกร์ 081 425 8169 หรือ ดร.ยุวรี 082 962 4165

พร้อมพัฒนาจุดแข็ง “service mind -รับผิดชอบ-หลากหลายทักษะ” ตอบโจทย์ ผปก.

หลักสูตรเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ด้วยการนำนวัตกรรม-เทคโนโลยีสารสนเทศ ปรับใช้ในธุรกิจสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

รถ EV หรือชื่อเรียกแบบเต็มๆ ว่ายานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ในประเทศไทยกำลังมาแรงตลอดช่วงมอเตอร์โชว์แบบพุ่งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ จากความคุ้มค่าประหยัดตกเฉลี่ยกิโลเมตรละไม่ถึงบาท ท่ามกลางวิกฤตน้ำมันที่แพงขึ้นทุกวัน และแบรนด์รถ EV หลายแบรนด์มาตั้งโรงงานในเมืองไทยทำราคาใหม่ถูกใจลูกค้าที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายและสายรักษ์โลก สอดรับกับนโยบายส่งเสริมการใช้รถ EV ของรัฐบาล

ปัจจุบันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจากแบตเตอรีหรือที่เรียกว่า BEV (Battery EV) ในประเทศไทย ถือเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยหากมีรถ BEV วิ่งอยู่ 100 คัน บนถนนทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน “จะมีถึง 60 คัน” ที่วิ่งอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีรถ BEV ใหม่ประมาณ 10,000 คัน แต่คาดว่าปี 2566 นี้จะไม่ต่ำกว่า 40,000 คันเลยทีเดียว

ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้รถ BEV ได้รับความนิยมในประเทศไทยว่า เพราะการปรับตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นมาก และนโยบายการส่งเสริมของรัฐบาลทำให้คนไทยมีโอกาสเป็นเจ้าของรถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการใช้งานนั้นยังจำกัดอยู่ เนื่องจากสถานีชาร์จยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าในช่วงต้นปี 2566 นี้ มีประมาณ 1,000 กว่าแห่งเท่านั้น ซึ่งราว ๆ 40% ตั้งอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล และส่วนมากหัวชาร์จตามสถานีจะมีแค่ 2 หรือ 3 หัวเท่านั้น หลายแห่งก็ไม่ใช่เครื่องชาร์จ DC แบบเร็ว ส่วนใหญ่จะเป็นหัวชาร์จ AC Type 2 ซึ่งชาร์จได้ช้ากว่า DC มาก การชาร์จแต่ละครั้งยังคงใช้เวลานาน ถ้ามีรถมาชาร์จหลายคันต้องต่อคิวรอ

“ถ้าไม่ได้เดินทางไกลหรือใช้งานในเมืองเป็นหลักก็ไม่ค่อยมีปัญหา กลับมาชาร์จที่บ้านด้วย Home Charger ได้ หรือหากจำเป็นจริง ๆ ก็แวะที่สถานีชาร์จระหว่างเดินทางได้ แต่ถ้าออกไปต่างจังหวัดหรือต้องเดินทางไกล ๆ ก็ต้องวางแผนการเดินทางให้ดี แม้รถ BEV ในปัจจุบันจะสามารถเดินทางได้ไกลกว่า 400 ถึง 500 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นตัวกำหนดให้ระยะทางสั้นลงได้ การเปิดแอร์ ความเร็วในการขับ และน้ำหนักที่บรรทุก ทำให้ไปได้ไม่ไกลเท่าที่คิด” ดร.ชัยพร กล่าว

ดร.ชัยพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาของผู้ใช้งานรถ EV ที่อาจพบเจอเวลาในเวลานี้ อย่างเช่น ที่ชาร์จเสีย หรืออาจจะมีคนจอดรถชาร์จอยู่ โดยที่แอปพลิเคชันไม่ได้แจ้งเตือน หัวชาร์จที่ไม่ตรงกับหัวชาร์จของรถ หรือบางครั้งเจอรถที่ชาร์จเต็มแล้วแต่เจ้าของรถไม่อยู่ ก็ต้องรอ รวมทั้งแท่นชาร์จหลายแห่งติดตั้งอยู่กลางแจ้ง ไม่มีหลังคา เหล่านี้คือปัญหาที่จะต้องเจอหากต้องชาร์จรถ EV จากสถานีชาร์จสาธารณะ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอีกไม่นานระบบ แอปพลิเคชัน และสถานีชาร์จ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

อีกเรื่องที่คนใช้งานรถ EV กังวลก็คือ แบตเตอรีที่เมื่อเกิดปัญหาอาจมีค่าใช้จ่ายที่แพงมากหลายแสนบาท อย่างที่เราเห็นในข่าว ดังนั้นประกันภัยรถ BEV จึงแพงกว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในค่อนข้างมาก บางครั้งหากมีปัญหาการขายรถทิ้งไปเลยยังคุ้มกว่าการซ่อมหรือเปลี่ยนแบตเตอรี ดังนั้นเจ้าของรถต้องระวังการขับขี่ที่อาจส่งผลต่อการเสียหายโดยตรงต่อแบตเตอรี ซึ่งส่วนมากติดตั้งอยู่ที่พื้นของห้องโดยสารรถ เช่น การครูดใต้ท้องรถ หรือการเกิดความเสียหายที่ด้านข้างรถอย่างแรง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แรงขับเคลื่อนจากฝั่งผู้บริโภคตามกระแสความกังวลต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เด่นชัดขึ้น บวกกับนโยบายส่งเสริมของภาครัฐ ทำให้ตลาดรถ EV ในบ้านเราเติบโตแบบก้าวกระโดด เทรนด์การใช้งานรถ EV ทุกประเภทในประเทศไทยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือเราจำเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องรองรับการเติบโต ไม่ว่าจะเป็น โรงงานผู้ผลิต ศูนย์ให้บริการซ่อมบำรุงดูแลรักษาทั้งรถและสถานีชาร์จ การดัดแปลงรถเก่าให้เป็น EV รวมทั้งภาคการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่ต้องมีการผลิตบัณฑิตในสาขาที่เกี่ยวข้องเช่นกัน

“ตอนนี้บุคลากรทางด้านรถ EV ในประเทศไทยยังมีน้อย ส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญแต่สาขาทางด้านยานยนต์แบบเดิม โดยเฉพาะระบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่สำหรับรถ EV มีรูปแบบที่ต่างออกไปค่อนข้างมาก อย่างการดัดแปลงรถยนต์เครื่องสันดาปมาเป็นรถ EV ที่นิยมทำกันมากในต่างประเทศ ไม่ใช่แค่การยกเครื่องยนต์ออกแล้วใส่มอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น รวมทั้งการที่ไทยเป็นที่ตั้งฐานการผลิตรถ EV ตรงนี้ก็ทำให้มีความต้องการบุคลากรจำนวนมาก ภาคการศึกษาต้องเร่งสร้างบุคลากรให้ตอบโจทย์และรองรับเทรนด์นี้ให้ทัน ซึ่งการใช้รถ EV ในเมืองไทย เรียกได้ว่ายังมีโอกาสโตขึ้นอีกมาก” ดร.ชัยพร กล่าว

X

Right Click

No right click