November 21, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6855

สวทช. เสิร์ฟบุฟเฟต์ความรู้ จาก ‘นักวิทย์รุ่นใหม่’ สู่น้องวัยทีน

April 07, 2021 2147

ครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ร่วมกับโครงการ Global Young Scientists Summit โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดกิจกรรมออนไลน์พูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ในกิจกรรมเยาวชน "Fun Science Buffet: Talk with outstanding young scientists"  สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ซึ่งมีเยาวชนและผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมทาง Zoom Webinar กว่า 290 คน เพื่อรับฟังความรู้จากวิทยากรที่มีประสบการณ์มากความสามารถในแต่ละด้าน มาให้ความรู้ตามความสนใจของเยาวชนอย่างเป็นกันเอง โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้งานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2564 หรือ NAC2021 เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564

นางฤทัย จงสฤษดิ์  ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. กล่าวว่า  กิจกรรมดังกล่าวเด็กๆ ได้อิ่มกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่หลากหลายเหมือนทานบุฟเฟต์ที่มีให้เลือกมากมาย โดยเชิญผู้แทนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในโครงการ Global Young Scientists Summit จำนวน 7 คน มาบรรยายในงานNAC2021 ประกอบด้วยหัวข้อการบรรยายที่น่าสนใจ ได้แก่  กำเนิดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และมหันตภัยคุกคามชาวโลก จาก ดร.ภคพฤฒ คุ้มวัน นักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. พี่อยากบอกกินอย่างไรให้สุขภาพดี จาก ดร. สิรภัทร แต่สุวรรณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจาะลึกการทำงานสมอง & อารมณ์และความรู้: มหัศจรรย์ความเชื่อมโยง จาก ดร. นายแพทย์นิธิ อัศวภาณุมาศ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ทำไมบริษัทระดับโลกต้องลงมาเล่นเลโก้มากขึ้น หรือการเรียนรู้จากเกมจะเป็นกระแสใหม่ในโลก จาก ดร.ขจรวุฒิ อุ่นใจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

นอกจากนั้นแล้วยังมีหัวข้อ คณิตพิชิตจักรวาล จาก ดร. ศุภณัฐ ชัยดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Alien: where to find them? : ตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก จาก ดร. เพชระ ภัทรกิจวานิช มหาวิทยาลัยมหิดล และ สนุกกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล จาก ดร. ศุภชัย อาวิพันธุ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งตลอดกิจกรรมน้องๆ เยาวชนได้ส่งคำถามเข้ามาแลกเปลี่ยนกับรุ่นพี่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่และนักวิจัยกันอย่างเต็มที่

@วัยทีน รู้ทันป้องกันโควิด-19  

เริ่มจากความรู้ใกล้ตัวที่สุดของมวลมนุษยชาติในตอนนี้ คือสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นปีเศษๆ ทั่วทั้งโลกให้ความสนใจศึกษาและป้องกันตัวเองจากโรคดังกล่าว ซึ่งนักวิจัยและวิชาการของไทยก็มีความรู้เรื่องนี้ไม่แพ้ชาติอื่นๆ เช่นกัน โดยความรู้ในเรื่องโควิด-19 ครั้งนี้ น้องเยาวชนให้ความสนใจและได้รับจาก ดร.ภคพฤฒ คุ้มวัน หรือ พี่เป้ นักวิจัยจากศูนย์ไบโอเทค สวทช. มาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับโควิด 19 โดยทำความเข้าใจง่ายๆ ทำให้รู้การดำรงของไวรัสโคโรนา ที่เปรียบเทียบง่ายๆ กับการทำอาหารพวกพิซซ่าว่าจะเลือกเมนูหน้าอะไร ก็เหมือนกับที่ไวรัสจะมีสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอคอยสั่งการว่าให้สร้างโปรตีนแบบใด และกลไกไวรัสตัวร้ายไปทำลายปอดเสียหาย ทั้งนี้การเรียนรู้จากสถานการณ์ดังกล่าวควรนำไปสู่การปฏิบัติจริงที่เป็นประโยชน์ไม่ว่าจะเป็น การเฝ้าระวัง การป้องกันตนเองและสังคมไม่ให้ติดโรค

@ฉลาดเลือก-กินเพื่อสุขภาพแข็งแรง

เมื่อรู้ถึงการป้องกันตัวเองกับโรคระบาดแล้ว สิ่งที่ต้องทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน คือ การเลือกกินอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดย ดร.สิรภัทร แต่สุวรรณ หรือ พี่เฟย์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความรู้เรื่องการกินอย่างไรให้แข็งแรง เช่น เคล็ดลับการเปลี่ยนสัดส่วนและวัตถุดิบของอาหาร เพิ่มสัดส่วนของผักในเมนูอาหารให้มากขึ้นกว่าเดิม เลือกใส่ผลไม้ในตู้เย็นแทนขนมอื่นๆ ขนมปังเลือกขนมปังโฮลวีทแทนขนมปังขัดสี เลือกโปรตีนที่หลากหลาย เช่น ไก่ หมู อาหารทะเลสลับกันไปในแต่ละสัปดาห์ และเลือกเนื้อสัตว์ที่เป็นเนื้อสด แทนเนื้อแปรรูปเพราะจะมีโซเดียมมากกว่าปกติ ทำให้น้องๆ สบายใจในการกินมากขึ้น อีกทั้งยังมีความรู้ที่จะเลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพโดยต้องหมั่นออกกำลังกายควบคู่กันไปด้วย

@เข้าใจสมอง เพื่อดูแลตนเองได้ดีขึ้น

กินอาหารเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว มาทำความรู้จักกับกลไกของสมองมนุษย์ เรื่อง เมนูการสำรวจการทำงานของอวัยวะที่สำคัญมากคือ “สมอง” โดย ดร.นายแพทย์นิธิ อัศวภาณุมาศ จาก สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ หรือ พี่ต้น จากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มาฉายภาพให้เห็นกลไกการทำงานของสมอง ที่สั่งการสัมพันธ์กับ ตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส ซึ่งสมองแปรผลผ่านการรับรู้ทั้ง 5 ส่วน ทำให้เราเห็นแผนที่แต่ละส่วนในการทำงานของสมองที่แตกต่างกัน เช่น การกินขนมปังโฮลวีทร้านหนึ่งแล้วเกิดความรู้สึกที่ไม่อร่อย ก็จะรู้จำส่วนที่ลิ้นสัมผัสแล้วรู้สึกไม่อร่อย ซึ่งเป็นหน้าที่การทำงานของสมองในภาพรวม ซึ่งสมองมีหน้าที่สื่อสารส่งสัญญาณคุยกันระหว่างเซลล์ที่เรียกว่า ไซแนปส์ (Synapse) ความเข้าใจเกี่ยวกับความจำและการประมวลผลต่างๆ ของสมองที่จะทำให้เราเข้าใจการทำงานและการตอบสนองของสมอง ซึ่งจะช่วยให้เราดูแลตนเองได้ดีขึ้นด้วย

@ Serious play ส่งต่อความรู้ สู่การทำงาน

เกมถือเป็นเทรนด์สมัยใหม่ที่รวมการเล่น กับ ทำงานได้อย่างกลมกลืน ที่เรียกว่า Serious play โดย ดร.ขจรวุฒิ อุ่นใจ หรือ พี่โอ๋ จาก มจธ. ที่เล่าให้ฟังแนวคิดพลิกบรรยากาศจากการทำงานและการประชุมระดมสมองแสนน่าเบื่อ มาเป็นช่วยกันคิดแก้ปัญหาอย่างสนุกและสร้างสรรค์ อย่างเช่นบริษัทเลโก้ ให้พัฒนาจากการงานทำของเล่นขยายมาเป็นสื่อและเครื่องมือในการทำงานและแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพได้

@สนุกวิทย์ฯ-คณิตฯ และดาราศาสตร์

จากเรื่องร่างกายและการพัฒนาการเรียนรู้แล้ว ไปสู่ศาสตร์น่าสนใจต่างๆ เรื่อง คณิตพิชิตจักรวาล โดย ดร.ศุภณัฐ ชัยดี หรือ พี่ณัฐ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ทำให้รู้สึกว่า คณิตศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลา การสื่อสารเรื่องจำนวนและปริมาณ วิถีชีวิต ประเพณี สังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือการระบาดโควิด 19 ที่นำคณิตศาสตร์มาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตได้แม่นยำมากขึ้น

จากเมนูอาหารสมอง มาที่เรื่องชวนตื่นเต้นกับการสำรวจเอเลี่ยน ตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกกันแบบนักวิทยาศาสตร์ โดย ดร.เพชระ ภัทรกิจวานิช  หรือ พี่เพชร จากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีเทคนิคการตามหาอย่างเป็นขั้นตอน เช่น น้ำเป็นปัจจัยสำคัญของสิ่งมีชีวิต ให้ดูว่าดาวดวงไหนที่มีระยะทางที่เหมาะสมที่มีน้ำอยู่ในสภาพของเหลวที่ผิวดาวได้ หรือการเช็กเรื่องสัญญาณหรือหลักฐานบางอย่างที่อาจมีสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงนั้น เช่น มีออกซิเจน มีคลอโรฟิลด์และการสังเกตว่า มีสิ่งก่อสร้างหรือสัญญาณใดๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจเป็นมนุษย์ต่างดาวจากที่อื่น เป็นต้น

ปิดท้ายบุฟเฟต์ความรู้ โดย ดร.ศุภชัย อาวิพันธุ์  หรือ พี่ฟลุ๊ค จากสถาบันดาราศาสตร์ ที่นำเกมสนุกๆ ที่ให้น้องๆ ได้เห็นรู้จักกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล และนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงต่างๆ ที่ทำให้เห็น อัจฉริยะบุคคลของโลก ที่สร้างสรรค์และคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์พื้นฐานยุคเก่า อย่างนิวตัน แมรีคูรี ไอนสไตน์ มาจนยุคปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกิดประโยชน์กับสังคมและเศรษฐกิจ เช่น พลังงานทางเลือก โซลาร์เซลล์ อินเทอร์เนต เป็นต้น

          ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. กล่าวทิ้งท้ายว่า กิจกรรมนี้ทาง สวทช. ต้องขอขอบคุณพี่ๆ วิทยากรนักวิทย์รุ่นใหม่ ที่เสียสละนำองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้กับน้องๆ เยาวชนแบบจัดหนักจัดเต็มตามชื่อธีม Fun Science Buffet ทำให้น้องๆ เยาวชน ได้รับความรู้หลากหลายเสมือนกับการรับประทานบุฟเฟต์ความรู้ ทั้งเรื่องโควิด-19 การรู้จักการทำงานสมอง รวมไปถึงศาสตร์ต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ ซึ่งการส่งต่อความรู้แบบนี้จะมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้จากพี่สู่น้องในโอกาสต่อไป 

Last modified on Thursday, 08 April 2021 07:15
X

Right Click

No right click