November 01, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 813

นักวิชาการเศรษฐกิจมธ. ชี้ 4 ปัญหาระดับชาติต้นเหตุเศรษฐกิจไทยชะลอตัว

September 27, 2017 10889

นักวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เผยประเทศไทยกำลังประสบสภาวะเศรษฐกิจ “ต้มกบ” เนื่องจากไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต สินค้าและบริการในประเทศไทยไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เท่าที่ควร อันเกิดมาจากความเหลื่อมล้ำทางโอกาสของประชากรในประเทศ ที่ประชากรส่วนใหญ่ขาดโอกาสการเข้าถึง  ทรัพยากรหลัก ได้แก่ ทรัพยากรที่ดิน เงินทุน

 รวมทั้งนโยบายที่ไม่ได้เข้าถึงคนจำนวนมากในอดีตที่ก่อให้เกิดการกระจุกตัวของความยากจน และที่สำคัญคือความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสในด้านการศึกษา ทำให้เกิดปัญหาประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ และประชากรมีรายได้ต่ำ อาทิ ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภาคการเกษตร ที่มีการจ้างงานกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานในประเทศ แต่สามารถสร้างรายได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติของไทย (GDP)

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนา “เศรษฐกิจไทย ทางออกจากกับดัก” โดยมี ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนา กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้อง F-310 อาคารธรรมศาสตร์ 60 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจ “ต้มกบ” ของประเทศไทยในปัจจุบัน หรือภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศมีการเจริญเติบโตในระดับที่ต่ำประเทศไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศรอบข้าง โดยหนึ่งในปัญหาหลักของภาวะต้มกบ คือ การไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต (Productivity) ในระบบเศรษฐกิจได้ อีกทั้งคุณภาพของสินค้าและบริการของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เท่าที่ควร อันเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากความเหลื่อมล้ำทางโอกาสของประชากร ที่ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศยังขาดโอกาส โดยเฉพาะ 4 ด้านที่สำคัญ ได้แก่

  1. การขาดโอกาสเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน ปัจจุบันการเข้าถึงทรัพยากรที่ดินของประเทศไทย มีคนจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ ถือครองที่ดิน 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ในขณะที่คนที่เหลืออีก 90 เปอร์เซ็นต์ ถือครองที่ดินรวมกันเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ
  2. การขาดโอกาสการเข้าถึงเงินทุน ซึ่งสังเกตได้จากการที่เงินออมในระบบธนาคารยังกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนส่วนน้อย โดยจำนวนบัญชีธนาคารที่มีเงินฝากมากกว่าหนึ่งล้านบาท มีเพียงประมาณ 1.5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งหมด แต่เม็ดเงินที่อยู่ในบัญชีเหล่านี้ คิดเป็น 3 ใน 4 ของปริมาณเงินฝากในระบบการเงินไทย
  3. การกระจุกตัวของความยากจน ปัญหาการกระจุกตัวของความยากจนที่มีอยู่มากในบางพื้นที่ของประเทศ ที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาจากการดำเนินนโยบายในอดีตที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของคนอีกเป็นจำนวนมาก ดังตัวอย่างที่เห็นได้ เช่น กว่าครึ่งของคนจนในประเทศกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน
  4. การขาดโอกาสทางการศึกษา ปัญหาโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ สังเกตได้จากผลสำรวจดัชนีการศึกษาของประเทศ ที่ 33 จังหวัดมีระดับมาตรฐานการศึกษาที่ต่ำกว่าเกณฑ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานและจังหวัดชายแดนทั้งนี้ การขาดโอกาสของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขาดประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าและบริการ เศรษฐกิจมีการสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับต่ำ

อันนำมาซึ่งปัญหาประชากรมีรายได้ต่ำ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภาคการเกษตร ที่สามารถสร้างรายได้เพียงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติของไทย (GDP) แต่กลับมีการจ้างงานกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานในประเทศ หรือการที่ธุรกิจส่วนใหญ่กว่า 99 เปอร์เซ็นต์อยู่ในลักษณะธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) ที่ขาดข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน

ทั้งจากปัญหาการเข้าถึงเงินทุน การเข้าถึงเทคโนโลยี การเข้าถึงการตลาด ฯลฯ ซึ่งถ้าประเทศไทยยังไม่สามารถยกระดับธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ได้ ก็จะเป็นปัญหาต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของเศรษฐกิจ และยกระดับรายได้โดยรวมของประชากร ดร.สุทธิกร กล่าวเสริม

ด้าน นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า เศรษฐกิจไทยติดกับดักแบบโครงสร้าง (Structural) ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องปฏิรูปโครงสร้างของประเทศที่มีปัญหาในหลากหลายมิติ อาทิ โครงสร้างประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โครงการคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นผลมาจากการศึกษาที่ไม่สำเร็จในมุมกว้าง โครงสร้างอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีระดับต่ำ ที่ต้องเร่งเพิ่มสัดส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และการให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้งบวิจัยและพัฒนาเพียง 0.4 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โครงสร้างขนาดบทบาทและอำนาจรัฐไทยที่เป็นโครงสร้างที่ใหญ่เกินไป

ปัจจุบันประเทศไทยต้องจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างสวัสดิการปีละ 1.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นมาจาก 10 ปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่าตัว นอกจากนี้รัฐวิสาหกิจยังมีสัดส่วนที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันรัฐวิสาหกิจมีรายได้รวมถึงประมาณ 5 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรสูงหลายส่วนอาศัยอำนาจผูกขาดที่มีอยู่แต่เดิม

นายบรรยง กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งหมดล้วนสะท้อนถึงการที่ภาครัฐดึงเอาทรัพยากรทางเศรษฐกิจไปอยู่ภายใต้โครงสร้างรัฐมากขึ้นโดยประสิทธิภาพไม่ได้เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าขนาดของรัฐที่ใหญ่ขึ้นเพื่อที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเองเป็นรูปแบบที่ขาดประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่นการเข้าไปมีส่วนร่วมในภาคการเกษตรของไทย โดยเฉพาะโครงการจำนำข้าว ซึ่งขาดทุนไปถึง 5 แสนล้านบาท โดยทางแก้ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเพิ่มบทบาทของตลาด และลดบทบาทของรัฐ

แต่ปัจจุบันประเทศไทยกลับเดินสวนทางอยู่ โดยส่วนสำคัญที่ต้องการเน้นย้ำ คือ การปฏิรูปโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ โดยจะต้องแยกบทบาทของผู้กำหนดนโยบาย (Policy Maker) ผู้คุมกฎ (Regulator) และส่วนการดำเนินงาน (Operator) ออกจากกัน ซึ่งผู้กำหนดนโยบายจะมีหน้าที่เพียงกำหนดนโยบายทั้งอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความแข่งขัน ลดความได้เปรียบของรัฐวิสาหกิจลงไป และส่วนการดำเนินงานก็จะจัดการในด้านประสิทธิภาพและโปร่งใส ให้สามารถตรวจสอบได้

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนา “เศรษฐกิจไทย ทางออกจากกับดัก” โดยมี ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนา กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้อง F-310 อาคารธรรมศาสตร์ 60 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร.02-564-4493 หรือ www.pr.tu.ac.th

 

Rate this item
(2 votes)
Last modified on Wednesday, 27 September 2017 06:36
X

Right Click

No right click