ล้วนตระหนักรู้และคาดการณ์ได้ว่า พัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี จะมีผลต่อความเปลี่ยนไปในหลายปัจจัยในอนาคต อย่างชนิดที่เรียกได้ว่า “พลิกหน้า พลิกหลัง“ และกระแสการพลิกจากเบื้องลึก (Deep Shift) จนเกิดการ Change ใหญ่ในหลายระลอกที่กระทบต่อหลายธุรกิจ หลายอุตสาหกรรม หลายอาชีพ และหลายนิเวศทางเศรษฐกิจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้ง เพราะการพัฒนายังคงดำรงความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องทุกเวลา ทุกนาที
โจทย์คำถามของวันนี้คือ การตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงของอนาคตภายหน้าอย่างยืนหยัดและยั่งยืน ควรเป็นเช่นไร รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคำตอบเรื่องแนวคิดและบทบาทของคณะฯ ต่อการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ในฐานะหนึ่งในสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ยืนหยัดคู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน
“คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก่อตั้งมาเป็นปีที่ 104 เรามีคติพจน์ประจำใจคือ “Foundation towards Innovation” นั่นก็คือ เรามุ่งมั่นในรากฐานของการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน ที่ผ่านมาไม่ว่าเรื่องการเรียนการสอน งานวิจัยพัฒนา หรือการพัฒนานิสิต จะต้องตอบสนองและรองรับกับเป้าหมายของ Motto โดยที่คณะฯ มียุทธศาสตร์หลักอยู่ 3 เรื่อง คือ 1 เรื่อง Change เพราะโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก ต้องปรับตัวและรับมือให้ทัน เรื่องที่ 2 คือ Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงที่กระทบให้เกิดการพลิกผัน กรณีตัวอย่างที่เด่นชัด คือ รถยนต์ที่มีพัฒนาการมาในหลายยุคหลายสมัยตั้งแต่รถม้า มาเป็นเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิง กระทั่งในอนาคตก็จะกลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) และเรื่องที่ 3 คือ Neo-Engineer หรือวิศวกรยุคใหม่”
รศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าวเสริมและเพิ่มเติมว่า “ถ้าเราอยากได้สิ่งใหม่ๆ บนโลกใบนี้ ต้องเริ่มต้นจาก “คน” ที่ต้องเริ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ของการคิดใหม่ ทำใหม่ เรามีเป้าหมายที่ต้องการทำให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นบ้านของวิศวกรยุคใหม่ (Home of Neo-Engineer) ที่มีทัศนคติหรือความเชื่อที่ส่งผลต่อพฤติกรรม (Mindset) ที่กล้าและพร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า”
Spring up to the future
รศ.ดร. พิสุทธิ์ ให้ความเห็นว่า “ปัจจุบันนี้เราอยู่ในสังคมที่พร้อมจะลงก็ได้ หรือจะขึ้นก็ได้ กล่าวได้ว่า เรามีสปริงบอร์ดที่สำคัญของสังคมเราอยู่ ณ ตอนนี้ อยู่ที่ว่า ถ้าเราไม่กล้าที่จะเดินไปอยู่ปลายสปริงบอร์ด แล้วใช้แรงกระแทกตรงปลายนั้นเพื่อส่งตัวเองขึ้นไปสู่อีกจุดหมายที่รอรับ เราก็ไม่ไปไหนสักทีแต่ถ้าเรากล้าพอที่จะก้าวไปยืน ณ จุดตรงนั้นและกล้าพอที่จะกระโดดให้สูงขึ้นไป ใช้แรงส่งไปสู่ขั้นต่อไปที่สูงขึ้น ซึ่งเราก็เห็นชัดๆ อยู่แล้วว่ามีขั้นต่อไปรอเราอยู่แน่ๆ เหมือนตัวอย่างของประเทศพัฒนาที่ชัดเจนมาก เช่น ประเทศจีน ทำเรื่อง STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) เปิดเมืองใหม่ เป็นต้น ดังนั้นถ้าคนของเรายังกล้าที่จะเดินไปยังปลายของสปริงบอร์ด เราก็จะยังย่ำอยู่กับที่ อยู่ตรงนี้ไปอีกนานมาก และถ้ามีเพื่อนบ้านเราไปใช้สปริงบอร์ดนั้นก่อน เขาก็จะก้าวกระโดดแซงเราไปอยู่อีกระดับหนึ่ง”
Technology connected
ต่อแนวคิดเรื่องการสร้างคน รศ.ดร.พิสุทธิ์ เผยว่า “โดยความเห็นแล้วคิดว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบสำคัญ เป็นศาสตร์พื้นฐานในการสร้างตรรกะ หลักการ และเหตุผล ให้กับคนรุ่นใหม่ในสังคม ถ้าเขาไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เราก็มีพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ ต้องเข้าใจว่าตัวรับในขั้นต่อไป เขาเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเหมือนแม่เหล็กที่จะต้องดึงดูดกัน ถ้าเราไม่สร้างคนหรือความพร้อมด้านนี้เลย เท่ากับว่าเราหันขั้วผิด เราก็จะก้าวไปสู่ขั้นต่อไปไม่ได้”
“นอกจากนี้สังคมโลกปัจจุบันมันไปไกลเกินกว่าคำว่าโลกาภิวัตน์ (Globalization) แล้ว เพราะมันแค่คลิกเดียวเท่านั้นเอง ถ้าจะหาสิ่งใดมาเชื่อมต่อ หรือพูดจาภาษาเดียวกันทั้งโลกอย่างถูกต้อง มีหลักการ และเหตุผล โดยปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ สิ่งนั้นก็คือ ภาษาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ ภาษา STEM ที่จะเป็นหนึ่งในภาษาสากลของโลกในการสื่อสาร ทำธุรกิจ ธุรกรรมอะไรหลายๆ อย่าง ถ้าเราไม่สามารถพูดจาภาษาเดียวกันกับนานาอารยประเทศได้ แน่นอนว่าเราจะเสียโอกาสหลายๆ อย่างไป”
“ยิ่งถ้าเป็นบริษัทหรือผู้ประกอบการที่ยังดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิดและธรรมเนียมปฏิบัติแบบเดิมๆ ก็จะลำบาก เพราะไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แต่คำว่าเปลี่ยนแปลงในที่นี้คือ การเปิดใจว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมันอยู่ในทุกอณูของสังคม ถ้าเราจะต้องทำอะไรที่จะเปลี่ยนแปลง คือใส่เข้าไปใน Mindset ก็จะทำให้พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่ตกหลุมที่เรียกว่า Disrupt”
พลาดไม่ได้ เทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในอนาคต
รศ.ดร.พิสุทธิ์ บอกว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยสามารถแจกแจงได้ดังนี้
1. เศรษฐกิจ ในปัจจุบัน คณะฯ วิศวฯ จุฬา ฯ มีโฟกัส อยู่ 3 เรื่องใหญ่คือ เรื่องหุ่นยนต์, Big data และ Bio medical engineering หรือ วิศวกรรมชีวการแพทย์ โดยที่ผ่านมาได้มีการนำ Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและทำความเข้าใจกับผู้บริโภคในแง่มุมต่างๆ ในส่วนของ Bio medical Engineering ที่นำเอาความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เพื่อออกแบบหรือสร้างซอฟต์แวร์ อุปกรณ์หรือเครื่องมือทางการแพทย์สมัยใหม่เป็นผลสำเร็จไปหลายโครงการ เช่น การสร้างอวัยวะเทียม, การสร้างอุปกรณ์ตรวจวัดทางชีววิทยา, หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เป็นต้น
ภาพลักษณ์ของสังคมไทยในปัจจุบัน เราได้รับการมองและยอมรับในบทบาทของการจะเป็น Medical Hub อย่างชัดเจน เพราะเรามีทรัพยากรและวัตถุดิบ เพื่อสุขภาพเป็นทุนเดิมอยู่มาก สิ่งที่เหลือและรอคือการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในวงการแพทย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจต่อไปได้
2. สังคม จากกระแส “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City) จุฬา ฯ เป็นหนึ่งใน 7 เมืองอัจฉริยะต้นแบบของประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องของ IoT (Internet of Things) และ Sensor เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมมือกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT Telecom) สร้างอุปกรณ์วัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์-การเคลื่อนไหว-เสียง เป็นต้น ส่วนเรื่อง Robotics หรือหุ่นยนต์ ปัจจุบันศิษย์เก่าของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กำลังพัฒนาโดรนและหุ่นยนต์ต้อนรับภายในบ้านร่วมกับบริษัทเอกชน
3. สิ่งแวดล้อม โลกทุกวันนี้มีความกังวล และห่วงใยความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญเป็นอันดับต้นๆ บนการคำนึงถึงคนรุ่นถัดไป สภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่เหมาะสมต่อคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นสิ่งจำเป็น ทางคณะฯ จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงวิศวกรรมศาสตร์มาใช้ในหลายๆ ด้าน เช่น ระบบบำบัดของเสีย และการนำของเสียมาพัฒนาเป็นวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
ภาพ : ฐิติวุฒิ บางขาม