January 22, 2025

กสศ.ขับเคลื่อน “ทุนมนุษย์ไทย” พร้อมก้าวสู่ศตวรรษที่ 21

April 01, 2022 2496

พัฒนาทักษะ-การเรียนรู้ตลอดชีวิต ประชากรวัยแรงงานด้อยโอกาส กุญแจปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำการศึกษา ยกระดับผลิตภาพแรงงานไทย

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับธนาคารโลก ภาคีหน่วยราชการ และภาคเอกชน จัดเวทีนโยบาย ‘โควิด-19: ความท้าทายใหม่กับการพัฒนาทักษะและความพร้อมให้แก่ประชากรวัยแรงงานของไทย’ มุ่งสร้างความเข้าใจบทบาทพื้นฐานประชากรวัยแรงงาน กับความท้าทายในการรับมือความเปลี่ยนแปลงในยุคโควิด-19 พร้อมเดินหน้านโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยกระดับทักษะแรงงานไทย สู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ ในการสร้างโอกาส และสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ และสังคม ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ลดข้อจำกัดในการประกอบอาชีพ ด้วยการส่งเสริมความรู้และการพัฒนาทักษะ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและสร้างคุณค่าในตัวบุคคล นำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในทุกมิติ ซึ่งจะส่งผลให้คนไทย มีความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพชีวิต สร้างฐานรากที่เข็มแข็งของชุมชน และสังคม

แต่จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกในมิติต่าง ๆ ที่กระทบต่อการปรับตัวของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดความต้องการกำลังคนรูปแบบใหม่ ที่มีทักษะและความรู้ที่สอดคล้องกับสถานการณ์โลกและโจทย์ที่ท้าทายของประเทศ รวมถึงกำลังคนที่มีทักษะและความรู้ที่หลากหลาย ยืดหยุ่น สามารถปรับตัวรองรับความต้องการของตลาดงานที่ถูกกระทบด้วยภาวะวิกฤตต่าง ๆ ได้ ดังนั้นระบบการศึกษาและการเรียนรู้จึงต้องคำนึงถึงและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว

ในขณะที่สถานการณ์ด้านกำลังแรงงานของไทยในปัจจุบัน พบว่า ประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เกิดปัญหาทางด้านช่องว่างของทักษะแรงงาน (Skill gap) และทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเทคโนโลยีดิจิทัล และระบบอัตโนมัติ สร้างผลกระทบต่อรูปแบบของงาน การพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานให้ได้ทั่วถึง และต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นับเป็นความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะ กลุ่มแรงงานที่มีทักษะต่ำ ที่ขาดโอกาสการเข้าถึงการพัฒนาทักษะแรงงาน เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านการเงิน อุปกรณ์ และลักษณะงานที่ทำ ซึ่งไม่ส่งเสริมต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ จะมีเพียงแรงงานคนกลุ่มน้อยที่เป็นกลุ่มอาชีพเฉพาะทาง ผู้จบการศึกษาสูงกว่าขั้นพื้นฐาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานในกรุงเทพฯ ที่ได้รับประโยชน์ในรูปของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาทักษะเท่านั้น ขณะเดียวกัน เด็กและเยาวชนที่ถูกสภาพทางสังคมบีบบังคับให้พ้นจากระบบการศึกษา เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ขาดโอกาสการเข้ารับการศึกษาและ การฝึกอบรม ส่งผลกระทบต่อลักษณะการจ้างงาน และสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้

ดังนั้นการเรียนจากระบบการศึกษาเพียงครั้งเดียวเพื่อใช้งานตลอดชีวิต จึงไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ที่เปลี่ยนแปลงจากรูปแบบชีวิตสามช่วง (three-stage life) การศึกษา การทำงาน และการเกษียณ ไปสู่ รูปแบบวิถีชีวิตแบบหลายช่วง (multistage life) ส่งผลให้คนต้องทำงานหลายอาชีพ รวมถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีระบบส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ที่เอื้อให้คนได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และมีความเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

โครงการวิจัยสำรวจทักษะกลุ่มประชากรวัยแรงงานเพื่อพัฒนานโยบายด้านการศึกษา และการพัฒนาทักษะในประเทศไทย ความร่วมมือระหว่าง กสศ. ธนาคารโลก สำนักงานสถิติแห่งชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริม การดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเชื่อมโยงและบูรณาการตามแนวทางสากลแล้ว ผลของการวิจัย สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงลึก เพื่อเป็นเข็มทิศในการกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถประเมินจุดอ่อน จุดแข็ง และศักยภาพบุคคลของประเทศ นำไปสู่การตัดสินใจระดับนโยบาย และการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในเชิงปฏิบัติ เพื่อพัฒนาคนไทยอย่างมีทิศทางและสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต สอดคล้องกับแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับคนไทยทุกช่วงวัย ที่จะต้องได้รับความรู้ที่มีคุณภาพอย่างเหมาะสม ได้รับการโอกาสในการพัฒนาทักษะอาชีพ การพัฒนาทักษะชีวิต รวมถึงการสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ทางด้าน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะแรงงาน หากต้องการที่จะก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยรายงานของเวิร์ลอิโคโนมิคฟอรั่ม (World Economic Forum) ในปี 2019 สะท้อนว่าไทยมีสัดส่วนของแรงงานทักษะสูงเพียงร้อยละ 14 ซึ่งอยู่ในอันดับ 86 จาก 141 ประเทศ ส่วนทักษะของบัณฑิตจบใหม่ อยู่ในอันดับ 79 และคุณภาพของสถาบันอาชีวศึกษา อยู่ในอันดับ 74 โดยในภาพรวม คุณภาพของแรงงานไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถือว่าอยู่ในระดับปานกลางที่อันดับ 64 นอกจากนี้การสำรวจสถิติแรงงานในประเทศ พบว่าร้อยละ 70 ของประชากรวัยแรงงานมีระดับการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษา จึงเป็นภารกิจของภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องเร่งดำเนินการพัฒนายกระดับทักษะและการศึกษาของแรงงานไทย เพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดทักษะ ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพการผลิตของประเทศ และทำให้ประเทศไทยมิอาจก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle-income trap) ไปสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับสูง (High-Income country) ได้ภายในปี พ.ศ. 2580 ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่วางไว้

จากผลกระทบของตลาดแรงงานช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ภาพดังกล่าวชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะในขณะที่แรงงานกลุ่มทักษะชั้นสูงหรือคนที่ปรับตัวได้เร็ว ยังได้รับประโยชน์จากการทำงาน การใช้เทคโนโลยี และการสร้างอาชีพใหม่ภายใต้วิกฤต ในทางกลับกัน แรงงานไร้ฝีมือ ผู้ที่ขาดทักษะด้านเทคโนโลยี ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ กลายเป็นกลุ่มที่รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรง

กสศ. ในฐานะองค์กรที่มีภารกิจด้านลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศ โดยให้ความช่วยเหลือกลุ่มเด็กนักเรียน เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้ได้รับการศึกษาและการพัฒนา รวมถึงกลุ่มแรงงานด้อยโอกาส ให้ได้รับการพัฒนาทักษะและศักยภาพในตัวเอง เพื่อให้สามารถก้าวพ้นกับดักความยากจนข้ามชั่วคน (Intergenerational Poverty) และยกระดับประชากรในสังคมให้สามารถพึ่งพาตนเอง พัฒนาครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติได้ โดยแนวทางหนึ่งของ กสศ. คือการทำงานกับกลุ่มเป้าหมายประชากรในวัยแรงงานผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ให้ได้รับการสนับสนุนในการสร้างทักษะใหม่ (Reskill) การยกระดับทักษะ (Upskill) และการส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) แก่ผู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษา รวมถึงแรงงานด้อยโอกาสและแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ถึง 20 ล้านคนในประเทศ เพื่อเปลี่ยนแรงงานกลุ่มนี้ให้พัฒนาทักษะไปสู่การเป็นแรงงานมีฝีมือ ยกระดับการศึกษาเรียนรู้ พัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการใหม่ หรือเป็นแรงงานฝีมือในชุมชนได้ตามศักยภาพและความต้องการ

โดยในปี 2564 กสศ. สามารถยกระดับการพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่แรงงานกว่า 8, 500 คน ใน 48 จังหวัด โดยทำงานร่วมกับหน่วยพัฒนาอาชีพ วิสาหกิจชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ สถาบันการศึกษา และเครือข่ายองค์กรพัฒนาอาชีพที่มีอยู่ทั่วประเทศ จนนำไปสู่การสร้างต้นแบบ (Model) ของการมีส่วนร่วมโดยภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ตลอดชีวิต สู่การประกอบอาชีพ และสามารถต่อยอดขยายผลในระดับท้องถิ่น และระดับนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และสำหรับความร่วมมือระหว่าง กสศ. ธนาคารโลก และภาคีทุกหน่วยภายใต้โครงการสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานของประเทศไทย (Adult Skills Assessment) ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนของ กสศ. ในฐานะหน่วยงานขนาดเล็กที่ทำหน้าที่เป็นจุดคานงัด ในการระดมความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง

โครงการนี้เป็นความพยายามในการสร้างระบบการประเมินทักษะด้านต่าง ๆ ของแรงงาน ทั้งด้านการอ่าน การทำความเข้าใจข้อมูล การคำนวณ รวมไปถึงการประเมินทักษะอารมณ์สังคม และการจัดทำสารสนเทศด้านทักษะของประชากรวัยแรงงาน ซึ่งจะนำไปสู่การชี้เป้าหมายของทักษะและกลุ่มประชากรที่ควรได้รับการพัฒนา ตั้งแต่กระบวนการออกแบบการสำรวจ การอบรมภาคีในการสร้างแบบทดสอบ การลงพื้นที่เก็บข้อมูลจาก 45 จังหวัดตัวอย่างทั่วประเทศในทุกภูมิภาค ซึ่งครอบคลุมถึงพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  โดยใช้เครื่องมือและกระบวนการเก็บข้อมูลที่เป็นมาตรฐานสากล ถือเป็นการประเมินทักษะแรงงานในระดับภาพรวมของประเทศครั้งแรกของประเทศไทย ที่ใช้มาตรฐานระดับนานาชาติ ซึ่งสามารถนำผลไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับทักษะและคุณภาพของแรงงานไทยกับประเทศอื่น ๆ ได้

ผลผลิตจากความร่วมมือนี้ จะนำไปสู่การสร้างฐานข้อมูลและงานวิจัย เพื่อถอดบทเรียนจากผลการประเมินทักษะแรงงาน ทั้งทักษะที่เป็น Hard Skills และ Soft Skills ต่าง ๆ อันจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และกลยุทธ์ด้านการพัฒนายกระดับทักษะของแรงงานผู้ใหญ่ และในภาคการศึกษาว่าควรวางแผนจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน และการผลิตนักศึกษาอย่างไร รวมถึงการพัฒนาระบบการอบรมของภาคธุรกิจเอกชน ในการจัดเตรียมแนวทางการจัดการศึกษา หรือพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อแรงงานกลุ่มต่าง ๆ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของแรงงาน ตลอดจนทำให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงข้อมูลสมรรถนะแรงงานที่น่าเชื่อถือและนำไปใช้ประกอบการวางแผนธุรกิจได้ จนถึงภาคนโยบายและการวางแผนในการผลิตแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ในระดับประเทศ

ขณะนี้ โครงการสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานของประเทศไทย ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหมุดหมายของกิจกรรมสำคัญ (Big Rock) ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงคาดหวังได้ว่าในอนาคต ประเทศไทยจะมีระบบการประเมินทักษะแรงงานในระยะยาว อันจะนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการพัฒนาทักษะแรงงานไทยได้อย่างยั่งยืน

ภารกิจอันเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับการเรียนรู้และพัฒนาทักษะแรงงานไทย และเป็นก้าวแรกของกระบวนการเสริมสร้างคุณภาพทุนมนุษย์ให้แก่ประชากรไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ยากไร้และด้อยโอกาส ทั้งในมิติของการศึกษาวิเคราะห์และชี้เป้า เพื่อวางนโยบายที่มีประสิทธิผล อันจะนำไปสู่เป้าหมายคือการหลุดออกจากวงจรความยากจน ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคม และเป็นการวางรากฐานสำหรับการก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางของประเทศต่อไป

Last modified on Friday, 01 April 2022 13:19
X

Right Click

No right click