แนวคิดของการก่อตั้ง ศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับ MBA Magazine ว่าเริ่มมีมาตั้งแต่ 5 -6 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นมหาวิทยาลัยทางด้านการแพทย์อันดับแรกของประเทศ ซึ่งมีความเข้มแข็งและเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่ขาดศาสตร์ทางด้านการดีไซน์
ดังนั้นเมื่อพูดถึงด้านครีเอทีฟ อาจจะนึกถึงเพียงวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ จึงได้พยายามชูจุดเด่นด้านการออกแบบขึ้นมาเพื่อให้มี Awareness ภายในมหาวิทยาลัย ว่ามีทั้งความรู้และเทคโนโลยี โดยมีผลงานจากวิทยาลัยนานาชาติของมหาวิทยาลัยฯ ที่โดดเด่นจนได้รับรางวัลครีเอทีฟ อีโคโนมี เป็นต้นแบบทางด้านท่องเที่ยว จากนั้นก็มีการสานต่อโครงการที่เกี่ยวข้องต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง
กระทั่ง 2 ปีที่ผ่านมา ศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยฯ เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ในบทบาทของศูนย์ฯ ที่จะเป็นเอาต์เลทในการแสดงโครงการวิจัย ของคณะสังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และมนุษย์ศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่ไม่เน้นในทางวิทยาศาสตร์ โครงการเหล่านี้สามารถนำไปปรับและต่อยอด โดยเฉพาะโครงการในลักษณะครีเอทีฟอีโคโนมีต่างๆ ที่เชื่อมโยงความรู้ทั้งวัฒนธรรม ภาษาศาสตร์ หรือศิลปศาสตร์ ที่นำไปสร้างสรรค์เป็นแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องได้
เป็นจังหวะเดียวกันกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มีการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ 5 S-Curve เก่าและ 5 S-Curve ใหม่ จึงเป็นการขับเคลื่อนที่สอดคล้องกันกับนโยบายของรัฐบาล โดยศูนย์ฯจะตั้งอยู่กับดิจิทัลอีโคโนมี และครีเอทีฟอีโคโนมี นำนักวิทยาศาตร์ของมหิดลเข้ามาช่วยสนับสนุน ใช้ความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยควบคู่ไปด้วยกัน เป็นที่มาของศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยม.ร.ว. ปรีดียาธร เทวกุล ประธานกรรมการบริหารของศูนย์ฯ ที่เล็งเห็นถึงศักยภาพว่าจะสามารถตั้งศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของมหิดล ให้เป็นศูนย์ระดับชาติ และสนับสนุนให้ชูศักยภาพของโครงการเพื่อมีส่วนช่วยในการชี้นำทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ
ยกตัวอย่าง “โครงการสร้างสรรค์สารานุกรม ตารางสีอาเซียน” ซึ่งเป็นผลงานที่ศูนย์ฯ เห็นศีกยภาพในการต่อยอด เช่น นำไปสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อเจาะตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพราะเรื่องของสีเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่ยังไม่เคยมีผู้ใดรวบรวมไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่สีประจำชาติ หรือสีที่ไทยเรียกต่างกับสีของสากล ผศ. ดร.สุรพงษ์ กล่าวเสริมว่า องค์ความรู้เรื่องสีของไทยนั้นมีเป็นจำนวนมาก ดังที่อาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากรเรียกว่า ไทยโทน โดยการนำสีแดงชาดของไทย ไปเทียบโทนว่าเป็นค่า RTB ระดับใด หรือสีเลือดหมูนั้นแดงแค่ไหน และมีต้นตอมาจากอะไร ซึ่งเชื่อมโยงกับวัตถุดิบในประเทศ หรือเชื่อมโยงกับสถานที่ต้นกำเนิดของสี เมื่อมีคนสนใจในเรื่องเหล่านี้ จะสามารถนำไปสู่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งการท่องเที่ยว หรือสินค้าประจำท้องถิ่น เช่น คราม ซึ่งในสีสากลคือ Indigo มาจากต้นครามที่ให้กำเนิดสีน้ำเงินเข้ม ปลูกกันมากที่จังหวัดสกลนคร เป็นต้น
ในแต่ละประเทศมีความเชื่อในเรื่องสีที่แตกต่างกันไป เช่น สีเขียวที่อินโดนีเซีย เป็นสีประจำชาติ ห้ามนำมาใช้กับของต่ำ องค์ความรู้เหล่านี้มาจากสังคมศาสตร์ และมนุษย์ศาสตร์ ซึ่งมีคุณค่าในตัวเอง และควรนำออกมาเผยแพร่ การจำหน่ายสินค้าในประเทศอาเซียน หากไม่มีองค์ความรู้นี้ จะต้องทำการศึกษาอีกมาก เมื่อมีการรวบรวมมาแล้ว จะมีประโยชน์ในการทำธุรกิจ มีคำแนะนำให้นำโครงการไปเสนอที่บริษัท SCG ซึ่งมีการจำหน่ายกระเบื้องคอตโตเข้าไปใน 8 ประเทศของอาเซียน
แนวความคิดนี้ถือเป็นตัวอย่างของความร่วมมือ ที่ทำให้เห็นสเกลของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพราะการผลิตลายกระเบื้องส่งตลาดในอาเซียน นอกจากสามารถต่อยอด ยังสอดคล้องกับแนวคิดของผลิตภัณฑ์ ที่ไม่ได้ขายที่ตัวสินค้า แต่เป็นการขาย MOOD & TONE ถือเป็นการเพิ่มมูลค่า โดยใส่สีและเรื่องราวเข้าไป ตัวอย่างเหล่านี้ เป็นโปรเจคและองค์ความรู้ที่มีการรวมจุดเด่นในด้านเทคโนโลยีผสานดีไซน์ของศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และมหาวิทยาลัยมหิดลเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมให้เกิดขึ้นมา
อีกหนึ่งโปรเจคที่ทรงคุณค่าคือ “โปรแกรมเทียบเสียงเครื่องดนตรีไทย” (Thai Musical Instrument Tuner Application) แอพพลิเคชั่นในการจูนเสียงเครื่องดนตรีไทยที่มีองค์ความรู้ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 รวบรวมข้อมูลค่ามาตรฐานของความถี่เสียงเครื่องดนตรีไทย สำหรับคนที่ไม่เคยเล่นดนตรีไทย อาจจะไม่ทราบว่า “โดเรมี” ของไทยกับตะวันตกนั้นไม่ใช่ระดับเดียวกัน และเป็นเหตุผลที่ เครื่องดนตรีไทยกับสากลไม่สามารถเล่นด้วยกันได้ ศูนย์ฯจึงนำข้อมูลนี้มาสานต่อค่าความถี่เสียงดนตรีไทยของกรมศิลปากร โดยผ่านการคำนวณด้วยอัตราส่วนคงที่ ไว้เป็นมาตรฐานหลัก ขึ้นเป็นแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือชื่อ “THAI TUNER” ให้เป็นต้นแบบและเสียงแกนกลาง เพื่อรักษามาตรฐานเสียงของดนตรีไทยให้อยู่คู่กับสังคมไทย และเป็นการพัฒนาระบบการเทียบเสียงดนตรีไทยให้ทันสมัย ทัดเทียมอารยประเทศ ช่วยแก้ไขปัญหาความถี่เสียงดนตรีไทยที่มีความคลาดเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน
ปั้น Startup อีกก้าวของศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ม.มหิดล
หลังจาก 5 โครงการหลักแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรพงษ์ กล่าวว่า ยังมีการขยายในส่วนของการสนับสนุน ผู้ประกอบการ Startup ในโครงการ MU Design Thinking Workshop ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ Entrepreneurship Education ที่ศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดำเนินการร่วมกับ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (INNOTECH) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ตามวิสัยทัศน์ไทยแลนด์ประเทศไทย 4.0 รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ในการก้าวสู่มหาวิทยาลัยแห่งการพัฒนาผู้ประกอบการ (Entrepreneurial University) ในอนาคต
กิจกรรม MU Design Thinking Workshop มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะในการคิดเชิงสร้างสรรค์ และการคิดเชิงวิเคราะห์ (Creative and Critical Thinking) และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน โดยครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย นักศึกษาปริญญาตรี โท เอก นักวิจัย บุคลากร รวมถึงบุคคลภายนอก มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 600 คนซึ่งได้นำกระบวนการ Design Thinking มาใช้ในการสร้างสรรค์ไอเดีย และผลิตภัณฑ์ใหม่
โดยเนื้อหาหลักของกิจกรรม มุ่งเน้นให้ผู้เข้าอบรมค้นหาแนวทางในการสร้างธุรกิจ เริ่มจากปัญหาที่พบ นำไปสู่การตั้งโจทย์และการหาแนวทางแก้ไข โดยผู้จัดมีที่ปรึกษา (Mentor) คอยช่วยแนะนำ แบ่งการทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อให้เกิดความหลากหลายของ การจัดแบ่งเป็น series 4 รอบ และรอบภาษาอังกฤษ 1 รอบ โดยมี ผู้เชี่ยวชาญด้าน Design Thinking และวิทยากรที่เป็นผู้ประกอบการ Startup เข้าร่วมเป็นโค้ชให้ผู้เข้าอบรม ซึ่งในแต่ละรอบของการอบรม ผู้เข้าอบรมจะได้รับความรู้จากวิทยากรรับเชิญในหลากหลายวงการ เช่น Startup กลุ่มนักออกแบบ ไอที หรือนักวิชาการ เป็นต้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรพงษ์ เลิศสิทธิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นับว่าผลลัพธ์จากการอบรมในโครงการนี้ ได้จุดประกาย ไอเดีย หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มากกว่า 20 ผลงาน จากนั้นศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงได้จัดกิจกรรม Pitching และพิธีมอบรางวัล MU Design Thinking Workshop เพื่อคัดสรรโครงการที่มีคุณภาพ และพร้อมพัฒนาต่อยอดถึง 12 ผลงาน และมอบรางวัลให้ผลงานที่สุดยอด 4 ผลงาน โครงการที่ชนะเลิศได้รับรางวัลอันดับที่ 1 คือโครงการ Pharmaget หรือ Pharmacy Marketplace Platform เป็นการนำระบบ Website และ Application Platform มาเป็นตัวกลางระหว่างบริษัทผู้ผลิตยาและร้านขายยารายย่อย รองรับพฤติกรรมเจ้าของร้านขายยาที่เป็นกลุ่ม Gen-Y
สำหรับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่โครงการ “เศษผักจัดการได้” แนวคิดในการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะอินทรีย์ด้วยการนำมาเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ ให้สามารถผลิตกรด Citric ซึ่งมีความต้องการจากกลุ่มอุตสาหกรรมหลากหลาย นอกจากจำกัดขยะได้ ยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับขยะได้มากกว่าระบบการจัดการขยะที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้ง ลดการนำเข้ากรดดังกล่าวจากต่างประเทศได้
ส่วนรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 3 มีจำนวน 2 รางวัลได้แก่ โครงการ Develop from Side Car ซึ่งมีแนวคิดในการออกแบบ Side Car ให้มีขนาดพอเหมาะกับเส้นทางสัญจรขนาดเล็ก สามารถถอดเข้า-ออกได้ เพื่อรองรับการเดินทางของผู้สูงอายุ การเคลื่อนย้ายผู้พิการ หรือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน และโครงการ AlCohol Alert เป็นไอเดียการสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับวัดปริมาณแอลกอฮอล์และแอพลิเคชั่นเชื่อมต่อเพื่อคำนวณ ประมวล แปรผล และบันทึกสถิติปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายและพฤติกรรมการดื่ม
ผลงานที่ได้รับมอบรางวัลเหล่านี้ สามารถต่อยอดนำไปสู่การจดสิทธิบัตร หรือรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ดำเนินการโดยสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (INNOTECH) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลและบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย พร้อมกันนี้ยังอาจได้รับคัดเลือกจากผู้ที่เข้าชมงานในการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือนำผลงานไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ได้ต่อไป
ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทิ้งท้ายถึงความสำเร็จของโครงการนี้ว่า ในสเต็ปต่อไปทางศูนย์ฯ มีการวางแผนจะจัดโครงการในปี 2561 ที่มุ่งผลักดันให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจ และสร้างผู้ประกอบการ Startup รองรับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมของรัฐบาลตามนโยบาย Thailand 4.0 ให้ดียิ่งขึ้น