กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และภาคีเครือข่าย เปิดเวทีเสวนา “เปิดเทอมใหม่ ยังมีเด็กไปไม่ถึง...โรงเรียน” ถอดบทเรียนการทำงานเชิงพื้นที่ภายใต้โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” พร้อมเปิดมาตรการ และผสานความร่วมมือ 14 ภาคีเครือข่าย สร้างกลไกการช่วยเหลือนักเรียนในช่วงชั้นรอยต่อที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวในเวทีเสวนาว่า ข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการในปีการศึกษา 2563-2564 พบว่ามีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 238,000 คน รัฐบาลจึงได้กำหนดให้เป็นนโยบายสำคัญในการพาน้องกลับมาเรียน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะเด็กและเยาวชนเป็นอนาคตของชาติ โดยปัจจุบันเหลือเพียง 17,000 คนเท่านั้นที่ยังตามกลับเข้ามาไม่ได้ ดังนั้นโจทย์สำคัญของปีการศึกษานี้ก็คือ ต้องเร่งรัดมาตรการในการติดตามเด็กที่เหลือให้เจอให้ได้ โดยได้มีการตั้งศูนย์ประสานงานตามน้องกลับมาเรียนขึ้นที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยจะทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 14 องค์กรในการติดตามเด็กกลุ่มนี้ให้กลับสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง
“อย่างไรก็ดีการตามนักเรียนให้กลับมาถือว่ายากแล้ว แต่คำตอบสุดท้ายที่ยากและสำคัญกว่าคือคนที่กลับมาแล้วทำอย่างไรไม่ให้ต้องหลุดออกไปอีกครั้ง เพราะปัญหาของเด็กที่มีความเสี่ยงหรือหลุดออกไปนั้นจะมีความซับซ้อนมากกว่าแค่ 1 เรื่อง เราจึงมองแต่ตัวเด็กไม่ได้ แต่เราต้องมองไปถึงผู้ปกครองด้วย ทั้งเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการดูแลไปไม่ถึงล้วนมีผลต่อตัวเด็ก ดังนั้นถ้าจะให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จทุกหน่วยงาน ทั้ง กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ จะต้องร่วมกันเข้าไปดูแลอย่างเป็นระบบไปจนถึงตัวผู้ปกครอง ซึ่งตัวโรงเรียนเองก็จะเป็นหัวใจหลักในการประสานกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ที่จะช่วยให้ตามน้องกลับมาเรียนได้สำเร็จ”
สำหรับ “โครงการพาน้องกลับมาเรียน” เป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวน 14 องค์กร ที่จับมือร่วมกันสร้างกลไกการค้นหาและติดตามเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคมไทยในการพาเด็กๆ กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง โดยเวทีเสวนาที่จัดขึ้น ณ ลานกิจกรรม อาคารเอส พี ชั้น 13 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในวันนี้ได้มีกรณีศึกษาการแก้ปัญหาจาก 4 พื้นที่ ได้แก่จังหวัดนราธิวาส นนทบุรี ราชบุรี และขอนแก่น จากทั้งปัญหาความยากจน พิการซ้ำซ้อน ไม่มีค่าเดินทาง ต้องเสียสละให้น้องเรียน ไม่ได้จ่ายค่าเทอมไม่มีวุฒิไปเรียนต่อ ฯลฯ รวมไปถึงการพาน้องกลับโรงเรียนภายใต้โครงการลมหายใจเพื่อน้อง ซึ่งทุกพื้นที่ล้วนเป็นโมเดลความสำเร็จและที่ใช้การบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงานที่สามารถขยายผลไปได้ทุกพื้นที่
นายปิติ ยางกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี เปิดเผยแนวทางในการแก้ปัญหาและการนำ “น้องนนท์” นักเรียนชั้น ม.1 ที่หลุดจากระบบไป 1 ปีการศึกษาเพราะปัญหาความยากจนเฉียบพลันจากวิกฤติโควิด-19 ของครอบครัวกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาด้วยการใช้ “ไทรน้อยโมเดล” ว่าเมื่อทราบเรื่องจากศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤติทางการศึกษา กสศ. ก็ได้รีบแจ้งกับผู้ปกครองไปว่าให้รีบพาเด็กมาที่โรงเรียนทันที เพราะในแต่ละวันที่ผ่านไปนั้นก็จะยิ่งทำให้เด็กเสียโอกาส ปัญหาที่โรงเรียนเก่าค่อยมาหาหนทางแก้ไขกันทีหลัง ขอให้เด็กได้กลับมาเรียนก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายรายหัว ค่าหนังสือ และอื่นๆ ทางโรงเรียนไม่ได้คำนึงถึงตรงนี้เพราะสามารถเอาไปเฉลี่ยกับเด็กทั้งหมดได้
“ไทรน้อยโมเดล เป็นระบบการดูแลช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่มีปัญหา โดยไม่ใช่แค่การพาเด็กกลับเข้าระบบมาแล้วส่งเข้าห้องเรียนแค่นั้น แต่จะมีการสำรวจความพร้อม และความต้องการของเด็กหลังจากหยุดเรียนไป 1 ปี โดยจะมีการประชุมฝ่ายบริการ ฝ่ายวิชาการ ครูที่ปรึกษา ฝ่ายงบประมาณ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป ที่จะช่วยกันดูแลอำนวยความสะดวกให้เด็กอย่างไร และมีการประสานกับทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดนนทบุรีให้ส่งนักจิตวิทยาให้ช่วยเข้ามาดูแลเด็กเพราะการหยุดเรียนไปนานส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจพอสมควร ซึ่งโรงเรียนของเรามีความเชื่อว่าเมื่อเด็กอยากเรียนแล้วเขาก็จะมีพลังบวกในตนเอง ดังนั้นเราทุกคนต้องช่วยกันสร้างพลังบวกในตัวของเขา ทำอย่างไรให้เขาสามารถอยู่ในสังคมของโรงเรียนได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข ซึ่งตอนนี้น้องนนท์ก็ได้กลับมาเข้าเรียนต่อในระดับ ม.2 ของปีการศึกษานี้”
นางกฤษณา เสมหิรัญ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ จังหวัดขอนแก่น ได้เล่าถึงกรณีศึกษาของการบูรณาการทำงานร่วมกันในระดับจังหวัดเพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบอย่าง “น้องเนย” นักเรียนชั้น ม.1 ที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพังว่า “กลไกในระดับจังหวัดขอนแก่น” เกิดขึ้นการขับเคลื่อนและผลักดันแนวคิดในการดูแลเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงเข้าไปเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ของจังหวัดขอนแก่น โดยมีคณะทำงานที่มาจากทุกภาคส่วนที่ประกอบไปด้วย ศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานจังหวัด สำนักพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด พัฒนาการจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาเข้ามาบูรณาการและทำงานด้วยกัน โดยมีภาคเอกชนเข้ามาหนุนเสริม
“เพราะปัญหาของเด็ก 1 คนไม่ได้มีแค่ปัญหาเดียว จึงต้องบูรณาการทุกด้าน เรื่องการศึกษาทางโรงเรียนและศึกษาธิการช่วยได้ แต่เรื่องความเป็นอยู่ของเด็กก็จะต้องให้ทาง พมจ.และภาคเอกชนเข้ามาช่วยอย่างกรณีของน้อยเนยนั้นพบว่าเด็กถูกทอดทิ้ง อยู่ตามลำพังในบ้านเพิงไม้เก่าๆ ต้องนอนบนแคร่เล็กๆ ไม่มีมุ้ง ไม่มีผ้าห่ม และใช้เศษผ้าแทนหมอน ไม่มีความปลอดภัย เราจึงได้ประสานทุกหน่วยงานลงพื้นที่ด้วยกัน ลดขั้นตอนการทำงานแบบราชการเพื่อให้เข้าถึงพื้นที่และแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น โดยครั้งแรกทาง พมจ. ก็ได้เข้าไปดูแลเรื่องบ้านและประตูให้น้องมีความปลอดภัย ภาคเอกชนมอบจักรยานให้ใช้ขี่ไปเรียน เขตพื้นที่การศึกษามอบทุนช่วยเหลือ ต่อมาเมื่อแม่ของเด็กกลับมาทาง ก็มีปัญหากับคนในชุมชนจนต้องย้ายออก ทางศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤติการศึกษา กสศ. ก็ได้สนับสนุนเงินทุนเบื้องต้นเพื่อหาที่อยู่ใหม่ ส่วนทาง พม.ก็จะส่งแม่ไปอบรมฝึกอาชีพ ส่วนน้องเนยก็ส่งไปเรียนต่อที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่น่าจะสะดวกในการดูแลมากกว่า ซึ่งจะเห็นชัดว่าการแก้ปัญหาเด็กนั้นไม่สามารถทำได้ด้วยหน่วยงานเดียว”
ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า หลังเปิดเทอมยังมีเด็กจำนวนมากที่ไปไม่ถึงโรงเรียน หนึ่งในปัญหาที่สำคัญคือปัญหาความยากจนเฉียบพลัน โดยข้อมูลจากการสำรวจพบว่าเด็กนักเรียนใน กทม.ผู้ปกครองจะมีค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมประมาณ 37,000 บาทต่อคน ต่างจังหวัดจะอยู่ที่ 17,800 บาทต่อคน ดังนั้นถ้าเราไม่ช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจให้กับผู้ปกครอง โอกาสที่เด็กกลุ่มนี้จะได้ไปต่อก็ยากขึ้น และยังพบว่าเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดสูงนั้นจะมีปัญหามากกว่า 1 เรื่องทั้งเศรษฐกิจ ครอบครัว การหย่าร้าง และสุขภาพ โดยตัวอย่างการทำงานในหลายพื้นที่ของโครงการพาน้องกลับมาเรียนในวันนี้ทำให้เห็นว่าสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริง แต่หลังจากนี้จะต้องมีนโยบายเข้ามาช่วยป้องกันไม่ให้เด็กหลุดซ้ำ เพราะตอนนี้เราดึงกลับมาได้แล้วกว่า 2 แสนคน เราจึงต้องหาทางประคับประคองไม่ให้กลุ่มนี้หลุดซ้ำ สิ่งที่ช่วยได้ก็คือเรื่องของทุน การมีงานทำ และการมีครูที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤติ
“ทุกปัญหาในครอบครัวทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การมีงานทำ ปัญหาสังคม ผลกระทบทุกอย่างจะตกไปอยู่ที่ตัวเด็กทั้งหมด ดังนั้นการแก้ปัญหา จึงต้องเข้าไปแก้ปัญหาถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง จึงมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนที่ต้องมีการกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันในการดูแล และในภาวะแบบนี้ควรจะต้องพลิกมุมมองจากการดูแลเด็กจากเด็กเก่งและดี เป็นดูให้เด็กรอด และต้องบูรณาการการทำงานของ 4 กระทรวงในทุกๆ พื้นที่ โดย กสศ.จะทำหน้าที่ป้องกันให้พ้นวิกฤติ แล้วส่งต่อให้จังหวัดดูแลต่อในระยะยาว”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดเผยว่า ผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของโรงเรียน และการที่เด็กได้กลับมาโรงเรียน ไม่ใช่เฉพาะแค่การได้กลับมาเรียน แต่เด็กจะได้กลับมาทานอาหารครบถ้วน ได้กลับมาทานนม ได้รับอาหารเสริม ได้รับการดูแลจากสวัสดิการต่างๆ ในโรงเรียน ซึ่งครอบครัวเองก็ได้รับประโยชน์ตรงนี้ด้วย โรงเรียนจึงเป็นพื้นที่ๆ มีความหมายมากกว่าการไปเรียนหนังสือ ดังนั้นการพาเด็กกลับมาได้นับแสนคนจึงถือว่าเป็นคุณูปการต่อตัวเด็ก ครอบครัว และสังคม ซึ่งช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ในระยะยาว
“กรณีศึกษาการแก้ปัญหาจาก 4 พื้นที่ทำให้เห็นว่าจุดที่สำคัญที่สุดของการพาน้องกลับมาเรียนนั้นเกิดขึ้นจากผู้บริหารและครู ที่แสดงให้เห็นถึงจิตใจและความใส่ใจในเด็กที่หลุดจากระบบ ซึ่งเป็นกระดุมเม็ดแรกที่นำไปสู่การช่วยเหลือที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และการพาน้องกลับมาเรียนนั้นยังเป็นโจทย์และโอกาสสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนในการประสานการทำงานข้ามหน่วยงาน เพราะการแก้ปัญหาของเด็กคนหนึ่งจะเห็นได้ว่า ไม่สามารถแก้ที่หน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดได้โดยลำพัง จุดต่อไปที่จะเกิดขึ้นก็คือเมื่อภาครัฐและภาคเอกชนเริ่มขยับ ภาคประชาชนก็จะเข้ามาร่วมสนับสนุน ดังนั้นเรื่องของความเสมอภาคทางการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่อยู่เหนือการเมือง และเป็นเรื่องของสังคมไทยที่จะต้องช่วยกันทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นให้ได้ วันนี้สังคมไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้ ความยากจนจะต้องไม่ข้ามรุ่น ดังนั้นถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันทำให้เป็นวาระเด็กหลุดนอกระบบเป็นศูนย์ ความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันก็จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมและยั่งยืนในสังคมไทยได้อย่างแท้จริง” ผู้จัดการ กสศ.กล่าวสรุป.