January 03, 2025

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย ร่วมกับ Google Cloud ประกาศตัวโครงการ ‘ChulaGENIE’ เพื่อบุกเบิกการพัฒนาและส่งมอบแอปพลิเคชันที่นำเอาเทคโนโลยี Generative AI อันล้ำสมัยที่สุดในโลกอันหนึ่ง มาให้ประชาคมจุฬาฯ ใช้งานได้อย่างปลอดภัย เชื่อถือได้ และไม่มีค่าใช้จ่าย โดยคาดว่าในระยะแรก ChulaGENIE จะเปิดให้คณาจารย์และบุคลากรใช้งานได้ในเดือนมกราคม 2568 และจะเปิดให้บริการแก่นิสิตทุกคนได้ภายในเดือนมีนาคม 2568 โดยชื่อ ChulaGENIE ย่อมาจาก ‘Chula’s Generative AI Environment for Nurturing Intelligence and Education’

ด้วยการผสานรวมกับ Model Garden บน Vertex AI ทำให้ ChulaGENIE เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถค้นหาและเลือกใช้โมเดล AI พื้นฐานที่ได้รับการคัดสรรอย่างดี ซึ่งแต่ละโมเดลมีจุดเด่นและความเหมาะสมกับงานที่แตกต่างกัน ในระยะแรกผู้ใช้สามารถใช้งาน Gemini 1.5 Flash หรือ Gemini 1.5 Pro ของ Google และในอนาคตอันใกล้จะมีตัวเลือก ในการใช้โมเดล Claude จาก Anthropic และโมเดล Llama จาก Meta อีกด้วย

ผู้ใช้ ChulaGENIE สามารถใช้ความสามารถในการรองรับหลายภาษา (multilinguality) ของโมเดล Gemini เพื่ออธิบายหัวข้อที่ซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย รวมถึงสร้างเนื้อหาในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ๆ ด้วยความรวดเร็วและความแม่นยำ และด้วยความสามารถในการรองรับข้อมูลหลายประเภท (multimodality) และขอบเขตการประมวลผลช่วงบริบทที่ยาว (long context window) ของโมเดล Gemini ทำให้ผู้ใช้สามารถอัปโหลดเอกสารที่มีความยาวและซับซ้อน (เช่น เอกสารที่มีความยาว 1.4 ล้านคำ พร้อมตาราง แผนภูมิ และภาพประกอบ) รวมถึงไฟล์ PDF โดยโมเดล Gemini สามารถประมวลผลเนื้อหาและองค์ประกอบภาพในเอกสารเหล่านี้เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ดึงข้อมูลหรือวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักวิจัยที่ต้องการสรุปวรรณกรรมทางวิชาการหรือวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้าน AI ของประเทศไทย (AI University) วันนี้จุฬาฯ ประกาศจับมือกับพันธมิตรระดับโลกเพื่อเร่งรัดการพัฒนา Responsible AI เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยในระยะยาว การใช้แพลตฟอร์ม Vertex AI ของ Google Cloud ซึ่งรวมเอาความสามารถที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวไว้ในที่เดียว รวมถึงความยืดหยุ่นในการเลือกโมเดลผ่าน Model Garden และความสามารถในการปรับแต่งโมเดลพื้นฐานที่ทรงพลังให้เหมาะกับความต้องการที่หลากหลายและการตอบสนองได้แม่นยำ ด้วยความสามารถเหล่านี้ ทำให้จุฬาฯ สามารถพัฒนา ChulaGENIE ได้ภายในเวลาไม่ถึงสามเดือน ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่มีแอปพลิเคชัน Generative AI สำหรับการใช้งานเพื่อการศึกษาและวิจัยในระดับอุดมศึกษา โดยยึดหลัก Responsible AI และตอบสนองความต้องการของประชาคมในวงกว้าง โดยจุฬาฯ มีแผนที่จะร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อพัฒนา ChulaGENIE ให้ดียิ่งขึ้น และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม AI ด้านการศึกษาที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศให้ใช้งานได้จริงเพื่อสนับสนุนการศึกษาทุกระดับ”

เสริมศักยภาพให้ประชาคมจุฬาฯ ด้วย AI ที่ปรับแต่งได้และมีความรับผิดชอบ

จุฬาฯ เตรียมเพิ่มฟังก์ชันใหม่บน ChulaGENIE เร็ว ๆ นี้ โดยประชาคมจุฬาฯ จะสามารถสร้างตัวช่วยเฉพาะทางที่ปรับแต่งได้สำหรับงานเฉพาะด้าน ตัวอย่างของตัวช่วย AI ที่ปรับแต่งได้ มีดังนี้:

  • ตัวช่วยด้านการวิจัย ที่ถูกปรับแต่งในประเด็นเฉพาะ เช่น ประสิทธิภาพของเทคนิคการกักเก็บคาร์บอนต่าง ๆ ในวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือการปรับปรุงการจราจรในเขตเมืองในด้านวิศวกรรมโยธา ซึ่งจะช่วยให้อาจารย์และนิสิตสามารถเชื่อมโยงหรือค้นหาความเชื่อมโยงในงานวิจัย รวมถึงเสนอคำถามหรือสมมติฐานใหม่ ๆ ได้
  • ตัวช่วยด้านการศึกษา ที่พัฒนาจากตำรา หรือฐานข้อมูลด้านการศึกษาและอาชีพ พร้อมข้อมูลแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและข้อพิจารณาด้านจริยธรรม ช่วยให้นิสิตได้รับคำแนะนำที่ปรับให้เหมาะสมและเป็นเฉพาะบุคคลในการเลือกหลักสูตรและการวางแผนเส้นทางอาชีพได้
  • ตัวช่วยด้านการบริหารและธุรการ ที่สามารถเข้าใจและตอบคำถามในประเด็นต่าง ๆ เช่น การสมัครเรียน การลงทะเบียน ทุนการศึกษา การจัดการอาคารสถานที่ หรือการสนับสนุนด้าน IT เป็นต้น

จุฬาฯ ให้ความสำคัญสูงสุดกับการใช้งาน AI ที่มีความรับผิดชอบ โดยทางมหาวิทยาลัยได้นำระบบกรองเนื้อหาของ Vertex AI และนโยบาย AI ของจุฬาฯ มาใช้เพื่อออกแบบ ChulaGENIE มิให้ตอบหรือสร้างเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือเป็นอันตราย นอกจากนี้จุฬาฯ ยังเตรียมเพิ่มความแม่นยำในการตอบคำถามของ ChulaGENIE ด้วยการเปิดใช้งานการ Grounding ด้วย Google Search ซึ่งเป็นฟีเจอร์พิเศษที่พัฒนาโดย Google Cloud

นอกจากนี้จุฬาฯ ยังใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสข้อมูลและการควบคุมการเข้าถึงระดับองค์กรของ Google Cloud เพื่อมอบประสบการณ์ AI ที่มีความเป็นส่วนตัวและปลอดภัย ระบบนี้ช่วยให้มั่นใจได้ว่าคำสั่งหรือข้อมูลที่ผู้ใช้งานป้อนรวมถึงคำตอบของ AI จะไม่ถูกผู้พัฒนาโมเดลภายนอกจุฬาฯ นำไปใช้ในการฝึกโมเดลพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ในขณะเดียวกันจุฬาฯ ยังสามารถวิเคราะห์แนวโน้มการใช้งานโดยรวมของ ChulaGENIE เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของแอปพลิเคชัน และที่สำคัญระบบดังกล่าวยังช่วยป้องกันไม่ให้ ChulaGENIE เผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยที่เป็นความลับหรือทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความอ่อนไหวโดยไม่ได้ตั้งใจอีกด้วย

ในอนาคต จุฬาฯ มีแผนที่จะขยายความร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อพัฒนาโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่แบบโอเพ่นซอร์สที่เน้นเฉพาะด้านสำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โมเดลนี้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ปรับให้เหมาะกับความเร็วและรูปแบบการเรียนรู้ของนิสิตแต่ละคน โดยให้แบบฝึกหัด คำอธิบาย และข้อเสนอแนะที่ปรับแต่งได้ตามความต้องการ นอกจากนี้ โมเดลดังกล่าวยังสามารถสนับสนุนแอปพลิเคชันที่วิเคราะห์หลักสูตรที่มีอยู่ เพื่อค้นหาช่องว่างหรือจุดที่ควรปรับปรุง พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขโดยอ้างอิงจากงานวิจัยล่าสุดและแนวโน้มด้านการศึกษาในปัจจุบัน

เสริมทักษะ AI ที่จำเป็นให้กับประชาคมจุฬาฯ

จุฬาฯ อบรมคอร์ส Google AI Essentials ให้กับบุคลากร คณาจารย์ และนักศึกษา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายใต้โครงการ Samart Skills ของ Google ซึ่งในปัจจุบันมีผู้สำเร็จหลักสูตรนี้แล้วกว่า 800 คน และได้รับใบรับรองจาก Google เพื่อยืนยันความเชี่ยวชาญในการใช้งานเครื่องมือ Generative AI โดยคอร์ส Google AI Essentials นี้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการใช้งาน AI ผ่านวิดีโอการสอนจากผู้เชี่ยวชาญ การฝึกปฏิบัติจริง รวมถึงการประเมินผล และเครื่องมืออื่น ๆ โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเข้าใจเทคนิคการเขียนคำสั่ง (prompting) และการใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบ

ทั้งนี้ จุฬาฯ กำลังปรับหลักสูตร Google AI Essentials ให้เรียบง่ายขึ้นสำหรับผู้เรียนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก เพื่อให้ประชาคมจุฬาฯ ทุกคนสามารถเรียนรู้การใช้งาน ChulaGENIE ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการทำงาน แก้ไขปัญหาในโลกความเป็นจริง และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในสาขาของตนเอง

นายอรรณพ ศิริติกุล Country Director, Google Cloud ประเทศไทย กล่าวว่า “ที่ Google Cloud เราเชื่อมั่นว่าประโยชน์ของ AI ขึ้นอยู่กับความแม่นยำและการนำไปใช้อย่างรับผิดชอบ แพลตฟอร์ม Vertex AI ของเราช่วยให้องค์กรต่าง ๆ อย่างเช่น จุฬาฯ สามารถนำ Responsible AI ไปใช้ได้จริงผ่านฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น Grounding บริการประเมินโมเดล และเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์มาตรฐานที่เข้มงวดในด้านการกำกับดูแลข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดตัว ChulaGENIE อย่างรวดเร็วของจุฬาฯ ตอกย้ำคุณค่าของแนวทางที่เน้นแพลตฟอร์มเป็นศูนย์กลาง (platform-first approach) สำหรับโครงการริเริ่มด้าน AI เชิงกลยุทธ์ ซึ่งช่วยให้สามารถพัฒนา ติดตั้ง และจัดการ AI ได้ในวงกว้าง ประกอบกับการพัฒนาโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และโครงการพัฒนาทักษะ AI ของ Google จะช่วยเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในด้านการวิจัยและวิชาการ ซึ่งในท้ายที่สุดจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยของเรา”

บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด หรือ เบดร็อค ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการข้อมูลประกอบกับการให้บริการแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ และข้อมูลเชิงพื้นที่ (Location Intelligence) หนึ่งในกลุ่ม บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV ผนึกกำลัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี  และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลและการบริการนักลงทุน เพื่อยกระดับการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาใช้ในการวางแผนพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก บูรณาการด้านข้อมูลเพื่อสนับสนุนการลงทุนให้แก่นักลงทุนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้บริหารจากทั้ง 3 สถานบันร่วมลงนาม พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่เข้าร่วมเป็นพยาน ณ อาคารวานิชเพลซ อารีย์ กรุงเทพฯ

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญเพื่อการศึกษาและจัดทำแผนการพัฒนาด้านดิจิทัลสำหรับเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยจะนำเทคโนโลยี AI เข้ามาครอบคลุมการดำเนินงานใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านธุรกิจ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการจัดการที่ดิน เช่น การขอใบอนุญาตต่าง ๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยลดกระบวนการทำงานที่ซับซ้อน ด้านการบริการ มุ่งเน้นสร้างระบบแชทบอท เพื่อให้บริการข้อมูลตอบคำถามได้ทันท่วงทีรวมไปถึงการออกใบอนุญาตดิจิทัล เพื่อลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ด้านการจัดการข้อมูล มุ่งเน้นการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ภายในและภายนอกองค์กร สร้างแพลตฟอร์มข้อมูลแบบเปิด ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาระบบด้านไอที เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง การจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัย และรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ทั้งสามสถาบันได้ประสานความร่วมมือเพื่อการวางแผนพัฒนา สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับวิเคราะห์และบริหารจัดการเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลดังกล่าว บริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ บูรณาการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อการตัดสินใจ อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ สนับสนุนให้เกิดการลงทุน และจะใช้เป็นต้นแบบไปยังเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ ในพื้นที่อีอีซี ต่อไป 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของคณะที่ปรึกษาและคณะทำงาน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ฉบับนี้  ทั้งนี้ ทางคณะฯ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลรวมไปถึงการสนับสนุนบุคลากรให้ร่วมศึกษา และวางแผนการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาด้านดิจิทัลสำหรับพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้  ข้อมูลและงานวิจัยที่ได้จากการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลง จะถูกนำมาใช้ในการเรียนการสอน โดยทางจุฬาฯ จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

ด้าน ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ กรรมการบริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคต โดย เบดร็อค ได้นำเสนอแนวทางด้านการบริหารจัดการเมืองและการลงทุน ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายในเขตพื้นที่อีอีซี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาไว้ในที่เดียวแบบครบวงจร ได้แก่ 1. Smart Building Permit: ระบบขออนุญาตและควบคุมอาคารอัจฉริยะ ซึ่งช่วยในการตัดสินใจ และทำให้กระบวนการขออนุญาตก่อสร้างรวดเร็วและโปร่งใส 2. City Digital Data Platform: แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองที่รวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายในเขตพื้นที่อีอีซี ทำให้การค้นหา วิเคราะห์ และนำข้อมูลไปใช้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การบริหารจัดการเมืองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่อีอีซี ได้อย่างครบถ้วน และทำให้การวางแผนธุรกิจเป็นไปได้อย่างแม่นยำอีกด้วย

สอบถามรายละเอียดหรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://bedrockanalytics.ai/ เพจเฟซบุ๊ก Bedrock Analytics ( https://www.facebook.com/BedrockAnalyticsTH) หรือโทร. 02 078 6565

จุฬาฯ เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน ISTC กู้วิกฤตราคาโกโก้ตกต่ำโดยส่งเสริมแนวปฏิบัติอย่างยั่งยืนและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญศิภรณ์ ณ น่าน สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ ศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและธุรกิจด้านระบบนิเวศโกโก้ในประเทศไทย โดยใช้การศึกษา งานวิจัย และนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การนำผลผลิตโกโก้ไปสู่ตลาดสินค้าคุณภาพสูงด้วยรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อทำให้โกโก้ไทยได้เปรียบในการแข่งขันกับตลาดทั่วโลก

ผลผลิตได้น้อยลง ด้วยสภาพอากาศที่เหมาะสม ประเทศไทยจึงถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางการปลูกโกโก้แห่งใหม่ที่มีศักยภาพ เกษตรกรชาวไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะในจังหวัดน่าน (ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “ จังหวัดโกโก้” ในปัจจุบัน) ก็ได้เริ่มหันมาเพาะปลูกโกโก้โดยมองว่าเป็นผลผลิตที่จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ดีในอนาคต อย่างไรก็ตามเกษตรกรก็ยังขาดความรู้ที่ถูกต้องสำหรับการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และการหมักโกโก้ ทำให้ได้ผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังทำให้เมล็ดโกโก้มีคุณภาพต่ำ ส่งผลให้ไม่มีผู้รับซื้อ ผลผลิตราคาตก และถูกทิ้งเป็นจำนวนมาก

เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ศูนย์ ISTC ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงสร้างของบริษัท ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจามจุรี จำกัด จึงได้เข้ามามีบทบาทในการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เกษตรกรในด้านวิธีการเพาะปลูกโกโก้ที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ พร้อมทั้งเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถในทุกหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโกโก้ นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ยังได้ส่งเสริมการแปรรูปและการหมักโกโก้ในท้องถิ่น เพื่อคงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ลดการสูญเสียคุณภาพระหว่างการขนส่ง

ทางศูนย์ฯ ยังมีบริการด้านการรับรองคุณภาพด้วยระบบการจัดการคุณภาพโกโก้ที่ทันสมัย และระบบรับรองมาตรฐานคุณภาพเมล็ดโกโก้ เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานโกโก้ไทยในระดับโลก นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับเกษตรกรเพื่อแนะนำการเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกโกโก้เป้าหมายระยะยาวของ

ศูนย์ ISTC คือ การสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กับโกโก้ของไทย โดยการสร้างกลิ่นและรสชาติที่โดดเด่นตามพื้นที่เพาะปลูกที่แต่ละที่ การหมักในลักษณะที่เป็นงานคราฟ และการเล่าเรื่องราวเพื่อเพิ่มคุณค่า

ของผลิตภัณฑ์ ทางศูนย์ฯ ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมุ่งเน้นไปที่การผลิตโกโก้คุณภาพสูงที่เป็น Single Origin ซึ่งมีมูลค่าสูงในตลาดเฉพาะกลุ่ม ศูนย์ ISTC ได้มุ่งหวังที่จะยกระดับโกโก้ไทยให้เป็นพืชเศรษฐกิจแบบยั่งยืน

สร้างผลประโยชน์ให้แก่เกษตรกรและอุตสาหกรรมในวงกว้าง โดยใช้การศึกษา การรับรองคุณภาพ และนวัตกรรม

 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำความภาคภูมิใจให้สถาบันอุดมศึกษาไทยในเวทีโลกอีกครั้ง ครองอันดับ Top 50 ของโลกจาก Times Higher Education Impact Rankings 2024 ซึ่งเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างผลกระทบสูงต่อสังคม

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย THE Impact Rankings 2024 ประเมินจากบทบาทของมหาวิทยาลัยทั้งในด้านงานวิจัย การบริหารหน่วยงาน งานบริการวิชาการ และการเรียนการสอนที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) มีสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลกเข้าร่วมการจัดอันดับทั้งสิ้น 2,152 แห่ง จาก 125 ประเทศ และจุฬาฯ ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ของไทยใน SDG 9 Industry, Innovation and infrastructure (การพัฒนานวัตกรรม อุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน)

ความสำเร็จของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งติด Top 50 “มหาวิทยาลัยด้านความยั่งยืน” โดย THE Impact Rankings 2024 สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญในด้าน SDGs Impact โดยได้มีการดำเนินงานในเรื่องนวัตกรรมเพื่อสังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ติดตามผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยได้ที่ https://www.timeshighereducation.com/impactrankings

การปลดล็อกพืชกระท่อมเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรตัวนี้มาแต่โบราณ อ.เภสัชฯ จุฬาฯ เผยปัจจุบันมีการวิจัยใช้สารในใบกระท่อมทำยาแก้ปวด ลดการอักเสบ และอาจใช้ในการถอนยาเสพติดร้ายแรงอื่น ๆ แทนยาเคมี

“ใบกระท่อม” พืชสมุนไพรท้องถิ่นกลับมาเป็นที่รู้จักในสังคมไทยอีกครั้ง หลังจากถูกควบคุมและขึ้นบัญชีเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 มานานกว่าครึ่งศตวรรษ 

เวลานี้ ตามริมถนน บนฟุทบาท ตลาดสด เราจะเห็นรถเร่ แผงลอย วางจำหน่ายใบกระท่อมเขียวสดกันอย่างเปิดเผย พ่อค้าแม่ขายบางรายก็ทำน้ำต้มใบกระท่อมแบบพร้อมดื่ม บ้างก็ขายกล้าพืชกระท่อมเพื่อให้ผู้สนใจนำไปปลูกที่บ้านหรือในแปลงเกษตร

ใบกระท่อมได้รับความนิยมสูงในกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ใช้ใบสดเป็นของเคี้ยวชูกำลัง บางคนก็ใช้ใบกระท่อมโดยอ้างสรรพคุณทางยาเพื่อลดน้ำตาลในเลือด แต่หลายคนก็ยังกังขาใช้กระท่อมแล้วจะติดไหม มีอาการอย่างไร” “หากมีสรรพคุณทางยา มีประโยชน์อย่างไร แล้วจะใช้อย่างไร มีโทษไหม”

ในบทความนี้ รองศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.ธงชัย สุขเศวต อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำวิจัยเรื่อง กระท่อม” จะมาไขข้อสงสัยดังกล่าว

กระท่อมเป็นยาที่คนในสมัยโบราณใช้กันมานานมาก เรียกได้ว่าเป็นยาสามัญที่มีอยู่แทบทุกบ้านเลยก็ว่าได้ ใช้ต้อนรับแขกผู้มาเยือนบ้าน ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าสังคมในงานสำคัญ ๆ ต่าง และใช้เป็นยาชูกำลังในการทำงานที่ต้องใช้แรง”

อาจารย์ธงชัยกล่าวว่าที่ผ่านมา การศึกษาวิจัยพืชกระท่อมทางการแพทย์และเภสัชกรรมทำได้ยาก จนเมื่อมีการปลดล็อกพืชกระท่อม ก็เปิดโอกาสให้เกิดการศึกษาวิจัยทางการแพทย์และยามากมาย เช่นที่อาจารย์ธงชัยศึกษาวิจัยพืชกระท่อมเพื่อทำสารสกัดยาสมุนไพรมาตรฐานเป็นยาแก้ปวดที่มาจากธรรมชาติ รวมถึงเป็นยาช่วยเลิกสารเสพติดประเภทยาบ้าและยามอร์ฟีน 

พืชกระท่อมมีศักยภาพที่จะพัฒนามาใช้เป็นยาทั้งทางการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน จึงควรมีการส่งเสริมการศึกษาวิจัยเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป” 

พืชกระท่อม จากยาสามัญประจำถิ่นสู่ยาเสพติด

กระท่อมเป็นพืชพื้นถิ่นที่พบกระจายทั่วประเทศไทย พบหนาแน่นในพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ด้วยความที่เป็นพืชพื้นถิ่นเช่นนี้ คนไทยนับตั้งแต่อดีตจึงรู้จักและสั่งสมภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้ ทั้งในแง่การรักษาโรค ลด-คลายอาการปวดเมื่อย เพิ่มกำลังในการทำงาน เป็นต้น 

จนเมื่อปี 2486 เริ่มมีการออกกฎหมายควบคุมพืชกระท่อมภายใต้พระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2486 อาจารย์ธงชัยเล่ามูลเหตุที่นำไปสู่การควบคุมพืชกระท่อมในเวลานั้นว่า “รัฐผูกขาดภาษีฝิ่น เมื่อฝิ่นราคาแพง ผู้คนก็หันมาสูบใบกระท่อมแทน ทำให้รัฐเสียรายได้จากภาษีฝิ่น จึงออกกฎหมายเพื่อควบคุมการปลูกและการใช้พืชกระท่อม” 

มาในปี 2522 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ขึ้นบัญชีพืชพื้นถิ่นหลายชนิด เช่น กระท่อม กัญชา เห็ดขี้ควาย และฝิ่น ให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยรัฐให้เหตุผลว่าพืชกระท่อมอาจทำให้เกิดการเสพติดและเกิดอาการถอนยาได้เมื่อหยุดเสพ ตั้งแต่นั้นมา ใบกระท่อมก็หายไปจากพื้นที่ชีวิตของผู้คน การศึกษาวิจัยพืชกระท่อมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือการศึกษาวิจัยในมนุษย์ก็ไม่สามารถทำได้

จนปี 2562 เริ่มมีการทบทวน แก้ไขและออกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 ปลดล็อกพืชกระท่อมและกัญชาให้สามารถใช้ในการศึกษาวิจัยในมนุษย์หรือนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ ต่อมา พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 ก็ได้ให้พืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 โดยสมบูรณ์ และล่าสุด พระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2565 เปิดเสรีให้ปลูก ครอบครอง และขายพืชกระท่อมได้ ทั้งนี้ การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ยา สมุนไพร เครื่องสำอาง ให้ขออนุญาตตามกฎหมายเฉพาะของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ส่วนการนำเข้าและส่งออกใบกระท่อมต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.)

กระท่อมในวิถีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น

ในอดีต พืชกระท่อมมีบทบาทในวิถีชีวิตผู้คน ทั้งในมิติสังคม วัฒนธรรมและการแพทย์ ดังนี้ 

  • กระท่อมในพื้นที่ทางสังคม งานประเพณี วัฒนธรรม งานบวช งานแต่งงาน งานศพ จะมีการใช้ใบกระท่อมสด ร่วมกับหมาก พลู น้ำชา ยาเส้น เพื่อเป็นการต้อนรับแขกผู้มาเยือนบ้าน หรือเคี้ยวใบกระท่อมสด ร่วมกับน้ำชา กาแฟ ในร้านน้ำชา ร้านกาแฟ เพื่อเป็นการสังสรรค์และเข้าสังคม 

นำใบกระท่อมสด ร่วมกับ หมาก พลู น้ำชา กาแฟ ยาเส้น มาใช้ต้อนรับแขกผู้มาเยือนบ้าน

นอกจากนี้ ในงานของกลุ่มคนที่เล่นวัวชน ไก่ชน หรือกลุ่มนักแสดงพื้นบ้านในภาคใต้ เช่น หนังตะลุง ก็นิยมเคี้ยวใบกระท่อมเพื่อไม่ให้ง่วงนอน และเกิดอารมณ์ร่วมในการบรรเลงเพลงและการแสดงต่าง ๆ 

  • กระท่อมในฐานะยาชูกำลัง กลุ่มผู้ใช้แรงงาน อาทิ เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนยาง ชาวประมง กรรมกร คนขับรถขนส่ง รถโดยสาร นิยมเคี้ยวใบกระท่อมสดก่อนจะออกไปทำงาน โดยเชื่อว่าจะทำให้มีกำลังและความอดทนต่อการทำงานยิ่งขึ้น
  • กระท่อมเป็นยา ในทางการแพทย์พื้นบ้าน หมอพื้นบ้านนิยมใช้กระท่อมทำยาสมุนไพร ทั้งในรูปยาเดี่ยว หรือเป็นตำรับยาพื้นบ้าน เพื่อรักษาโรคและอาการต่าง ๆ อาทิ ไข้หวัด ท้องเสีย บิด ปวดเมื่อย แก้ไอ ลดความดันโลหิต รักษาโรคเบาหวาน โรคกระเพาะอาหาร เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ช่วยให้นอนหลับง่าย และใช้ทดแทนหรือบำบัดอาการถอนยาจากการเสพติด เช่น ฝิ่น เฮโรอีน 
  • ในส่วนของแพทย์แผนไทย พบตำรับยาแผนไทยที่มีพืชกระท่อมเป็นส่วนประกอบในคัมภีร์แพทย์แผนโบราณของขุนโสภิตบรรณลักษณ์ เล่ม 1-3 ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ตำราเวชศึกษาของพระยาพิศณุประสาทเวช และจารึกตำรายาวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร ซึ่งได้แก่ ตำรับยาประสะใบกระท่อม ยาหนุมานจองถนนปิดมหาสมุทร ยาแก้บิดลงเป็นเลือด ยาแก้บิดหัวลูก ยาประสะกานแดง เป็นต้น โดยมีสรรพคุณสำคัญในการรักษาโรคบิด ท้องร่วง ท้องเสีย แก้ปวดมวนท้อง ปวดเบ่ง ท้องเฟ้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นต้น

จารึกตำรายาวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร

“ไมทราไจนีน” สารแก้ปวดและลดอักเสบในใบกระท่อม

 ใบของพืชกระท่อมเป็นส่วนที่มักใช้เป็นยาสมุนไพร ทั้งในรูปยาเดี่ยว หรือเป็นตำรับยาพื้นบ้าน เพื่อรักษาโรคต่าง ๆ ซึ่งสรรพคุณทางยามาจากสารไมทราไจนีน ซึ่งสารตัวนี้พบแค่ในพืชกระท่อมเท่านั้น ไม่พบที่ต้นไม้ชนิดอื่นแม้จะอยู่ในตระกูลเดียวกัน 

ในการศึกษาวิจัยพบว่าสารไมทราไจนีน มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบและแก้ปวดในระดับปานกลางถึงค่อนข้างรุนแรงได้ เราจึงอาจนำกระท่อมมาเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาแก้ปวด ที่มีสรรพคุณทางยาเทียบเท่ากับ “ทรามาดอล” ที่เป็นเคมี”

อาจด้วยฤทธิ์คลายปวดและลดการอักเสบของไมทราไจนีนในใบกระท่อม ที่ทำให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานนิยมใช้พืชกระท่อมเป็นเสมือนยาชูกำลัง คลายปวด ลดเมื่อย  

“คนกลุ่มนี้นิยมเคี้ยวใบกระท่อมสดก่อนออกไปทำงาน โดยเชื่อว่าจะทำให้รู้สึกแข็งแรง กระปรี้กระเปร่า ทำงานได้นาน ไม่เหนื่อยล้า ไม่ปวดเมื่อย ไม่ง่วงนอน ทนต่อความร้อน สามารถทำงานกลางแดดได้นานยิ่งขึ้น” 

อาจารย์ธงชัย กล่าวเสริมว่าจากผลการศึกษาการใช้ใบกระท่อมเป็นประจำในภาคใต้ของไทย ยังไม่พบการเพิ่มขึ้นของปัญหาสุขภาพอย่างชัดเจน 

กระท่อม ศักยภาพเป็นยารักษาอีกหลายโรค

นอกจากฤทธิ์ในการลดปวด แก้อาการอักเสบแล้ว อาจารย์ธงชัยกล่าวถึงการศึกษาวิจัยที่พบว่าพืชกระท่อมอาจมีฤทธิ์ในการรักษาโรคอื่น ๆ อีกด้วย ได้แก่ ลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ลดอาการท้องเสีย ลดความอยากอาหาร ฤทธิ์ต้านปรสิตและเชื้อจุลชีพ ฤทธิ์ต้านอาการวิตกกังวล อาการซึมเศร้า และโรคจิต 

กระท่อม บำบัดและถอนยาเสพติดร้ายแรง

หนึ่งในศักยภาพสำคัญของกระท่อมคือใช้ทดแทนหรือบำบัดอาการถอนยาจากการเสพติด เช่น แอลกอฮอล์ ฝิ่น เฮโรอีน หรือยาเสพติดชนิดอื่น ๆ 

พืชกระท่อมมีฤทธิ์แก้ปวดคล้ายมอร์ฟีน แต่อันตรายน้อยกว่า โอกาสติดน้อยกว่า ดังนั้น คนในบางประเทศจึงมีการนำกระท่อมมาใช้เป็นยาสำหรับการถอนยาเสพติดชนิดแรง ๆ ตัวอื่น ๆ แทนการใช้ยาถอนยาเสพติดที่ทำมาจากเคมีในปัจจุบัน” 

ด้วยความที่ใบกระท่อมมีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน หลายคนกังวลว่าจะมีการใช้พืชกระท่อมเป็นสารตั้งต้นเพื่อผลิตยา 

“เรื่องนี้เป็นไปได้ยาก ด้วยตัวกระท่อมเอง ไม่สามารถนำมาเป็นสารตั้งต้นการผลิตยาเสพติดได้ และการจะนำสารสำคัญในใบกระท่อมไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดตัวอื่นก็ไม่ง่ายเช่นกัน การสกัดเอาไมทราไจนีนออกมาให้บริสุทธิ์นั้นไม่ง่าย มีขั้นตอนที่ซับซ้อนพอสมควร อีกประการต้นทุนในการผลิตก็สูง” อาจารย์ธงชัยกล่าว

ผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อม

แม้พืชกระท่อมจะไม่ใช่ยาเสพติดในทางกฎหมาย แต่การนำพืชกระท่อมไปใช้ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ก็ต้องศึกษาให้ดี เพราะการทำผลิตภัณฑ์จากกระท่อมบางอย่างอาจเข้าข่ายการผลิตยาเสพติด อาจารย์ธงชัยกล่าวเตือน

“ถ้าทำน้ำกระท่อม ชากระท่อมในครัวเรือนของตนเอง ไม่มีการซื้อขาย ก็สามารถทำและใช้ได้เลย ไม่ต้องขออนุญาต แต่ถ้าจะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากใบกระท่อมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ยา อาหาร อาหารเสริม เครื่องสำอาง เพื่อขาย จำเป็นต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดังนั้น ใครที่คิดจะทำธุรกิจเกี่ยวกับพืชกระท่อม ขอให้ปรึกษา อย. หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ก่อนดำเนินการทำผลิตภัณฑ์นั้น ๆ” อาจารย์ธงชัยให้คำแนะนำ

ข้อควรระวังในการใช้พืชกระท่อม

แม้พืชกระท่อมจะมีสรรพคุณทางยา มีประโยชน์ โทษน้อย แต่อาจารย์ธงชัยแนะนำว่า ให้ใช้เฉพาะที่จำเป็น จะดีที่สุด”

“สำหรับผู้ใหญ่ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้ ให้ใช้วิธีดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น ทานอาหารให้ครบถ้วนอย่างถูกต้อง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนเพียงพอ และไม่เครียด หรือลดความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม แต่ถ้ามีความต้องการหรือมีความจำเป็นต้องใช้ใบกระท่อมหรือผลิตภัณฑ์จากใบกระท่อม ก็ควรใช้อย่างถูกต้อง ปรึกษาผู้รู้ และระมัดระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น” ทั้งนี้ อาจารย์ธงชัยให้ข้อควรระวังในการใช้ใบกระท่อม ดังนี้

  • ห้ามเด็กใช้ เพราะมีความเสี่ยงที่เด็กจะเกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ง่ายกว่า เช่น ลมชัก อาการทางจิตและประสาท และเมื่อเริ่มใช้แล้ว อาจชักนำไปสู่การใช้ยาเสพติดให้โทษที่รุนแรงมากขึ้นได้
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ห้ามใช้โดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดความเสี่ยงที่เด็กในครรภ์ เมื่อคลอดออกมาแล้ว เด็กอาจมีอาการติดยาได้ 
  • ผู้ที่เป็นโรคตับ โรคไต ห้ามใช้ 
  • อย่าใช้ในปริมาณที่มากเกินไป ให้ใช้ตามที่กำหนดไว้ในผลิตภัณฑ์ใบกระท่อมแต่ละชนิด
  • ถ้าพบว่าเมื่อใช้แล้ว มีอาการข้างเคียง เช่น ใจสั่น กระวนกระวาย คลื่นไส้ อาเจียน ก็ให้หยุดใช้ และอย่าใช้อีก เพราะอาจเกิดอันตรายขึ้นได้
  • ถ้ามีการใช้ยารักษาโรคเป็นประจำ และอยากใช้ใบกระท่อมหรือผลิตภัณฑ์จากใบกระท่อม ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร หรือ ถ้าใช้ใบกระท่อมอยู่เป็นประจำ เมื่อไม่สบาย ต้องไปพบแพทย์และเภสัชกร ให้แจ้งด้วยว่า มีการใช้ใบกระท่อมหรือผลิตภัณฑ์จากใบกระท่อมอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงการตีกันของยาและเกิดพิษจากยาขึ้นได้ อาจารย์ธงชัยกล่าวเพิ่มเติมถึงข้อห้ามในการใช้ใบกระท่อมร่วมกับยาแผนปัจจุบันหรือยาอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ 
  • ผู้ที่ใช้กัญชา (ยา) ห้ามใช้กระท่อมควบคู่กัน เพราะกระท่อมจะทำให้ฤทธิ์ของกัญชาแรงขึ้น 
  • สำหรับคนเป็นเบาหวานให้ระวัง จากการวิจัยพบว่า กระท่อมมีสารที่ไปช่วยการลดน้ำตาลในกระแสเลือด ถ้าใช้ควบคู่กับผู้ที่ต้องทานยาเบาหวาน หรือที่ต้องฉีดอินซูลินใต้ผิวหนังเป็นประจำ อาจจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (ไฮโปไกลซีเมีย) ได้

ท้ายที่สุด กระท่อมมีประโยชน์มาก แต่ก็มีโทษเช่นกัน หากใช้ในทางที่ผิด และปราศจากการควบคุมที่เหมาะสม “มีผู้เอาใบกระท่อมไปเสพเพื่อสันทนาการ โดยผสมกับสารอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายมากขึ้น เช่น ยาน้ำแก้ไอ ยากันยุง น้ำอัดลม ผงในหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ เป็นต้น เป็นสูตรที่เรียกว่า 4X100 เพื่อให้มีฤทธิ์มึนเมารุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้เสพมาก” อาจารย์ธงชัยกล่าว “การใช้พืชกระท่อมหรือกัญชาควรเป็นไปเพื่อประโยชน์เฉพาะด้านการแพทย์เท่านั้น ไม่ควรใช้เพื่อการสันทนาการ และจำเป็นต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดการใช้ไปในทางที่ผิด”

Page 1 of 4
X

Right Click

No right click